posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (11)

10 กรกฎาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************

บางท่านวิจารณ์ว่าขุนแผนรบเก่งแต่ปกครองไม่เก่ง โดยเฉพาะ “ปกครองเมีย”

ก่อนอื่นต้องกล่าวถึงเรื่อง “สิทธิสตรี” ในเรื่องขุนช้างขุนแผนสักเล็กน้อย เพราะเป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งของวรรณคดีเรื่องนี้ โดยมีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า เรื่องขุนช้างขุนแผน “ดูถูกผู้หญิง” ด้วยการทำให้เห็นว่าตัวละครผู้หญิงหลาย ๆ คนในเรื่องมีแต่เรื่องเสียๆ หายๆ ยิ่งตัวเอกคือนางวันทองด้วยแล้ว ได้กลายเป็นคำเรียกผู้หญิงที่นอกใจสามี อย่างสำนวนที่ว่า “วันทองสองใจ” เป็นต้น

นอกจากนั้นผู้หญิงคนอื่น ๆ เช่น นางลาวทอง ก็ได้ชื่อว่าแย่งผัวชาวบ้าน หรือนางสายทองพี่เลี้ยงของนางวันทองก็ต้องยอมเป็นเมียขุนแผน ที่ในเรื่องบอกว่าขุนแผนได้ใช้เวทย์มนตร์ แต่นางสายทองก็ยอมกินน้ำใต้ศอก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเรื่องที่เลาะกันของผู้หญิงอยู่ตลอดเรื่อง จนทำให้เห็นว่าผู้หญิงในสังคมไทยครั้งสมัยโบราณมีสภาพที่ย่ำแย่เอามาก ๆ

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้พูดถึงเรื่องสภาพชีวิตและสถานะทางสังคมของผู้หญิงในเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้อยู่ด้วย แต่เป็นมุมมองของคนที่พยายามเข้าใจผู้แต่ง โดยท่านบอกว่าผู้แต่งเรื่องขุนช้างขุนแผนพยายามจะทำให้ “ผู้อ่าน” (ความจริงคือ “ผู้ฟัง” เพราะเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ต้นกำเนิดแต่งเป็นเสภา ที่เน้นขับร้องและเล่าเรื่องเพื่อให้ผู้คนทั้งหลายได้รับฟังเป็นสำคัญ) ได้รับความเพลิดเพลินสนุกสนาน กอร์ปกับต้นฉบับของเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้เกิดขึ้นในคุก จึงมีการแต่งเติมให้ออกรสชาติไปในแนวบ้าน ๆ ดังจากที่ได้เห็นว่าเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้เต็มไปด้วยมุขตลกแบบชาวบ้านมากมาย รวมถึงบทอัศจรรย์ของหนุ่มสาวก็ออกแนว “ฮาร์ดคอร์” ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งก็แสดงถึงความเป็นชาวบ้าน ดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า “นี่คือชีวิตไทย” นั่นเอง

เช่นเดียวกันกับที่มีการเน้นเรื่องการชิงรักหักสวาทและอารมณ์หึงหวงช่วงชิง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็บอกว่านี่คือ “รสวรรณกรรมแบบชาวบ้าน” ที่ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในสังคมไทยสมัยโบราณ แม้แต่ในสมัยปัจจุบันพวกละครวิทยุและโทรทัศน์รวมถึงหนังสือนวนิยายต่าง ๆ ก็เต็มไปด้วยเรื่องเหล่านี้อยู่มาก

ละครโทรทัศน์ถ้าไม่มีตัวอิจฉาหรือนางร้ายก็ไม่มีรสชาติ ถ้าไม่มีการถมึงตาด่าทอกันก็ไม่เป็นรส พระเอกนางเอกต้อง “ตบจูบ ๆ” คือต้องมีแง่มีงอน หึงหวงช่วงชิง พูดจากถากถางกัน จึงจะเพิ่มเรตติ้ง (ตรงนี้ผู้เขียนขออนุญาตแสดงความเห็นส่วนตัวว่า แม้แต่ในเรื่องการเมือง การทำข่าวเรื่องราวของนักการเมืองก็ต้องให้มี “ดราม่า” ในแนวนี้ คือต้องให้มีเรื่องว่ามีการทะเละเบาะแว้งกัน ข่าวนั้นจึงจะเป็นที่น่าสนใจ ยิ่งเรื่องส่วนตัวของใครถูกถลกออกมาให้เห็นได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้ข่าวนั้นขายดียิ่งขึ้นเท่านั้น) ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า คนไทยเป็นคนที่สนใจในเรื่องของคนอื่นมาก แบบที่เรียกว่าเป็นคนชอบ “สอดรู้สอดเห็น”

ดังนั้นรายละเอียดในเรื่องชีวิตส่วนตัวของผู้คนจึงเป็นที่สนใจของคนทั้งหลาย ดังที่เรื่องขุนช้างขุนแผนได้แสดงไว้อย่างมากในเรื่อง “ผัว ๆ เมีย ๆ” นี้

