posttoday

คำสารภาพของวาเอล โกนิม

06 พฤษภาคม 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

***********

ถ้าเอ่ยชื่อ “วาเอล โกนิม” คนไทยส่วนใหญ่คงไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดถึงเรื่องราวของ “อาหรับ สปริง” ซึ่งเป็นการปฏิวัติโค่นล้มผู้นำอียิปต์ที่ครองอำนาจมานานนับ 30 ปีได้สำเร็จ จนเป็นที่ฮือฮาของนักเคลื่อนไหวทั่วโลก และใช้รูปแบบ “อาหรับสปริง” เป็นแบบอย่างของประชาชนในประเทศที่ไม่พอใจรัฐบาลและพยายามโค่นล้มรัฐบาลให้ได้ คนไทยที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไปที่สนใจการบ้านการเมืองคงพอจำได้

“วาเอล โกนิม” คือ หัวหน้าขบวนการปฏิวัติอาหรับสปริง ขณะนั้น (พ.ศ2514) วาเอล โกนิม กำลังหนุ่มเต็มตัว มีอาชีพมั่นคง โดยทำงานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของบริษัทกูเกิล เขาได้ใช้ประโยชน์จากพลังแห่งโซเชียลมีเดียนี้โค่นล้มรัฐบาลทหารอียิปต์ของประธานาธิบดีมูบารัคที่ครองอำนาจมากว่า 30 ปีได้สำเร็จ แบบที่คนทั้งโลกแทบไม่เชื่อสายตา

นิตยสาร ไทม์ ใส่ชื่อวาเอล โกนิม เป็นหนึ่งในร้อยของบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดประจำปี 2514 และ World Economic Forum เลือกเขาให้เป็นหนึ่งในผู้นำโลกรุ่นเยาว์ ในปี2515

โลกเริ่มรู้จักฤทธิ์ของอินเตอร์เน็ต รู้จักเฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิวัติการสื่อสารของคนทั่วโลก และทำให้คนทั่วโลกใกล้ชิดกันและติดต่อกันได้สะดวก รวดเร็วขึ้น เขาใช้เฟซบุ๊คปลุกกระแสการปฏิวัติในอียิปต์ได้สำเร็จ และอาจเป็นครั้งแรก ๆ ที่สะท้อนให้เห็นพลังแห่งโซเชียลมีเดียที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหลือเชื่อ ประโยคสั้นๆง่ายๆ “ เราทุกคนคือ คาเลด ซาอิด ” ที่ออกมาเพื่อ “ต่อต้านคอรัปชั่น และ อำนาจเผด็จการ “ เขาเขียนข้อความสั้นๆ บนกระดาษสีขาว ถ่ายรูป และแชร์กันออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ดึงคนมาร่วมอย่างมืดฟ้ามัวดิน

เพจของเขามีคนติดตามเพียงสามวันแรกถึง 3 แสนคน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนผู้นำรัฐบาลซึ่งครองอำนาจมานานถึง 30 ปีต้องลาออกในที่สุด

ดังถึงขนาดสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ได้ขนาดนี้แล้ว แต่วาเอล โกนิม กลับผิดหวังอย่างรุนแรง เพราะการเมืองอียิปต์หลังการปฏิวัติกลายเป็นการแบ่งขั้วกันอย่างรุนแรง พลังแห่งโซเชียลมีเดียที่ถูกใช้โค่นผู้นำเผด็จการ ถูกเพื่อนร่วมชาตินำมาใช้ในการสร้างความขัดแย้งในสังคม แบ่งขั้วอำนาจ เป็นแหล่งแพร่ข้อมูลเท็จ ข่าวลือ สร้างความเกลียดชังระหว่างกัน บรรยากาศในอียิปต์หลังการปฏิวัติเปรียบเสมือนยาพิษ โลกออนไลน์กลายเป็นสนามรบ เต็มไปด้วยคำโกหก คำที่สร้างความเกลียดชัง แบ่งขั้วอำนาจกันชนิดสุดขั้ว บังคับให้คนต้องเลือกข้าง บ้านเมืองวุ่นวาย สุดท้าย ทหารก็เข้ามายึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

สถานการณ์ในอียิปต์หลัง “อาหรับ สปริง” คล้ายกับที่เกิดขึ้นในบ้านเราขณะนี้ หรือจะพูดว่า สถานการณ์บ้านเราขณะนี้คล้ายกับอียิปต์หลังอาหรับสปริงก็ได้ แต่อาจรุนแรงมากกว่าด้วยซ้ำ

