posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย(ตอนที่สิบสาม):รุสโซแห่งตะวันออก:แกนนำพรรคเสรีนิยมญี่ปุ่น

31 พฤษภาคม 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร     

********************

พรรคเสรีนิยมพรรคแรกของญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2424 ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะมีรัฐธรรมนูญถึง 8 ปีและก่อนการเลือกตั้งครั้งแรก 9 ปี  เมื่อพรรคก่อตั้งขึ้นใหม่ๆ รัฐบาลเมจิมีความระแวงว่าพรรคเสรีนิยมนี้จะมีอุดมการณ์สาธารณรัฐนิยมล้มสถาบันจักรพรรดิ แม้ว่าพรรคจะประกาศว่ายึดมั่นในเสรีประชาธิปไตยและระบอบพระจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงลองสำรวจภูมิหลังความคิดของบรรดาแกนนำพรรคว่าข้อระแวงสงสัยของรัฐาลเมจิมีความเป็นไปได้แค่ไหน  ตอนที่แล้วได้เล่าถึงภูมิหลังความคิดของหัวหน้าพรรคคือ อิตางากิ ไทสุเกะ ไปแล้ว และพบว่า มีมูลพอสมควรที่จะให้รัฐบาลตั้งข้อสงสัยระแวง เพราะคำแถลงการณ์ของพรรคภายใต้ อิตางากิ ไทสุเกะ มีเนื้อหาที่เหมือนกับจะไปลอกข้อเขียนความคิดของนักคิดทางการเมืองของอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดที่ชื่อจอห์น ล็อก (John Locke)  เพราะตัวจอห์น ล็อกนั้นอยู่ข้างฝ่ายรัฐสภาในสงครามกลางเมืองที่รบกับฝ่ายพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง จนฝ่ายพระเจ้าชาร์ลสแพ้และถูกพิพากษาสำเร็จโทษโดยการบั่นพระเศียร ส่งผลให้อังกฤษปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นการปกครองที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นเวลาราวสิบปี แล้วค่อยฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาอีก  แต่กระนั้น จอห์น ล็อกก็ไม่ได้ปฏิเสธการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ เพราะตอนที่รัฐสภาบีบบังคับให้พระเจ้าเจมส์ต้องสละราชสมบัติ และรัฐสภาได้ไปเชิญพระเจ้าวิลเลียมและพระนางแมรีให้มาครองราชย์ จอห์น ล็อกก็เขียนชื่นชมพระเจ้าวิลเลียมอย่างเลอเลิศ

ดังนั้น ปัญหาสำหรับล็อกจึงไม่ได้อยู่ที่การปกครองที่มีกษัตริย์หรือไม่มี แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ปกครองไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือใครก็ตาม ขึ้นสู่อำนาจและใช้อำนาจอย่างไรต่างหาก !

เมื่ออิตางากิ ไทสุเกะมีความคิดทางการเมืองแบบล็อก คราวนี้เลยจะไปดูแกนนำพรรคอีกคนหนึ่งที่ชื่อ นากาเอะ โชมิน เหตุผลที่พูดถึงนากาเอะ โชมิน เพราะเขาได้รับอิทธิพลความคิดทางการเมืองของนักคิดฝรั่งเศสในศตวรรษที่สิบแปดที่ชื่อ รุสโซ (Rousseau)  และในทางปรัชญาการเมือง รุสโซกับล็อกถือว่าเป็นนักคิดทางการเมืองที่จัดอยู่ในแนวเดียวกันนั่นคือ แนวสัญญาประชาคม

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย(ตอนที่สิบสาม):รุสโซแห่งตะวันออก:แกนนำพรรคเสรีนิยมญี่ปุ่น

ในขณะที่ อิตางากิ ไทสุเกะ หัวหน้าพรรคเสรีนิยมเกิดในครอบครัวซามูไรชั้นกลาง แต่นากาเอะ โชมินเกิดในครอบครัวของทหารเดินเท้าระดับล่าง (จะบอกว่าทหารเลวก็กระไรอยู่ !) รับใช้ตระกูลยามาอุชิที่เมืองโทซะ ดังนั้น โชมินจึงเป็นคนบ้านเดียวกันกับไทสุเกะ แต่โชมินอ่อนกว่าสิบปี (เกิด พ.ศ. 2390 ก่อนสมัยรัชกาลที่สี่ 4 ปี) ตั้งแต่เด็ก เขาดูจะเป็นคนที่ชอบความรู้ตะวันตก หลังจากศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว เขาได้รับเลือกให้ไปเรียนภาษาดัทช์และฝรั่งเศสที่เมืองนางาซากิและเอโดะ (โตเกียว) (เรียนภาษาฝรั่งเศส ก็เข้าใจได้ เพราะบ้านเราก็เรียนภาษาฝรั่งเศสกันมานานแล้ว แต่ทำไมต้องเรียนภาษาดัทช์ ถ้าอยากรู้ให้ไปย้อนดูตอนก่อนครับ)

