posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (5)

29 พฤษภาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************

ถ้าจะเป็นผู้นำต้องมี “ของดี” เหมือนดังขุนแผนที่ต้องมีของดี 4 อย่าง

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่” อีกว่า ผู้ชายไทยเมื่อได้ร่ำเรียนจนจบ “วิชาการ” อันหมายถึงคาถาอาคมต่าง ๆ แล้ว ก็ต้องมีจุดมุ่งหมายในชีวิต ซึ่งท่านเขียนไว้ว่า “คนทุกคนที่เกิดมานั้นย่อมมีเป้าหมาย ว่าอยากจะเป็นอะไรในชีวิต เป็นต้นว่า อยากเป็นคนใหญ่คนโต มีอำนาจปกครองประเทศ อยากเป็นนักเขียน นักประพันธ์ อยากเป็นนักดนตรี อยากค้าขาย ได้เป็นมหาเศรษฐี และอื่น ๆ อีกมาก ขุนแผนนั้นเกิดมามีเป้าหมายว่าจะเป็นทหาร แต่การเป็นทหารนั้น ถ้าจะให้สำเร็จผล เป็นทหารที่ยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียง และเป็นที่เกรงขามของคนทั่วไปแล้ว ยังจะต้องมีสิ่งอื่นประกอบ หรือมีอุปกรณ์ในการเป็นทหารใหญ่นั่นเอง สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ขุนแผนแสวงหาก่อนที่จะเริ่มบำเพ็ญชีวิตเป็นทหารที่มีชื่อเสียง

ขึ้นต้นทีเดียว ขุนแผนหาเมียก่อน แต่นี่ก็เป็นธรรมดาของผู้ชายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน พ่อเริ่มชีวิตก็อยากหาลูกเมียตั้งครอบครัวให้เป็นหลักเป็นฐานด้วยกันทุกคน แต่เพื่อความเป็นทหารที่มีชื่อเสียงนั้น ขุนแผนต้องแสวงหาของอีกสามอย่าง คือ ตีดาบ ซื้อม้า หากุมาร”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้อธิบายว่า ทำไมขุนแผนหรือผู้ชายในสมัยก่อนจึงต้องมีเมีย มีครอบครัวเสียก่อน ก่อนที่จะมีอาชีพหรือรับราชการทำการทำงานให้เต็มที่ต่อไป เรื่องนี้ตอนที่ผู้เขียนเรียนวิชาการบริหารบุคคล ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์ที่สอนระบบราชการไทยเคยเสนอแนวคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า ชายไทยแต่โบราณก่อนที่จะเข้ารับราชการ ต้องมีเกณฑ์พิจารณาอยู่ 2-3เรื่อง เรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ เส้นสาย หรือ การเป็นคนที่มีผู้ฝากฝัง หรือผู้หลักผู้ใหญ่สนับสนุน ที่เรียกว่าระบบอุปถัมภ์นั่นเอง

เรื่องต่อมา คือ จะต้องเป็นคนที่มีหลักมีฐาน ซึ่งหมายถึงต้องผ่านการบวชเรียนมาแล้ว และถ้ามีครอบครัวแล้วยิ่งดี เพราะผู้ชายนั้นจะมีความรับผิดชอบ ไม่เพียงแต่ในทางหน้าที่การงาน แต่ในทางครอบครัวนั้นด้วย และเรื่องสุดท้ายจึงจะเป็นเรื่องของความรู้ความสามารถ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้เองเมื่อเวลาที่มาทำราชการแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะเรียนได้ช้าหรือเร็ว อันเป็นองค์ประกอบที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของข้าราชการคนนั้น โดยมีเรื่อง “ผู้ใหญ่” ที่อุปถัมภ์ค้ำชู เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตาม ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็มีมุมมองที่น่าสนใจอีกเช่นกันว่า การมีเมียของขุนแผนนั้นเป็นเรื่อง “ความเชื่อ” ของขุนแผนเองอยู่ด้วย อันเป็นผลเนื่องมาจากการเรียนวิชาอาคมต่าง ๆ ของขุนแผนนั่นเอง ขุนแผนรู้สึกว่าตนเองนั้นมีวิชาอาคมแก่กล้า จึงต้องการที่จะทดลองวิชาที่ว่านี้ บังเอิญกับที่ขุนแผนได้เรียนวิชานี้ในขณะที่บวชเป็นเณร และได้เจอกับนางพิมในตอนที่ไปเทศน์มหาชาติ จนเกิดความต้องตาต้องใจเป็นคนแรก วันต่อมาได้ออกบิณฑบาตตามปกติ พอผ่านหน้าบ้านนางพิม จึงคิดอยากลองวิชา วิชานี้มีชื่อว่า “คาถามหาละลวย” ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนไว้ว่า “วิชาที่ว่านี้คือคาถาบทหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้หญิงรัก เรียกว่าคาถามหาละลวย เมื่อว่าคาถาแล้วเป่าลมไปทางผู้หญิงที่เราต้องการจะให้รัก ผู้หญิงนั้นก็รักทันที เมื่อนางพิมพ์ต้องมนตร์มหาละลวยนี้เข้า นางพิมก็หมดอับอาย ลงบันไดเรือนมาใส่บาตรเณรแก้ว...”

