posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่หก): ปัญญาชนญี่ปุ่น

05 เมษายน 2564

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร              

********************

ญี่ปุ่นกับไทยเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองในช่วงไล่เลี่ยกัน  แต่ญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญก่อนไทย 43 ปี นั่นคือ หลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี พ.ศ. 2432  และอย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า ปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นปฏิรูปการเมือง และมีรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิ์แก่ประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ ซามูไร เพราะอย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า ในช่วงที่ญี่ปุ่นอยู่ในยุคโชกุน โทะกุงะวะ ญี่ปุ่นปลอดสงครามทั้งจากภายนอกและภายใน ทำให้ซามูไรหันมาศึกษาหาความรู้ ทั้งที่เป็นความรู้ตามจารีตของญี่ปุ่นเอง และความรู้ของตะวันตกผ่านดัทช์  และปรากฏว่า บรรดาซามูไรและรวมทั้งโรนินต่างพากันมุ่งมั่นศึกษาหาความรู้ของตะวันตกอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกซ์ ดาราศาสตร์ กายภาควิทยา การแพทย์  ฯลฯ และแน่นอนต้องมีวิชาการทหาร  และการศึกษาความรู้ตะวันตกของญี่ปุ่นจะเน้นการแปลตัวบทภาษาฝรั่งให้เป็นภาษาญี่ปุ่น

ซามูไรจึงกลายเป็นปัญญาชนไป !

ปัญญาชนญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้า ล้วนมีพื้นเพมาจากครอบครัวซามูไรระดับกลางและระดับล่าง นอกจากจะศึกษาความรู้ตะวันตกในประเทศแล้ว หลายคนยังได้มีโอกาสไปศึกษาในประเทศตะวันตกด้วย และเมื่อคนเหล่านี้กลับมา ก็ได้เผยแพร่ภูมิปัญญาตะวันตกสู่สังคมของตน

ปัญญาชนญี่ปุ่นที่มีบทบาทมากที่สุดคือ ฟุกุสะวะ เขาเป็นคนแรกๆที่สนับสนุนให้ญี่ปุ่นต้องปฏิรูป อันนำมาซึ่งการปฏิรูปของญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักกันนามของ การฟื้นฟูเมจิ (Meiji Restoration) ที่เริ่มในปี พ.ศ.2411 (อันเป็นปีที่เริ่มรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)      

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่หก): ปัญญาชนญี่ปุ่น

ฟุกุสะวะเกิดในตระกูลซามูไรระดับล่างที่มีฐานะยากจน แต่อย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว ชนชั้นซามูไรจะยากจนตามที่ได้อธิบายไปในตอนที่แล้ว แต่แม้ซามูไรจะยากจน แต่เป็นกลุ่มคนที่สังคมยกย่องให้เกียรติ นอกจากจิตวิญญาณความเป็นซามูไรแล้ว ซามูไรยังเป็นกลุ่มคนที่มีปัญญาความรู้ด้วย   ดังนั้น แม้ว่าครอบครัวของฟุกุสะวะจะยากจน แต่พ่อของเขาเป็นผู้รู้ในภูมิปัญญาแบบขงจื่อ และได้ถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้เขา ในช่วงที่เขาอายุย่างเข้าสิบเก้าปีอันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่นายพลอเมริกัน แมทธิว แพรี่ได้เดินทางมาญี่ปุ่น

เขาได้เดินทางไปยังเมืองเดฌิมะ เมืองศูนย์กลางการศึกษาที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “การศึกษาฮอลันดา”  (Dutch Learning) เพื่อศึกษาความรู้ในแบบตะวันตก ซึ่งผมได้เล่าไปในตอนที่แล้วว่า ทำไมเมืองเดฌิมะถึงเป็นเมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาความรู้ตะวันตกผ่านฮอลันดา และที่สำนักการศึกษาฮอลันดาที่เมืองเดฌิมะ ฟุกุสะวะได้เรียนภาษาดัทช์เพื่อเตรียมตัวสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับอาวุธปืนและการออกแบบปืนใหญ่

ฟุกุสะวะใช้เวลาสามปีในการศึกษาภาษาดัทช์จนคล่องแคล่วจนถึงกัได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนภาษาดัทช์ในปี พ.ศ.2401  แต่ต่อมาเขาพบว่าความรู้ภาษาดัทช์ของเขาช่วยอะไรไม่ได้ เพราะพ่อค้าชาวยุโรปและอเมริกันที่เข้ามาญี่ปุ่นหลังญี่ปุ่นเปิดประเทศในปี พ.ศ.2396  ต่างใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการติดต่อสื่อสาร เขาจึงหันมาศึกษาภาษาอังกฤษ แต่ญี่ปุ่นช่วงนั้น ผู้รู้หรือล่ามภาษาอังกฤษหายาก และยังไม่มีพจนานกุรมอังกฤษ-ญี่ปุ่น ทำให้การเรียนภาษาอังกฤษของเขาช้าและยากลำบาก  ต่อมาในปี ค.ศ.1859 ญี่ปุ่นได้ส่งคณะทูตไปเยือนสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก  ฟุกุสะวะได้มีโอกาสติดตามไปด้วย โดยคณะทูตญี่ปุ่นได้เดินทางไปถึงเมืองซานฟรานซิสโกในปี พ.ศ.2403  และซานฟรานฯนี้เองที่ทำให้เขาได้ซื้อหาพจนานุกรมของเวบสเตอร์ไว้เป็นของตัวเองหนึ่งเล่มและเริ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างจริงๆจังๆ  (แถมยังมีโอกาสไปถ่ายรูปคู่กับแหม่มสาวชาวอเมริกันคนหนึ่งเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย !)

