posttoday

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่เก้า): อังกฤษ-พม่าและสยาม

06 พฤษภาคม 2564

โดย..ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

******************

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พม่าทำสงครามกับอังกฤษคือ เกิดข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตที่ตกลงกันไม่ได้ ในวิธีคิดเกี่ยวกับอาณาเขตพรมแดนประเทศของผู้ปกครองในรัฐแถบบ้านเรา คงไม่ต่างจากที่ขุนนางสยามบอกกล่าวแก่ร้อยเอก เฮนรี เบอร์นีย์ ทูตอังกฤษในปี พ.ศ. 2369 นั่นคือ “...เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวถึงเขตแดนของมะริด ทวาย และตะนาวศรีนั้น ไม่เคยมีเขตแดนใดสามารถกำหนดกันได้ระหว่างสยามกับพม่า แต่ในเมื่ออังกฤษปรารถนาจะให้กำหนดเขตแดนเหล่านี้แน่นอนลงไป ก็ให้ไปถามเอาจากผู้เฒ่าที่อาศัยตามชายแดนมะริด ทวาย ตะนาวศรี ว่าพวกเขารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับดินแดนที่เชื่อมกัน และให้ถือเอาตามที่คนเหล่านั้นชี้นั่นแหละเป็นเขตแดนระหว่างส่วนของอังกฤษกับสยาม”

จะเห็นได้ว่า วิธีคิดเกี่ยวกับอาณาเขตดินแดนของรัฐแถบนี้ เป็นวิธีคิดแบบโบราณ นั่นคือ อยู่กันแบบหลวมๆ ที่ว่าเป็นวิธีคิดแบบโบราณ ก็เพราะก่อนหน้าที่ฝรั่งจะเข้ามา คนแถบนี้ยังไม่รู้จักวิทยาการสมัยใหม่ในการทำแผนที่แบบสมัยใหม่ที่จะมีความชัดเจนแน่นอน เมื่อพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็ต้องรบกัน

นอกจากพม่าจะไม่รู้เรื่องแผนที่สมัยใหม่ พม่ายังไม่รู้ว่า แสนยานุภาพในการรบของฝรั่งนั้นเหนือกว่าตนยิ่งนัก แม้ว่ากำลังทหารของฝ่ายอังกฤษจะน้อยกว่าก็ตาม แต่พม่าก็ต้องแพ้สงครามอยู่ดี

พม่าทำสงครามกับอังกฤษสามครั้ง แต่ละครั้งก็ต้องเสียดินแดนให้อังกฤษ ทยอยเสียไปเรื่อยๆ จนถึงสงครามครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2428 พม่าเสียทั้งประเทศไปเลย เพราะอังกฤษจับกุมตัวพระเจ้าธีบอ กษัตริย์พม่าได้ แล้วคุมตัวไปกักบริเวณที่เมืองเมืองรัตนคีรีที่อินเดีย

เรื่องราวของพม่าตลอดสงครามทั้งสามครั้ง ที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่สาม สยามติดตามโดยตลอด หลักฐานปรากฎอยู่พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ตอนแรกๆ สยามเห็นดีที่พม่ามีปัญหากับอังกฤษ เพราะพม่ากับสยามเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันมายาวนาน ในปี พ.ศ. 2367 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์

เมื่อสยามทราบข่าวว่าอังกฤษตีพม่าขึ้นไปได้ถึงเมืองย่างกุ้งในสงครามครั้งแรกระหว่างพม่ากับอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงโปรดเกล้าฯให้พระยามหาโยธาคุมกองทัพมอญ และโปรดเกล้าฯให้พระยาสุรเสนาและพระยาพิพัฒน์โกษาคุมทัพไปทางพระเจดีย์สามองค์ และยังมีทัพเรือที่คุมโดยพระยาชุมพรยกทัพไปทางเมืองระนอง โดยให้ทั้งสามทัพนี้บอกแก่อังกฤษว่าจะไปช่วยรบกับพม่า ซึ่งอังกฤษก็ยินดียอมให้กองทัพสยามเข้าไปตั้งในเขตแดนที่อังกฤษตีได้

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่เก้า): อังกฤษ-พม่าและสยาม

                             จอห์น ครอฟอร์ด                                                       เฮนรี เบอร์นีย์

หนึ่งปีต่อมา พ.ศ. 2368 อังกฤษโดยบริษัทอีสต์อินเดียได้ส่งร้อยเอก เฮนรี เบอร์นีย์เป็นทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี โดยร้อยเอกเบอร์นีย์ ได้แจ้งว่า สืบเนื่องจากที่สยามเคยส่งกองทัพไปช่วยอังกฤษทำสงครามกับพม่าเมื่อปีก่อน อังกฤษจึงจะขอเจริญสัมพันธไมตรีและจะขอทำสัญญากับสยามด้วย แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯไม่โปรดที่จะให้สยามต้องทำหนังสือสัญญาใดๆกับอังกฤษ แต่ยินดีที่จะมีไมตรีด้วย

แต่พระบรมวงศานุวงศ์ 2 พระองค์และขุนนางผู้ใหญ่อีก 2 ท่านได้กราบบังคมทูลวิงวอนขอให้พระองค์ไตร่ตรองให้ดี เพราะอังกฤษมาขอทำสัญญาแล้วถึง 2 ครั้ง (ครั้งแรกคือ ครั้งเซอร์จอห์น ครอฟอร์ดในสมัยรัชกาลที่สอง ครั้งที่สองคือครั้งนี้) หากครั้งนี้ไม่รับทำสัญญา อาจจะเกิดปัญหาได้ เพราะเมื่อทูตอังกฤษกลับไปแล้วอาจจะหาเรื่องเกเรต่างๆนานา ที่สำคัญคือ อังกฤษมีเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเลที่ติดต่อใกล้เคียงสยามมากขึ้น จากการชนะสงครามกับพม่า ทำให้สยามปกป้องตัวเองได้ยาก เมื่อได้ฟังเหตุผลดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก็ทรงมีพระราชดำรเห็นชอบด้วย

พระบรมวงศานุวงศ์ 2 พระองค์ คือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ส่วนขุนนางผู้ใหญ่ 2 ท่านนั้นคือ เจ้าพระยาพระคลัง และเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

ต้องขอกล่าวถึงผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไว้สักหน่อย เพราะลำพังตำแหน่งนี้ มีในทุกรัชกาลจนมาสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลทีห้า ผู้เขียนเห็นว่าควรบอกผู้อ่านว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้ในขณะนั้นคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพที่มีศักดิ์เป็นพระปิตุลาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และทรงบัญชาการด้านกลาโหมอยู่แล้ว

และการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงแต่งตั้งพระปิตุลาให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถือเป็นครั้งแรกที่พระปิตุลาของพระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งนี้ เพราะก่อนหน้านี้ ถ้าไม่แต่งตั้งพระอนุชาก็แต่งตั้งพระราชโอรส และการแต่งตั้งพระปิตุลาในครั้งนั้น ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ต่อๆมาผู้ที่เป็นพระปิตุลาจะคาดหวังว่าจะได้ดำรงตำแหน่งนี้ ทำให้เพิ่มความไร้เสถียรภาพในทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการแข่งขันกันที่จะดำรงตำแหน่งที่อยู่ในสถานะที่จะสืบราชสมบัติได้ ดังผู้เขียนจะหาโอกาสเขียนถึงประเด็นนี้ในโอกาสต่อไป

ส่วนกรมหมื่นสุรินทรรักษ์หรือพระองค์เจ้าฉัตรเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและขณะนั้นทรงดูแลกรมท่าและกรมมหาดไทย

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่เก้า): อังกฤษ-พม่าและสยาม

           พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ                        เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค)

ส่วนผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังในขณะนั้นคือ ดิศ บุนนาค และเจ้าพระยานครศรีธรรมราชขณะนั้นคือ น้อย ณ นคร

ทั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมหมื่นสุรินทรรักษ์และเจ้าพระยาพระคลังต่างมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์) ได้สืบราชสมบัติแทนที่จะเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎพระราชโอรสในเศวตฉัตรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ในที่สุด การตกลงทำสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษโดยมีร้อยเอกเบอร์นีย์เป็นตัวแทนได้นำไปสู่การเกิดหนังสือสัญญามิตรภาพและการค้าสมัยใหม่ฉบับแรกของสยามขึ้นในปี พ.ศ. 2369

สนธิสัญญาฉบับแรกนี้หรือที่เป็นที่รู้จักในนาม “สนธิสัญญาเบอร์นีย์” สยามไม่ได้เสียเปรียบอะไรให้อังกฤษ ความโดดเด่นของสนธิสัญญานี้คือ ลักษณะสนองตอบซึ่งกันและกันอย่างสมบูรณ์ในทุกๆประเด็น เช่น มาตราที่ 1 มีความทำนองว่า “ชาวสยามต้องไม่ปองร้ายหรือทำร้ายรังควานชาวอังกฤษไม่ว่าจะในลักษณะใด ชาวอังกฤษต้องไม่ปองร้ายหรือทำร้ายรังควานชาวสยาม ไม่ว่าจะในลักษณะใด” เช่นเดียวกันในอีก 13 มาตรานั้น ทกๆประเด็นข้อสัญญาล้วนแต่ผูกพันซึ่งกันและกัน ความรับผิดชอบมีเท่าเทียมกัน และทั้งสองฝ่ายก็มีข้อได้ประโยชน์เหมือนกันทุกประการ

นอกจากนี้ สนธิสัญญายังระบุข้อความเกี่ยวกับการแก้ไขข้อพิพาทเล็กๆน้อยๆ การแลกเปลี่ยนตัวอาชญากร การนิยามเขตอิทธิพลในคาบสมุทรมาเลย์และการประกันเสรีภาพทางการค้า

แต่เรื่องมันไม่จบลงง่ายๆเพียงแค่นี้ เพราะหลังจากทำสนธิสัญญาเบอร์นีย์แล้ว อังกฤษยังไม่พอใจกับผลของสนธิสัญญา โดยเฉพาะการผูกขาดการค้าน้ำตาลและการห้ามค้าไม้สัก และพ่อค้าชาวอังกฤษยังต้องเผชิญกับคู่แข่งชาวจีนซึ่งไม่ถูกผูกมัดโดยระเบียบข้อบังคับใดๆแบบที่คนอังกฤษต้องโดนภายใต้สนธิสัญญาเบอร์นีย์ นอกจากนี้ พ่อค้าคนจีนยังได้รับอภิสิทธิ์จากพวกข้าราชการสยามด้วย

ความไม่พอใจของอังกฤษที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่มีการบังคับใช้สนธิสัญญาเบอร์นีย์ ก็ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปลายรัชกาลที่สาม และมีความพยายามที่จะขอแก้ไขสนธิสัญญา ไม่ใช่เพียงอังกฤษเท่านั้น แต่สหรัฐอเมริกาก็ไม่พอใจด้วยเช่นกัน

(เอกสารอ้างอิง: พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่สาม ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ [ขำ บุนนาค], วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย โดย ศาสตราจารย์ ดร. ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และ กำเนิดสยามจากแผ่นที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ โดย ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา)