posttoday

ควรปฏิรูปตนเองก่อน

01 กรกฎาคม 2564

เดือนมิถุนายน เป็นอีกเดือนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ทางการเมืองในไทยและที่เกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งประวัติศาสตร์ไทยบอกว่า เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย

คนบางกลุ่มยกย่องผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็น “ฮีโร่” และพยายาม “ด้อยค่า” สถาบันกษัตริย์ในทุกวิถีทาง ด้วยการกล่าวหาต่าง ๆ นานา ทั้งจาบจ้วง ล่วงละเมิด ใส่ร้าย สถาบันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ประกาศว่าจะ “รื้อเพดาน” โดยใช้คำพูดหรู ๆ ว่าเป็นการ “ปฏิรูป” สถาบันกษัตริย์ โดยอ้างว่าสถาบันไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ

สารพัดที่จะอ้าง โดยปลุกระดมและยกยอนักเรียน นักศึกษา ว่า เป็น “คนรุ่นใหม่ที่กำหนดอนาคตของประเทศ” ส่วนพ่อแม่ พี่ป้าน้าอา ครูอาจารย์ทั้งหลายล้วนแต่เป็นพวกหัวโบราณที่ต้องถูกเขี่ยออกไป เรียกร้องให้ปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างโดยอ้างว่าเป็นของล้าสมัย

มีการเคลื่อนไหวเปิดหน้าชนทั้งในและนอกสภา อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ผลก็คือ คนที่เชื่อและทำตามซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายถูกฟ้องร้องกันเป็นระนาว ชีวิตที่เหลือคงต้องเดินขึ้นลงศาลวนเวียนแถวคุก เพราะแกนนำแต่ละคนเจอข้อหาเข้าไปคนละหลายสิบคดี

เท่ากับเป็นการเร่งให้คนเหล่านี้ต้องยุแหย่ ยุยง ให้คนหนุ่มสาวที่เชื่อว่าพวกตนจะเป็น “พลังในการเปลี่ยนแปลง” ออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นทั้งในและนอกสภา เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับตนและพวก แต่ดูไปแล้ว พลังที่ดูคึกคักและทำท่าจะมากตอนแรกกลับลดน้อยลงทุกที และมีอาการ “หงอย” คล้ายไก่เป็นโรค สิ่งที่ทำได้มีเพียงการแสดง “เชิงสัญลักษณ์” เท่านั้น แต่พวกเขาอ้างว่า โควิด 19 กำลังระบาดในช่วงนี้ จึงมีคนมาร่วมน้อย

แกนนำบางคนชอบอ้างถึง “ การโค่นล้มพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 “ และยกย่อง “คณะราษฎร” ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ที่ยึดอำนาจการปกครองจากกษัตริย์ มาเป็นต้นแบบ และสรุปเอ่าเองว่า “ การปกครองในปัจจุบันยังไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะพระมหากษัตริย์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ฯลฯ จำเป็นต้องมีการ “ปฏิรูป” สถาบันกษัตริย์ โดยเลี่ยงไปใช้ว่า “รื้อเพดาน”

แม้แต่คำพูดที่นำมาใช้ในการปลุกระดม ยังไปลอกเลียนจากข้อเขียนทั้งไทยและต่างชาติ หาคำพูดเพราะๆ ที่ดู “เท่ห์” ไปคัดลอกของฝรั่งแล้วเอามาแปลเป็นไทย หรือของนักประพันธ์ของไทยมาใช้ คล้ายกับเป็นคำพูดของตน แล้วเอาไปออกสื่อโซเชียลต่อ

มีเสียงวิจารณ์ว่า พออารัมภบทก็หาคนร่วมยากแล้ว และตั้งคำถามว่า คนกลุ่มนี้เป็น “คนรุ่นใหม่” จริงหรือ วันนี้เราอยู่ใน ค.ศ.2021 แต่ศาสดาของคนพวกนี้ชอบอ้างถึง “การปฏิวัติพระเจ้าหลุยส์ที่ 16” ปี 1789 หรือ 232 ปืมาแล้ว เพื่อใช้เป็นเหตุผลและความจำเป็นในการ “ปฏิรูป” สถาบันกษัตริย์ไทย ซ้ำยังบิดเบือนข้อเท็จจริงเสียอีก เพราะสถานการณ์ในฝรั่งเศสขณะนั้นแตกต่างกับสถานการณ์ในไทยโดยสิ้นเชิง รวมทั้งมีการอ้างการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดย “คณะราษฎร” พ.ศ.2575 ซึ่งเวลานี้เป็น พ.ศ.2564 หรือ 89 ปีมาแล้ว

