posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (2)

08 พฤษภาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*****************

รัฐศาสตร์คือการเมืองการปกครอง ขุนช้างขุนแผนก็คือเรื่องการเมืองการปกครองของไทย ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เปิดประเด็นว่า ลักษณะเด่นของการเมืองการปกครองของไทยตั้งแต่โบราณคือ “ความจงรักภักดี” ซึ่งตัวละครต่าง ๆ ในเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ทั้งที่เป็นคนดีและคนชั่ว แต่ท้ายที่สุดก็ต้องรักษาความจงรักภักดีนั้นไว้เป็นสำคัญ โดยท่านได้อธิบายว่า “ความจงรักภักดีของตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ใช้เป็นเยี่ยงอย่างสำหรับข้าราชการและคนอ่านได้โดยทั่วไป กล่าวคือ เป็นความจงรักภักดีถึงที่สุดไม่มีปัญหา แม้จะต้องพระราชอาญาขั้นรุนแรงอย่างใด ก็มิได้ทำให้ความจงรักภักดีของแต่ละคนนั้น เสื่อมคลายลงแม้แต่น้อย ยังจงรักภักดีต่อไป

นอกจากนั้น ตัวละครหลายคนในเรื่องนี้เป็นผู้ที่มีวิทยาอาคมขลัง มีคาถาอาคมและของดี ตลอดจนเลี้ยงผีพรายไว้ป้องกันสรรพภัยให้แก่ตนได้ แต่พอถึงคราวที่จะต้องพระราชอาญาแล้ว ของดีในตัว ไม่ว่าจะเป็นอาถาอาคม หรือเครื่องรางต่าง ๆ ตลอดจนภูตผีพรายก็จะเสื่อมฤทธิ์เสื่อมอำนาจไปสิ้น ไม่สามารถจะป้องกันตัวจากราชภัยได้ จึงถือเป็นหลักได้สองอย่าง คือ ข้าราชการนั้น จะต้องมีความจงรักภักดีเป็นมูล ไม่มีทางที่จะเสื่อมความจงรักภักดีลงไปได้ และอีกประการหนึ่งก็คือ พระบรมราชโองการนั้น มีความศักดิ์สิทธิ์และมีฤทธิ์อำนาจเหนือสิ่งศักดิ์อื่นใดทั้งสิ้น”

กล่าวตรงๆ ก็คือ สังคมไทยนั้นมีพระมหากษัตริย์เป็นใหญ่และ “ยิ่งใหญ่สูงสุด” ไม่เพียงแต่กับเหล่าข้าราชการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงราษฎรไทยทั้งหลาย ทั้งยากดีมีจน ทั้งหมดนั้นด้วย แม้แต่คนที่อาจจะมีเทือกเถาเหล่ากอเป็นคนเชื้อชาติอื่น อย่างขุนแผนนี้ก็มีเชื้อสายมอญ โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้สังเกตว่าคนในตระกูลขุนแผนล้วนแต่มีชื่อสมัยเด็กๆ ว่า “พลาย” นำหน้าทั้งสิ้น คือ ขุนแผน เดิมคือ พลายแก้ว พระไวยลูกของขุนแผน เดิมคือ พลายงาม และลูกของขุนแผนอีกคนหนึ่งก็ชื่อพลายชุมพล จนถึงรุ่นหลาน อย่างพลายเพชร พลายบัว และพลายยง ลูกของพระไวย เป็นต้น ส่วนพ่อของขุนแผนชื่อว่าขุนไกร ในเรื่องไม่ได้กล่าวว่าตอนที่เป็นหนุ่มๆ ก่อนรับราชการนี้นชื่อว่าอะไร แต่ก็คงจะมีชื่อว่าพลายอะไรสักอย่างเหมือนกัน ซึ่งคำว่า “พลาย” นี้ในภาษามอญแปลว่า “หนุ่มหรือผู้ชายที่แข็งแรง” อย่างคำว่าช้างพลายก็คือช้างหนุ่มนั่นเอง

