posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย(ตอนที่สิบเก้า):“สามขี้เมาคุยการเมือง”

12 กรกฎาคม 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร         

********************

นวนิยายเรื่อง “สามขี้เมาคุยการเมือง” หรือ A Discourse by Three Drunkards on Government เป็นผลงานของนากาเอะ โชมิน ส.ส. พรรคเสรีนิยมของญี่ปุ่น ปรากฏสู่สายตาคนญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2430 ก่อนหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญสองปี และก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งแรกสามปี  และต่อมาองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) คัดเลือกให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมยิ่งใหญ่ของโลก

ตัวละครสามขี้เมาในเรื่อง ได้แก่ อาจารย์นันไค (Nankai ที่แปลว่า ทะลใต้) เจ้าบ้านที่เป็นคนรักการร่ำสุราพอๆกับรักบทสนทนาทางการเมือง ส่วนอีกสองคนเป็นแขกแปลกหน้าที่ถูกอาจารย์นันไคตั้งชื่อให้ว่า “สุภาพบุรุษ (ตะวันตก)” และ “นักสู้ (ซามูไร)"

หลังจากชนแก้วจนได้ที่  “สุภาพบุรุษ” ผู้ชื่นชมในแนวคิดเสรีนิยมของโลกตะวันตกก็ได้เปิดฉากการสนทนา โดยชี้ให้เห็นหลักการอันประเสริฐทั้งสามของเสรีนิยมอันได้แก่ เสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ ที่ประกอบกันเป็นระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตย แต่ประเทศตะวันตกที่อวดอ้างว่าสมาทานแนวคิดและรูปแบบการปกครองนี้ ก็หาได้จริงจังกับแนวคิดนี้อย่างแท้จริง เพราะยังทำตัวเป็นผู้รุกราน กระหายสงครามและปฏิบัติต่อชาติอื่นๆที่อ่อนแอกว่าอย่างไม่เท่าเทียมกัน เพราะหากเป็นเสรีนิยมที่แท้แล้ว จะต้องยกเลิกกองทัพ และเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงอยากให้ญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นประเทศเล็กๆที่อ่อนแอและล้าหลังรีบปฏิรูปตัวเองโดยการรับแนวคิดเสรีนิยม และยกเลิกการทำสงคราม และหันมาพัฒนาประเทศด้วยการอุตสาหกรรมและการค้า และถ้าหากชาติตะวันตกมารุกราน แทนที่จะไปต่อสู้ ก็ใช้วิธีการอารยะ คือต้อนรับอย่างสุภาพ  เพราะสู้ไปก็มีแต่จะพ่ายแพ้ สู้หันมาสงบนิ่งเฉย แล้วดูว่า นานาประเทศจะว่าอย่างไรกับการรุกรานอันป่าเถื่อนของชาติตะวันตกที่อวดอ้างว่าศิวิไลซ์แล้ว

ที่สำคัญคือ เขาเชื่อในวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์มนุษยชาติว่าจะเดินหน้าเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ระบอบการเมืองการปกครองก็เช่นเดียวกัน  ดังนั้น เมื่อรู้เช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดวิกฤตแล้วค่อยเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะเข้าข่ายกว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ การปฏิวัติทางการเมืองที่รุนแรงเสียเลือดเนื้อจึงไม่จำเป็นหากชนชั้นนำมีวิสัยทัศน์เข้าใจถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ก็จะทำการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเสียแต่เนิ่นๆ

การปฏิวัติใหญ่อย่างที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ และทิศทางอนาคตของญี่ปุ่นก็อยู่บนเส้นทางเดียวกันกับชาติต่างๆในโลก ดังนั้น ญี่ปุ่นควรรีบปฏิรูปเสียก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิวัติ  กษัตริย์ที่ยอมสละอำนาจของพระองค์โดยสมัครใจ จะทำให้คนรุ่นหลังจดจำพระองค์ในฐานะที่เป็นกษัตริย์ที่ตื่นรู้และทรงภูมิปัญญา (the Enlightened King)

อังกฤษเป็นประเทศแรกๆที่เข้าสู่การปฏิวัติสมัยใหม่ และต้องผ่านการนองเลือดในสงครามกลางเมือง พระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งต้องถูกพิพากษาสำเร็จโทษ และต่อมาอังกฤษจึงได้มีการปรับตัวครั้งใหญ่ แต่ “สุภาพบุรุษ” เห็นว่า เราอาจจะกล่าวโทษชนชั้นนำอังกฤษเสียทีเดียวก็ไม่ถูก เพราะอังกฤษไม่มีตัวอย่างประวัติศาสตร์ให้เรียนรู้ เขาเลยเป็นประเทศนำร่องที่ต้องผ่านการสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่

แต่สำหรับฝรั่งเศสนั้น น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ต้องเข้าสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ที่สูญเสียยิ่งกว่าของอังกฤษ

“สุภาพบุรุษ” ได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอเสริมว่า ถ้าฝรั่งเศสไม่มีสงครามกลางเมืองอังกฤษให้เป็นบทเรียน ก็ไม่มีใครจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิชนชั้นนำทางการเมืองของฝรั่งเศสได้ และประเด็นที่กล่าวมาของข้าพเจ้าก็จะดูจะเป็นเรื่องห่างไกลเกินและเป็นข้อวิจารณ์ที่รุนแรงเกินไป แต่ความจริงมันชัดเจนว่า ทั้งๆที่ฝรั่งเศสรับรู้เกี่ยวกับสงครามกลางเมืองของอังกฤษ แต่กลับไม่สนใจ  ไม่ต่างจากรถไฟ ที่หัวขบวนพังไปแล้ว แต่ขบวนต่อมายังเดินหน้าต่อไปอย่างไม่สนใจว่าอะไรเกิดขึ้นกับหัวขบวน ชนชั้นปกครองฝรั่งเศสก็เช่นกัน ไม่สนใจที่จะปฏิรูป แต่กลับเดินหน้าต่อไป ดูคล้ายจะจงใจทิ้งความหายนะให้แก่คนรุ่นต่อมา พวกเขาไม่ต่างจากผีปีศาจที่ขวางทางเทพเจ้าแห่งวิวัฒนาการ พวกเขาคืออาชญากรที่กักขังหน่วงเหนี่ยวพระเจ้าหลุยส์ กษัตริย์ฝรั่งเศส ”

พูดถึง “ปีศาจและเทพเจ้าแห่งวิวัฒนาการ” ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่า ในตอนที่แล้ว “สุภาพบุรุษ” ได้เปรียบเทียบนักการเมืองเสมือน “พระหรือนักบวชที่ทำงานรับใช้เทพแห่งวิวัฒนาการ”  นักการเมืองหรือนักบวชนี้จึงต้องเป็นผู้ผลักดันให้การเมืองในประเทศของตนเดินบนเส้นทางแห่งวิวัฒนาการที่ถูกกำหนดโดยเทพเบื้องบน โดยการปฏิรูปบ้านเมืองเสียแต่เนิ่นๆผ่านวิสัยทัศน์แห่งอนาคตที่พวกตนได้รับมาจากเทพเจ้า ดังนั้น นักการเมืองที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง แทนที่จะเป็นนักบวช แต่กลับจะเป็นปีศาจที่เป็นศัตรูของเทพเจ้า

และการที่ “สุภาพบุรุษ” เปรียบนักการเมืองปีศาจว่าเป็นเหมือนอาชญากรที่กักขังหน่วงเหนี่ยวกษัตริย์ไว้ไม่ให้เดินเข้าสู่เส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนเรื่อง “คำตอบต่อคำถามที่ว่า อะไรคือการรู้แจ้ง (the Enlightenment) ?” ที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2327 เป็นเวลาเกือบ 100 ปีก่อนหน้าที่โชมินจะแต่งเรื่อง “สามขี้เมาฯ”นี้ ข้อเขียนดังกล่าวนี้เป็นของนักปรัชญาชาวเยอรมันที่ชื่อ อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) ที่โชมินก็กล่าวถึงไว้ในนวนิยายเรื่องนี้ด้วย สาเหตุที่ผมนึกถึงข้อเขียนดังกล่าวของคานท์ก็เพราะมีข้อความหนึ่งของคานท์กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพทางความคิดของมนุษย์ ถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อความเป็นมนุษย์” ฟังดูแล้ว น่าจะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันระหว่างการ เปรียบนักการเมืองปีศาจกับอาชญากรกับข้อความดังกล่าวของคานท์

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย(ตอนที่สิบเก้า):“สามขี้เมาคุยการเมือง”

หลังจาก “สุภาพบุรุษ” ได้กล่าวมาพอสมควร เขาก็หันมายกแก้วขึ้นดื่มและกล่าวต่อไปว่า

“รถม้าที่เปรียบเสมือนสายน้ำที่กำลังไหล และม้าที่ประดุจมังกรที่กำลังแหวกว่ายไปตามถนนสายหลักของเมือง นำพาบุรุษผู้สวมสูททันสมัยและหมวกทรงสูงแบบฝรั่งให้ร่อนเฉิดฉายฝ่าฝูงชนราวกับเขากำลังโบยบิน โดยมิพักหันมามองสองข้างทาง บุรุษผู้นี้หรือที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่สามารถในการบริหารและจะปกครองประชาชน ผู้ซึ่งจะทำหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือองค์จักรพรรดิในราชสำนัก ? หรือเขาคือบุรุษผู้มีธรรมชาติอันฉลาดแหลมที่สามารถหยั่งรู้เรื่องราวทั้งหมดแม้เห็นเพียงแค่เพียงเศษเสี้ยว ซื้อมาด้วยราคาถูกและขายได้ราคาอันสูงลิ่ว และจึงกลายเป็นมหาเศรษฐี ? หรือเขาคืออัจฉิรยะที่หายากที่มีความเป็นเลิศในทางอักษรศาสตร์และวิชาการที่สามารถนำเซอร์วานเตส (Cervantes นักเขียนเรืองนามชาวสเปน เจ้าของนวนิยายอมตะเรื่อง ดอน ฆีโฮเต้) และปาสกาล (Pascal ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสผู้เป็นเลิศในการใช้เหตุผลและมีวาทะอันแหลมคม) มารับใช้เขาได้ ?

