posttoday

วุ่นวายหนอ สันติอยู่หนใด

11 มิถุนายน 2564

โดย...โคทม อารียา

***************

สถานการณ์วัคซีนดูสับสน เรื่องแรกผู้คนคงอยากรู้ว่าวัคซีนมีพอไหม รัฐบาลไม่อยากเสียคะแนนนิยม จึงประกาศบ่อย ๆ ว่าวัคซีนกำลังจะมา วัคซีนมาแน่ วัคซีนมาแล้ว วัคซีนมีพอ กำลังสั่งวัคซีนเพิ่ม กำลังเซ็นสัญญา จะได้ 100 ล้านโดสในไม่ช้า ฯลฯ เรื่องต่อไป ประชาชนถามว่าใครบ้างที่นำเข้าวัคซีนได้ ตอนแรกก็บอกว่าองค์กรเภสัชกรรมเท่านั้น

ต่อมามีองค์กรอื่นเพิ่ม เช่น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีข่าวว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นขอนำเข้า มีงบพร้อมแต่ไม่รู้ว่ากระทรวงมหาดไทยและ สตง. จะเห็นด้วยไหม ส่วนโรงพยาบาลเอกชนเปิดรับจองที่จะฉีดวัคซีนให้แล้ว แสดงว่านำเข้าได้ใช่ไหม แล้วคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งให้ทำหน้าที่จัดหาวัคซีน ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ที่รัฐบาลแถลงว่าได้ขอซื้อวัคซีนในโครงการ Covax จากองค์การอนามัยโลกแต่ติดขัดที่ต้องวางเงินล่วงหน้านั้น ตอนนี้แก้ข้อติดขัดได้ไหม

แล้วเราจะฉีดวัคซีนตัวไหนดี เมื่อหลายเดือนก่อนรัฐบาลประกาศว่าได้ทำสัญญาซื้อวัคซีนแอสตร้า –ซีเนกา โดยรับส่งมอบเดือนมิถุนายน ในตอนนั้นมีคนถามว่าทำไมต้องใช้วัคซีนนี้และรอนานขนาดนี้ ฝ่ายรัฐบาลไม่ตอบให้ชัดเจน แต่โกรธและขู่คนถาม ต่อมาเราได้ซื้อวัคซีนซีโนแวค มาแก้ขัดและรัฐบาลจีนใจดียังบริจาคให้ส่วนหนึ่งด้วย

วัคซีนแอสตร้า – ซีเนกา ดูจะเหมาะกับผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว จึงประกาศว่าจะใช้ตัวนี้ฉีดประชากรกลุ่มนี้โดยขอให้ลงทะเบียนกับ “หมอพร้อม” มีผู้เสนอให้ใช้ระบบวอล์กอิน ก็ถูกเบรค แต่ให้สามารถลงทะเบียนในที่ให้บริการได้ ต่อมาก็ไม่แน่ ให้ลงทะเบียนกับ “หมอพร้อม” เป็นหลัก แต่ก็ประกาศให้ไปลงทะเบียนกับ กทม. ที่ร้านสะดวกซื้อได้

สำหรับผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว รัฐบาลเคยบอกว่าเป็นกลุ่มที่จัดความสำคัญในลำดับก่อน และจะเริ่มฉีดวัคซีนให้ในวันที่ 7 มิถุนายน แต่ก็ไม่เชิง สรุปผลการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 7 มิถุนายนได้ว่า วัคซีนที่จัดสรรแล้วมีจำนวนรวม 6,686,413 โดส ฉีดไปแล้ว 4,634,941 โดส (คิดเป็น 69.3 %) ฉีดเข็มที่หนึ่งไปแล้ว 3,243,913 โดส (คิดเป็น 70 %) อีก 30 % นำไปฉีดเป็นเข็มที่สอง

ลำดับความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มสำคัญลำดับแรกคือ บุคลากรสาธารณสุข (ควรเป็นเช่นนั้น) ฉีดไปแล้ว 26.9 % ของกลุ่มที่ได้รับเข็มแรก และ 48 % ของกลุ่มที่ได้รับเข็มสอง ลำดับถัดไปคือเจ้าหน้าที่อื่น ได้รับเข็มแรก 14.8 % เข็มสอง 14.2 % กลุ่มที่แซงขึ้นมาคือกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือมีอาชีพเสี่ยง ได้รับเข็มแรก 40.8 % เข็มสอง 30.5 % กลายเป็นว่าผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวที่ประกาศแต่แรกให้ลงทะเบียนกับ “หมอพร้อม” ได้รับวัคซีนต่ำกว่า 10 % คือ เข็มแรก 8,6 % เข็มสอง 1.3 % สำหรับผู้สูงอายุ และเข็มแรก 8.8 % เข็มสอง 2.6 % สำหรับผู้มีโรคประจำตัว