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่หก): ปัญญาชนญี่ปุ่น

หลังจากเขาเดินทางกลับญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2403 ไม่นาน เขาได้จัดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ญี่ปุ่นเล่มแรกของญี่ปุ่นขึ้นหลัง ผ่านการแปลจากพจนานุกรมจีน-อังกฤษอีกทีหนึ่ง  ต่อมาในปี พ.ศ.2405  เขาได้มีโอกาสเดินทางไปยุโรปในฐานะล่ามของคณะทูตคณะแรกของญี่ปุ่นที่เดินทางไปยุโรป และจากประสบการณ์การเดินทางในประเทศตะวันตก ทำให้ฟุกุสะวะเขียนหนังสือเรื่อง “สิ่งต่างๆตะวันตก” (Things Western/Seiyo Jijo) และเผยแพร่ในปี พ.ศ.2409, 2411 และ 2413 รวมทั้งสิ้นสิบเล่ม

หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือที่เปิดโลกทัศน์ของชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับตะวันตก ฟุกุสะวะได้อธิบายสภาพต่างๆของสังคมตะวันตก อันได้แก่ วัฒนธรรมตะวันตก ความเท่าเทียมกันของชายหญิง ฯลฯ  จากการเขียนที่อ่านเข้าใจง่ายทำให้หนังสือของเขากลายเป็นหนังสือขายดีอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในเรื่องอารยธรรมตะวันตกของญี่ปุ่น และเขาได้ตั้งปณิธานว่า เขาจะให้ความรู้แก่เพื่อนร่วมชาติของเขาให้เข้าใจวิธีคิดใหม่ๆของโลกตะวันตกเพื่อทำให้ญี่ปุ่นสามารถรับมือและทัดทานกับกระแสจักรวรรดินิยมยุโรปให้ได้

จากประสบการณ์ตรงที่เขาได้รับจากสังคมตะวันตก ฟุกุสะวะเป็นปัญญาชนญี่ปุ่นรุ่นแรกๆที่สนับสนุนสิทธิสตรี และรณรงค์เพื่อความเสมอภาคระหว่างสามีและภริยา ความเสมอภาคทางการศึกษาระหว่างเด็กหญิงและชาย และการให้ความรักที่เท่ากันต่อลูกสาวและลูกชาย การให้สตรีมีสิทธิ์ในทรัพย์สินของตัวเอง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสังคมญี่ปุ่นให้ทันสมัยทัดเทียมประเทศตะวันตก แต่น่าจะเดากันได้ว่า โครงการเพื่อสิทธิ์ผู้หญิงของเขาไม่ได้รับความสนใจมากนักในสังคมญี่ปุ่น จากคุณูปการที่กล่าวไป ทำให้ฟุกุสะวะได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้ปฏิรูปญี่ปุ่นให้ทันสมัย

และในความเห็นของผมคือ การทำพจนานุกรมอังกฤษ-ญี่ปุ่นเล่มแรกเป็นกุญแจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ เพราะการเข้าใจภาษาอังกฤษจะช่วยให้คนญี่ปุ่นสามารถทำความเข้าใจความรู้ตะวันตกได้ผ่านการอ่าน-แปลจากเอกสารต้นฉบับ

ญี่ปุ่นมีฟูกุสะวะที่ทำพจนานุกรมอังกฤษ-ญี่ปุ่นฉบับแรกขึ้นในราวปี พ.ศ.2403  คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ในช่วงต้นสมัยเมจิ มีประชาชนญี่ปุ่นที่อ่านออกเขียนได้เป็นจำนวนเท่าไร ? คำตอบคือ ร้อยละ 40 ซึ่งนับว่าสูงมาก เพราะสูงกว่าประเทศในยุโรปบางประเทศในเวลาเดียวกัน

กล่าวได้ว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถปรับปรุงประเทศให้มีความเจริญและทันสมัยในสมัยเมจิ คือ ความรู้ของประชาชน และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว ถือได้ว่า ประชาชนญี่ปุ่นมีความรู้พอสมควรจากเกณฑ์การอ่านออกเขียนได้ถึงร้อยละ 40

ดังนั้น หลังจากญี่ปุ่นประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี พ.ศ.2432 แล้ว อีกหนึ่งปีต่อมา ก็สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปได้ทันที  อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2432 จะให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่ประชาชน และประชาชนที่อ่านออกเขียนได้มีจำนวนถึงร้อยละ 40  แต่ก็จำกัดสิทธิ์ให้แต่เฉพาะพลเมืองเพศชายที่มีทรัพย์สินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น อันหมายความว่า พลเมืองญี่ปุ่นที่มีสิทธิ์และใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเป็นพลเมืองที่นับได้ว่ามีคุณภาพทั้งในแง่ของความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและมีความรู้พอสมควร

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับไทย ในกรณีที่ญี่ปุ่นมีฟูกุสะวะที่ทำพจนานุกรมอังกฤษ-ญี่ปุ่นฉบับแรกขึ้นในราวปี พ.ศ. 2403 แล้วไทยเรามีพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยฉบับแรกเมื่อไร และใครเป็นผู้ทำ ? และอัตราการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนไทยเป็นอย่างไรในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นมีการเลือกตั้งครั้งแรก ?

เราจะได้คุยกันในประเด็นดังกล่าวนี้ต่อในคราวหน้า