posttoday

การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม (ตอนที่สี่)

01 เมษายน 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

*********************

การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยามเป็นส่วนสำคัญในการรับมือการกับเข้ามาของชาติมหาอำนาจตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม เพราะไทยเราได้บทเรียนมาจากการสูญเสียดินแดนของพม่าให้อังกฤษ

ก่อนหน้าที่พม่าจะพ่ายแพ้สงครามและเสียดินแดนให้อังกฤษ ความยิ่งใหญ่ของพม่าเป็นที่ประจักษ์รับรู้ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์พระมหากษัตริย์ไทยและชนชั้นสยาม เพราะนอกจากที่อยุธยาต้องเสียกรุงครั้งที่หนึ่งให้พม่าในช่วง พ.ศ. 2111-2112 แล้ว ก็ยังต้องเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310

พระมหากษัตริย์ไทยทรงย่อมตระหนักดีว่า ในอดีตพม่ามีความยิ่งใหญ่กว่าสยามมากนัก เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2156 พม่าสามารถรวมตัวกันได้และพิชิตเมืองสิเรียมที่เป็นเมืองท่าสำคัญของพม่าอันเป็นดินแดนที่ถูกยึดครองโดยโปรตุเกส และในปีถัดมาก็สามารถยึดพื้นที่แถบตะนาวศรีและล้านนาที่ไทยเคยยึดครองอยู่

ในปี พ.ศ. 2308 หลังจากที่พระมหากษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์อลองพญาสามารถตีและยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของลาวได้แล้ว พม่าก็พิชิตกรุงศรีอยุธยาอย่างราบคาบได้อีกในปี พ.ศ. 2310 ขณะเดียวกันในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2308-2312 พม่าสามารถทำสงครามได้ชัยชนะต้านการรุกรานของมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างจีนได้ถึงสี่ครั้ง

ในเวลาเดียวกัน ในขณะที่พม่ายังต้องพะวักพะวนกับการคุกคามของจีน และสยามที่กำลังเพิ่งฟื้นตัวขึ้นมาและพยายามที่จะกลับไปยึดล้านนาคืนในปี พ.ศ. 2326 ในต้นสมัยรัชกาลที่หนึ่ง พม่าก็ยังสามารถทำสงครามกับสยามต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ. 2328 แต่ก็ไม่สามารถแพ้เชนะกันได้เด็ดขาด ต่างคุมเชิงกันอยู่ในที โดยพม่าเสียล้านนาให้สยาม และสยามต้องยกพื้นที่แถบตะนาวศรีให้พม่า

ในปี พ.ศ. 2327 พระเจ้าปะดุงสามารถตีและผนวกแคว้นยะไข่—ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกของพม่า---เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าได้ พร้อมกับกวาดต้อนชาวยะไข่มาอยู่ที่กรุงอมรปุระ เมืองหลวงใหม่ที่ย้ายมาจากกรุงอังวะ จากการที่พม่าได้ยะไข่ ทำให้พรมแดนของพม่าเชื่อมติดกับดินแดนอินเดียของอังกฤษโดยมีแนวแม่น้ำนาฟ (Naaf) เป็นเส้นกั้นเขตแดน ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างพม่ากับอังกฤษโดยเฉพาะเมื่อพม่าต้องปราบปรามการจลาจลในแคว้นยะไข่ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับอังกฤษไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นจนนำไปสู่การทำสงครามต่อกันในที่สุด

การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม (ตอนที่สี่)

อนุสาวรีย์พระเจ้าปดุงในพระราชวังมัณฑะเลย์

หลังจากที่ได้ยะไข่ ดินแดน “ที่พม่าไม่เคยเอาชนะได้มาก่อนเลย” พระเจ้าปะดุงทรงทรงมั่นพระทัยในแสนยานุภาพของกองทัพพม่าเป็นอย่างยิ่ง และทรงประกาศว่า จะทำสงครามกับโมกุล (อินเดีย) จีน และกับอยุธยา (กรุงเทพมหานคร) ต่อมาในปี พ.ศ. 2328 หนึ่งปีหลังจากผนวกยะไข่เป็นของพม่าได้แล้ว

