posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบสาม): Old Siam, Young Siam และ Conservative Siam

10 มิถุนายน 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

**************

คำถามที่ทิ้งไว้ในตอนที่แล้วคือ หนึ่ง ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯต้องผ่านการลงมติเห็นชอบจากที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี ไม่ใช่ขึ้นครองราชย์ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติหรือ ?

สอง ทำไมสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงสามารถเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการแต่งตั้งวังหน้า จากเดิมที่การแต่งตั้งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ?

สาม ทำไมหมอสมิธถึงจัดให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์อยู่ในกลุ่มสยามหนุ่มที่มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเป็นผู้นำ ?

เริ่มจากคำถามข้อที่หนึ่ง:มรดกทางการเมืองอันหนึ่งที่รัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงสืบมาจากการเมืองสมัยอยุธยาคือ การไม่มีกฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ที่ชัดเจนแน่นอนและ/หรือเป็นที่ยอมรับกันร่วมกันของตัวแสดงทางการเมืองสำคัญต่างๆ เพราะในสมัยอยุธยา “กฎระเบียบในการสืบราชสันตติวงศ์..นั้นยังไม่แน่ชัด

แม้ว่ากฎมณเฑียรบาลและพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน รวมทั้งเอกสารตะวันตกจะระบุว่า พระมหาอุปราชนั้นเป็นองค์รัชทายาทที่จะสืบบัลลังก์ และส่วนใหญ่นั้นจะเป็นพระราชอนุชาของกษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะพบว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่ขึ้นครองราชย์นั้นกลับเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์องค์ก่อน ความคลุมเครือดังกล่าวนี้ทำให้ขุนนางเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ นอกจากนี้ในอดีต ขุนนางทีมีอำนาจเข้มแข็งได้ฉวยโอกาสที่กษัตริย์ยังทรงพระเยาว์นัก หรือเกิดช่องว่างทางการเมือง ก่อการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เสียเอง”

ดังเช่น กรณีสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172-2194) เมื่อครั้งยังเป็นออกญากลาโหมสุริยวงศ์ได้แย่งชิงพระราชอำนาจจากพระเจ้าเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2172) และพระเจ้าอาทิตยวงศ์ (พ.ศ. 2172) ขณะเดียวกัน กฎมณเฑียรบาลยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า หากมหาอุปราชพระองค์ใดประสูติแต่พระอัครมเหสีประกอบซึ่งความดีความชอบก็จะดำรงพระยศสูงสุด คือ สมเด็จหน่อพุทธางกูร แต่หากมหาอุปราชประสูติแต่แม่หยัวเมือง พระยศสูงสุดที่จะได้ทรงรับคือ มหาอุปราช

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบสาม): Old Siam, Young Siam และ Conservative Siam

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ด้วยเหตุนี้ ตลอดระยะเวลา 417 ปีของการเมืองในสมัยอยุธยา จึงมีการทำรัฐประหารโดยการใช้กำลังและความรุนแรงแย่งชิงราชบัลลังก์ ถ้าจะนับการรัฐประหารแก่งแย่งชิงบัลลังก์ทั้งหมด ทั้งที่มีการใช้กำลังความรุนแรงหรือการแสดงอำนาจอิทธิพล ตั้งแต่ พ.ศ. 1913-2325 ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ภายในราชวงศ์เดียวกันหรือระหว่างราชวงศ์เก่าและใหม่ หรือระหว่างผู้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชที่เป็นพระราชอนุชากับพระราชโอรส หรือการแย่งชิงราชบัลลังก์โดยขุนนางเสนาบดีที่ทรงอำนาจ โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งคุมกำลังทหารอย่างตำแหน่งเจ้าพระยากลาโหม จะพบว่ามีการทำรัฐประหารทั้งสิ้น 16 ครั้งใน 32 รัชกาลและในระยะเวลา 412 ปี ในรัฐประหาร 16 ครั้ง มีที่เกิดถี่ติดๆกันและเว้นห่าง

และในการรัฐประหารทั้งหมดนี้เป็นการแย่งชิงภายในราชวงศ์ 11 ครั้ง ระหว่างราชวงศ์ 1 ครั้งและแย่งชิงราชบัลลังก์โดยขุนนาง 4 ครั้ง ตัวอย่าง เช่น พ.ศ. 1913 สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จยกทัพเข้าสุพรรณบุรี ส่งผลให้สมเด็จพระราเมศวรยอมถวายราชสมบัติ, พ.ศ. 1925

เมื่อสมเด็จพระเจ้าทองลัน พระราชโอรสขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราช พระราเมศวรผู้เป็นพระภาดาก็ยกทัพมาสำเร็จโทษพระเจ้าทองลันและขึ้นเสวยราชสมบัติ, พ.ศ. 1944 สมเด็จพระนครอินทร์ผู้เป็นพระภาดายกทัพมาชิงราชบัลลังก์จากสมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช, พ.ศ. 1961 พระราชโอรสสองพระองค์ของสมเด็จพระนครอินทร์ทำศึกแย่งชิงราชบัลลังก์กัน จนสิ้นพระชนม์ทั้งคู่, พ.ศ. 2057 พระไชยราชาธิราชสำเร็จโทษสมเด็จพระรัฏฐาธิราชกุมารแล้วขึ้นเสวยราชย์ ฯลฯ

การรัฐประหารทั้ง 16 ครั้งนี้รวมการรัฐประหารที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยึดอำนาจและสำเร็จโทษพระเจ้ากรุงธนบุรีและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีด้วย

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบสาม): Old Siam, Young Siam และ Conservative Siam

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ถ้าการเมืองอยุธยาเต็มไปด้วยการใช้กำลังความรุนแรงแย่งชิงบัลลังก์กันตลอดเวลา คำถามที่ตามมาคือ แล้วการเมืองแบบนี้มีความชอบธรรมหรือ ?

หากพิจารณาจากมุมมองสมัยใหม่ การรัฐประหารที่มีการใช้กำลังความรุนแรงแย่งชิงบัลลังก์ 16 ครั้งในใน 32 รัชกาลย่อมถือว่าเป็นปรากฏการณ์การทางการเมืองที่ไม่ปกติและไม่ชอบธรรม แต่ในการเมืองการปกครองไทยโบราณมีคติทางการเมืองที่รองรับให้ความชอบธรรมการใช้กำลังความรุนแรงในการขึ้นเสวยราชย์ ดังที่ปรากฏใน “ตำราปัญจราชาภิเษก” หรือราชาภิเษกห้าประการ นั่นคือ ผู้ที่จะได้ราชสมบัติเป็นเอกราชาฯ มีลักษณะห้าประการอันได้แก่

1. มงคลอินทราภิเษก คือ ผู้มีบุญญาธิการ

2. มงคลโภคาภิเษก คือ ผู้อยู่ในตระกูลพราหมณ์ที่มั่งคั่งและตระกูลเศรษฐี

3. มงคลปราบดาภิเษก คือ อยู่ในตระกูลนักรบและเป็นผู้มีชัยเหนือข้าศึกศัตรู

4. มงคลราชาภิเษก คือ ผู้อยู่ในตระกูลกษัตริย์และผู้เป็นสืบราชสมบัติต่อพระราชบิดา พระราชมารดาและพระราชวงศ์ผู้ทรงชราภาพแล้ว

5. มงคลอุภิเษก คือ ผู้อยู่ในตระกูลกษัตริย์ในราชวงศ์อื่นหรือมาจากต่างประเทศและได้มาทำวิวาหมงคล

“ตำราปัญจราชาภิเษก” นี้สันนิษฐานว่า เป็นคติการปกครองตามจารีตประเพณีโบราณมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่มีการคัดลอกขึ้นในสมัยพระพิมลธรรมหรือพระเจ้าทรงธรรมที่ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2154-2171 โดยการใช้กำลังความรุนแรงในการขึ้นเสวยราชนั้นถือเป็นหนึ่งในราชาภิเษกห้าประการ นั่นคือ “มงคลปราบดาภิเษก” อันหมายถึง “ผู้อยู่ในตระกูลนักรบและเป็นผู้มีชัยเหนือข้าศึกศัตรูจะเป็นพระราชาด้วยพิธีปราบดาภิเษก”