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยแสดงทัศนะเกี่ยวกับผู้หญิงในสังคมไทยไว้ว่า ผู้หญิงไทยนี้มีฐานะทางสังคมที่เหนือกว่าผู้ชาย เพราะเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดภายในบ้าน โดยเฉพาะ “ภรรยาหลวง” ที่เป็นผู้ดูแลข้าทาสบริวารและทรัพย์สินทั้งหมดในบ้าน รวมทั้งการทำมาหากินและสะสมทุนทรัพย์ต่าง ๆ เพราะในสมัยก่อนผู้ชายมีหน้าที่เป็นทหาร ต้องไปรบ บางคนต้องตายในศึกสงคราม ผู้หญิงที่เป็นแม่หม้ายก็ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวตามลำพัง

บางทีถ้าเป็นครอบครัวที่มีฐานะดี ก็จะเป็นที่ปรารถนาของชายทั้งหลาย อย่างที่เรียกว่า “แม่หม้ายทรงเครื่อง” อีกอย่างหนึ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่ยกย่อง “เพศแม่” อยู่เป็นทุนเดิม อย่างผู้หญิงที่ดูแลบ้านนี้ก็เรียกว่า “แม่บ้าน” สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติก็เคารพนับถือว่าเป็นผู้หญิง เช่น แม่น้ำ หรือตำแหน่งทางทหารในระดับบังคับบัญชา ก็เรียกว่า “แม่ทัพ” เป็นต้น

ถึงตรงนี้ก็มีข้อถกเถียงว่า แล้วทำไมสังคมไทยจึงดูเหมือนไม่ให้เกียรติผู้หญิงเท่าใดนัก โดยเฉพาะบรรดาขุนนางหรือข้าราชการทั้งหลาย ที่นิยมมีเมียน้อยหรือมีการเลี้ยงดูหญิงอื่นนอกจากภรรยาของตนนั้นอย่างออกหน้าออกตา และบางคนก็เอามาประกวดประชันกันว่ามีเมียมากก็หมายถึงมีบารมีมาก หรือเป็นเครื่องอวดฐานะทางสังคมอย่างหนึ่ง อย่างเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ขุนแผนก็มีเมียตั้งหลายคน ทั้งยังปล่อยให้บรรดาเมีย ๆ ออกมาทะเลาะเบาะแว้งกัน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเฉพาะขุนแผน แต่พอมาถึงลูกชายของขุนแผน อย่างพลายงามก็มีชีวิตอยู่ในแนวเดียวกันนี้ด้วย อันน่าจะเป็นการแสดงถึงเป็นชีวิตที่เป็นปกติของบรรดาข้าราชการในยุคก่อนนั้นหรือไม่

เรื่องนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า มีคำอธิบายได้ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องของความจำเป็นทางสังคม และอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของรสนิยมทางเพศ ซึ่งในส่วนแรก สังคมไทยเป็นระบบไพร่ ผู้น้อยต้องพึ่งผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจ ซึ่งผู้หญิงหลายคนจำเป็นต้องเป็นเมียของข้าราชการเพื่อให้มีผู้ปกป้องคุ้มครอง นอกเหนือจากที่พ่อแม่นิยมเอาลูกสาวยกให้เป็นเมียขุนนางต่าง ๆ อันเป็นสภาพสังคมที่บังคับ

แต่ในส่วนของรสนิยมทางเพศ อันนี้ก็ต้องโทษผู้ชายโดยตรง ที่ยังแสดงสัญชาติญาณของนักล่า และการเอาเปรียบทางเพศ ด้วยพละกำลังและวามแข็งแรงที่เหนือกว่า รวมถึงที่ขาดความยับยั้งทางศีลธรรม อย่างในเรื่องขุนแผนแม้แต่อยู่ในผ้าเหลืองก็ยังแอบออกมาแสดงพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรมดังกล่าว ซึ่งคำอธิบายทั้งสองส่วนนรี้ก็ยังปรากฏอยู่ในสังคมปัจจุบัน เพียงแต่ว่าในสมัยโบราณไม่มีกฎหมายบังคับลงโทษ รวมถึงระบบศีลธรรมก็เป็นแบบอำนาจนิยม คือ “ใครใหญ่ใครอยู่” เราจึงเห็นเรื่องการมีเมียมากเป็นเรื่องที่พบเห็นโดยทั่วไปในสมัยก่อน

ว่าจะพูดถึงเรื่องสิทธิสตรีเพียงเล็กน้อย แต่ก็ร่ายมาจนจะจบเนื้อที่บทความวันนี้ นี่ก็แสดงว่าเรื่องของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ๆ และในเรื่องขุนช้างขุนแผน ถ้าเราอ่านด้วยความเคารพกันในทางเพศแล้ว เราอาจจะรู้สึกได้ว่า ผู้แต่ง(ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็น “คนคุก”)แม้จะแต่งด้วยสำนวนขบขันและหยาบโลน แต่ก็มีความเข้าใจในเรื่องของผู้หญิงอยู่พอควร ดังที่ได้แสดงออกด้วยบทบาทของนางวันทอง โดยเฉพาะที่แสดงให้เห็นถึงสถานภาพที่ถูกสังคมรอบด้านบังคับ และจำต้องกล้ำกลืนฝืนทนจนกระทั่งต้องจบชีวิตอย่างแสนอนาจ

ช่างเหมือนกันกับคนไทยในวันนี้ที่ต้องอยู่ในสภาพบังคับของเผด็จการ ทั้งที่เป็นด้วยความชื่นชอบหรือจำยอมของแต่ละบุคคลนั้น

******************************