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บรรยายถึง “ความจงรักภักดี” โดยเริ่มจาก “ขุนไกรพลพ่าย” พ่อของขุนแผน ขุนไกรเดิมเป็นมอญเมืองกาญจนบุรี ขุนไกรเป็นผู้ที่ฐานะดีและมีอิทธิพลมาก อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนไว้ว่า “ขุนไกรนั้นเป็นคนมีฐานะดีในเมืองกาญจนบุรี ทั้งตัวขุนไกรเองและนางทองประศรีผู้เป็นภรรยา เมื่อแต่งงานกันแล้วก็อพยพมาปลูกบ่านเรือนอยู่ที่เมืองสุพรรณ ผู้คนที่ขุนไกรบังคับบัญชาอยู่มีจำนวนถึง 700 คน จนกรมการเมืองสุพรรณเกรงอกเกรงใจ เหมือนกำนันเป๊าะ หรือเสี่ยเล้ง ในสังคมไทยทุกวันนี้ แต่สมัยโบราณนั้น ท่านมีวิธีการจัดการกับเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลในจังหวัดต่าง ๆ กล่าวคือ เมื่อไม่สามารถจะปราบได้ ก็ดึงเอาเข้ามาเป็นพวก ด้วยวิธีตั้งเป็นกรมการพิเศษ และให้บรรดาศักดิ์ เจ้าพ่อเหล่านั้นก็จะเรียบร้อย เป็นขุนนางที่คอยช่วยเหลือทางราชการไปเอง ไม่กระด้างกระเดื่องต่อการปกครอง” ผู้เขียนอ่านถึงตรงนี้ก็ถึงบางอ้อขึ้นมาทันทีว่า อ้อ คงเหมือนกับที่ผู้ปกครองสมัยนี้ไปดึงเอาพวกผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ต่างๆ เข้ามาเป็นพวก แม้แต่พวกอาชญากรและพวกค้ายาเสพติดนั้นด้วย”

ขุนไกรซึ่งเดิมคงมีชื่อว่าพลายอะไรสักอย่างจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนนางด้วยความที่เป็นผู้มีอิทธิพลดังกล่าว เช่นเดียวกันกับขุนศรีวิชัยพ่อของขุนช้าง ที่ก็เป็นเศรษฐีเมืองสุพรรรณ โดยขุนศรีวิชัยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “นายกองกรมช้างนอก” ทำหน้าที่ดูแลช้างป่าที่อยู่ในเมืองสุพรรณ ในขณะที่ขุนไกรก็ได้ดูแลควายป่า ที่มีอยู่ในเมืองสุพรรณในเวลานั้นเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ในความเห็นของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เชื่อว่า คนทั้งสองตระกูลคือตระกูลขุนช้างกับตระกูลขุนแผนนี้ น่าจะแข่งบุญแข่งวาสนากันมานานแล้ว อันเป็นปัจจัยที่ทำให้การชิงดีชิงเด่น โดยเฉพาะ “การชิงรักหักสวาท” ระหว่างขุนช้างกับขุนแผนจึงมีความดุเดือด ด้วยเหตุที่มีการชิงความเป็นใหญ่ของคนทั้งสองตระกูลนี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่เอง

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อธิบายเรื่องระบบราชการในสมัยอยุธยาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า กรมที่มีความสำคัญมากๆ กรมหนึ่งในสมัยโบราณนั้นก็คือ “กรมอาทมาต” ซึ่งมีหน้าที่ในการ “สืบราชการลับ” เพราะในศึกสงครามจำเป็นจะต้องเข้าไปล่วงรู้ความลับของข้าศึกด้วยวิธีการต่างๆ อย่างที่สมัยนี้เรียกว่า “การข่าวกรอง” ดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์วิเคราะห์ไว้ว่า “กรมอาทมาตสมัยอยุธยานั้น คงจะมีสายลับอยู่ในประเทศต่างๆ ที่อยู่รอบพระราชอาณาจักร เช่น ลาว เขมร และญวน แต่ราชการสงครามในสมัยนั้นมีอยู่ที่ประเทศพม่าเป็นส่วนใหญ่ .... สายลับของกรมอาทมาตที่จะส่งเข้าไปอยู่ในพม่านั้นหากส่งคนไทยเข้าไปแล้วก็คงจะไม่ได้ผล เพราะคนไทยมีความแตกต่างกับคนพม่าอยู่มากมาย .... แต่ในเมืองไทยนั้นมีมอญที่จงรักภีกดีต่อพระมหากษัตริย์ไทยอยู่มาก มอญนั้นแต่งกายเหมือนพม่า ไว้ผมยาวเช่นเดียวกับพม่า และพูดภาษาพม่าได้เป็นภาษาที่สอง ดีเท่ากับภาษามอญของตนเอง เพราะฉะนั้น เมื่อส่งมอญเข้าไปเป็นสายลับ พม่าก็จับไม่ได้ ....

ขุนไกรเป็นมอญแถวกาญจนบุรี ดูด้วยเหตุผลตามที่ว่ามานี้ ขุนไกรจึงน่าจะเป็นข้าราชการสังกัดกรมอาทมาตในสมัยนั้น” เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นละครในแนวโศกนาฎกรรม ที่มี “เรื่องเศร้า” เกิดขึ้นตลอดเรื่อง โดยโศกนาฏกรรมแรกของเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นกับครอบครัวของขุนแผน ที่ขุนไกรผู้พ่อเป็นผู้ทำให้เกิด แต่เป็นการก่อเกิดขึ้นด้วย “ความจงรักภักดี” ดังที่จะได้นำเสนอต่อไป