ดังนั้น ในการสืบราชสมบัติในการเมืองการปกครองสมัยอยุธยา “กฎมณเทียรบาลไม่ได้เอ่ยถึงการสืบราชสมบัติแต่อย่างใด ทฤษฎีความเป็นพระราชาที่กล่าวถึงข้างต้น (ขออนุโลมหมายถึง ราชาภิเษกห้าประการ) เน้นว่า พระราชาเป็นพระราชาด้วยบุญกุศลส่วนพระองค์และไม่ได้สนับสนุนการสืบทอดพระราชวงศ์ แม้ว่ากษัตริย์จะโปรดพระราชโอรสมากที่สุดตามสัญชาตญาณความเป็นพ่อ กฎมณเฑียรบาลกำหนดลำดับชั้นของพระราชโอรสขึ้นอยู่กับสถานะของพระราชมารดาและฐานันดรที่กษัตริย์มอบให้ นั่นคือ ระบบแต่งตั้ง อันดับรองลงมาจากกษัตริย์คือ อุปราช ผู้อาจจะได้สิทธิ์สืบทอดราชสมบัติเป็นอันดับแรก...แต่ในทางปฏิบัติ......เป็นการแข่งขันกัน เป็นการประลองพละกำลัง สอดคล้องกับทั้งทฤษฎีที่ว่า ผู้ที่มีบุญที่สุดควรได้เป็นผู้ปกครอง และสอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่ว่าบทบาทหลักของพระมหากษัตริย์คือการเป็นแม่ทัพ” ด้วยอาณาจักรอยุธยาจัดว่าเป็นรัฐสงคราม (warring state) ที่อยู่ในภาวะศึกสงครามอย่างต่อเนื่อง

วิเฟรโด ปาเรโต

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบสาม): Old Siam, Young Siam และ Conservative Siam

ซึ่งในแง่นี้ การยอมรับให้ชนชั้นนำที่มีความสามารถในการรบให้ขึ้นเป็นชนชั้นปกครองเพราะสถานการณ์ความจำเป็นตามบริบทของรัฐจารีตที่ต้องการผู้นำทางการทหารจึงเป็นไปตามการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของชนชั้นนำในด้านต่างๆที่ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองตามทฤษฎีชนชั้นนำของพาเรโต (Vilfredo Pareto) หากบริบทเงื่อนไขความจำเป็นของสังคมเปลี่ยนแปลงไป คุณสมบัติความสามารถของชนชั้นนำที่จะขึ้นไปเป็นชนชั้นปกครองก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบสาม): Old Siam, Young Siam และ Conservative Siam

หลายคนอาจจะคิดถึงการยอมรับให้ผู้นำกองทัพขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าจะขึ้นมาตามเงื่อนไขปกติหรือรัฐประหาร ! อาจจะเป็นเพราะสังคมขณะนั้นอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญศึกสงคราม ไม่ว่าจะเป็นศึกกับต่างชาติหรือความสับสนวุ่นวายภายใน ที่กลายเป็นเงื่อนไขที่เปิดให้ชนชั้นนำที่ทางการทหารขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง หรือในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ ก็เป็นเงื่อนไขให้ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง และในยามที่เงื่อนไขเปลี่ยน ผู้ปกครองที่ไม่เข้ากับเงื่อนไขก็จะหมดความชอบธรรมไป

และเราจะเห็นได้การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของชนชั้นนำที่ขึ้นเป็นชนชั้นปกครองในกรณีการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่สามและที่สี่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ดังที่จะได้กล่าวต่อไป

(ผู้เขียนขอขอบคุณ ผศ. ดร. กานต์ บุณยะกาญจนแห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่แนะนำ “ตำราปัญจราชาภิเษก” และขอบคุณแหล่งความรู้ดังต่อไปนี้ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ และเล่ม ๒ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คลังวิทยา: พิมพ์ครั้งที่เจ็ด 2516), กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส, “พระราชปุจฉาที่ ๔ ว่าด้วยเรื่องปัญจอภิเษก” วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ ๑๗ เมษายน ร.ศ. ๑๒๓ ใน วชิรญาณ ประชุมพระราชปุจฉา ภาคปกิณกะ, คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2563)

ธิษณา วีรเกียรติสุนทร, “ดรุโณวาท: ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๘๘๕),” ใน ๑๐๐ เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๒๑, สยาม ภัทรานุประวัติ, ศุภการ สิริไพศาล, อรพินท์ คำสอน และ ธิษณา วีรเกียรติสุนทร, (กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: 2555), ศรีนวล ภิญโญสุนันท์, พิธีราชาภิเษกในคติอินเดียและไทย: การศึกษาเปรียบเทียบ, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาควิชากภาษาตะวันออก, บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2528, Vilfredo Pareto, "The Mind and Society," Section XI, "The Elitists" in The Great Political Theories)