posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบเอ็ด): Old Siam, Young Siam และ Conservative Siam

27 พฤษภาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

****************

คำสามคำนี้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกันครั้งแรกในข้อเขียนของหมอสมิธในปี พ.ศ. 2416 หมอสมิธเป็นมิชชันนารีชาวอเมริกัน เคยอยู่เมืองไทยแล้วเดินทางไปอเมริกา พอจบปริญญาเอก ก็กลับมาเมืองไทยอีกและอยู่ไปจนชราภาพและถึงแก่กรรมที่เมืองไทย

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบเอ็ด): Old Siam, Young Siam และ Conservative Siam

                             หมอสมิธ                                                 หนังสือพิมพ์ Siam Repository

ในปี พ.ศ. 2416 ในสายตาของหมอสมิธ เขาเห็นว่า ในบรรดาชนชั้นนำสยาม ได้เกิดกลุ่มการเมืองขึ้นมาสามกลุ่ม ที่ว่าเป็นกลุ่มการเมือง ก็เพราะเขาใช้คำว่า political parties ถ้าแปลว่า พรรคการเมืองก็คงจะผิดฝาผิดตัว เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิดว่า สมัยนั้นมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นแล้ว

ในปี พ.ศ. 2416 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระชนมายุครบ 20 พรรษา ถือว่าบรรลุนิติภาวะ และมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง หลังจากครั้งแรกในปี พ.ศ. 2411 ซึ่งขณะที่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา และต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ดังนั้น ปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระราชอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกต่อไป และด้วยบริบททางการเมืองดังกล่าวนี้หมอสมิธได้เขียนว่า “เกิดกลุ่มการเมือง (political parties) ต่างๆสามกลุ่มในสยาม ที่รู้จักกันในนามของ ‘สยามหนุ่ม’ (Young Siam) ‘สยามอนุรักษ์นิยม’ (Conservative Siam) และ ‘สยามเก่า’ (Old Siam)”

กลุ่มการเมืองทั้งสามนี้มีใครบ้าง ?

หมอสมิธกล่าวว่า “กลุ่มสยามหนุ่ม ซึ่งยังคงอยู่ในขณะนี้และเป็นกลุ่มที่ทรงพลังมากที่สุด นำโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ และพระราชวงศ์และขุนนางรุ่นหนุ่มอีกหลายพระอง์/คน”

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบเอ็ด): Old Siam, Young Siam และ Conservative Siam

        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ                                               เจ้าพระยาภาณุวงศ์

ส่วนใครคือสยามเก่า ? ผู้เขียนได้กล่าวไปในตอนก่อนๆแล้วว่า หมอสมิธได้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นตำรับ “สยามเก่า” และสยามเก่าหมายถึงพวกหัวเก่าที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการรับศิลปะวิทยาการสมัยใหม่ของตะวันตกที่เข้ามาสู่สยาม

แต่จริงๆแล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นในตอนก่อนแล้วว่า หมอสมิธเข้าใจผิด เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯไม่ได้หัวเก่าคับแคบ แต่ทรงระแวดระวังในการรับอิทธิพลตะวันตก แต่อย่างไรก็ตาม สยามเก่าของหมอสมิธก็หมายถึง ชนชั้นนำสยามที่หัวโบราณคับแคบไม่รับการเปลี่ยนแปลง และนอกจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯแล้ว หมอสมิธก็ไม่ได้ระบุตัวว่า ใครบ้างในปี พ.ศ. 2416 ที่เข้าข่ายเป็นพวกสยามเก่า

แต่ถ้าสยามเก่าหมายถึงพวกหัวเก่าคับแคบไม่รับอะไร แล้วพวกสยามอนุรักษ์นิยมคืออะไร ? ซึ่งน่าเสียดายที่หมอสมิธไม่ได้อธิบายหรือระบุตัวใครไว้ และหมอสมิธก็ไม่ได้อธิบายขยายความไว้ด้วยว่า สยามหนุ่มหมายถึงคนที่มีความคิดอย่างไร ? ได้แต่กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าพระยาภาณุวงศ์อยู่ในกลุ่มสยามหนุ่ม