ความเข้าใจแต่เดิมคือให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวลงทะเบียนกับ “หมอพร้อม” และเริ่มรับวัคซีนในวันที่ 7 มิถุนายน แต่จากข้อมูลข้างต้น แสดงว่าคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งได้รับการฉีดวัคซีนไปบ้างแล้ว แต่ไม่ใช่ผ่าน “หมอพร้อม” ใช่ไหม ในวันที่ 7 มิถุนายน ก็มีเหตุการณ์ที่บ่งบอกว่าวัคซีนอาจขาดมือ เช่น บางแห่งประกาศว่ามีวัคซีนพอฉีดได้วันเดียว บางแห่งประกาศเลื่อนออกไป ทำเอารัฐมนตรีผู้รับผิดชอบออกอาการ พูดผ่านสื่อว่า สั่งปลัดกระทรวงแล้วว่าห้ามเลื่อน ปลัดก็ส่ง “ไลน์” ย้ำไปยังจังหวัดต่าง ๆ ส่งข้อความให้เห็นต่อหน้าต่อตาทันที คำสั่งของปลัดไม่ได้ผลได้อย่างไร ใครสั่งให้เลื่อนการฉีดต้องถูกสอบสวน

ผมเดาว่าผู้มีอำนาจต้องการบอกว่าอย่างไรก็ให้ฉีด มิฉะนั้น “ผู้ใหญ่” จะเสียรังวัด “ผู้ใหญ่” คงต้องการกลบเกลื่อนโดยไม่ยอมรับว่ามีปัญหาการบริหารจัดการ เริ่มฉีดก็ช้า มัวแต่รอวัคซีนแอสตร้า - ซีเนก้าอยู่กระมัง ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าคุยกับเขาอยู่ทุกวัน เขายืนยันว่าวัคซีนพร้อมส่งตามนัด

เอาเข้าจริง ๆ คงไม่เป็นอย่างนั้น เลยส่งต่อความรับผิดชอบไปที่หน้างาน หน้างานบางแห่งวัคซีนไม่พอก็จะไม่ฉีด แต่เมื่อโดนสำทับมา ก็ต้องพลิกแพลง ไปบอกผู้มารับบริการบางคนที่มาตามนัดของ “หมอพร้อม” ว่า ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าจะฉีดวัคซีนแอสตร้า - ซีเนก้าให้ ขอเปลี่ยนเป็นซีโนแวคได้ไหม เพราะ “คุณไม่เข้าข่ายเสี่ยงมาก” อย่างนี้เป็นต้น บางทีถือวิสาสะฉีดซีโนแวคแล้วแก้เอกสารตามนั้นเลย

อันที่จริง ถ้ายอมรับตรงไปตรงมาว่าวัคซีนบางส่วนไม่มาตามนัด อาจต้องเลื่อนไปบ้างหรือเปลี่ยนวัคซีนตามความสมัครใจบ้าง ความอึดอัดสับสนคงลดน้อยลง แต่การวางตัวว่ามีอำนาจไม่น่าจะช่วยลดความสับสนและคำนินทา มาถึงวันที่ 9 มิถุนายน มีการยอมรับความจริงโดยอ้อม โดยเริ่มจะปลดล็อกให้เอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดหาวัคซีนได้ โดยมีแนวทางดังนี้

1.ให้ อย. ประสานผู้ผลิตวัคซีนเพื่อให้การขึ้นทะเบียนวัคซีนคล่องตัว (กว่าที่ผ่านมา)

2.ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมห้าหน่วยงาน จัดหาและนำเข้าวัคซีนได้ ที่ยังคลุมเครือคือ ด้านหนึ่งบอกว่าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ให้บริการการแพทย์หรือสาธารณสุขก็นำเข้าได้ แต่อีกด้านหนึ่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติบอกว่า นอกเหนือจากห้าหน่วยงานดังกล่าว “ให้รอไว้ก่อน”

3.สถานพยาบาลเอกชน องค์กรภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาวัคซีนได้โดยผ่านหน่วยงานทั้งห้าตามข้อ 2.