สิบปีผ่านไป จากปี 2554 มาถึงปี 2564 ขณะนี้ เทคโนโลยีสื่อสารทางออนไลน์ก้าวหน้าชนิดที่เรียกว่า “ก้าวกระโดด” เพราะนอกจากเฟซบุ๊คแล้ว สื่ออีเล็คโทรนิกและเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากจนอาจกล่าวได้ว่า สามารถมีอิทธิพลหรือคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับเราจะใช้มันไปในทางสร้างสรรค์หรือทำลาย ซึ่งจะให้ผลบวกหรือผลลบอย่างรุนแรง รวดเร็ว

ถ้าวาเอล โกนิม มาอยู่ที่เมืองไทยในขณะนี้ ความสับสน ความผิดหวัง ฯลฯ ของเขาอาจลดลงก็ได้ เพราะความท้าทายของสังคมสื่อโซเชียลของไทยในปัจจุบันวิกฤติไม่แตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์หลังปฏิวัติเลย โดยเฉพาะการปล่อยข่าวลือตอบสนองอคติของผู้เสพ ข่าวลือกลายเป็นข่าวที่มีคนพร้อมจะเชื่อและพร้อมจะแชร์กันออกไปสู่คนอีกนับแสนนับล้านคน

คนไทยเลือกที่จะรับข่าวสารด้านเดียว และสื่อสารเฉพาะกลุ่ม การชุมนุมกลายเป็นการประท้วงที่เกรี้ยวกราด หยาบคาย ใครสรรหาคำหยาบคาย ลามก ฯลฯ มาสื่อได้ดูเหมือนจะเป็นที่ถูกอกถูกใจของพรรคพวก ใครสามารถลื่อความหมายด้วยข้อความที่หยาบคายสุด ๆ ถ่อยเถื่อนที่สุด จาบจ้วง เสียดสีได้แบบถึงใจ จะมีคนเข้ามาติดตาม กดไลค์ กดแชร์กันมากมาย เพราะ “สะใจ” ผู้เสพที่คอเดียวกัน ซึ่งเป็นสันดานของมนุษย์ที่ยังมีความถ่อยเถื่อนแฝงอยู่ กล่าวกันว่า เกิดอาชีพใหม่ในการรับจ้างกดไลค์ กดแชร์ เพื่อผลการโฆษณาสินค้าหรือโฆษณชวนเชื่อทางการเมือง ขอเพียงให้มีเงินจ้างอย่างเดียวก็พอ

ผู้เสพข่าวจำนวนไม่น้อยที่ใช้วิธีประเมินว่าข่าวนั้นดีหรือไม่ดี ดังหรือไม่ดัง ด้วยการดูจำนวนไลค์ แชร์เป็นสำคัญ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นได้ จนไม่รู้ว่าอะไรคือของจริง อะไรคือของปลอม

หลายคนไม่ชอบที่จะถกประเด็นด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความสุภาพ แทนที่จะพูดคุยร่วมกันได้ กลับนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน พร้อมที่จะแบ่งข้างกันทันที สื่อออนไลน์ไม่ได้ถูกใช้เพื่อประเทืองปัญญาโดยคนบางกลุ่ม แต่ถูกใช้เป็นเวทีปะทะคารมกันมากกว่า

ที่เราเห็นและสัมผัสได้ทุกวัน คือ “การคุกคามทางออนไลน์” มีการสื่อสารที่ก้าวร้าวมากขึ้น เพียงแค่ความเห็นที่ไม่ตรงกันเท่านั้น จนคนที่ไม่อยากเสนอความเห็นดี ๆ เพราะกลัวคนที่ไม่พอใจจะด่ากลับถึงพ่อแม่โคตรเหง้าเหล่ากอ มีบางคนกล่าวประชดว่า ใครหน้าด้านกว่าก็อยู่ในสังคมนี้ได้ ใครใจเสาะ หน้าบาง เปราะบาง ต้องถอยออกไป

เวลานี้ คนที่เขียนหรือเสนอความคิดในสื่อโซเชียลต้องทำใจ แม้ว่าความคิดนั้นจะดีเลิศ วิเศษ แต่ถ้าไม่ตรงใจใครบางคน เราอาจถูกวิจารณ์อย่างหยาบคายได้ คนที่มีความรู้สึกละเอียดอ่อน เปราะบาง อาจไม่เหมาะกับการสื่อสารผ่านสื่อโซเชียล เพราะอาจถูก “ทัวร์ลง” ก็ได้