หลังจากเรียนภาษาทั้งสอง เขาได้ไปทำงานเป็นนักแปลให้กับทูตฝรั่งเศส หลังจากการฟื้นฟูพระราชอำนาจสถาบันพระจักพรรดิหรือที่เรียกว่า “การฟื้นฟูสมัยเมจิ” โชมินได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะทูตอิวาคุระ (Iwakura Mission) ที่เดินทางในฐานะตัวแทนรัฐบาลของพระจักรพรรดิไปเจริญสัมพันธไมตรีในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2414-2417 การที่คณะทูตมีชื่อว่า อิวาคุระ เพราะผู้นำคณะทูตนี้คือ อิวะกุระ โทโมมิ ที่ผมได้เคยกล่าวถึงไว้ในตอนที่สาม โดยเปรียบเทียบกับพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ที่เป็นผู้นำคณะทูตไทยคณะแรกไปกรุงลอนดอน แต่คณะทูตของเราไป “ถึงอังกฤษ” ก่อนญี่ปุ่นเป็นเวลาถึง 14 ปี

การที่โชมินได้รับคัดเลือกให้ติดตามคณะทูตไปยุโรป ก็เพราะทางกระทรวงยุติธรรมต้องการส่งเขาให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส โชมินดูจะคล้ายๆกับ ทด และ เทศ บุนนาค ที่เดินทางร่วมไปกับคณะทูตของพระยามนตรีสุริยวงศ์ โดยทางการตั้งใจจะให้เขาทั้งสองอยู่เรียนหนังสือที่อังกฤษไปเลย แต่ไม่ทราบด้วยเหตุผลอันใดที่เมื่อคณะทูตเดินทางกลับ ทดและเทศก็ตามกลับมาด้วย ตกลงเลยไม่ได้เรียน

นอกจากโชมินแล้ว ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ.2405 รัฐบาลญี่ปุ่นเคยส่ง นิฌิ อะมะเนะ (Nishi Amane) ไปเรียนรัฐศาสตร์และกฎหมายที่เนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส ดังที่ผมเล่าไว้ในตอนที่ห้า จะเห็นได้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ด้วย ซึ่งผมเห็นว่าสำคัญไม่แพ้สาขาวิทยาศสตร์ และได้เขียนอธิบายถึงความสำเร็จในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยของญี่ปุ่นจากการที่ส่งคนไปเรียนทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์พร้อมๆกับในทางวิทยาศาสตร์ (หนังสือที่ผมเขียนเรื่องญี่ปุ่นคือ Postmodern in Japan)

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย(ตอนที่สิบสาม):รุสโซแห่งตะวันออก:แกนนำพรรคเสรีนิยมญี่ปุ่น

ในขณะที่โชมินเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส เขาได้แปลงานของนักคิดชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงก้องโลก นั่นคือ ฌอง ฌาค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) และหนึ่งในนั้นคือ งานที่โด่งดังที่สุดของรุสโซ นั่นคือ “สัญญาประชาคม” (the Social Contract)

ท่านผู้อ่านที่ความจำดีอาจจะงง เพราะในตอนที่ห้า ผมเคยเขียนถึง นะคะอิ โทะคุซุ ในฐานะที่เป็นคนญี่ปุ่นคนแรกที่แปลหนังสือของรุสโซและตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2425 จนทำให้คนญี่ปุ่นสมัยนั้นเรียกเขาว่า “รุสโซแห่งแดนตะวันออก”  ?

ไม่ต้องงนะครับ คือ โชมิน กับ โทะคุซุ คือคนๆเดียวกันครับ ! โชมินเป็นนามปากกาของ โทะคุซุ แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยคุ้นชินกับชื่อจริงของเขา แต่จะรู้จักเขาในชื่อโชมินมากกว่า

ที่สำคัญคือ การแปลงานของรุสโซของโชมินส่งอิทธิพลมากมายในโลกตะวันออก เพราะนอกจากเขาจะแปลงานชิ้นสำคัญๆของรุสโซ อาทิ Discourse on Political Economy และ the Social Contract เป็นภาษาญี่ปุ่นและตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2425 แล้ว  ในช่วงที่เขาอยู่ฝรั่งเศสเขายังแปลบางบทบางตอนของ Discourse  เป็นภาษาจีนโบราณและมีการจัดพิมพ์ที่เซี่ยงไฮ้  อีกทั้งในช่วงที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่อยู่ในฉบับเขียนด้วยลายมือ ก็ยังแพร่หลายในกลุ่มปัญญาชนญี่ปุ่นและรวมทั้งกลุ่มปัญญาชนจีนด้วย เพราะอย่างที่ทราบกัน ตัวคันจิของญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกันกับตัวหนังสือจีน เพราะฉะนั้นกลุ่มปัญญาชนจีนที่ได้สัมผัสกับความคิดตะวันตก อย่างเช่น งานของรุสโซ ก็มักจะผ่านหนังสือแปลฉบับภาษาญี่ปุ่น

