posttoday

อายุขัยของรัฐธรรมนูญฉบับแรกในห้วงการปฏิวัติฝรั่งเศส(1)

13 กรกฎาคม 2564

.

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร 

***************

หลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (the Glorious Revolution) ของอังกฤษ ค.ศ. 1688 อังกฤษยังมิได้เรียกรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ ค.ศ. 1688 ว่าเป็นการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) เพราะอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์นั้นคือการยืนยันว่า รัฐสภามีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์  หรืออีกนัยหนึ่งคือ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกจำกัดโดยรัฐสภา                                                                                                            

อีกทั้งคำว่า constitutional monarchy ก็กลับไม่ได้เกิดขึ้นที่อังกฤษ แต่กลับเกิดขึ้นในฝรั่งเศส  โดยในปี ค.ศ. 1801 Dupre ได้บัญญัติคำว่า  ‘La monarchie constitutionalle’  ขึ้น หลังจากที่ฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791  อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1789             

รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 นี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 กันยายน กำหนดให้ฝรั่งเศสมีรูปแบบการปกครองที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอันจำกัด (Limited Monarchy) หรือที่ศัพท์ไทยเรียว่า  “ปรมิตตาญาสิทธิราชย์” หรือที่ Dupre เรียกว่า ‘La monarchie constitutionalle’  (พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ)

สารสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับแรกในช่วงปฏิวัติ ได้แก่ ฝรั่งเศสเรียกประเทศของตนว่า “ราชอาณาจักร” เพราะยังคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยปรากฏในหมวด 3 มาตรา 2 และกำหนดการใช้พระราชอำนาจไว้ในมาตรา 3 ของหมวดเดียวกัน

ในหมวด 3 มาตรา 4 กำหนดว่า การปกครองเป็นราชาธิปไตย โดยรัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ  ซึ่งฝ่ายบริหารที่ว่านี้ นอกจากพระมหากษัตริย์แล้ว ยังรวมถึงรัฐมนตรีและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอื่นๆด้วย

ในหมวด 3 มาตรา 3 อันเป็นส่วนที่กล่าวถึงพระราชอำนาจ รัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจให้สภาแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ โดยสภาแห่งชาติประกอบไปด้วยตัวแทนชั่วคราวที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรีโดยประชาชน และสภาแห่งชาติใช้อำนาจนิติบัญญัติด้วยความเห็นชอบของพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจในการยุบสภา

ในบทที่สองของรัฐธรรมนูญว่าด้วย “สถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และรัฐมนตรี: ส่วนที่หนึ่ง สถาบันพระมหากษัตริย์และพระมหากษัตริย์ (Monarchy and the King) ได้บัญญัติไว้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์แบ่งแยกมิได้ และมีการสืบราชสันตติวงศ์โดยพระบรมวงศานุวงศ์ผู้เป็นบุรุษ ตามหลักพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ไม่นับสายของพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นสตรีและทายาท

องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะละเมิดมิได้ ในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสให้ถือว่าอำนาจสูงสุดของฝรั่งเศสอยู่ที่รัฐธรรมนูญ  ดังนั้น พระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์เท่านั้น และพระองค์ทรงได้รับความเคารพตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ในการเสด็จขึ้นครองราชย์ จะต้องทรงบรรลุนิติภาวะ พระมหากษัตริย์ทรงต้องทำสัตย์ปฏิญาณต่อต่อชาติ โดยกระทำต่อสภานิติบัญญัติว่า จะทรงซื่อสัตย์ต่อชาติและรัฐธรรมนูญ  และใช้พระราชอำนาจทั้งปวงที่ได้รับมอบหมายในการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ (the National Constituent Assembly) และให้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ

หากสภานิติบัญญัติไม่อยู่ในสมัยประชุม พระมหากษัตริย์ทรงโปรดให้พิมพ์พระราชโองการคำสัตย์ปฏิญาณนั้น และจะทรงกล่าวสัตย์ปฏิญาณดังกล่าวซ้ำทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภา  หากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงกล่าวสัตย์ปฏิญาณภายในหนึ่งเดือนหลังมีการประชุมสภานิติบัญญัติ  หรือหลังจากทรงสัตย์ปฏิญาณแล้ว ทรงไม่ทำตาม ให้ถือว่าพระองค์สละราชสมบัติ

หากพระมหากษัตริย์ทรงวางพระองค์ในฐานะผู้นำกองทัพหนึ่งใด  (the head of an army) และใช้กำลังดังกล่าวต่อต้านชาติ หรือหากพระองค์ไม่ทรงขัดขวางต่อต้านการใช้กำลังในนามของพระองค์ด้วยพระราชดำรัสที่เป็นทางการ  ให้ถือว่าพระองค์สละราชสมบัติ

หากพระมหากษัตริย์ทรงเสด็จออกจากราชอาณาจักร และไม่ทรงเสด็จกลับหลังจากกราบบังคมทูลเชิญโดยฝ่ายนิติบัญญัติ และภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชโองการ ซึ่งไม่น้อยกว่าสองเดือน ให้ถือว่าทรงสละราชสมบัติ

หลังจากสละราชสมบัติ ให้ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นพลเมืองคนหนึ่ง และด้วยเหตุนั้น สามารถกล่าวหาฟ้องร้องต่อการกระทำของเขาที่เกิดขึ้นหลังการสละราชสมบัติได้ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่พระมหากษัตริย์ทรงครอบครองในช่วงครองราชย์ถือว่าเป็นหนึ่งเดียวกับทรัพย์สมบัติของชาติและจะเรียกร้องเอาคืนไม่ได้  พระองค์ทรงใช้ทรัพย์สมบัติที่ได้มาตามตำแหน่งพระมหากษัตริย์เท่านั้น ถ้าพระองค์ไม่ทรงใช้ตามนั้น จะถือเป็นสมบัติของชาติเช่นกันเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีแต่ผู้เดียว

พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์จะบังคับใช้ได้ต่อเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการโดยเจ้ากระทรวงในรัฐบาล

รัฐมนตรีรับผิดชอบต่อการกระทำผิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อความมั่นคงของชาติและรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจที่จะยกเว้นความรับผิดชอบของรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจในการเสนอร่าง-ออกกฎหมาย

สภานิติบัญญัติเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการมอบรางวัลเกียรติยศสาธารณะเพื่อระลึกถึงบุคคลที่คุณูปการสำคัญ

การประกาศสงครามทำได้โดยการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติเท่านั้น และได้รับความเห็นชอบจากพระมหากษัตริย์           

พระราชอำนาจในทางนิติบัญญัติ

-พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย ในกรณีนี้ ร่างกฎหมายนั้นจะถูกพักไว้เท่านั้น แต่หลังจากสมัยประชุมสภานิติบัญญัติผ่านไปสองสมัยหลังจากสมัยแรกที่มีการเสนอร่างกฎหมายนั้น สภานิติบัญญัตินั้นยังคงเสนอร่างกฎหมายเดิมโดยไม่มีการแปรญัตติใดๆ ให้ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบ

การให้ความเห็นชอบของพระมหากษัตริย์ต่อร่างกฎหมายทุกฉบับกระทำโดยการลงพระปรมาภิไธยและโปรดให้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศใช้ หากไม่ทรงเห็นชอบ ให้ใช้ข้อความว่า พระมหากษัตริย์จะทรงมีพระราชวินิจฉัย

พระมหากษัตริย์จะต้องแสดงความเห็นชอบหรือไม่เห็นต่อร่างกฎหมายภายในเวลาสองเดือน (โปรดเปรียบเทียบกับมาตรา 8  ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว  พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่มีความว่า “ถ้ากษัตริย์มิได้ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัตินั้นภายในกำหนด ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับพระราชบัญญัตินั้นจากสภาโดยแสดงเหตุผลที่ไม่ยอมทรงลงพระนาม ก็มีอำนาจส่งพระราชบัญญัตินั้นคืนมายังสภา เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่งถ้าสภาลงมติยืนตามมติเดิม กษัตริย์ไม่เห็นพ้องด้วย สภามีอำนาจออกประกาศพระราชบัญญัตินั้นใช้บังคับเป็นกฎหมายได้”)

ไม่สามารถนำร่างกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นด้วยทูลเกล้าฯอีกภายในสมัยประชุมเดียวกัน

เมื่อองค์ประชุมสภานิติบัญญัติพร้อม สภาฯจะส่งตัวแทนไปกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์  ทุกปี พระองค์จะทรงเปิดประชุมสภาและเสนอเรื่องราวต่างๆที่พระองค์ทรงเห็นว่าควรจะนำเข้าสู่การพิจารณาในช่วงสมัยประชุม

หากสภาฯต้องการที่จะเลื่อนการประชุมเกินกว่าสองสัปดาห์ จะต้องส่งตัวแทนไปกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์อย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ล่วงหน้า และองค์พระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จมาปิดสมัยประชุมสภา

พระมหากษัตริย์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของสวัสดิภาพของรัฐโดยสมัยประชุมสภาจะต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง หรือการปิดการประชุมจะต้องไม่เกิดขึ้น ถ้าจำเป็น ก็ต้องเป็นช่วงเวลาอันสั้น และพระองค์จะทรงมีพระราชสาส์นเพื่อให้องค์ประชุมนิติบัญญัติได้ปรึกษาหารือต่อประเด็นสวัสดิภาพของรัฐ

พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมสภานิติบัญญัติในช่วงระหว่างปิดสมัยประชุมได้เมื่อไรก็ตามที่พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผลประโยชนของรัฐ เช่นเดียวกับกรณีต่างๆที่คาดการณ์หรือกำหนดโดยสภาก่อนที่จะปิดสมัยประชุม        

เมื่อไรก็ตามที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จไปสภาในขณะที่อยู่ในสมัยการประชุม พระองค์จะได้รับการรับเสด็จโดยตัวแทนสภา และผู้ที่จะตามเสด็จไปยังส่วนในของห้องประชุมได้มีเพียงสมเด็จพระโอรสาธิราช  และรัฐมนตรีเท่านั้น

สภาจะต้องหยุดการประชุมในขณะที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในสภา     

เอกสารหนังสือที่พระมหากษัตริย์ทรงมีต่อสภา จะต้องมีรัฐมนตรีรับสนองฯ                

รัฐมนตรีของพระมหากษัตริย์มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีที่ที่กำหนดไว้ จะสามารถแสดงความเห็นได้ก็ต่อเมื่อร้องขอ จะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงาน หรือเมื่อสภาต้องการให้รัฐมนตรีอธิบายเพื่อให้เกิดความชัดเจน  แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารงาน รัฐมนตรีจะพูดได้ก็ต่อเมื่อสภาอนุญาตเท่านั้น                                                                                                                   -------------------

แต่รัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 ฉบับนี้ของฝรั่งเศสมีอายุขัยเพียง 341 วันเท่านั้น ก็มีอันหมดสภาพไป เพราะเกิดเหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792 สาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับสภานิติบัญญัติ

อะไรคือ สาเหตุของความขัดแย้ง และทำไมต้องฉีกรัฐธรรมนูญด้วย ? โปรดติดตามตอนต่อไปในวันพรุ่งนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม อันเป็นวันชาติของฝรั่งเศส หรือวันปฏิวัติฝรั่งเศสที่ทั่วโลกรู้จักนั่นเอง