อย่างไรก็ดี หากวาเอล โกนิม มาเมืองไทย เขาอาจแปลกใจที่ไม่มีใครรู้จักอาหรับ สปริง เพราะ “อาหรับ สปริง” อาจดูพ้นยุคสมัยไปแล้ว เวลานี้ ม็อบในเมืองไทยพูดถึง “ม็อบชานม” และใช้ “ม็อบฮ่องกง” เป็นต้นแบบ แต่วิธีการใช้สื่อโซเชียลก็คล้ายกัน ซ้ำยังก้าวหน้า ทันสมัย รวดเร็ว มากช่องทางกว่ากันอีก แต่ที่เหมือนกัน คือ การเขียนข้อความบนกระดาษและถ่ายรูปโพสต์ส่งออกไปภายในวินาทีผ่านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่าเมื่อสิบปีก่อน

เมืองไทยเวลานี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง สิ่งที่วาเอล โกนิม กังวลเกี่ยวกับสังคมในอียิปต์นั้น ได้เกิดขึ้นกับสังคมสื่อโซเชียลในไทยเรียบร้อยแล้ว เพราะเวลานี้ สื่อโซเชียลซึงมีวัตถุประสงค์หลักสร้างมาเพื่อการประเทืองปัญญา เพื่อประโยชน์ของสังคม ใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชัง ความโกรธแค้น การทำลายล้าง การปล่อยข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเท็จ สารพัดข่าว จากการสำรวจของฝรั่งพบว่า คนไทยส่วนใหญ่เชื่อข่าวในโทรศัพท์มือถือมากกว่าประเทศอื่นที่ถูกสำรวจร่วมกัน

หากวาเอล โกนิม มาไทย เขาคงได้เห็นสังคมไทยเวลานี้เป็น “สังคมก้มหน้า” ไปทางไหนก็จะเห็นคนไทยก้มหน้าอยู่กับโทรศัพท์มือถือแทบตลอดเวลา แม้แต่เวลากินข้าว เหลืออย่างเดียวที่ไม่ก้มดูโทรศัพท์มือถือก็เวลาขับรถยนต์ หรือขี่จักรยานยนต์เท่านั้น แต่ถ้ารถจอดติดไฟแดง คนขับรถบางคนเอาโทรศัพท์มือถือมาดู แม้แต่เวลาข้ามถนน บางคนยังดูโทรศัพท์มือถือไปด้วย

พูดกันสนุกๆ ในหมู่เพื่อนฝูงว่า ต่อไป หากข้าศึกจับคนไทยได้และต้องการรีดเอาข้อมูลความลับ ข้าศึกไม่ต้องใช้วิธีทรมานร่างกายเพื่อบังคับให้พูด เพียงแต่ไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือวันสองวันเท่านั้น คนไทยก็เปิดปากบอกความลับหมด

ในประวัติศาสตร์การทหาร ในทฤษฎี “ฮาร์ตแลนด์” และ “ริมแลนด์” มีคำกล่าวว่า ถ้าใครคุมใจกลางของโลกได้ คนนั้นจะครองโลก แต่เวลานี้ เกิดทฤษฎีใหม่ที่ว่า หากครองสื่อโซเชียลได้ คนนั้นจะเป็นผู้ชนะ

ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เคยกล่าวไว้ว่า ต่อไปนี้ ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เท่าเทียมกัน แต่แพ้ชนะอยู่ที่ ใครสามารถแปลง “ข่าวสาร” (Information) ให้เป็น “ข่าวกรอง” (Intelligence) ได้มากกว่ากัน สำคัญที่สุด คือการนำข่าวกรองนั้นไปใช้ก่อนคนอื่น

เวลานี้ คนไทยเสพข่าวโดยไม่พิจารณาก่อนว่า ข่าวนั้นเป็น “ข่าวลือ” หรือ “ ข่าวลวง” หรือ“ข่าวเท็จ” ปล่อยผ่านสื่อโซเชียลซึงทำได้ง่าย แต่กระจายไปได้เร็วและกว้างขวาง เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งในช่วงเวลาสั้น ๆ แม้คนจับได้ในภายหลัง คนปล่อยก็ไม่แคร์ สื่อโซเชียลกลายเป็นช่องทางที่สร้างความเกลียดชัง การโจมตี ใส่ร้ายกันและกัน กว่าเหยื่อจะชี้แจงให้สังคมเข้าใจได้ก็เปลืองตัวไปเยอะแล้ว

หาก วาเอล โกนิม มาเมืองไทย เขาคงสบายใจขึ้นมากเพราะไม่ใช่อียิปต์หลังอาหรับ สปริงเท่านั้นที่เผชิญกับ “ความท้าทาย” จากปัญหาการใช้สื่อโซเชียลของคนอียิปต์ดังที่เขากังวล เพราะคนไทยก็กำลังปวดหัวกับนักปฏิวัติที่กำลังใช้สื่อโซเชียลอย่างบ้าคลั่งเช่นกัน (จบ)