ความสัมพันธ์ระหว่างเณรแก้วกับนางพิม “เลยเถิด” ไปจนถึงขั้นได้เสียกัน (บทรักในไร่ฝ้ายของเณรแก้วกับนางพิมพ์น่าอ่านมาก เพราะไม่ได้อุจาดหยาบคาย แต่เต็มไปด้วยการเปรียบเปรยอย่างมีศิลปะ ทั้งไพเราะและให้ความรู้สึกโรแมนติค แต่เนื่องจากไม่ใช่สาระที่บทความนี้ต้องการนำเสนอ จึงต้องขออภัยที่ไม่ได้ยกมาให้อ่าน) และเณรแก้วต้องไปลาสิกขา โดยให้เหตุผลกับสมภารว่าจะออกไปรับราชการ ซึ่งสมภารได้ตักเตือนเณรแก้วด้วยความเสียดาย โดยกล่าวว่าการรับราชการ ถ้าเจ้านายรักก็ดีไป แต่ถ้าเจ้านายชังก็จะตกระกำลำบกไปตลอดชีวิต เหมือนกับจะล่วงรู้ว่าอนาคตของขุนแผนจะเป็นอย่างไรกระนั้น

สมภารได้พูดถึงธรรมเนียมอย่างหนึ่งของการรับราชการว่า เริ่มต้นต้องออกไปเป็นไพร่มีสังกัดเจ้านาย และต้อง “สักเลข” (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ใช้คำว่า “เลข” ในขณะที่นักประวัติศาสตร์กระแสหลักใช้คำว่า “เลก” ซึ่งก็มีความหมายอย่างเดียวกัน) คือการสักเครื่องหมายไว้ที่ข้อมมือ ตรงนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้แทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ “ระบบไพร่” ที่เป็นแก่นทางสังคมและวัฒนธรรมของไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า คนไทยครั้งโบราณแบ่งเป็นผู้ดีกับไพร่ ผู้ดีหมายถึงคนที่มีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไป

ต่ำลงมาจากนั้นคือไพร่ทั้งหมด ซึ่งไพร่จะต้องมีสังกัด หมายถึงต้องไปเข้ากรมกองที่มีเจ้านายซึ่งหมายถึงผู้ดีเหล่านั้นควบคุมอยู่ โดยการสักตัวเลขที่ข้อมือเพื่อแยกแยะว่าสังกัดกรมกองใด หรือเจ้านายคนใด โดยจะต้องเข้าไปทำงานรับใช้เจ้านาย 1 เดือน สลับกับการกลับมาทำงานในที่ทางของตนเอง(ถ้ามี)อีก 1 เดือนสลับกันไป

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1ของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงให้เพิ่มเวลาเป็นว่า เข้ามารับราชการให้หลวง 3เดือนครั้ง สลับกับการทำงานให้ตัวเองอีก3เดือน จึงรับราชการจริง ๆ แต่ปีละ4 เดือน เพื่อให้มีเวลาทำไร่ทำนาของตนเองมากขึ้น ซึ่งพอถึงสมัยรัชกาลที่2ก็ปรับเป็นให้มาทำงานให้หลวงปีละ 3 เดือน และกลับไปทำงานบ้าน9 เดือน จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5จึงยกเลิกระบบไพร่นี้เสีย

ทั้งนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้หยอดท้ายด้วยการเสียดสีตามสไตล์ของท่านว่า “ตึกกระทรวงกลาโหมในทุกวันนี้ เป็นสิ่งก่อสร้างอันสุดท้ายในกรุงรัตนโกสินทร์ที่ใช้แรงเลข หลังจากนั้นต่อมาแล้วได้ใช้แรงเจ๊กทั้งนั้น เพราะเจ๊กแกเข้ามารับจ้างเป็นกุลีในการก่อสร้างแทนเลขที่เคยเป็นแรงงานของหลวง” ซึ่งกระทรวงกลาโหมในโฉมปัจจุบันที่โอ่อ่าอยู่ข้างศาลหลักเมืองนั้น ได้สร้างขึ้นสมัยรัตโกสินทร์ตอนต้นนั่นเอง เพราะต่อมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2แรงงานจีนได้เข้ามาแทนที่แรงงานไพร่ของไทย และได้เป็นแรงงานหลักในการพัฒนาประเทศในช่วงรัชกาลที่ 3 และ 5 แต่ได้ถูกลดบทบาทลงไปในสมัยรัชกาลที่6 ที่เกิดลัทธิชาตินิยม “ชังจีน” ต่อเนื่องมาจนถึงยุคทหารปกครองประเทศ ก็ยังกีดกันคนจีนอยู่มาก แต่ก็ได้อาศัยเงินทองของคนจีนนั่นแหละสร้างฐานอำนาจอยู่ รวมถึงที่ได้อาศัย “เจ้าสัว” ค้ำจุนบัลลังก์อยู่ในสมัยต่อมานั้นด้วย

ข้อความตรงท้ายนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเอง ไม่เกี่ยวกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แต่อย่างใด

*******************************