posttoday

UNGC Leaders Summit 2021(ตอนที่ 3)จับตาความเคลื่อนไหวล่าสุด Climate Action

14 มิถุนายน 2564

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

**********************

วันพรุ่งนี้ต่อเนื่องไป 26 ชั่วโมง การประชุมครั้งสำคัญของโลก UNGC Virtual Leaders Summit 2021 กำลังจะเกิดขึ้น ในการประชุมปีนี้ นอกจากประเด็นที่ UNGC ขับเคลื่อนมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม และการต่อต้านคอร์รับชั่น  ประเด็นที่น่าจับตามองที่สุดที่เห็นจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ปัจจุบัน ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน ซึ่งจะพิจารณาถึงความเสี่ยงในด้านดังกล่าวต่อการดําเนินธุรกิจ โดยผลการสํารวจความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารบริษัทชั้นนํากว่า 1,000 คนทั่วโลก ปรากฏว่าความเสี่ยงจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความล้มเหลวในการปรับตัวและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงภัยธรรมชาติ เป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบและมีโอกาสที่ จะเกิดขึ้นสูงเป็นอันดับต้นๆ

UNGC Leaders Summit 2021(ตอนที่ 3)จับตาความเคลื่อนไหวล่าสุด Climate Action

การประชุม Leaders Summit 2021 ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ จะมีช่วงเวลาที่ผู้นำความยั่งยืนจากทั่วโลก จะได้นำเสนอ วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และแนวทางในเรื่องนี้บนเวทีหลัก หรือ Main Stage Plenary ซึ่งถือเป็นหัวใจของการประชุม ในวันอังคารที่ 15 มิถุนายนนี้ เวลา 11.00-11.45 น. เวลาท้องถิ่น เมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือตรงกับเวลา 22.00-22.45 น. ตามเวลาประเทศไทย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็กแห่งประเทศ และซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะร่วมแสดงวิสัยทัศน์ภายใต้หัวข้อ  “Light the Way to Glasgow and Net Zero: Credible Climate Action for a 1.5 °C World”  หรือ “มุ่งหน้าสู่การประชุม COP26 Glasgow และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ : แนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนให้อยู่ในขอบเขต 1.5 องศาเซลเซียส”  โดยมีนายกอนซาโล มูนโญส(Gonzalo Muñoz) Chile COP25 High Level Climate Champion และนายไนเจล ทอปปิง (Nigel Topping) UN's High-Level Climate Action Champion ซึ่งเป็นแชมเปี้ยนในเรื่อง Climate Change เป็นผู้กล่าวนำ

นอกจากนี้    ในวันที่ 16 มิถุนายน เวลา 09.00–09.50 น. (ตามเวลาประเทศไทย)  สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT ได้เป็นเจ้าภาพจัดเสวนาในหัวข้อ “การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ: ยกระดับแนวทางธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” หรือ “A New Era of Action. Accelerate Climate Action: Raising Business Pathway to Decarbonization” ซึ่งจะมีผู้นำองค์กรธุรกิจ องค์กรภาครัฐจากประเทศไทย เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ คุณแดน ปฐมวาณิชย์  ซีอีโอ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) และคุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

UNGC Leaders Summit 2021(ตอนที่ 3)จับตาความเคลื่อนไหวล่าสุด Climate Action

ต่อด้วยเวลา 10.30-11.30 น. (ตามเวลาประเทศไทย)  ยังมีการเสวนาในหัวข้อ "การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่การปล่อยยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์" หรือ “Southeast Asia’s Net Zero Transformation for Agriculture & Food Sector” จัดโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาจาก ประเทศไทย ได้แก่ คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดร.กลย์วัฒน์ สาขากร ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานงานกลางอนุสัญญา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์  ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

การที่ประชุมผู้นำความยั่งยืนระดับโลกอย่าง UN Global Compact Leaders Summit 2021 ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการรับมือมหันตภัยโลกร้อนและการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  โดยเปิดเวทีพูดคุยหารือถึง 3 เวที ตอกย้ำถึงความเร่งด่วนของเรื่องนี้  ซึ่งน่าจับตามองถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดและผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการประชุม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดสินใจของนักลงทุนที่จะให้ความสนใจต่อประเด็นนี้เพิ่มมากขึ้น

สอดคล้องกับที่ สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศการเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD supporter) อย่างเป็นทางการ  ถือเป็นก้าวสําคัญที่แสดงให้ผู้ลงทุนทั่วโลกเห็นว่า ตลาดทุนไทยมีพัฒนาการที่สอดคล้องกับกระแสโลกที่ให้ความสําคัญกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่การยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของบริษัทจดทะเบียนในการเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 One Report โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยกาซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นพื้นฐาน ที่สําคัญในเสริมสร้างความสามารถของภาคธุรกิจให้บริหารจัดการกับความเสี่ยงที่มีนัยสําคัญ และโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ

UNGC Leaders Summit 2021(ตอนที่ 3)จับตาความเคลื่อนไหวล่าสุด Climate Action

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ให้กับภาคเอกชนไทย  ด้วยการร่วมมือกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) นำแนวปฏิบัติตามกรอบการเปิดเผยแพร่ข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD Recommendations) ซึ่งริเริ่มโดยคณะทํางานเพื่อพัฒนากรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-Related Financial Disclosure: TCFD) มาช่วยให้บริษัทสามารถเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศต่อผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนนําไปวิเคราะห์ความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ และเปรียบเทียบในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันได้ รวมถึงเป็นกลไกตลาดให้เกิดการขับเคลื่อนการลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำ พร้อมกับเป็นข้อมูลเพื่อเชิญชวน ให้ภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นผู้สนับสนุน

องค์กรธุรกิจที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เพื่อนำข้อมูลมาทบทวนแผนงานธุรกิจ พิจารณาการนําปัจจัยด้านความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปผนวกเข้ากับกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล   เพื่อพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน  สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และประเด็นที่ผู้นำความยั่งยืนระดับโลกกำลังเคลื่อนไหวกันอยู่ในเวลานี้