posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบหก): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

21 มิถุนายน 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร      

********************

อย่างที่กล่าวไป ญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญก่อนไทย 43 ปีและมีเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2433 อันเป็นการเลือกตั้งที่ให้พลเมืองญี่ปุ่นเลือก ส.ส. ได้เลย โดยไม่ต้องอ้อมๆแบบของไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  เพียงแต่สิทธิ์เลือกตั้งของญี่ปุ่นถูกจำกัดไว้แต่เฉพาะพลเมืองเพศชายและจะต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง โดยกำหนดเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามฐานภาษี  ส่วนของไทยก้าวหน้ากว่า ให้สิทธิ์เลือกตั้งโดยไม่กีดกันเพศและฐานะทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นมีพรรคการเมืองมาก่อนหน้ามีรัฐธรรมนูญแล้ว นั่นคือ พรรคเสรีนิยม (จิ ยู โท) และมีหัวหน้าพรรคชื่อ อิตางากิ ไทสุเกะ ผู้มีแนวคิดในแบบจอห์น ล็อก (John Locke) นักคิดทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ

ส่วนหนึ่งในแกนนำพรรคที่มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะ “รุสโซแห่งโลกตะวันออก” คือ นากาเอะ โชมิน

หากเปรียบเทียบคุณภาพนักการเมืองญี่ปุ่นกับของไทย จะพบว่า ผลงานนวนิยายการเมืองของโชมินได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมยิ่งใหญ่ของโลกโดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และนวนิยายเรื่องนี้คือ “สามขี้เมาคุยการเมือง” (A Discourse by Three Drunkards on Government) ซึ่งผมได้เล่าถึงตัวละครในเรื่องไปบ้างแล้ว มาคราวนี้ จะลองหยิบยกเรื่องราวในนิยายเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบหก): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบหก): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

นิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2430  สองปีก่อนที่ญี่ปุ่นจะมีรัฐธรรมนูญ

ประเด็นหลักของการถกเถียงของสามคอสุราก็คือ ทิศทางอนาคตทางการเมืองของญี่ปุ่น ระหว่างจะเดินตามประชาธิปไตยและความก้าวหน้าแบบตะวันตกหรือ ยึดถือคุณค่าจารีตซามูไร ?

ประเด็นทำนองนี้ก็เป็นประเด็นถกเถียงในสังคมไทยในช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปการเมืองสมัยรัชกาลที่ห้าด้วยเช่นกัน และดูเหมือนว่า จะยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ด้วย แต่แปลงออกมาเป็นข้อถกเถียงระหว่าง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” กับ “ประชาธิปไตยแบบฝรั่ง”

ในการสนทนาการเมืองของคอสุราสามคน มีอาจารย์นันไค (Nankai) ทำหน้าที่เป็นคนกลางคุมการสนทนาของอีกสองคน

อาจารย์นันไคเป็นคนรักการดื่มและชอบถกเถียงเรื่องการเมือง เมื่อเขาดื่มสาเกขวดเล็กๆไปได้หนึ่งหรือสองขวด ก็จะเริ่มออกอาการเมา

อย่างที่เราคนไทยก็รู้ๆกันอยู่ว่า คนเมามีหลายแบบ บางคนเมาแล้วเอะอะโวยวาย บางคนเมาแล้วซึม บางคนเมาแล้วท้าตีท้าต่อย แต่ของอาจารย์นันไค เมาแล้วออกอาการน่ารักรื่นรมย์ เขาจะรู้สึกเหมือนเหาะได้และท่องไปในจักรวาล ! และเขาจะมีความสุขกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เห็นและได้ยิน ไม่มีอะไรเป็นเรื่องทุกข์ร้อนในโลก

และถ้าเขาดื่มไปอีกสองสามขวด เขาจะรู้สึกล่อยละล่อง ความคิดจะบรรเจิดไม่มีขีดจำกัด  เขาจะอยู่ในสภาพที่ว่า แม้ตัวเขาจะนั่งอยู่ในห้องเล็กของเขา แต่ดวงตาของเขาจะสามารถมองเห็นโลกทั้งใบได้ และแถมยังสามารภมองย้อนเวลากลับไปได้เป็นพันๆปี หรือมองไปอีกพันปีในอนาคตก็ได้ และเขาจะวางแผนกำหนดทิศทางของโลก  และมีคำแนะนำสำหรับโครงการหรือนโยบายสาธารณะต่างๆในปัจจุบันเพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายที่เขาวางไว้

หลังจากสาเกห้าขวดผ่านไป เขามักจะคิดว่าตัวเขาเองเป็น “ผู้นำทางให้กับสังคมมนุษย์” และรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่โลกต้องตกอยู่ในอันตรายภายใต้นักการเมืองที่ขาดวิสัยทัศน์ ที่สร้างความเสียหายมาสู่ตัวเองและคนอื่นๆด้วย

อาจารย์นันไคจะมีชุดความรู้ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่เป็นของเขาเอง เขาแบ่งภูมิศาสตร์ของโลกออกเป็นประเทศในแถบหนาวและในแถบร้อน  นอกจากนั้น ยังแบ่งเป็นออกเป็นประเทศมหาอำนาจกับประเทศที่อ่อนแอ ประเทศใหญ่และประเทศเล็ก ประเทศที่มีอารยธรรมกับประเทศที่ยังป่าเถื่อนอยู่

ส่วนประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ก็มีช่วงสันติภาพ ช่วงสงคราม ช่วงเจริญรุ่งเรืองและช่วงตกต่ำ

ฟังๆดูแล้ว ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ในความคิดของอาจารย์นันไคตอนเมาๆก็ไม่ต่างจากที่นักวิชาการเขาว่าไว้

แต่ถ้าเขาดื่มต่อไปอีกสามขวด หูของเขาจะเริ่มได้ยินเสียงและตาเริ่มจะมองอะไรไม่เห็น  และมือไม้ของเขาจะเริ่มกวัดแกว่งไปมา และเท้าก็จะกระทืบพื้น ในที่สุด เขาก็หมดสติไป  เมื่อตื่นมาหลังจากสลบไปได้สักสองสามชั่วโมง เขาก็จำอะไรไม่ได้ (อาการแบบนี้ ฟังดูคุ้นๆมาก !)

