posttoday

รำลึก กปปส. กับม็อบมวลมหาประชาชนครั้งสุดท้าย (2)

03 เมษายน 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

******************

ม็อบก็เหมือนมหากาพย์ทั้งหลาย ที่ผู้ร่วมชุมนุมคิดว่า “ธรรมะย่อมชนะอธรรม”

ม็อบที่ผู้เขียนประทับใจที่สุดคือ ม็อบ 14 ตุลาคม 2516เพราะเป็นม็อบที่ผู้เขียนได้เข้าไปร่วมแบบกินนอนอยู่ด้วยเป็นครั้งแรก ส่วนม็อบ กปปส.ก็มีความประทับใจมากเช่นกัน เพราะเป็นม็อบที่ต่อสู้กันยาวนานมากกว่าครึ่งปีนั่นเลยทีเดียว โดยผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมด้วยแทบทุกเวทีในทุกอีเวนต์ที่มีการชุมนุมอยู่นั้น ซึ่งข้อวิเคราะห์ต่อไปนี้ได้เขียนขึ้นจาก “ความรู้สึกส่วนตัว” ตามประสบการณ์ที่ได้ร่วมในม็อบ และจากข้อมูลที่ผู้ร่วมชุมนุมมาเล่าให้ฟัง ดังนั้นอาจจะมีมุมมองต่างจากท่านอื่น ๆ รวมถึงข้อมูลที่อาจจะแตกต่างกัน

ก่อนที่จะไปวิเคราะห์เรื่องม็อบ กปปส. ขออนุญาตเล่าถึงม็อบอื่น ๆ ที่ผู้เขียนเคยเข้าร่วมอีกสักนิด เพราะมันเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกัน เกี่ยวกับเครือข่ายของผู้มีอำนาจกับกระบวนการม็อบต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “ม็อบเสื้อเหลือง” ซึ่งผู้เขียนได้ไปช่วยปราศรัยบนเวทีอยู่หลายครั้ง

มูลเหตุที่ต้องขึ้นเวทีก็เป็นเพราะมีเพื่อนฝูงที่เป็นสื่อมวลชนมาเชิญให้ขึ้นไป “แสดงพลังร่วม” เพื่อให้เห็นว่ามีผู้คนจากหลาย ๆ อาชีพมาร่วมกับม็อบ โดยผู้เขียนเป็นตัวแทนของกลุ่มนักวิชาการ ที่ได้ขึ้นเวทีอภิปรายเกี่ยวกับความเลวร้ายของระบอบทักษิณ มาตั้งแต่ตอนต้นปี 2549 ในกรณีที่บริษัทชินคอร์เปอเรชันขายหุ้นให้บริษัทเทมาเส็กของสิงค์โปร์ โดยไม่เสียภาษีให้รัฐบาลสักบาทเดียว จึงถูกเชิญให้ขึ้นเวที่พูดถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า “ปรากฏการณ์มือตบ” ของม็อบเสื้อเหลืองเป็นอะไรที่ “เร้าใจมาก ๆ”

โดยตลอดเวลานั้นผู้เขียนมีความรู้สึกเหมือนว่า ตัวเองนี้เป็น “ฮีโร่น้อย ๆ” ด้วยคนหนึ่ง เพราะประเด็นที่มีการนำเสนอสู่มวลชนที่มาฟังปราศรัย เหมือนว่าเรากำลังจะล้มล้างความชั่วร้ายที่น่าเกลียดน่าชังที่สุด เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ “โลกใหม่” ที่มีแต่ความสวยสุดสดใส (นี่กระมังที่เขาเรียกว่า “พวกโลกสวย”)

ม็อบในครั้งนั้นตามมาด้วยการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยทหารให้เหตุผลในส่วนหนึ่งว่าเพื่อป้องกันการยกพวกเข้าตีกันของพวกเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง รวมถึงที่ป้องกันการขึ้นสู่อำนาจของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ทำตัวเหิมเกริมถึงขนาดจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ

ผู้เขียนที่ในตอนนั้นเป็นคณบดีอยู่ที่สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รับเชิญจากสำนักเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ที่เป็นคณะรัฐประหาร ให้ไปประชุมในบ่ายวันรุ่งขึ้นที่กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินกลาง ร่วมกับคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่มีกันอยู่ 4 แห่ง รวม 8 คน

ในห้องประชุม นอกจากสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติทั้ง 6 ท่าน (ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งสาม ผู้บัญชาตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม) แล้วยังมี นายมีชัย ฤชุพันธ์ กับนายวิษณุ เครืองาม อยู่ในห้องประชุมนั้นด้วย