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย(ตอนที่สิบเก้า):“สามขี้เมาคุยการเมือง”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย(ตอนที่สิบเก้า):“สามขี้เมาคุยการเมือง”

แต่เปล่า บุรุษผู้นั้นไม่ได้เป็นอะไรสักอย่างที่กล่าวมา แต่เขามาจากตระกูลเก่าแก่ที่ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษต้นตระกูลของเขาสามารถพิชิตข้าศึกได้และสังหารแม่ทัพฝ่ายนั้นได้ และด้วยความกล้าหาญของเขา บรรพบุรุษนั้นจึงได้รับพระราชทานตำแหน่งขุนนางและศักดินาที่ดิน และต่อมา ครอบครัวของเขายังคงไว้ซึ่งชื่อเสียงและความรุ่งเรืองจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่าลูกหลานของขาจะไม่ได้อัจฉริยะหรือมีความรู้ แต่ก็คงได้รับเงินค่าใช้จ่ายอย่างมากมายโดยไม่ต้องทำงานอะไร ต้องขอบคุณกระดูกของเหล่าบรรพบุรุษของเขาที่ยังคงส่องประกายจากหลุมศพ เขาดื่มเหล้าชั้นดี กินเนื้อชั้นเลิศ และใช้เวลาไปวันๆอย่างสบายๆ เขาคือหนึ่งในบรรดาคนพิเศษที่เรียกว่า อภิชน  ตราบใดที่คนเหล่านี้ยังดำรงอยู่ในชาติใด ไม่ว่าจะมีจำนวนเป็นร้อยหรือไม่ถึงร้อย แม้ว่าชาตินั้นจะมีรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ และพลเมืองนับล้านจะรับเสรีภาพ

แต่เสรีภาพนั้นก็หาใช่เสรีภาพที่แท้จริงไม่ เพราะหลักการความเสมอภาคอันยิ่งใหญ่ยังไม่ถูกใช้อย่างสมบูรณ์ได้จริง เรา ประชาชนคนธรรมดา ต้องทำงานหนักตั้งแต่เช้ายันค่ำและต้องเสียภาษีจากส่วนหนึ่งของเงินที่เราหามาได้  การจ่ายภาษีเป็นเรื่องจำเป็น แต่ถ้าภาษีของเราไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็นเงินเดือนข้าราชการที่เราไว้วางใจให้บริหารประเทศ แต่ต้องถูกนำไปให้บรรดาอภิชนเหล่านี้ที่ไม่ได้ทำงานอะไร ถ้าเป็นเช่นนี้ เรายังไม่มีเสรีภาพที่แท้จริง กษัตริย์และอภิชนมีสมองที่ใหญ่และหนักกว่าเราหรือ ? พวกเขามีน้ำย่อยและเม็ดเลือดมากกว่าเราหรือ ?  

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย(ตอนที่สิบเก้า):“สามขี้เมาคุยการเมือง”

ถ้าเราให้ นายแพทย์กอลล์ (ฟรานซ์ โยเซฟ กัลล์ [ค.ศ. 1758-1828] นายแพทย์ชาวออสเตรีย ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทกายวิภาคศาสตร์ [neuroanatomy] และจิตวิทยา ทฤษฎีของเขาเป็นที่รู้จักและถกเถียงกันทั่วไปในยุโรปศตวรรษที่สิบแปดและสิบเก้า) ตรวจสมองของพวกเขา มันจะแตกต่างจากของเราไหม ? แต่ถ้าสมมุมติว่ามันแตกต่าง ความแตกต่างที่ว่านี้มันจะเป็นประโยชน์แก่พวกเขาหรือแก่พวกเรา ?.....”

แม้ว่า “สุภาพบุรุษ” จะยังพูดไม่จบ  แต่ฟังมาแค่นี้ ก็น่าจะเป็นความคิดที่รุนแรงสำหรับพวกอนุรักษ์นิยมในญี่ปุ่นไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ว่างานเขียนทางการเมืองของโชมินจะไม่ได้ออกอาการล้มเจ้าอย่างชัดเจนตามที่รัฐบาลเมจิตั้งข้อสงสัย  แต่ดูเหมือนว่าเขาเอาความคิดล้มเจ้าหลบมาเขียนในนวนิยายเรื่องนี้นี่เอง

กระนั้นก็ไม่ควรด่วนสรุปว่าสิ่งที่ “สุภาพบุรุษ” พูดออกมานั้นเป็นความเห็นความเชื่อของตัวโชมินเองทั้งหมด  เพราะโชมินยังมีตัวละครอีกสองตัว นั่นคือ อาจารย์นันไคและ “นักสู้” เราต้องดูต่อไปว่า สองคนนี้จะว่าอย่างไร ?