ใครที่พอจะคุ้นเคยหรือได้ยินกิตติศัพท์การเมาของอาจารย์นันไค ก็มักชอบมาหาเขา เพื่อหวังจะได้ฟังความคิดประหลาดๆที่ออกมาจากปากเขาตอนเมา คนที่อยากฟังอาจารย์นันไคจะเอาเหล้าและอาหารมาเพื่อดื่มกับเขา และจะหยิบยกประเด็นการเมืองมาให้อาจารย์นันไคได้แสดงวิสัยทัศน์

พอมีคนมาดื่มกับเขาบ่อยๆ อาจารย์นันไคเองก็เริ่มรู้ตัวว่าวิสัยทัศน์ตอนเมาของเขานั้นเป็นที่สนใจของผู้คน แต่ปัญหาคือ เขาจำไม่ได้ว่าพูดอะไรไป  ดังนั้น เขาจึงตั้งสติว่า เขาจะต้องจดประเด็นต่างๆที่พูดไปก่อนที่จะเมาจนสติขาด (มีเพื่อนนักดื่มคนหนึ่งของผมก็คิดแบบนี้ ! และที่จริง ตัวผมก็คิดแบบนี้ด้วยเหมือนกัน)

อาจารย์นันไคได้จดบันทึกและเก็บรวบรวมไว้ และคิดว่า วันหนึ่งจะนำไปพัฒนาต่อยอดและเขียนออกมาเป็นหนังสือเล่มเล็กๆสักเล่มหนึ่ง  เขาเชื่อว่าการออกหนังสือเล่มน้อยที่เป็นผลผลิตของสาเกจำนวนหนึ่งนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้ตัวเขามีความสุขเท่านั้น แต่น่าจะนำความสุขมาให้แก่ผู้อ่านคนอื่นๆด้วย

ดังนั้น เขาเลยตัดสินใจว่า เขาจะต้องมีหนังสือออกมาสักเล่มหนึ่งให้ได้  เพื่อที่จะทำให้ความคิดบรรเจิดตอนเมาสูญหายไปพร้อมกับเหล้าสาเกในขวด

มีวันหนึ่ง อาจารย์นันไครู้สึกเซ็งๆและหดหู่จากการที่ฝนตกต่อเนื่องมาหลายวัน เขาก็เลยเอาเหล้ามานั่งดื่มคนเดียวจนได้ที่  และในขณะที่จิตของเขากำลังจะเริ่มลิ่วละล่อง-ล่องละลิ่วไปในจักรวาล ก็มีชายสองคนมาหาเขาที่บ้าน พร้อมกับถือขวดบรั่นดียุโรปด้วยมาหนึ่งขวดยี่ห้อ “ขวานทอง”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบหก): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

แขกสองคนที่ว่านี้ เป็นคนแปลกหน้า อาจารย์นันไคไม่เคยรู้จักพวกเขามาก่อนเลย แต่อย่างว่า อาจารย์นันไคแกเป็นคนรักการดื่มเป็นชีวิตจิตใจ แค่เห็นขวดบรั่นดีขวานทองของยุโรป แกก็เมาเพิ่มไปแล้วอีกหนึ่งในสาม !  ดังนั้น แขกแปลกหน้าไม่รู้จัก ไม่เป็นไร รู้จักเหล้าก็เป็นพอ

หนึ่งในแขกที่มาหานั้น แต่งตัวตามแบบยุโรปเป๊ะตั้งแต่หัวจนเท้า มีจมูกเป็นสันตรง ดวงตาสุกใสและหุ่นดีออกแนวสลิม มีบุคลิกภาพคล่องแคล่วและพูดจาฉะฉานออกจะเป็นแนวนักคิดนักปรัชญาที่จมอยู่กับความคิดของตัวเองที่เต็มไปด้วยหลักการทางศีลธรรมต่างๆที่อยู่ภายใต้ระบบตรรกะที่เคร่งครัด เขาไม่ค่อยจะให้ค่ากับเรื่องราวในโลกแห่งความเป็นจริงที่ไม่ค่อยจะมีเหตุผลเท่าไร

ส่วนชายอีกคนหนึ่งนั้น ตัวสูงและแขนใหญ่ ใบหน้ามีสีผิวเข้ม ตาลึก ใส่ชุดฮากะมะ  และดูเป็นคนรักในเกียรติศักดิ์ศรีและชอบการผจญภัย

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สิบหก): “สามขี้เมาคุยการเมือง”

                                                                                                                                                   

สรุปคือ ในการดื่มวันนั้น อาจารย์นันไคจะได้คุยการเมืองกับสองหนุ่มสองมุม คนหนึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยของฝรั่ง ส่วนอีกคนสนับสนุนสิ่งที่โชมินใช้คำว่า “ความก้าวร้าว” (aggression)

บทสนทนาของสามคนเมาจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