posttoday

UNGC Leaders Summit 2021( ตอนที่ 1)

31 พฤษภาคม 2564

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

*****************************************

ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา UN Global Compact ได้สร้างความเคลื่อนไหวในระดับโลก ตามเจตนารมณ์ของโคฟี่ อันนัน  เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ที่ได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นในปี 2542 ระหว่างการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก   เพื่อให้เป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจทั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สอดคล้องกับหลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact ซึ่งครอบคลุม 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง ปัจจุบัน UN Global Compact มีภาคีเครือข่ายมากกว่า 13,000 องค์กรเข้าร่วม ซึ่งมีรายงานด้านความยั่งยืนที่เปิดเผยแล้วกว่า 80,000 รายงาน และมีเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) กว่า 70 แห่งทั่วโลก จนกล่าวได้ว่า เป็นเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้

ในทุกปี UN Global Compact จะจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำความยั่งยืนที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เพื่อระดมสรรพกำลังจากเครือข่ายทั่วโลกมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ แรงบันดาลใจ และเสนอแนวทางขับเคลื่อนโลกไปสู่ความยั่งยืน  ในปีนี้ UN Global Compact จะจัดงาน “Virtual Leaders Summit 2021”  ในรูปแบบ Virtual ตลอด 24 ชั่วโมง ในวันที่ 15-16 มิถุยายนนี้ โดยมีผู้นำจากทั่วโลกกว่า 1,000 คน เข้าร่วมงาน  ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ  และภาคประชาสังคม อาทิ  อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ฮาลีมะฮ์ ยากอบ ประธานาธิบดีสิงคโปร์  ไนเจล ท้อปปิ้ง High-Level Climate Champions for Climate Action COP26 เจมส์ ควินซีย์  ซีอีโอ โคคา-โคลา จูลี่ สวีท ซีอีโอ เอคเซนเซอร์   พร้อมด้วยผู้นำนักธุรกิจจากประเทศไทย นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ และซีอีโอองค์กรไทยชั้นนำ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ  ที่จะมาร่วมเปิดวิสัยทัศน์ระดมความคิด เพื่อจัดการกับวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มาบรรจบการระบาดของโควิด-19  ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม  เศรษฐกิจที่เลวร้ายลง  และการคอร์รัปชั่นที่ไม่ถูกตรวจสอบ  รวมทั้งเสนอแผนงานเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน  

UNGC Leaders Summit 2021( ตอนที่ 1)

ในงานนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact ยังได้ร่วมจัดเวทีเสวนาในนามประเทศไทยในหัวข้อ การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ: ยกระดับแนวทางธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “Accelerate Climate Action: Raising Business Pathway to Decarbonization” โดยได้รับเกียรติจากผู้บุกเบิกนวัตกรรมธุรกิจที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต  คุณแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนของภาคเอกชนไทย   และคุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนเรื่องนี้ในประเทศไทย  โดยคุณยูกิ ยาสุย Asia Pacific Region Co-ordination Manager, United Nations Environment Program Finance Initiative (UNEP FI) เป็นผู้ดำเนินรายการ

ความน่าสนใจของเวทีประเทศไทยในงาน Virtual Leaders Summit 2021 คือ การนำเสนอประเด็นที่สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวในระดับโลกที่ยกให้การรับมือกับมหันตภัยโลกร้อน เป็นเรื่องสำคัญต่อจากวิกฤตโควิด-19  และสอดคล้องกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ ที่อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน “เร่งเครื่อง” โดยเรียก 10 ปีต่อจากนี้ว่า ทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action)  แต่ในขณะที่โลกกำลังเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อได้แล้วเป็นบางข้อ  ก็ยังคงมีบางข้อที่ใช้เวลานานหรืออาจแย่ลงกว่าเดิม นั่นคือ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (SDGs ข้อ 13  Climate Change)  และเรายังต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานต้องหยุดชะงัก ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ และแทบจะทำให้สิ่งที่ทำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสูญหายไป   

อย่างไรก็ตาม  ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้เราได้เห็นพัฒนาการที่ดีของการบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั้งจากระดับประเทศและระดับบริษัท นี่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี หากแต่เป้าหมายระยะยาวนั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีการตั้งเป้าหมายระยะสั้น  เพื่อให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และสามารถกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสิ้นเชิง  ซึ่งแน่นอนว่าพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะภาคเอกชน

การชักชวนให้ภาคเอกชนมาต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของ UN Global Compact ซึ่งมีแผนยุทธศาสตร์ใน 3 ปี ข้างหน้าที่จะยกระดับแผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตภูมิอากาศ โดยสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ตั้งเป้าหมายที่จริงจังและวัดผลได้  ที่สำคัญ  คือ  การสร้างความรู้ความเข้าใจว่าภาคธุรกิจไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับการมีสถานะทางการเงินและกำไรที่มั่นคง  เพราะในทางกลับกันการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ผู้คน สังคม ธุรกิจและเศรษฐกิจมีความเจริญงอกงามยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ UN Global Compact ยังส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วย   เวทีประเทศไทยที่มีทั้งตัวแทนของภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้  จึงตอบโจทย์การรับมือกับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กำลังมีความเคลื่อนไหวคึกคักทั่วโลก เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050  

UN Global Compact Leaders Summit 2021 พร้อมเปิดประชุมทางไกลสร้างเครือข่าย Online Networking ตลอด 24 ชั่วโมง ในวันที่ 15-16 มิถุนายน 2564 นี้ ผู้สนใจสามารถดูกำหนดการงาน UN Global Compact Leaders Summit 2021 ได้ที่  https://na.eventscloud.com/website/23790/agenda/