พระเจ้าประดุงได้ “สั่งเกณฑ์ทัพจำนวนกว่าหนึ่งแสนสองหมื่นนาย แยกเป็นห้าสายเก้าทัพ มากที่สุดเท่าที่เคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์ อันเป็นสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่เป็นที่รู้จักกันในนามของ “สงครามเก้าทัพ” มุ่งตีกรุงเทพมหานคร โดยทรงยกมาเป็นทัพหลวง โดยตั้งทัพและตั้งฐานบัญชาการที่เมาะตะมะ แต่เมื่อพระองค์เสด็จจากอังวะราชธานีสู่เมาะตะมะแล้ว มีเหตุสำคัญที่ทำให้กองทัพพม่าไม่พร้อม จึงไม่สามารถทำการสงครามครั้งนี้สำเร็จลงได้

หลังจากนี้ พระเจ้าปะดุงได้หันมาสนใจเรื่องศาสนา ทรงโปรดให้เกณฑ์แรงงานคนจากแคว้นฉาน มอญ และยะไข่มาทำงานโยธาการพระราชกุศลในการสร้างเจดีย์ใหญ่ที่เมืองมิงกุน แต่การเกณฑ์แรงงานดังกล่าวนี้ได้สร้างความไม่พอใจในหมู่ผู้คนที่ถูกบังคับเกณฑ์แรงงาน โดยเฉพาะชาวยะไข่ที่ไม่พอใจที่ถูกพม่าตีดินแดนของตน ชาวยะไข่จึงก่อการกบฎขึ้นในปี พ.ศ. 2327 แต่ไม่สามารถสู้กองทัพพม่าได้ ชาวกบฎยะไข่จึงอพยพหนีตายเข้าไปในแคว้นจิตตะกองของอังกฤษ ก่อให้เกิดปัญหาข้อพิพาทตามพรมแดนระหว่างพม่ากับอังกฤษขึ้นมา

ฝ่ายอังกฤษเองก็ให้เหตุผลว่า ไม่สามารถป้องกันมิให้ชาวยะไข่ลี้ภัยเข้ามาในแคว้นจิตตะกองได้เพราะบริเวณพรมแดนเป็นป่าทึบ มีแม่น้ำเล็กๆหลายสายเชื่อมติดต่อกัน ทำให้ยากต่อการควบคุมพรมแดน เมื่อชาวยะไข่หนีเข้ามาในเขตของอังกฤษ อังกฤษก็ทำได้แต่เพียงแต่งฑูตมาเจรจาทำความเข้าใจฉันท์มิตรกับราชสำนักพม่า แม้จะปรากฎชัดว่า พม่าเป็นฝ่ายละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการบุกรุกเข้ามาในเขตแดนของอังกฤษ

แต่ในสมัยนั้น ราชสำนักพม่ายังไม่ตระหนักถึง “กฎหมายระหว่างประเทศ” อีกทั้งพระเจ้าปะดุงก็มั่นพระทัยใน “ความยิ่งใหญ่” ของพม่าในภูมิภาคดังกล่าว ถึงแม้พม่าจะเป็นฝ่ายละเมิดพรมแดนของอังกฤษ

แต่ในขณะนั้น อังกฤษยังไม่พร้อมที่จะใช้มาตรการรุนแรงตอบโต้กับพม่า เพราะกำลังมุ่งความสนใจอยู่ที่เกาะมอริเชียสและรัฐไมซอร์ อังกฤษจึงต้องดำเนินวิธีทางการทูตโดยพยายามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่า พร้อมกันนั้นอังกฤษยังได้เจรจาขอทำสนธิสัญญาพาณิชย์กับราชสำนักพม่า โดยให้มีตัวแทนของอังกฤษที่ประจำอยู่ที่เมืองร่างกุ้งในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2338-2354 แต่การเจรจาไม่เป็นผลที่น่าพอใจ โดยเฉพาะอังกฤษไม่สามารถชักจูงให้พระมหากษัตริย์พม่าทรงยินยอมทำสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์หรือตั้งตัวแทนถาวรในเมืองร่างกุ้งได้

สถานการณ์ของพม่าขณะนั้นก็คือ ทางฝั่งตะวันออก พม่ายังต้องเผชิญกับจีนผู้ทรงอำนาจและการฟื้นตัวของสยาม พม่าจึงหันไปให้ความสำคัญกับฝั่งตะวันตก สามารถรบชนะได้ดินแดนยะไข่ในปี พ.ศ. 2328 อัสสัมในปี พ.ศ. 2340 และมณีปุระในปี พ.ศ. 2357 ซึ่งพื้นที่อัสสัมนี้อยู่บริเวณอินเดียกับพม่า ส่งผลให้พม่าได้กลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งรองจากที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในอดีตที่ผ่านมา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2362 พระเจ้าปะดุงเสด็จสวรรคต เจ้าชายจักกายแมง (Bagyidaw) พระราชนัดดาทรงเสวยราชย์สมบัติสืบต่อมา พระเจ้าจักกายแมงทรงดำเนินพระราโชบายขยายอำนาจและดินแดนอาณาจักรพม่าตามรอยพระเจ้าปะดุง ทรงผนวกแคว้นอัสสัมและมณีปุระเพิ่มเติมจากที่พระเจ้าปะดุงได้ทรงผนวกยะไข่ไว้แล้ว ทำให้พม่ามีพรมแดนยาวร่วมกับอินเดียวของอังกฤษโดยตลอด เกิดการกระทบกระทั่งกันตามชายแดนพม่า-อังกฤษอยู่ตลอดเวลา

การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม (ตอนที่สี่)

พระเจ้าจักกายแมง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงเท่ากับในรัชกาลพระเจ้าปะดุง แต่ในระยะนั้น เงื่อนไขได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่อังกฤษมุ่งความสนใจกับเกาะมอริเชียสและรัฐไมซอร์ อีกทั้งอังกฤษได้ชัยชนะฝรั่งเศสและสามารถปราบปรามการจลาจลในอินเดียได้ราบคาบ อังกฤษจึงหันมาสนใจข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากพม่าได้เต็มที่ ขณะเดียวกัน การดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองไม่สามารถเกิดขึ้นได้ สงครามจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

พระเจ้าจักกายแมงโปรดให้มีการทัพไปตีแคว้นมณีปุระ ทำให้เจ้าผู้ครองแคว้นได้หนีไปอยู่ในแคว้นกาจาร์ ซึ่งอยู่ติดกับเขตแดนของอังกฤษ กองทัพพม่าได้บุกรุกตามเข้าไปในแคว้นกาจาร์ จนกระทั่งชาวเมืองกาจารย์ต้องอพยพลี้ภัยเข้าไปในแคว้นเจนเทีย ฝ่ายอังกฤษมีความประสงค์จะให้แคว้นกาจาร์และแคว้นเจนเทียเป็นรัฐกันชนระหว่างดินแดนพม่ากับของอังกฤษ นั่นคือระหว่างมณีปุระของพม่าและเบงกอลของอังกฤษ

อังกฤษจึงประกาศรวมแคว้นกาจาร์และเจนเทียเป็นรัฐอารักขาและบังคับให้พม่าถอนกองทัพกลับไป ขณะเดียวกันนั้น พม่าและอังกฤษก็เกิดมีข้อพิพาทเรื่องการถือกรรมสิทธิ์ในเกาะชาห์บุรี ซึ่งอยู่บริเวณแม่น้ำนาฟ ส่งผลให้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างพม่ากับอังกฤษในแคว้นกาจาร์ ฝ่ายอังกฤษเห็นว่าพม่าเป็นฝ่ายรุกราน จึงประกาศสงครามกับพม่าในปี พ.ศ. 2366 ถือเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างพม่ากับอังกฤษ

ในสงครามครั้งแรกนี้ แม้นว่า เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของสงคราม จะเห็นว่า อังกฤษเป็นฝ่ายเสียเปรียบนับตั้งแต่ความบกพร่องในการวางแผนการรบ การกำหนดจำนวนทหาร การขาดความรู้เกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศและสภาพดินฟ้าอากาศของพม่า

แต่อังกฤษก็มีข้อได้เปรียบพม่าอยู่หลายประการ อาทิเช่น มีกองทัพอินเดียที่มีระเบียบวินัยดี มีที่มั่นในทางนาวีในอ่าวเบงกอล ซึ่งสามารถส่งกำลังหนุนเข้ามาทางพม่าทางภาคใต้ได้โดยง่าย และ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า ทำให้สงครามในครั้งนี้เป็น “การรบที่ไม่เท่าเทียมกัน” (unequal battle)