ไม่สายที่จะทำตามนี้ ไม่สายที่จะเกรงใจ “ผู้ใหญ่” น้อยลง และเกรงใจประชาชนมากขึ้น การเลิกต่อว่ากันและการร่วมกันแก้วิกฤตก็จะดีขึ้น

เราทุกคนคงอยากเห็นสันติสุขในโลกใบนี้ แต่ช่างสับสนและยากเย็นเสียเหลือเกิน เลยขอถือโอกาสนี้นำทฤษฎีมาเล่าสู่กันฟังบ้าง เราควรดำเนินการทั้งในระดับมหภาคและระดับระบบ กับในระดับจุลภาคและระดับปัจเจกไปพร้อมกัน เมื่อนึกถึงทฤษฎีสันติภาพ ก็ควรนึกถึงนักปรัชญาคนสำคัญของยุคแสงสว่างชื่อ อิมมานูเอล คานต์ (พ.ศ. 2267 ถึง 2347) เขามีแนวคิดจิตนิยมอุตรวิสัย (transcendental idealism) และเหตุผลนิยม ความเรียงที่มีชื่อเสียงฉบับหนึ่งของเขามีชื่อว่า “สู่สันติภาพตลอดกาล: โครงร่างทางปรัชญา” (To Perpetual Peace: A Philosophical Sketch)

ดูเหมือนเขาจะเห็นป้ายที่เจ้าของร้านชาวดัตช์คนหนึ่งเขียนข้อความว่า “สันติภาพตลอดกาล” ไว้พร้อมกับรูปหลุมฝังศพ เลยวิจารณ์อย่างขำ ๆ ว่าเป็นข้อความสำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะประมุขของรัฐผู้ไม่เคยเหนื่อยหน่ายการสงคราม หรือสำหรับนักปรัชญาผู้ชอบฝันแบบฝันหวานกันแน่ คานต์เสนอว่า การกระทำของเราในเวทีระหว่างประเทศ ในประเทศ และส่วนบุคคล ต้องกำกับด้วยหลักศีลธรรม

หลักที่สำคัญหลักหนึ่งคือ “การกระทำที่กระทบสิทธิของผู้อื่นย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าคติพจน์ของการกระทำนั้นไม่สอดคล้องกับการเปิดเผยต่อสาธารณะ (publicity)” ถ้าใช้สำนวนบ้าน ๆ ก็คือ อะไรที่บอกชาวบ้านไม่ได้ก็อย่ากระทำ กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่เราสามารถทำให้เป็นผลสำเร็จโดยวิธีเดียว คือทำให้เป็นที่รับรู้และเป็นโครงการร่วมของทุกคน ย่อมนำไปสู่ความสุขถ้วนหน้า และนี่คือภารกิจที่แท้จริงของการเมือง หมายความว่าการเมืองที่จริงแท้ต้องโปร่งใสและพูดความจริง แต่อนิจจา คติพจน์ทางการเมืองมักเป็นตรงกันข้ามคือ ทำให้เป็น “ผลงาน” ให้ได้ แม้จะต้องปกปิดหรือพูดเท็จบ้าง จึงมีคำกล่าวว่า ไม่มีใครสามารถปกครองได้อย่างบริสุทธิ์สะอาด แม้คำกล่าวนี้มี “ส่วนจริง” แต่เพื่อเห็นแก่สันติสุขของพลเมืองส่วนใหญ่ เราจะต้องข้ามพ้น (transcend) “ส่วนจริง” นี้ไป

คานต์มีคำขอในตอนท้ายของความเรียงดังกล่าวว่า “บรรดากษัตริย์ไม่ควรปล่อยให้ชนชั้นปรัชญาเมธีสาบสูญหรือสงบปากคำ การอนุญาตให้พวกเขากล่าวกับสาธารณชนย่อมขาดเสียไม่ได้เพื่อความรุ่งเรืองของกิจการของพระองค์”

เรามักคุ้นเคยกับคำว่าสันติภายในและสันติภายนอก แต่สันติภาพที่ควรให้ความสนใจมากขึ้นคือสันติภาพในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ถ้าสังคมอยู่ในระบบเส้นสายที่เราคุ้นชิน เราคงประสบความสับสนยุ่งเหยิงร่ำไปคือ เราจะถือคติพจน์ “รู้อะไรไม่สู้รู้จักกัน” แล้วพยายามขยายเครือข่าย-เส้นสายให้กว้างขึ้นเรื่อย ๆ (มันเหนื่อยเหมือนกันนะ) ส่วนผู้เข้าไม่ถีงระบบเส้นสายก็ฝ่อลงฝ่อลง หรือต้องยอมปลง ดังนั้น เราควรสร้างสรรค์สันติภาพระหว่างกัน ซึ่งหมายรวมถึงการเคารพทุกคน และพยายามยึดหลักการพอ ๆ กับความรู้จักกัน

ในกรณีของการฉีดวัคซีน หลักคือให้ทุกคนมีโอกาสรับวัคซีน ทั้งคนไทยและคนทั้งโลก ถ้าไวรัสมาระบาดใหม่ในรอบที่สี่ ที่ห้า ฯลฯ แล้วเราจะถามหาสันติภาพได้ที่ไหนกัน