posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (14)

12 พฤษภาคม 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

**************

ข่าวสะเทือนใจข่าวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 คือ ข่าวการหย่าร้างระหว่างมหาเศรษฐีบิล เกตส์ กับ เมลินดา ภรรยา ภายหลังแต่งงานอยู่กินกันมา 27 ปี

สามีภรรยาคู่นี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งในการสร้างอาณาจักรธุรกิจไมโครซอฟต์ และได้สร้างองค์กรการกุศล คือ มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ซึ่งทำการกุศลอย่าง “มืออาชีพ” สามารถแก้ปัญหาสังคมของโลกได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิผล และมีประสิทธิภาพอย่างน่าศึกษา

เริ่มจากการมี “จิตกุศล” ต้องการใช้ความมั่งคั่งของตนให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชากรโลก หลังจากลองผิดลองถูกในการบริจาค บิล เกตส์ เริ่ม “ตั้งหลัก” โดยเลือกคนมาศึกษาว่าจะใช้เงินบริจาคทำอะไรและอย่างไร

เช่นเดียวกับการศึกษาวิจัยทั่วไป การตอบโจทย์ดังกล่าวเริ่มจากการ “ทบทวนวรรณกรรม” (Literature review) ทำให้ได้อ่านงานเอกสารของธนาคารโลกฉบับหนึ่งชื่อ “การลงทุนในสุขภาพ” (Investing in Health) ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปว่า การลงทุนที่คุ้มค่าสูงสุดในเรื่องสุขภาพคือการลงทุนเรื่องวัคซีนเพราะเป็นการแก้ปัญหาสุขภาพที่ตรงจุดที่สุดตามสุภาษิต “กันไว้ดีกว่าแก้” (Prevention is better than care) ซึ่งตรงกับหลักอริยสัจ 4 ในพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึง ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และทาง ดับทุกข์ และมุ่งแก้ทุกข์โดยการดับเหตุแห่งทุกข์

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่อังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังต่อสู้กับฝ่ายอักษะอย่างเข้มข้น ในอังกฤษมีการมองไปข้างหน้าหลังสงคราม โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมมาธิการศึกษาขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งได้ออกรายงานชื่อ “รายงานบีเวอริดจ์” (Beveridge Report) ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2485 สรุปสาเหตุปัญหาสังคม 5 ประการในอังกฤษ เรียกว่า “ปีศาจยักษ์ห้าตน” (Five Giant Evils) ได้แก่ ความสกปรก (Squalor) ความโง่ (Ignorance) ความอยาก (Want) ความเกียจคร้าน ( Idleness) และโรคภัยไข้เจ็บ (Disease) พร้อมชี้ทางแก้ปัญหาให้ปฏิรูปสวัสดิการสังคมครั้งใหญ่

ซึ่งต่อมาพรรคแรงงานได้นำไปจัดทำเป็นนโยบายหาเสียงประกาศออกมาในนาม “แถลงการณ์พรรคแรงงาน” (Labour Manifesto) ซึ่งมีผลทำให้ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในการชิงชัยกับพรรคอนุรักษ์นิยมของวินสตัน เชอร์ชิล หลังสงครามในยุโรปยุติลง

แนวคิด “ปีศาจยักษ์ห้าตน” นี้เองเป็นที่มาของทฤษฎีปัญหาสังคมในประเทศกำลังพัฒนาที่สรุป “วัฏจักรแห่งความชั่วร้าย” (Vicious cycle) ว่า เกิดจาก “โง่-จน-เจ็บ” การแก้ปัญหาเรื่อง โง่ และ จน ของพลโลก เป็นเรื่องยากและใหญ่เกินกำลังของคนคนหนึ่งจะทำได้ ต้องเป็นหน้าที่ของ “รัฐบุรุษ” ของแต่ละประเทศ ในฐานะเอกชน บิล เกตส์ จึงเลือก “จุดคานงัด” ที่เรื่อง เจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าที่สุด คือ วัคซีน ทำให้มูลนิธิ บิลและเมลินดาเกตส์เป็นผู้บริจาครายใหญ่เรื่องวัคซีน ซึ่งสามารถช่วยประชากรในประเทศยากจนบรรเทาปัญหาสุขภาพลงได้มาก

แหล่งผลิตวัคซีนสำคัญที่มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์จัดซื้อคือบริษัทสถาบันซีรัมแห่งอินเดีย (Serum Institute of India : SII) เพราะสามารถผลิตวัคซีนที่มีมาตรฐานระดับสากลส่งไปขายได้ทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป โดยราคาย่อมเยากว่าบริษัทวัคซีนในประเทศตะวันตกมาก

เมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ได้บริจาคเงินกว่า 1,750 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 54,250 ล้านบาท เพื่อช่วยแก้ปัญหาโดย ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง ใช้เงินกว่า 680 ล้านดอลลาร์ ในโครงการต่างๆ ได้แก่ (1) ช่วยลดการแพร่โรคในแอฟริกาและเอเชียใต้ (2) พัฒนาชุดตรวจ , ยา และวัคซีน (3) บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรค ยุทธศาสตร์ที่สอง ใช้เงิน 750 ล้านดอลลาร์ จาก “กองทุนเพื่อการลงทุนทางยุทธศาสตร์” (Strategic Investment Fund) เป็นเงินกู้ให้แก่ภาคเอกชนพัฒนานวัตกรรม และการกระจายยา อุปกรณ์การแพทย์ และชุดทดสอบต่างๆ แก่ประเทศยากจน และรายได้ปานกลาง ผลประโยชน์ที่งอกเงยจากการลงทุนจะนำกลับไปใช้ในโครงการกุศลต่างๆ ของมูลนิธิทั้งหมด ยุทธศาสตร์ที่สาม ใช้เงินมากกว่า 315 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยตรงอื่นๆ

มูลนิธิบิลและเมดาลินส์เกตส์ บริจาคเงินจำนวนมากแก่องค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง

ในเรื่องวัคซีนโควิด-19 มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ใช้เงินบริจาค 2 แนวทาง คือ (1) บริจาคเข้าโครงการ “พันธมิตรเพื่อเตรียมพร้อมด้านนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาการระบาด” (Coalition For Epidemic Preparedness Innovations) ชื่อย่อคือ เซปิ (CEPI) เพื่อพัฒนาวัคซีนที่ราคาย่อมเยากว่าและเก็บรักษาง่ายกว่าและ (2) บริจาคเข้าโครงการ “ข้อผูกมัดทางการตลาดล่วงหน้าสำหรับวัคซีนโควิด-19” (COVID-19 Vaccine Advance Market Commitment) หรือโครงการ “โคแวกซ์ เอเอ็มซี” (COVAX AMC) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีวัคซีนในราคาที่รับไหว (Affordable price) สำหรับประเทศยากจนและรายได้ปานกลาง

โดยการระดมทุนเพื่อจัดหาวัคซีนไปจำหน่ายในราคาถูกต่างๆ กัน ตามระดับกำลังซื้อของประเทศยากจน และประเทศกำลังพัฒนา โครงการดังกล่าวเป็นโครงการความร่วมมือกับองค์การพันธมิตรโลกเพื่อวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (Global Alliance for Vaccine and Immunization) หรือ กาวี (GAVI)

ในเมืองซีแอตเติล ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของไมโครซอฟต์ มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ได้บริจาคเงินให้แก่หน่วยงานสาธารณสุขในท้องที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและสำคัญแก่ประชาชน เพื่อให้สามารถป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งการบริจาคเงินให้แก่องค์กรชุมชน 6 แห่งที่มุ่งทำงานกับกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรสาธารณสุข คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม และบุคคลในครอบครัวที่เปลี่ยนสถานะจากรายได้ต่ำเป็นไม่มีรายได้เนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างหรือตกงาน

มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ เชื่อมั่นสูงในเรื่องวัคซีน โดยพูดชัดเจนว่า “วัคซีนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา วัคซีนมีบทบาทในการขจัดกวาดล้างไข้ทรพิษ และลดจำนวนผู้ป่วยจากโรคอย่างโปลิโอ สมองอักเสบ และหัด ลงได้อย่างน่าอัศจรรย์”

สำหรับวัคซีนโควิด-19 มูลนิธินี้กล่าวอย่างชัดเจนว่า “การทำให้ทุกคนในโลกได้รับวัคซีนที่ปลอดภัยและได้ผลอย่างเป็นธรรมจะยุติวิกฤตการณ์นี้ได้ในไม่ช้า วัตถุประสงค์ของเราคือการเร่งการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และทำให้ประชากรโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนในราคาที่รับไหวได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ทั้งคู่ประกาศแยกทางกัน เพื่อจะให้มีระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างกัน แต่ยังจะทำการกุศลร่วมกันต่อไป ตามคติแบบไทยๆ พวกเขาแยกทางกัน ก็คงเพราะพวกเขา “ทำบุญร่วมกัน” มาเพียงเท่านี้

*****************