posttoday

SDGs Mega Trends 2021 : การฟื้นตัวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

19 เมษายน 2564

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

****************************

แม้วิกฤตครั้งใหญ่ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องล็อคดาวน์เมือง โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ต้องปิดทำการชั่วคราว บริษัทให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน การเดินทางทั่วโลกชะงักงันเป็นเวลานานหลายเดือน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ดูจะเป็นผลกระทบเชิงบวกต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพราะจากหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายวันลดลง

จากข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) ระบุว่า ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 โลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายวันลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เมื่อบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมและออฟฟิศสำนักงานต่างๆ ทยอยกลับมาเปิดทำการ อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายวัน ก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง 

SDGs Mega Trends 2021 : การฟื้นตัวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจากรายงาน “Temporary reduction in daily global CO2 emissions during the COVID-19 forced confinement” ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.nature.com ได้ประเมินว่า อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา ลดลงจากปี ค.ศ. 2019 ประมาณ 7% ทั้งนี้ อัตราการปล่อยคาร์บอน ขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมการเดินทางจากการระบาด อย่างไรก็ตาม ในรายงานระบุว่า มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาล ทั่วโลกจะใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤต COVID-19 จะมีผลอย่างมากต่อแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกในช่วงทศวรรษหน้า หากรัฐบาลประเทศต่างๆ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็อาจละเลยเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน จนลืมความพยายามลดการปล่อยคาร์บอนที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาหลายปี หรืออาจจำเป็นต้องยกเลิกการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการคาร์บอนต่ำก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของหลายประเทศ เช่น เยอรมนี นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก แคนาดา และเกาหลีใต้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และได้บรรจุ “มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” (Green Recovery) ด้วยการให้เงินสนับสนุน ปล่อยเงินกู้ หรือออกมาตรการลดหย่อนภาษี สำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคมขนส่ง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานสะอาด ซึ่งรวมถึงการให้เงินสนับสนุนและดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อสร้างงานใหม่และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืนด้วย

การประชุมแบบทางไกลที่สำคัญใน ปี ค.ศ.2020 ที่ชื่อว่า Finance in Common Summit แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวไว้ว่า “การตัดสินใจของทุกฝ่ายตอนนี้ จะเป็นตัวตัดสินสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน ช่วง 30 ปีข้างหน้าและหลังจากนั้น”

หากต้องการให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ที่จะรักษาโลกไม่ให้อยู่ในจุดที่ ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถฟื้นกลับมาได้แล้ว หรือที่เรียกว่า Point of No Return โลกทั้งโลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งให้ได้ ภายใน ปี ค.ศ. 2030 และต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ (Net Zero Emission) ให้ได้ภายใน ปี ค.ศ. 2050

ดังนั้น สำหรับปี ค.ศ. 2021 จึงจะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะขับเคลื่อนโลกไปสู่เป้าหมายความเป็นกลาง ทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งทุกประเทศ ทุกเมือง รวมถึงบรรดาสถาบันการเงินและองค์กรธุรกิจจะต้องจัดทำและดำเนินตามแผน เพื่อปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่ากับศูนย์ภายในปี 2050

ข่าวดีก็คือ เราได้เห็นสัญญาณชัดเจนในระดับนโยบายจากนานาชาติ โดยประเทศต่างๆ ที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันมากกว่า 65% ของปริมาณทั่วโลก และมีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 70% ของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหภาพยุโรป ประเทศในยุโรป เกาหลีใต้ และอีกกว่า 110 ประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าวให้สำเร็จ ตัวอย่างโครงการ “Green Recovery เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนยุค Post-COVID 19 ของรัฐบาลทั่วโลก มีดังนี้

สหภาพยุโรป

· เสนอกลไกการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาเทคโนโลยี กักเก็บพลังงาน ไฮโดรเจนสะอาด ระบบแบตเตอรี่ ระบบดักจับคาร์บอน

สหราชอาณาจักร

· จัดสรรงบประมาณ 1 พันล้านปอนด์ในปีค.ศ. 2020 เพื่อปรับปรุงอาคารสาธารณะ เช่น โรงเรียน และโรงพยาบาล ให้ใช้พลังงานอย่างประหยัดมากขึ้น

· สนับสนุนเงินทุนเพื่อกระตุ้นการใช้วัสดุนวัตกรรมในอุตสาหกรรมหนัก เช่น การใช้ซ้ำขี้เถ้าขยะในอุตสาหกรรมแก้วและเซรามิก และการพัฒนาเหล็กที่รีไซเคิลได้

เดนมาร์ก

· เสนอเงินทุนสำหรับการปรับปรุงที่อยู่การเคหะระหว่าง ปี ค.ศ. 2020-2026 เช่น เปลี่ยนหน้าต่าง ฉนวนป้องกันความร้อน และระบบทำความร้อนที่ใช้น้ำมัน เพื่อการประหยัดพลังงานมากขึ้น

ฝรั่งเศส

· จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเกษตรกรให้เปลี่ยนระบบการทำเกษตรเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างร้านอาหารที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 1,000 แห่งในพื้นที่ชนบท

· สนับสนุนโรงงานนำร่องผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์

ไอร์แลนด์

· สนับสนุนงบประมาณเพื่อการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในธุรกิจประมงและเกษตรกรรม

เกาหลีใต้

· มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีการสร้างระบบสาธารณูปโภคใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทดแทนระบบเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

· จัดสรรงบประมาณ 1.7 ล้านล้านวอน สนับสนุน SMEs 100 รายที่มีโมเดลธุรกิจยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

· จัดสรรงบประมาณ 5.4 ล้านล้านวอนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานไฮโดรเจน

ในขณะที่ “จีน” มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก และเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ ก็ได้ประกาศแล้วว่าจะปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ปี ค.ศ. 2060 โดยประธานาธิบดีจิ้นผิง ของจีน ได้ประกาศเจตนารมณ์ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้งสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2020 ว่า  จีนจะยกระดับการดำเนินงานตามเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการบังคับใช้นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้จีนบรรลุการเป็นชาติปลอดคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2060 ซึ่งนั่นก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนไปถึงภาคธุรกิจ บรรดานักลงทุน และผู้มีอำนาจตัดสินใจว่า การปล่อยคาร์บอนล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย และถึงเวลาแล้วที่จะเลิกอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล จำเป็นต้องเลิกใช้ ถ่านหิน และผลักภาระภาษีของผู้เสียภาษีทั่วไป ไปยังคนที่ก่อให้เกิดมลพิษแทน โดยเก็บภาษีคาร์บอนชดเชยภาษีรายได้บุคคลธรรมดามากขึ้น ฯลฯ ทั้งหมดนี้ คือ ความเคลื่อนไหวล่าสุด และเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามองใน ปีนี้ 

สำหรับ SDGs Mega Trends 2021 ตอนหน้าเสนอเป็นตอนสุดท้าย กับประเด็นที่ทั่วโลกและประเทศไทยกำลังเดินหน้ากันสุดกำลัง นั่นคือ เรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy กับความท้าทายที่มากขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19  ติดตามกันวันจันทร์หน้า

"แม้วิกฤตครั้งใหญ่ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องล็อคดาวน์เมือง....แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ดูจะเป็นผลกระทบเชิงบวกต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพราะจากหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายวันลดลง"