posttoday

ภาคเอกชนไทยร่วมใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

10 พฤษภาคม 2564

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

**************************

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นับเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนที่น่าจับตามองที่สุดในยุคโควิด-19  เพราะตอบโจทย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งนอกจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนก็มีบทบาทไม่น้อยในการร่วมขับเคลื่อน  ตัวอย่างอันชัดเจนของภาคเอกชนไทยชั้นนำ ที่เป็นกำลังสำคัญของเรื่องนี้ เป็นสมาชิกของเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย นั่นคือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG

GC ได้นำหลัก Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน มาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน เพราะ GC มีความเชื่อว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างสมดุลใน 3 ประเด็น คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในทุกๆ กิจกรรมที่ดำเนินการ ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้วัตถุดิบ กระบวนการการผลิต การนำกลับมาใช้ใหม่ เรียกว่าครบทั้งวงจร

ภาคเอกชนไทยร่วมใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

ทั้งนี้ GC เชื่อมั่นว่า หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้สร้างประโยชน์แค่การดำเนินงานในระดับธุรกิจหรือองค์กรใหญ่เท่านั้น แต่ยังสามารถประยุกต์เพื่อนำมาใช้จริงในระดับคนทั่วไปได้อีกด้วย จึงทำให้เกิดแนวคิด GC Circular Living แนวคิดที่กระตุ้นให้ทุกคนในสังคม ได้ตระหนักถึงการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ผ่านการลงมือทำจริง ที่ง่ายและผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันได้ หรือเรียกว่าเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้

ตัวอย่างการบริหารจัดการพลาสติกแบบครบวงจรที่น่าสนใจ ซึ่ง GC ขับเคลื่อนผ่านแนวคิด “ต้องมีทางออกให้กับทุกคน” ได้แก่ 1) การนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ (Recycle / Upcycling) เน้นการใช้ด้วยความรับผิดชอบ คัดแยกอย่างเหมาะสมและหมุนเวียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เปลี่ยนขยะพลาสติกในทะเลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างสินค้าแฟชั่น ตลอดจนการสร้างโรงงานรีไซเคิลพลาสติกคุณภาพสูง (Food Grade) ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งแรกในประเทศไทย 2) พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการส่งเสริมยกระดับภาคการเกษตรไทย 3) การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกับทุกภาคส่วน ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนและนำไปขยายผลต่อในวงกว้าง และ 4) ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusiveness) พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าให้ปรับตัวกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค

นอกจากนี้  GC ยังได้เดินหน้าพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมร่วมกับพันธมิตร เพื่อวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ผ่าน Healthcare Solutions ภายใต้แบรนด์ Greater Care by GC โดยใช้นวัตกรรมผสมผสานแนวคิดด้านความปลอดภัยและความยั่งยืนควบคู่กันให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน จากผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีและพลาสติกของบริษัทฯ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างโดดเด่น  มาใช้สนับสนุนในช่วงวิกฤตโควิด 19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงทุกวันนี้ อาทิเช่น

1) การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ โดยได้ร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พัฒนาชุดป้องกันระดับสูงที่ใช้เฉพาะในห้องผ่าตัดและห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (ICU)  เพื่อป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงและมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง ได้แก่ ชุดกันเชื้อแบบความดันบวก (PAPR) เสื้อกาวน์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก PE หน้ากากอนามัย อีกทั้งยังพัฒนาชุด Coverall จากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ประเภท PET (rPET) 100% ในประเทศไทย เคลือบสาร Polytetrafluorethylene มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำและป้องกันการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน (Hydrostatic Pressure) สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้สูงสุดถึง 20 ครั้ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นชุด PPE ในระดับที่ 2 ผลิตตามมาตรฐาน ANSI/AAMI PB70 และหมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อ (PAPR) ที่นำเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาใช้ในการขึ้นรูป มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน รวมถึงผ้าคลุมหมวก ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงอีกด้วย 2) โครงการฮาวทูแยก-แยกอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ โดย GC เป็นผู้ริเริ่มประสานกับภาครัฐและพันธมิตร เพื่อคัดแยกและทิ้งขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธีในหลายจังหวัด และ 3) โครงการใช้ BioPackage ใน Food Delivery เพื่อเป็นทางเลือกในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่งอาหาร เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น GC ยังมีแผนงานที่จะขยายผลแนวคิด Circular Economy และสร้างผลสัมฤทธิ์ให้เกิดในวงกว้าง โดยมีปัจจัยสู่ความสำเร็จ คือ 1) การสร้างแนวร่วมผ่านผู้นำความคิด 2) การพัฒนานวัตกรรม 3) มี Business Model ทำให้เป็นธุรกิจได้ และ 4) การสร้าง Ecosystem ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกคน เพื่อส่งต่อแนวคิดและให้ทุกภาคส่วนร่วมลงมือทำไปด้วยกัน

ในส่วน SCG ได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งแต่การผลิต การใช้ และวนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ โดยขับเคลื่อนผ่านแนวทางการดำเนิน 3 ธุรกิจหลักของ SCG  คือ ธุรกิจเคมิคอลส์ มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มการรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น Mono-materials การพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของเสียกลับมาเป็นวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูงขึ้น การส่งเสริมการคัดแยก และรวบรวมของเสียกลับมาใช้ใหม่ ผ่านชุมชน Like (ไร้) ขยะ และการจัดทำธนาคารขยะ โดยใช้ Digital Platform เป็นเครื่องมือในการจัดการ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ และบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มสัดส่วนการเก็บกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างครบวงจร  และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ตอบโจทย์ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ฉลาก “SCG Green Choice” ตั้งแต่การผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล ลดของเสียในกระบวนการติดตั้งสินค้าสำเร็จรูป ลดการใช้พลังงานและนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ สู่ “Green Living and Green Society” รวมถึงการนำของเสียกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับสังคม “Turn Waste to Wealth”

นอกจากนี้ SCG ยังจับมือ 180 องค์กรพันธมิตรจากทุกภาคส่วนที่มีจุดยืนเดียวกันในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ขับเคลื่อนหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน  นำเสนอผลการดำเนินงาน และระดมประสบการณ์ ความคิดเห็น ในงาน SD Symposium ในปี 2020 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” ร่วมแก้ไขแก้ปัญหาให้กับประเทศและประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ปัญหาภัยธรรมชาติ น้ำแล้ง น้ำท่วม ปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหาของเสีย ที่เพิ่มขึ้นจากโควิด-19 โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาพื้นฐานด้านความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจของทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อาทิ การสร้างน้ำหมุนเวียน สนับสนุนให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง เรียนรู้การจัดรูปแบบที่ดิน และใช้เทคโนโลยีควบคู่กับให้ความรู้เกษตรยั่งยืน การแปรรูปของเสียทางการเกษตร ส่งเสริมเกษตร “ปลอดการเผา 100%” ในปี 2022 โดยหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ เช่น ตอซังใบข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด มาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล อาหารสัตว์ หรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ลดโลกร้อน และสร้างรายได้ การยกระดับการจัดการของเสียให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยปรับปรุงเพิ่มเติมกฎหมายการจัดการของเสียอย่างจริงจัง และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนดำเนินการไปพร้อมกัน  ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การวางฐานรากการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปสู่ Green and Clean Construction

การดำเนินงานของทั้งสององค์กร นับเป็นต้นแบบที่น่าสนใจของภาคเอกชนไทยที่ได้ร่วมใจร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ในยุคที่ความยั่งยืนหรือสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่อาจเป็นแค่ทางเลือกอีกต่อไป

ภาคเอกชนไทยร่วมใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

ภาคเอกชนไทยร่วมใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน