posttoday

SDGs Mega Trends 2021 : COVID-19 กระตุ้นการเงินและการลงทุนที่ยั่งยืน

15 เมษายน 2564

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

*********************************

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้นักลงทุนจาก ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับการลงทุนที่พิจารณาถึงปัจจัยด้าน ESG (Environment, Social, Governance)สูงขึ้น ในช่วงไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2020 มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสู่กองทุน ESG ทั่วโลก สูงถึง 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท และยังพบว่าผลตอบแทนของกองทุน ESG ยังสูงกว่ากองทุน ที่ไม่ใช่ ESG อีกด้วย ในช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มการได้รับความสนใจของกองทุน ESG ก็ยังเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากช่วง 5 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา โดยมีสถิติการออก Social bonds สูงถึง 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณเกือบ 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าการลงทุนที่ยั่งยืน หรือ ESG Investing ยังมีแนวโน้ม ที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี ค.ศ.  2021

หากพิจารณาความหมายของ ESG investing ตามนิยามของธนาคารโลก (World Bank) จะหมายถึง การนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลเข้ามาเป็นประเด็นสำหรับการวิเคราะห์ คัดเลือก และบริหารการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจและดึงดูดนักลงทุน โดยประเด็นหลักสำหรับการนำมาพิจารณา ได้แก่

SDGs Mega Trends 2021 : COVID-19 กระตุ้นการเงินและการลงทุนที่ยั่งยืน

Environment: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มลภาวะ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล และความหลากหลายทางชีวภาพ

Social: สิทธิมนุษยชน มาตรฐานด้านแรงงาน สุขภาพและความปลอดภัย ความหลากหลาย ความสัมพันธ์กับชุมชน การพัฒนาทรัพยากรบุคคล (สุขภาพและการเรียนรู้)

Governance: การกำกับดูแลกิจการ การทุจริต กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ความแข็งแกร่งขององค์กร และ ความโปร่งใส

ล่าสุด สำนักข่าว Bloomberg Green รายงานว่า มีการประเมินว่าภายในปี ค.ศ. 2021 การออกตราสารหนี้ ทั่วโลกที่มีหลักเกณฑ์ตามแนวทางความยั่งยืนจะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็นอย่างน้อย หรือราว 31 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นทิศทางที่เติบโตขึ้น จากปี ค.ศ. 2020 ที่มีการออกตราสารหนี้ทั่วโลกถึง 650,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 20 ล้านล้านบาท นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์อีกว่าในปี ค.ศ. 2021 เฉพาะมูลค่าการออกหุ้นกู้สีเขียว (Green Bonds) เพียงประเภทเดียวจะมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 15 ล้านล้านบาท แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะทำให้การลงทุนชะลอตัวไปบ้างในช่วงแรกก็ตาม ทั้งนี้ ยังพบว่า ผู้แนะนำการลงทุนมีแนวโน้มที่จะแนะนำให้ลงทุนในกองทุนด้าน ESG เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2018 – 2020)

บทวิเคราะห์ของ BlackRock บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การดูแลสูงที่สุดในโลกประมาณ 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 217 ล้านล้านบาท) ระบุว่า การลงทุนในบริษัทที่คำนึงถึงปัจจัยทางด้านสังคมและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรืออีกนัยหนึ่ง คือ บริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจบนแนวทาง ของความยั่งยืนจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ แม้แต่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 บริษัทที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG เหล่านี้จะสูญเงินน้อยกว่าบริษัททั่วไปอื่นๆ Philipp Hildebrand รองประธานกรรมการ (Vice-Chairman) ของ BlackRock แนะนำว่า หากบริษัทสามารถระบุประเด็นที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลต่อศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่จะโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง และผลจากข้อมูลยังระบุว่า การลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืนนั้น จะสามารถให้ผลตอบแทนในรูปแบบของตัวเงินกลับมาสู่นักลงทุนได้อีกด้วย

นอกจากนี้ สถาบันการเงินแต่ละแห่งยังมี exclusion list หรือรายชื่อประเภทของอุตสาหกรรมที่จะไม่สนับสนุนเม็ดเงินลงทุน อาทิ การไม่สนับสนุนเงินลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบและเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยาสูบ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับกองทัพหรือทหาร หรือ เพื่อการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเงินและการลงทุนที่ยั่งยืนตามความหมายของธนาคารโลกแล้ว อาจกล่าวได้ว่า สำหรับธุรกิจ ปัจจัยพื้นฐานสำคัญอันดับแรกที่ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนด้านการเงินและการลงทุนมากที่สุด ก็คือ ธุรกิจจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) ไม่มีการติดสินบนหรือคอร์รับชั่นภายในองค์กร เมื่อสามารถทำได้แล้ว จึงขยายออกไปสู่ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งหมดขององค์กร ซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ โดยระบบการบริหารจัดการภายในองค์กร ถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการระบุและป้องกันไม่ให้เกิดการติดสินบนและคอร์รัปชั่นในองค์กรได้ เพราะองค์กรต้องใช้เงินจำนวนมากในการติดสินบน ซึ่งสร้างความเสียหาย

อย่างตอนหนึ่งของรายงานเรื่อง Combating Corruption ของธนาคารโลกที่ระบุว่า โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมก่อสร้าง อาจมีการติดสินบนและคอร์รับชั่นสูงถึง 34% หรือเป็นเงินประมาณ 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่สถาบันการเงินต้องจ่ายเงินค่าปรับกว่า 3 แสนล้านเหรียญหรือมากกว่า 40% ของมูลค่าก่อนการสูญเสีย อันเป็นผลมาจากการติดสินบนและคอร์รับชั่น องค์กรต่างๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งเป้าหมายไม่ให้มีการติดสินบนเกิดขึ้นในองค์กร (zero bribes) ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด  เพื่อลดความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจโดย UN Global Compact พบว่าปัจจุบันมีองค์กรเพียง 25% เท่านั้น ที่มี การตรวจสอบและประเมินผลด้าน ESG อย่างชัดเจน ทั้งนี้ หากองค์กรไม่มีระบบการตรวจสอบที่มีความเป็นอิสระ ไม่มีความโปร่งใสในการดำเนินงานหรือไม่สามารถระบุระบบที่จะนำมาใช้สำหรับต่อต้านการทุจริตได้ ภายในปี ค.ศ. 2030 อาจกลายเป็นองค์กรที่มีความล้าหลัง ไม่เท่าทัน หรือไม่สอดคล้องกับมาตรฐานเป้าหมายความร่วมมือเพื่อความยั่งยืนของโลกได้

นอกจากนี้ จากรายงานเรื่อง The bottom line trust ของ Accenture ที่มาจากการศึกษาผู้บริโภค 25,000 คนพบว่า ผู้บริโภคถึง 46% เปลี่ยนไปใช้บริการหรือสินค้าของบริษัทอื่น เนื่องจากพวกเขาสูญเสียความเชื่อมั่นในบริษัท จะเห็นได้ว่าการทุจริตและคอร์รัปชั่นสามารถทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กรได้เป็นอย่างมาก ในวันนี้ การลงทุนที่ยั่งยืน หรือการลงทุนที่คำนึงถึง ESG จึงเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่น่าจับตามอง และเป็นโอกาสของธุรกิจที่มีพื้นฐานและสนใจในเรื่องนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่จะ “เร่งเครื่อง” ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้อย่างรวดเร็วกว่าองค์กรที่ไม่เคยให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก่อน ตอนต่อไป SDGs Mega Trends 2021 จะเป็นประเด็นใด ติดตามได้ในวันจันทร์หน้า