ต่อมาในปี พ.ศ.2443  ปัญญาชนจีนชื่อ หยางถิงต้งได้แปล Discourse เป็นภาษาจีนจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นซึ่งแปลโดยนักคิดญี่ปุ่นที่ชื่อ ฮาระดะเซ็น (ซึ่งน่าจะเป็นนามปากกาอีก)   และจัดพิมพ์เป็นตอนๆลงหนังสือพิมพ์ ดังนั้น Discourse ฉบับแปลภาษาจีนนี้ถือได้ว่าเป็น Discourse ของรุสโซฉบับภาษาจีนฉบับแรกที่แปลโดยคนจีน และต่อมาได้มีการนำมาตีพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือครั้งแรกในปี พ.ศ.2445

ต่อมาในปี พ.ศ.2461 ปัญญาชนจีนชื่อ หม่าจูนหวู่ เห็นว่าฉบับแปลของ หยางถิงต้งยังไม่ดีพอ ก็เลยแปลใหม่อีกครั้งโดยแปลจากฉบับต้นภาษาฝรั่งเศษและเปรียบเทียบกับฉบับภาษาอังกฤษ  และจัดพิมพ์ที่สำนักพิมพ์จงหัว  เท่านั้นยังไม่พอ ในปี พ.ศ.2478 ปัญญาชนชื่อ สูป่ายฉีกับชิวจิ่นจัง ได้แปลใหม่อีกครั้งจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ           

     

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย(ตอนที่สิบสาม):รุสโซแห่งตะวันออก:แกนนำพรรคเสรีนิยมญี่ปุ่น

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย(ตอนที่สิบสาม):รุสโซแห่งตะวันออก:แกนนำพรรคเสรีนิยมญี่ปุ่น

และที่สำคัญยิ่งคือในปี พ.ศ. 2478 ในประเทศไทย มีการตีพิมพ์งานแปล Discourse on Political Economy เป็นภาษาไทยโดยใช้ชื่อว่า “หลักเศรษฐศาสตร์ของรุสโส แปลโดยคณะยุวสาร สำนักงานคณะยุวสาร (พระนคร: โรงพิมพ์ย้งหลี: 2478)” และในการแปลและออกเสียงชื่อ ฌอง ฌาค รุสโซ คณะยุวสารเขียนว่า “เจียงแจค รูสโซ” !!  แต่ไม่ได้บอกว่าแปลจากภาษาอะไร ?

สอบถามผู้รู้เขาว่า “ถ้าอ่านตัวหนังสือจีนชื่อของรุสโซ Jean-Jacques  Rousseau จะออกเสียงเป็น ร่าง หย่าเค่อ หลูโซ ตามการออกเสียงทับศัพท์ภาษาอังกฤษ น่าจะไม่ได้ตามภาษาฝรั่งเศส  ส่วนเอกสารแปลฉบันช่วงแรกๆเมื่อต้นศตวรรษ 20 นั้นก็ออกเสียงคล้ายกันครับ ต่างกันตรงที่จะใช้อักษรจีนไม่เหมือนกันเหมือนกับว่า  หย่าเค่อ ออกเสียงเป็น หญ่าเข้อ”  และถ้าออกเสียงในภาษาจีนที่แตกต่างกันไป เช่น กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ชื่อ Jean-Jacques ก็จะออกเสียงต่างกัน และเป็นไปได้ว่า แต้จิ๋ว จะออกเสียงว่า “เจียงแจค”

ผมสืบค้นมานานหลายปียังไม่ทราบเสียทีว่าคณะยุวสารนี้คือใคร ? ทุกวันนี้ก็ยังไม่ทราบ แต่ตอนนี้ น่าจะเดาได้แล้วว่า คณะยุวสารแปล Discourse on Political Economy จากต้นฉบับภาษาจีนมากกว่าภาษาฝรั่งเศสหรืออังกฤษ ! คล้ายกับที่พวกกบฏ ร.ศ.130 ได้รับอิทธิพลทางการเมืองจากหนังสือพิมพ์จีน

อิทธิพลของโชมินนี้ช่างไม่ธรรมดาเลย สมแล้วที่เขาได้ชื่อว่าเป็น “รุสโซแห่งแดนตะวันออก”  และแน่นอนว่า เมื่อพรรคเสรีนิยมญี่ปุ่นเมื่อ 140 ปีที่แล้วมีโชมินเป็นหนึ่งในแกนนำพรรค พรรคก็ย่อมไม่ธรรมดาไปด้วย

(ใครจะเอาไปเขียนต่อ ก็ยินดีนะครับ แต่ขอความกรุณาช่วยอ้างอิงด้วยครับ บางรายเป็นถึงศาสตราจารย์ เอางานที่ผมเขียน ไปเขียนหรือพูดต่อยอดเป็นของตัวเองอย่างหน้าด้านๆ หลายครั้งแล้วด้วย โดยไม่อ้างอิง....เจ้าตัวย่อมรู้ดี {อายุก็เจ็ดสิบไปแล้วด้วย} ส่วนแหล่งอ้างอิงที่ผมใช้ตอนนี้ ผมขออุบไว้ก่อนนะครับ ไว้โอกาสดีๆ ค่อยเปิดเผยผู้มีพระคุณ )