posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย(ตอนที่สิบสอง):แกนนำพรรคเสรีนิยมญี่ปุ่น

24 พฤษภาคม 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร    

********************

ญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ตามแบบตะวันตกก่อนไทย 43 ปี และมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกก่อนไทย 43 ปีเช่นกัน การเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่นเป็นการเลือกตั้งทางตรง คือ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเลือกผู้สมัครเข้าสภาไปเลย ส่วนของไทยเป็นการเลือกทางอ้อม นั่นคือ เลือกตัวแทนท้องถิ่น แล้วตัวแทนท้องถิ่นค่อยไปเลือก ส.ส. อีกทีหนึ่ง รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นวางเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยกำหนดให้ต้องเป็นผู้มีรายได้ในระดับหนึ่งและเป็นเพศชายเท่านั้น แต่ของไทยเราไม่ได้ตั้งเกณฑ์เรื่องทรัพย์สินและเพศไว้

ในการเลือกตั้งของญี่ปุ่น พ.ศ. 2433 มีการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองแล้ว และพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดชนะการเลือกตั้งคือ พรรคเสรีนิยมหรือ จิ ยู โท มี ส.ส. ในสภาล่างจำนวนทั้งสิ้น 130 คน พรรคเสรีนิยมนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2424 ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะมีรัฐธรรมนูญถึง 8 ปี โดยมีหัวหน้าพรรคคือ นายอิตางากิ ไทสุเกะ แม้ว่าพรรคเสรีนิยมจะประกาศจุดยืนยึดมั่นอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธปไตยและระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในช่วงสามปีแรกที่พรรคนี้ก่อตั้งขึ้นมา รัฐบาลเมจิมีความระแวงว่าพรรคเสรีนิยมจะมีวาระซ่อนเร้นต้องการให้ยกเลิกสถาบันพระจักรพรรดิ เปลี่ยนญี่ปุ่นเป็นสาธารณรัฐ

ข้อระแวงนี้จะเป็นจริงเพียงไร คงต้องไปดูประวัติภูมิหลังของบรรดาแกนนำพรรค

ดังนั้น ผู้เขียนจึงทำการสำรวจแนวความคิดดของแกนนำพรรคที่มีทั้งสิ้น 7 คน อันได้แก่ อิตางากิ ไทสุเกะ หัวหน้าพรรค และนากาจิมะ โนบุยูกี  รองหัวหน้าพรรค และแกนนำคนอื่นๆ ได้แก่ โกโตะ โชจิโร, บาบะ ทัตซูอิ, เทโจะ ซึฮีโระ, ยูกิ เอโมริ และ นากาเอะ โชมิน  โดยเริ่มจากตัวหัวหน้าพรรคก่อน

ไทสุเกะเกิดในครอบครัวตระกูลซามูไรชั้นกลาง หลังจากที่เขาได้รับการศึกษาทั้งที่โทซะบ้านเกิดของเขาและที่เมืองหลวง เอโดะ(โตเกียวในปัจจุบัน)  ในปี พ.ศ. 2404  เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลกิจการภายในของขุนนางผู้ใหญ่หรือที่เรียกว่า ไดเมียวแห่งโทซะ โดยรับหน้าที่ดูแลเรื่องรายรับรายจ่ายและกิจการต่างๆที่เกี่ยวกับการทหาร ในขณะที่เขาทำหน้าที่ดังกล่าว เขาเริ่มไม่เห็นด้วยกับนโยบายประนีประนอมระหว่างพระจักรพรรดิกับโชกุนโตกุกะวะ และเขาเรียกร้องให้โค่นล้มพวกโชกุน