คำถามคือ พระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้ทำอะไรให้ประชาชนไทย จนคนกลุ่มนี้เรียกร้องให้ “ปฏิรูป” สถาบันกษัตริย์ ซึ่งก็คือต้องการล้มระบอบนั่นเอง เราน่าจะมาทบทวนประวัติศาสตร์ไทย เพื่อเรียนรู้บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในการ ปกป้อง ดูแล คุ้มครองพสกนิกรของพระองค์ ให้อยู่ดีกินดีมีสุขมาโดยตลอด สิ่งที่พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ได้ทำเพื่อบ้านเมืองและพสกนิกรสามารถนำประยุกต์กับวิชาการสมัยใหม่ได้ทั้งวิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ การทำให้พสกนิกร “กินดีอยู่ดีมีสุข” หรือที่รัฐธรรมนูญฝรั่งเรียกว่า “ ปลอดจากความหิวโหย” และ” ปลอดจากความหวาดกลัว” ซึ่งคลุมกิจกรรมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การทหาร

พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงหาที่ตั้งประเทศอันเหมาะสม ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ขยายพระราชอาณาจักรเพื่อหาที่ทำกินและทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มเติม ให้กับราษฎร อยุธยาและบางกอกเป็นท่าเรือสำคัญ ตลาดค้าขายในภูมิภาคที่จีน แขก ฝรั่ง มาค้าขายทางแถวนี้ก็ต้องแวะอยุธยา และบางกอก ก่อนจะเดินทางไปที่อื่น ไทยสมัยก่อนนำเข้า ส่งออก ได้เปรียบดุลการค้าและดุลชำระเงินมากมาย ตามตำราสมัยใหม่ จนมีเงินทองเก็บไว้ได้มากมาย

กษัตริย์ไทยต้อนรับคนทุกชาติทุกภาษา ใช้ประโยชน์จากความเก่งและเทคโนโลยีของคนต่างด้าว คงไม่มีที่ไหนที่มีทั้งคนแขก จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น มารับราชการในราชสำนักไทย บางพวกมีบทบาทสำคัญในการปกป้องประเทศไทยด้วย

สมัยลัทธิล่าอาณานิคม ฝรั่งตาน้ำข้าวทั้งฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส ต่างก็อยากได้ไทยเป็นเมืองขึ้นกันทั้งนั้น เพราะไทยมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และเป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการทำการค้าในภูมิภาคนี้ ไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ทรงดำเนินนโยบาย การทูตซึ่งถือว่าเป็น “พลังอำนาจ” สำคัญอย่างหนึ่งของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยนโยบายการสร้างดุลอำนาจ เวลาถูกรังแก ก็เอาคนตัวใหญ่อีกคนหนึ่งมาช่วย ทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 3 ทรงทำนายเหตุการณ์ข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ ในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงปฏิรูปให้ไทย “ทันสมัย” และของจริงเกิดขึ้นในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ต้องสู้เต็มที่เพื่อ “อธิปไตยของชาติ” ด้านหนึ่ง และ “ปฏิรูปประเทศ” ให้ทันสมัยทัดเทียมอารยะประเทศ อีกด้านหนึ่ง

นักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์กำลังทบทวนเหตุการณ์ปฏิวัติปี 2475 ว่า คณะราษฎร “ชิงสุกก่อนห่าม” หรือเปล่า เพราะในหลวงรัชกาลที่ 7 เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญให้อยู่แล้ว โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกถึงการเตรียมการของพระองค์ท่านชัดเจน

ความจริง ได้มีความคิดริเริ่มเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 5 แล้ว เมื่อคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ได้รับแนวคิดจากยุโรปเสนอแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ต่อในหลวงรัชกาลที่ 5 แต่พระองค์ไม่ได้ทรงถือโทษ เพราะเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนหนุ่มเหล่านี้ดี แต่ทรงเห็นว่า ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม การปฏิรูปประเทศเแบบตะวันตกเป็นความจำเป็นเร่งด่วนอันดับแรก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงเตรียมประเทศและประชาชนให้คุ้นเคยกับประชาธิปไตย เป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสู่ระบอบประชาธปไตย เพราะพระองค์ทรงศึกษาในอังกฤษซึ่งเป็นต้นแบบประชาธิปไตย ในรัชสมัยนี้ มีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นกัน แต่ถูกจับเสียก่อน