เมื่อสยามเก่าคือพวกคับแคบไม่รับการเปลี่ยนแปลง ไม่รับตะวันตก สยามหนุ่มก็น่าจะหมายถีงพวกที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลงและรับตะวันตก การสันนิษฐานนี้ไม่ผิด เพราะถ้าไปเปิดดู พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะพบข้อความที่สามารถนำมาสนับสนุนข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ นั่นคือ

“อันความนิยมแบบอย่างฝรั่งดังปรากฏในสมัยนั้น เหตุด้วยตั้งแต่ พ.ศ. 2371 มีพวกมิชชั่นนารีอเมริกันเริ่มเข้ามาตั้งในกรุงเทพฯ มาสอนคริสต์ศาสนาและภาษาอังกฤษ กับทั้งรักษาไข้เจ็บไปด้วยกัน ครั้งนั้นไทยโดยมากมีความรังเกียจพวกมิชชันนารี ด้วยเห็นว่าจะมาสอนให้เข้ารีตถือศาสนาอื่น แต่มีบางคนซึ่งเป็นชั้นหนุ่ม หรือถ้าจะเรียกตามอย่างปัจจุบันนี้ว่าเป็นจำพวกสมัยใหม่ ใคร่จะเรียนภาษาและวิชาของฝรั่งเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ไม่รังเกียจการที่จะคบหาสมาคมและศึกษาวิชาการกับพวกมิชชันนารี ในพวกสมัยใหม่ที่กล่าวนี้ได้มาเป็นบุคคลสำคัญในชั้นหลัง4 คน คือ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวช พอพระราชหฤทัยใคร่จะเรียนภาษาและหนังสืออังกฤษ กับทั้งวิชาต่างๆ มีโหราศาสตร์ เป็นต้น พระองค์หนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พอพระราชหฤทัยจะทรงเรียนวิชาทหารเป็นที่ตั้ง ทั้งเรียนหนังสือเพื่อจะให้ทรงอ่านตำรับตำราได้เอง พระองค์หนึ่ง

กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์ไทยอยู่แล้ว ใครจะทรงศึกษาวิชาแพทย์ฝรั่ง แต่ไม่ประสงค์จะทรงเรียนภาษาอังกฤษ พระองค์หนึ่ง

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นหลวงสิทธิ์นายเวร ใคร่จะเรียนวิชาต่อเรือกำปั่นเป็นสำคัญ และภาษาอังกฤษก็ดูเหมือนจะได้เรียนบ้าง อีกคนหนึ่ง”

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบเอ็ด): Old Siam, Young Siam และ Conservative Siam

                   กรมหลวงวงศาธิราชสนิท                                             เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

พูดง่ายๆก็คือ “คนรุ่นพ่อ” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ อันได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ (พระราชอนุชาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) และกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ยังสนใจเปิดรับความรู้ตะวันตก ย่อมจะมีอิทธิพลต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและพระราชวงศ์ในรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระองค์

คำว่า “คนรุ่นพ่อ” นี้ไม่ผิดประการใด เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ และกรมหลวงวงศาธิราชสนิทต่างเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และทรงประสูติในเวลาไม่ห่างกันมากนัก นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงพระราชสมภพ พ.ศ. 2347 และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯและกรมหลวงวงศาธิราชสนิทปีเดียวกันคือ พ.ศ. 2351

และก็เป็นที่ทราบดีว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้ตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องภาษา เพราะภาษาเป็นเป็นด่านแรกที่จะเข้าถึงวิทยาการต่างๆ ของชาติตะวันตก โดยจัดให้มีการสอนภาษาต่างประเทศแก่พระประยูรญาติตามแบบการศึกษาแบบที่เดียวกับราชสำนักในยุโรป รวมทั้งให้มีการสอนข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก โดยผู้ที่เข้าเรียนทั้งที่เป็นเจ้านายและข้าราชการมหาดเล็กมีอายุในราว 12 ปีและรวมทั้งสตรีในวัง โดยครูชาวต่างชาติสอนภาษาและวิชาการในภาษาอังกฤษโดยตลอด