ตอนที่เราถูกเชิญมาทางนายทหารหญิงที่โทรมาเชิญไม่ได้บอกว่ามีวาระพูดคุยอะไรบ้าง ผู้เขียนเองเลยพาลคาดเดาไปว่าคงจะเชิญมาเพื่อ “ปิดปาก” หรือขอร้องให้ทำตามที่ทหารอยากให้ทำอะไรสักอย่าง เช่น ไม่ให้ไปก่อความวุ่นวาย หรือออกก่อม็อบต่อต้าน แต่พอถึงเวลาก็ปรากฏว่าเป็นการขอให้พวกเราช่วยพิจารณารัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งก็ทำให้เราหมดความกังวลไป และทำให้เรารู้ความจริงว่า คณะรัฐประหารชุดนี้กลัวนายทักษิณเป็นที่สุด ซึ่งถ้าใครได้ติดตามการปกครองของคณะ คมช. ก็จะพบว่าทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง จนสาธารณชนเรียกขานการทำรัฐประหารในครั้งนั้นว่า “ปัสสาวะไม่สุด”

ต่อมาผู้เขียนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในโควตากลุ่มนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ที่มีจำนวน 23 คน นอกจากนี้ยังมีแกนนำของม็อบเสื้อเหลืองได้เข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้อีกหลายคน จนถึงต้นปี 2551 หลังการเลือกตั้งในปลายปี2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้นก็สิ้นสภาพไปตามรัฐธรรมนูญ โดยพรรคพลังประชาชน หรืออดีตพรรคไทยรักไทยของระบอบทักษิณ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบเลิกไปภายหลังการรัฐประหาร ชนะการเลือกตั้งได้จำนวน ส.ส.เข้ามามากที่สุด

แต่ก็ยังมีเสียงไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องไปดึงพรรคประชากรไทยเข้ามาร่วมด้วยให้เป็นเสียงข้างมาก โดยยอมให้นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็นได้เพียง7 เดือน นายสมัครก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นสภาพ ส.ส. เพราะไปรับเงินในการออกรายการทำอาหาร นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยนายทักษิณ ที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เคยได้เหยียบเข้าไปทำงานในทำเนียบรัฐบาลเลย เนื่องจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เข้ายึดทำเนียบไว้กว่า 6 เดือน

ต่อมาพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญประกาศยุบเลิกไป เพราะมีการฮั้วเลือกตั้งกับพรรคเล็กในการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2550 นั้น จากนั้นสภาก็เลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็เป็นที่ฮือฮามากเพราะมีกรณีการเข้าโอบกอดกันของนายอภิสิทธิ์ กับนายเนวิน ชิดชอบ เจ้าของฉายา “ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ” (จากกรณีการเลือกตั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีผู้เอาเงินเย็บติดกันจำนวน120บาทไปซื้อเสียง ที่เข้าใจกันว่าเป็นทีมงานของนายเนวิน) เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่ “ขาวสะอาด” แต่ก็ต้องยอมไปร่วมแปดเปื้อนเพื่อให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมากลุ่มคนเสื้อแดงได้ออกมาต่อต้านรัฐบาลของอภิสิทธิ์ ถึงขั้นรุมทุบรถนายอภิสิทธิ์และบุกพังโรงแรมที่ประชุมอาเซียนในพัทยา ในที่สุดนายอภิสิทธิ์ต้องยุบสภา และมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคม2554โดยพรรคเพื่อไทยที่เป็นนอมินีของระบอบทักษิณยังได้คะแนนเป็นเสียงข้างมากเข้ามาอีก และได้เลือกนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย

ต้องขออภัยที่ยังเขียนไปไม่ถึงม็อบ กปปส.เสียที เนื่องจากรายละเอียดของการเมืองไทยในช่วงก่อนหน้านั้นมีมาก และมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งยวดกับการก่อตัวของม็อบ กปปส. เพราะม็อบเสื้อเหลืองเองก็ได้ชื่อว่า “ม็อบมีเส้น”

ในขณะที่ม็อบ กปปส. ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “ม็อบอำมาตย์” เพราะมีแหล่งที่มาจากกลุ่มคนชนชั้นนำซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังนั้นพวกเดียวกัน

ต่อสู้ของม็อบจึงไม่ใช่เรื่องของ “แผ่นดิน” แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชนนำกลุ่มต่าง ๆ นั่นเอง

*******************************