ต่อมาเขาได้เขาร่วมในสงคราม “โบชิน” อันเป็นสงครามระหว่างพวกที่สนับสนุนโชกุนกับพวกที่ต้องการให้พระจักรพรรดิกลับมามีพระราชอำนาจ ซึ่งถือเป็นสงครามกลางเมืองที่เป็นการปฏิวัติของญี่ปุ่นเลยทีเดียว  อย่างที่มีนักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่า สงครามกลางเมืองอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดถือเป็นการปฏิวัติของอังกฤษ และเป็นการปฏิวัติสมัยใหม่ครั้งแรกก่อนหน้าการปฏิวัติฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่สิบแปดด้วยซ้ำ

แต่ที่น่าแปลกก็คือ ในขณะที่การปฏิวัติของอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติที่นำไปสู่การล้มสถาบันพระมหากษัตริย์  แต่การปฏิวัติ “โบชิน” ของญี่ปุ่นในปลายศตวรรษที่สิบเก้ากลับเป็นการปฏิวัติเพื่อเอาพระราชอำนาจพระจักรพรรดิกลับคืนมา และโค่นล้มการปกครองของขุนนางขุนศึก  และผู้เขียนจะหาเวลากล่าวถึงในโอกาสต่อไป

ในสงครามปฏิวัติ ไทสุเกะมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำกองกำลังโจมตีข้าศึก และหลังจากที่ฝ่ายสนับสนุนจักรพรรดิได้ชัยชนะ ในปี พ.ศ. 2412 เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาในรัฐบาลเมจิ และเข้าไปมีส่วนในการปฏิรูปที่สำคัญต่างๆ อาทิ นโยบายการยกเลิกระบบฐานันดรไดเมียวในปี พ.ศ. 2414 และในช่วงที่ผู้นำรัฐบาลและคณะได้เดินทางไปเยือนยุโรป เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลบริหารราชการชั่วคราว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2416 เขาลาออกจากรัฐบาลเมจิ ด้วยสาเหตุที่เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายอันเข้มงวดที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีต่อเกาหลี อีกทั้งต้องการแสดงการต่อต้านรัฐบาลที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขุนนางโตกุกะวะด้วย

ในปี พ.ศ. 2417 เขาได้ร่วมกับ โกโตะ โชจิโร ที่เป็นคนโทซะ บ้านเดียวกันกับเขา และ เอโต ชินเปอิ และ โซเอจิมะ ทะเนโอะมิ จัดตั้งกลุ่มรักแผ่นดิน (Public Party of Patriots) ขึ้น โดยมีแถลงการณ์ว่า

“เรา ประชาชนญี่ปุ่นสามสิบล้านคน ล้วนมีสิทธิ์ต่างๆเท่าเทียมกัน สิทธิ์นั้นได้แก่ การปกป้องชีวิตและเสรีภาพ การได้มาและครอบครองทรัพย์สิน และสิทธิ์ในการทำมาหากินและแสวงหาความสุข มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์เหล่านี้โดยธรรมชาติ ดังนั้น ไม่มีมนุษย์คนใดจะพรากสิทธิตามธรรมชาติเหล่านี้ไปได้”

จากคำแถลงการณ์ของกลุ่มรักแผ่นดินนี้  ใครก็ตามที่เคยอ่านข้อเขียนของจอห์น ล็อก (John Locke)-----นักคิดทางการเมืองชาวอังกฤษผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐสภาในสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายพระเจ้าชาร์ลส กษัตริย์อังกฤษ และฝ่ายรัฐสภาเป็นฝ่ายชนะและตัดสินสำเร็จโทษบั่นพระเศียรพระเจ้าชาร์ลสและยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไป-----ย่อมต้องเห็นพ้องต้องกันว่า บรรดาผู้ก่อตั้งกลุ่มรักแผ่นดินนี้ได้รับอิทธิพลทฤษฎีการเมืองในเรื่องสิทธิตามธรรมชาติของจอห์น ล็อก ไม่ทางตรงคือได้อ่านต้นฉบับเลย หรือไม่ก็ทางอ้อม