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงให้ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศและคนไทยร่างรัฐธรรมนูญ และเตรียมที่จะพระราชทานให้ในวันที่ 6 เมษายน 2475 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 150 ปีของสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ แต่ได้รับการทัดทานว่า ให้ชะลอไปก่อนเพื่อให้คนไทยมีความรู้เรื่องประชาธิปไตยอีกสักหน่อย พระองค์ท่านทรงทราบดีเรื่องการเตรียมปฏิวัติของผู้ก่อการ หากทรงจับกุมเสียก่อนก็ย่อมทำได้ แม้แต่เมื่อคณะราษฎรยึดอำนาจ หากพระองค์จะต่อต้านก็ทำได้ แต่ไม่ต้องการเห็นคนไทยต้องรบกันเอง

ตรงกันข้าม คณะปฏิวัติเมื่อยึดอำนาจได้ ได้กดดันพระมหากษัตริย์ทุกวิถีทาง แต่เห็นถึงความจำเป็นต้องรักษาพระมหากษตริย์ไว้ก่อน เพราะตระหนักดีว่า ประชาชนคนไทยยังจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จึงไม่กล้าหักด้ามพร้าด้วยเข่า และพยายามใช้พระมหากษัตริย์เป็น “หุ่นเชิด” ซึ่งพระองค์ท่านทราบดี เมื่อถูกกดดันมากเข้า พระองค์ท่านจึงประกาศสละราชสมบัติ โดยที่คณะราษฎรก็คาดไม่ถึง

การเปลี่ยนแปลงสังคมในขณะนั้น เชื่อกันว่า หากเริ่มจาก “บนสู่ล่าง” มีโอกาสที่จะเรียบร้อยมากกว่า ตัวอย่าง เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเลิกทาสได้อย่างเรียบร้อยทั้งที่ไทยเป็นสังคมทาส ในขณะที่สหรัฐเกิดสงครามกลางเมืองจนคนอเมริกันล้มตายกันนับหมื่นนับแสนคนเมื่อประธานาธิบดีอเมริกาเลิกทาส

เป็นที่ชัดเจนว่า การปฏิวัติวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการชิงจังหวะลงมือ เพราะหากปล่อยให้กษัตริย์ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อน พวกตนก็จะ “ไม่ได้” อะไรทั้งที่วางแผนมานาน หลังจากการยึดอำนาจของ “คณะราษฎร” ก็เต็มไปด้วยการต่อสู้ทางการเมืองช่วงชิงอำนาจกันระหว่างฝ่ายเผด็จการทหาร และ ฝ่ายมาร์กซิสต์พลเรือน

ประชาธิปไตยไทยที่เดินมาแล้ว 89 ปี (2475-2564) ยังลุ่มๆดอนๆ ไปไม่ถึงไหน มีคนเริ่มพูดกันว่า เป็นผลมาจากการชิงสุกก่อนห่ามหรือเปล่า แต่จะอย่างไรก็ตาม เราไม่อาจถอยหลังไปยังจุดนั้น

ประชาชนคนไทยต้องสูญเสียพระมหากษัตริย์ไปสองพระองค์ คือ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่ทรงสละราชสมบัติและเสด็จสวรรคตที่อังกฤษ ในขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 ที่เสด็จขึ้นครองราชย์ถูกต้องตามพระราชประเพณี (ไม่ใช่เพราะความใจดีของใคร) ถูกลอบปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ( ตามคำพิพากษาของศาลประชาชน ) ก่อนเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์เพื่อศึกษาต่อ ซึ่งอาจมีการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

หากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ปฏิรูปประเทศครั้งแรก” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรง “ปฏิรูปประเทศครั้งที่สอง” ด้วยนโยบาย “การชนะความยากจน” เพื่อสู้กับภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์

คนไทยรุ่นหนุ่มจนกระทั่งถึงรุ่นแก่ มีชีวิตอยู่ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เราได้เห็นและสัมผัสได้ว่า พระองค์ได้ทรงงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาชนของพระองค์ ซึ่งในหลวงองค์ปัจจุบันรัชกาลที่ 10 ได้ทรงสืบสานโครงการต่างๆ ของสมเด็จพระราชบิดาตลอดมา และทรงช่วยแก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองหลายครั้งโดยที่ไม่มีใครทราบ

สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็น “ส่วนเกิน” ของสังคมไทยแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับกลายเป็น “สิ่งจำเป็น” ของประเทศด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงไม่เห็นเหตุผลและความจำเป้นที่จะต้อง “รื้อ” หรือ “ถอน” หรือ “ปฏิรูป” สถาบันกษัตริย์ตามที่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มเสนอ แต่อย่างใด

ตรงกันข้าม คนการเมืองกลุ่มนั้นน่าจะ “ปฏิรูป” ตัวเองก่อน เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินไปด้วยดีและเรียบร้อย (จบ)