และอย่างที่ทราบกันทั่วไปว่า ทรงโปรดเกล้าให้จ้างนางแอนนา เลียวโนเวนส์ ชาวอังกฤษ มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ให้แก่พระโอรสและพระธิดา ทรงให้ตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระราชโอรสและพระราชธิดาและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ได้ศึกษาภาษาอังกฤษ และต่อมาทรงโปรดให้ศึกษาวิชาการแขนงต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น อาทิ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ นับเป็นการวางรากฐานการศึกษาแบบใหม่ขึ้น และทรงสนับสนุนให้มิชชันนารีอเมริกันตั้งโรงเรียนขึ้น เพื่อให้การเพื่ออบรมสั่งสอนให้คนไทยมีความรู้ในภาษา วรรณคดี และวิทยาการของตะวันตก

ผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาสมัยใหม่ในระยะแรกของไทย คือคณะมิชชันนารีอเมริกัน ในส่วนของการศึกษาภายในโรงเรียนของมิชชันนารีพึ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเกิดโรงเรียนที่เป็นระบบแบบสากลขึ้น และนับว่าเป็นการก้าวสู่การศึกษาแบบสมัยใหม่ที่มีระบบการเรียนการสอนที่เป็นพื้นฐานของการการศึกษาในสมัยต่อมา

ดังนั้น สยามหนุ่มของหมอสมิธจึงหมายถึง ชนชั้นนำสยามรุ่นใหม่ (รุ่นหนุ่มสาว) หรือที่สมัยนี้เรียกว่า new gen. ที่เปิดรับศิลปะวิทยาการความรู้ตะวันตก ซึ่งก็น่าจะคล้ายๆพวก new gen. ในบ้านเราขณะนี้ด้วย เพราะสิ่งที่พวก new gen. ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องก็คือ ไม่เอาของเก่า และเรียกร้องตามแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองของตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ เสรีภาพความเสมอภาคในทุกๆด้าน รวมทั้งเรื่องความหลากหลายทางเพศสภาพหรือสิทธิ์ของ LGBTQ

และถ้าหากพิจารณาข้อความในพระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า “อันความนิยมแบบอย่างฝรั่งดังปรากฏในสมัยนั้น เหตุด้วยตั้งแต่ พ.ศ. 2371 มีพวกมิชชั่นนารีอเมริกันเริ่มเข้ามาตั้งในกรุงเทพฯ...” เราจะพบว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเติบโตขึ้นมาในบริบทที่สยามเปิดรับตะวันตก เพราะคงจำกันได้ว่า สนธิสัญญาการค้าฉบับแรกที่สยามทำกับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่สามคือ สนธิสัญญาเบอร์นีย์ที่ทำขึ้นในปี พ.ศ. 2369 และทำสนธิสัญญาการค้าโรเบิร์ตกับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2376 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงพระราชสมภพในปี พ.ศ. 2396

นั่นคือ นอกเหนือจากที่พระองค์ทรงรับการศึกษาภาษาอังกฤษและความรู้ตะวันตกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงจัดให้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯยังทรงเติบโตมาพร้อมๆกับที่มีฝรั่งมากมายเดินทางเข้ามาในสยาม

คราวหน้าจะได้กล่าวถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์ที่หมอสมิธกล่าวว่าเป็น new gen ด้วยอีกท่านหนึ่ง และจะกล่าวถึงเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงนิพนธ์ไว้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่นิยมฝรั่ง

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบเอ็ด): Old Siam, Young Siam และ Conservative Siam

                                   สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์

บอกใบ้ไว้นิดหนึ่งว่า เจ้าพระยาภาณุวงศ์ เดิมชื่อ ท้วม และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เดิมชื่อ ช่วง และทั้งสองท่านนี้นามสกุลบุนนาค เป็นพี่น้องกัน แต่ต่างมารดา บิดาคือ ดิศ บุนนาค หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์

มาถึงตอนนี้ เราพอจะทราบว่า สยามหนุ่ม สยามเก่าคืออะไร แต่สยามอนุรักษ์นิยมยังเป็นปริศนา ?