posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (7)

12 มิถุนายน 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

กองทัพไทยในสมัยโบราณตั้งอยู่ได้เพราะทหารเกณฑ์กับพวกไพร่

ตอนที่ขุนแผนถูกเกณฑ์ไปทำศึกที่เชียงใหม่ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่” ของท่านว่า “พึงสังเกตว่า อยุธยาในสมัยนั้นไม่มีทหารประจำการมากพอที่จะใช้ในการทัพการศึกได้ คงจะมีทหารเอาไว้เฉพาะกิจบางอย่าง เช่น กิจการที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ คือเป็นทหารที่ใช้ในการแห่แหน เวลาเสด็จพระราชดำเนิน

แต่ถึงกระนั้น เราก็เคยได้ยินคำว่าทหารเกณฑ์แห่ หมายความว่าเป็นทหารที่เกณฑ์เข้ามาเป็นครั้งคราว เมื่อมีงานที่จะต้องแห่เท่านั้น” โดยที่ท่านยังได้กระทบกระเทียบถึงตำรวจไว้อีกด้วยว่า“ ส่วนการรักษาความปลอดภัยของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ใช้ตำรวจมีหน้าที่เป็นทหารรักษาพระองค์ ซึ่งทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาก และทรงใช้ในกิจการอื่น ๆ อีกมากมายหลายอย่าง ดูหน้าที่ตำรวจในสมัยก่อน ๆ นั้นแล้ว ก็ออกจะเห็นจริงกับคำที่ว่า ไม่มีสิ่งใดในใต้ดวงอาทิตย์ที่ตำรวจทำไม่ได้”

ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ ทหารส่วนใหญ่ในสมัยอยุธยานั้นได้มาจากการออกไปเกณฑ์เอา “ไพร่” ที่จดทะเบียน หรือ “สักเลข” บนข้อมือไว้ก่อนแล้ว ไพร่เหล่านี้คือชายฉกรรจ์ที่มีอายุระหว่าง 18-20ปี ที่พอถูกสักเลขแล้วก็ต้องเป็นทหารไปจนตลอดชีวิต เลขที่สักลงบนข้อมือก็เพื่อบอกว่าไพร่คนนี้มีสังกัดเจ้านายแล้ว และเจ้านายคนนั้นก็ต้องคอยรวบรวมบรรดาไพร่ไว้ให้พร้อม

ไพร่ที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วนี้และมีสังกัดเจ้านายเรียบร้อย จะเรียกว่า “ไพร่หลวง” โดยที่เจ้านายเจ้าของสังกัดก็คือบรรดาขุนนางที่รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นเจ้ากรม หรือมีตำแหน่งหน้าที่บังคับบัญชาผู้คนในทางราชการ เมื่อมีการเรียกไปศึกสงครามเมื่อใด ก็ต้องรีบไปตามไพร่เหล่านั้นมาเข้ากองทัพในทันที

ในเรื่องขุนช้างขุนแผนก็เช่นกัน พอมีพระบรมราชโองการจากอยุธยาว่า ให้มาเป็นแม่ทัพคุมไพร่จากสุพรรณไปช่วยทัพหลวงรบศึกเชียงใหม่ ขุนแผนก็มีเวลาเพียง 3 วันในการเตรียมตัว สิ่งแรกที่ขุนแผนทำก็คือการปลุกเสกเครื่องราง เตรียมไว้ป้องกันตัวในการรบ พวกไพร่ที่อยู่ใต้บังคับของขุนแผนมีจำนวนไม่มากนัก แต่ล้วนเป็นพวกมีอาคมแก่กล้า ก่อนไปก็ลาแม่กับเมีย โดยปลูกต้นโพธิ์อธิษฐานไว้ 3 ต้น

การทำสงครามไม่สู้จะยุ่งยากอะไรนัก เพราะพอไปถึงเชียงของที่เจ้าเชียงใหม่ยึดครองไว้ ก็สามารถตีทัพเจ้าเชียงใหม่แตกพ่ายไปอย่างง่ายดาย ขุนแผนจึงเข้ายึดเชียงใหม่ แล้วไปตั้งทัพอยู่ที่จอมทอง (ถ้าใครนึกไม่ออกว่าจอมทองนี้อยู่ตรงไหน ก็คืออำเภอจอมทองในปัจจุบันที่เป็นทางขึ้นสู่ดอยอินทนนท์นั่นเอง) แล้วไปได้นางลาวทองเป็นเมีย ซึ่งการเข้ามาในชีวิตของนางลาวทองนี้ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของขุนแผนไปอีกมากมาย ดังที่ได้เกิดปัญหา “รักซ้อน” เมื่อขุนแผนกลับอยุธยาแล้วนำนางลาวทองกลับมาด้วย

ย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องระบบการเกณฑ์ทหารในสมัยอยุธยานั้นอีกสักเล็กน้อย เพราะมีความน่าสนใจในข้อวิเคราะห์ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่กล่าวว่า “อยุธยาขาดแคลนทหารประจำการ” ซึ่งผู้เขียนเคยอ่านเรื่องนี้จากที่มีการรวบรวมคำบรรยายของท่านเกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยในสมัยโบราณ ที่ท่านบอกว่าความมั่นคงในระบบทหารไม่ได้มั่นคงเท่าที่ควร เนื่องจากการรวบรวมผู้คนไว้ใช้เพื่อการศึกต่าง ๆ มีปัญหาเรื่อยมา เพราะตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยไม่ใคร่จะมีการศึกสงครามอะไร

ทหารที่จะเอามาประจำการเพื่อการรบจึงไม่มีความจำเป็น จนมาถึงสมัยอยุธยาที่ขึ้นมาปกครองด้วยการเผยแผ่พระบรมเดชานุภาพ คือใช้อำนาจยึดครองดินแดนต่าง ๆ เข้ามาไว้ในพระราชอาณาจักร แต่กระนั้นบรรดาแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่ต้องยอมศิโรราบหรือเข้ามาสวามิภักดิ์ ก็ไม่ได้ผูกพันแนบแน่นกับกษัตริย์ที่อยุธยาเท่าใดนัก แม้อยุธยาจะใช้นโยบายหลายอย่าง เช่น การแต่งงานระหว่างเจ้าหัวเมืองกับพระบรมวงศานุวงศ์จากอยุธยา หรือการให้สิทธิอำนาจในการเก็บส่วยและการทำมาหากิน เป็นต้น ก็ยังต้องคอยระแวงระไวว่าอาจจะมีการเอาใจออกห่างจากหัวเมืองเหล่านี้เมื่อใดก็ได้

จนกระทั่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้มีพระบรมราชโองการให้จัดระเบียบไพร่และเหล่าขุนนาง (ที่เราเคยเรียนกันมาว่า “ระบบจตุสดมภ์” หรือ เวียง วัง คลัง นา นั่นแหละ) แต่พอต่อมาที่เรามีสงครามกับพม่าตั้งแต่ในรัชสมัยของสมเด็จพระชัยราชาเป็นต้นมา เราก็ยังต้องไป “กวาดต้อน” เอากำลังรบมาจากหัวเมืองต่าง ๆ อย่างที่เราได้อ่านจากเรื่องขุนช้างขุนแผนนี่แหละ

ความมั่นคงเข้มแข็งของระบบทหารในสมัยอยุธยานั้นขึ้นอยู่กับ “พระบารมี” ขององค์พระมหากษัตริย์โดยแท้ เช่น ในรัชสมัยของพระนเรศวรมหาราช ทหารไทยมีความเข้มแข็งมาก เพราะพระนเรศวรฯทรงเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ แต่พอรัชสมัยต่อมาก็อ่อนแอลง และระบบไพร่ที่ตั้งไว้ก็อ่อนแอเช่นเดียวกัน

ดังที่ปรากฏไว้ในพระราชพงศาวดารว่า ครั้นพอถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ก่อนที่จะเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อมีการระดมพลให้ไพร่ทั้งหลายเข้ามาช่วยรบพม่าก็เกิดปัญหาอย่างมาก มีการหลบหนีการถูกเกณฑ์ ส่วนใหญ่นั้นก็หนีไปบวช จนต้องมีการออกประกาศการสอบความรู้พระ ที่เรียกว่า “สอบไล่” คือถ้าบวชได้กี่พรรษาจะต้องมีระดับความรู้เป็นนักธรรมชั้นนั้นชั้นนี้ ถ้าสอบแล้วไม่มีความรู้ถึงขั้นที่กำหนดก็ไล่สึกให้ออกไปเป็นทหารเสีย อันเป็นที่มาของคำว่าสอบไล่ ที่หมายถึงการ “ไล่ระดับความรู้” นั่นเอง

เรื่องปัญหาของกองทัพไทยในสมัยอยุธยานั้นมีปัญหามาก ถ้าใครเคยเรียนประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้มาบ้าง ก็พอจะทราบว่า กองทัพไทยมีความระส่ำระสาย ขาดเอกภาพและขวัญกำลังใจ พระมหากษัตริย์หมดความสำคัญไปจากสายตาของอาณาประชาราษฎร ดังที่เราได้ทราบเกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของพระยาตาก รวมถึงวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน ที่จะขอไปขยายความในสัปดาห์หน้า

ขยายความว่าทหารเกณฑ์และชาวบ้านธรรมดานี่แหละที่ปกป้องชาติไทย

************************