อย่างที่กล่าวไปในตอนก่อนๆแล้วว่า ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลความรู้ตะวันตกมาก่อนหน้าเข้ายุคเมจิเป็นเวลากว่าสองร้อยปีโดยผ่านการถ่ายโอนจากชาวดัทช์ และที่สำคัญคือ กลุ่มที่สนใจใฝ่หาความรู้คือ ชนชั้นซามูไร และในการศึกษาความรู้ตะวันตกของซามูไรนั้น จะนิยมแปลตำราจากภาษาตะวันตกมาเป็นภาษาญี่ปุ่น  และญี่ปุ่นมีพจนานุกรมอังกฤษ-ญี่ปุ่นฉบับแรกในปี พ.ศ. 2403  ส่วนของไทยเรานั้นมีพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยฉบับแรกที่แต่งโดยคนไทย คือ สอ เสถบุตร ในปี พ.ศ. 2493

ส่วนอิทธิพลหรือร่องรอยความคิดทางการเมืองเรื่องคนเท่ากันมีสิทธิตามธรรมชาติเสมอกัน ไม่มีมนุษย์คนใดแม้มีอำนาจแค่ไหนจะมาพรากไปได้ในสังคมไทย ยังไม่มีใครสืบสวนค้นคว้าอย่างจริงจังว่า ปรากฏขึ้นในข้อเขียนของใครเป็นครั้งแรก

แต่ถ้าเป็นความคิดทางการเมืองของรุสโซในเมืองไทยนั้น มีคนไทยศึกษาไว้แล้ว นั่นคือ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก สาขาทฤษฎีการเมืองของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยนายศุภชัย ศุภผลหรือ อาจารย์ไดที่มีคุณแม่เป็นชาวญี่ปุ่น ที่ผู้เขียนขอความรู้เกี่ยวกับคันจิหรือภาษาญี่ปุ่นจากเขาอยู่เป็นระยะ และปัจจุบัน อาจารย์ได ดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจากการทำวิทยานิพนธ์ของเขาพบว่า ความคิดของรุสโซปรากฎในเมืองไทยในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  

และเท่าที่นึกไเร็วๆตอนนี้เกี่ยวกับจอห์น ล็อก พบว่าอิทธิพลความคิดทางการเมืองของจอห์น ล็อกที่ปรากฏชัดเจนในเมืองไทยคือ ในใบปลิวและคำแถลงการณ์ของนิสิตนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จาก วิทยานิพนธ์ปริญญาโทระดับดี ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ของนางสาวโชติสา ขาวสนิท (ปัจจุบัน ดร. โชติสา ขาวสนิท อาจารย์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา)

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า อิทธิพลความคิดทางการเมืองของจอห์น ล็อกในเมืองไทยน่าจะมีมาก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 แล้ว แต่ไม่ใช่ความบกพร่องของ ดร. โชติสา เพราะเธอเอาความคิดทางการเมืองในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นตัวตั้งในการศึกษา เพื่อดูว่า ความคิดทางการเมืองในเหตุการณ์นั้นได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของนักคิดทางการเมืองคนใดมากที่สุด และก็คำตอบก็คือ จอห์น ล็อก

สงสัยต้องลองไปดูในหนังสือ “กฤดาการบนที่ราบสูง” (พ.ศ. 2476) ของคุณครูอ่ำ บุญไทยที่ผู้เขียนเคยเล่าถึงในคอลัมน์นี้ว่าท่านมีความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการเมืองตะวันตกอย่างน่าทึ่ง หรือไม่ก็ต้องไปไล่อ่านคำอภิปรายของบรรดา ส.ส. ในช่วงหลัง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา

ย้อนกลับมาที่เรื่องการเมืองญี่ปุ่น ถ้ารัฐบาลเมจิจะระแวง อิตางากิ ไทสุเกะ ผู้ก่อตั้งกล่มรักแผ่นดินและต่อมาเป็นหัวหน้าพรรคเสรีนิยมว่าจะมีแนวคิดไม่เอาเจ้าหรือลดทอนอำนาจเจ้า ก็นับว่ามีมูลอยู่ !