ผลปรากฎว่า พม่าเป็นฝ่ายปราชัย ต้องลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับอังกฤษในปี พ.ศ. 2368 และพม่าต้องยกยะไข่ ตะนาวศรีและอัสสัมให้อังกฤษ พม่าเป็นฝ่ายปราชัย ต้อยอมงลงนามในสนธิสัญญา “ยันดาโบ” สงบศึกกับอังกฤษในปี พ.ศ. 2368 และต้องยอมยกยะไข่ ตะนาวศรีและอัสสัมให้อังกฤษ

อีกทั้งยังต้องรับรองว่าแคว้นมณีปุระ กาจาร์ และเจนเทียเป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษซึ่งพม่าจะเข้ามายุ่งเกี่ยวไม่ได้อีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น พม่ายังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่อังกฤษเป็นจำนวนเงินหนึ่งล้านปอนด์สเตอลิง รวมทั้งบังคับให้พม่าทำสนธิสัญญาทางพาณิชย์กับอังกฤษ และให้มีตัวแทนประจำอยู่ในแต่ละประเทศได้

การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม (ตอนที่สี่)

ในสงครามครั้งแรกกับพม่านั้น กองทัพอังกฤษอยู่ภายใต้การนำของนายพล เซอร์ อาชิบอล แคมพ์ ที่แม้ว่าพม่าจะแพ้ แต่ก็ทำให้อังกฤษต้องสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนถึง 15,000 คนและเสียค่าใช้จ่ายไประหว่างห้าถึงสิบสามล้านปอนด์ !

ผลจากความทรนงใน “ความยิ่งใหญ่” ของพม่าที่รบขยายดินแดนจนไปชนกับดินแดนอินเดียที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ จนถึงกับทำสงครามกับอังกฤษและพ่ายแพ้ไปอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ส่งผลให้พม่าอ่อนแอลงมาก การเสียเงินค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมากและการเสียดินแดนทำให้เศรษฐกิจของพม่าต้องทรุดลง เสียเกียรติภูมิของชาติและของราชบัลลังก์ราชวงศ์อลองพญาที่พม่าเคยภาคภูมิใจมาตลอด

แต่ประสบการณ์ที่พม่าได้รับในครั้งนี้น่าจะทำให้พม่าตื่นตัวขึ้นกับภัยคุกคามจากชาติตะวันตก แต่กระนั้น พม่าก็ยังคงปกปิดความอับอายด้วยการบันทึกเหตุการณ์ในการพ่ายแพ้สงครามกับอังกฤษครั้งนั้นว่า

“….ชาวผิวขาวแปลกหน้าจากตะวันตกก่อการวิวาทกับขุนนางในพระราชวัง พวกนี้ได้มาขึ้นบกที่เมืองร่างกุ้ง เข้ายึดเมืองร่างกุ้งและเมืองแปร และได้รับอนุญาตให้ล่วงล้ำมาไกลถึงเมืองยันดาโบ เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงเตรียมการใดๆที่จะต่อต้านเพราะทรงมีพระทัยกรุณาและทรงเห็นแก่ชีวิตเหล่าคนแปลกหน้าได้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากในการดำเนินการดังกล่าว ดังนั้นเมื่อมาถึงเมืองยันดาโบ กำลังทรัพย์ก็หมดลงและมีความเดือดร้อนใหญ่หลวง จึงกราบทูลอุทธรณ์แด่พระเจ้าแผ่นดินผู้ไม่ทรงถือโทษและทรงพระเมตตาพระราชทานเงินก้อนใหญ่ให้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับ พร้อมกับมีรับสั่งให้ชาวผิวขาวออกไปจากประเทศ”

หลังจากสงครามครั้งนั้น ตัวแทนอังกฤษในอินเดียได้ส่งจอห์น ครอเฟิร์ด (ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2364 อังกฤษเคยส่งจอห์น ครอเฟิร์ดเป็นทูตเจรจาเรื่องไทรบุรีและการค้ากับสยาม แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จ) มาเจรจากับพม่าเรื่องการทำสนธิสัญญาพาณิชย์และการแลกเปลี่ยนตัวแทนตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญายันดาโบ

พระเจ้าจักกายแมงทรงปฏิเสธที่จะให้ทูตอังกฤษเข้าเฝ้าโดยอ้างว่าจอห์น ครอเฟิร์ดมิได้เป็นทูตที่ส่งมาจากราชสำนักของพระยอร์ชที่สี่แห่งอังกฤษ ซึ่งแท้จริงแล้ว พระองค์ทรงยึดติดแน่นอยู่กับการรักษาพระเกียรติยศของพระองค์ และทรงพยายามกู้เกียรติภูมิของพม่าคืนมา พระองค์ทรงไม่มีพระราชประสงค์ที่จะให้มีตัวแทนอังกฤษอยู่ในพม่า หรือส่งตัวแทนพม่าไปกัลกัตตา เพราะจะเป็นการเตือนให้พระองค์ทรงระลึกถึงความพ่ายแพ้ของพม่า พระองค์ทรงมีความรู้สึกไม่ไว้พระราชหฤทัยชาวต่างประเทศ ที่สำคัญคือ การทำสนธิสัญญาเป็นของใหม่ที่พม่าไม่คุ้นเคยด้วย ด้วยพระมหากษัตริย์พม่าไม่ทรงพยายามเรียนรู้ “อะไรใหม่ๆ” ของโลกตะวันตก

การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม (ตอนที่สี่)

เซอร์จอห์น ครอว์เฟิร์ด

ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจักกายแมงจึงไม่ทรงเต็มพระราชหฤทัยที่จะติดต่อกับอังกฤษ ขณะเดียวกัน ครอเฟิร์ดเองก็มีส่วนที่ทำให้พม่ามีทัศนคติที่ไม่ดีต่ออังกฤษด้วย เนื่องจากครอเฟิร์ดเข้ามาพม่าในฐานะผู้ชนะ และพยายามบีบบังคับพม่าให้ยอมส่งข้าวและเงินเป็นสินค้าส่งออก แต่พม่าไม่ตกลงด้วย

อย่างไรก็ดี ครอเฟิร์ดสามารถทำสนธิสัญญาทางพาณิชย์กับพม่าซึ่งมีข้อตกลงว่า พม่าจะต้องยอมให้พ่อค้าอังกฤษทำการค้าและเดินทางโดยเสรีในพม่า พม่าจะต้องยกเว้นไม่เก็บค่าระวางน้ำหนักเรือและค่าภาษีจากเรือสินค้าอังกฤษที่มีน้ำหนักไม่เกิน 50 ตัน ยิ่งไปกว่านั้น พม่าจะต้องให้ความช่วยเหลือแก่เรือสินค้าอังกฤษที่อับปางให้เข้ามาซ่อมแซมในพม่าได้ และจะต้องคืนทรัพย์ทั้งหมดในเรืออัปปางแก่เจ้าของ

พระเจ้าจักกายแมงทรงหวังว่าอังกฤษจะคืนดินแดนที่ยึดไปให้แก่พม่า จึงทรงพยายามปฏิบัติตามสนธิสัญญายันดาโบ โดยชดใช้เงินปฏิกรรมสงครามจนหมดสิ้น และยอมให้อังกฤษส่งตัวแทนมาประจำอยู่ที่กรุงอังวะได้ พร้อมกันนั้นในปี พ.ศ. 2373 พระองค์ได้ทรงส่งคณะทูตไปเจรจากับผู้สำเร็จราชการอินเดียที่กัลกัตตาโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญสี่ประการคือ หนึ่ง ขอที่ราบลุ่มกุโบคืน สอง เพื่อเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนเมาะตะมะที่อยู่ทางภาคตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน สาม เพื่อขอยกเลิกมาตรา 7 ของสนธิสัญญายันดาโบซึ่งว่าด้วยการแลกเปลี่ยนตัวแทน และสี่ เพื่อขอแคว้นยะไข่และตะนาวศรีคืนมาเพื่อแสดงความสัมพันธ์ฉันท์มิตรของอังกฤษ

แต่อังกฤษยอมให้เฉพาะข้อเรียกร้องข้อแรกเท่านั้น จากความล้มเหลวในการเจรจากับอังกฤษ หลังจาก พ.ศ. 2374 เป็นต้นมา พระเจ้าจักกายแมงทรงเสียพระราชหฤทัยจากเรื่องการสงครามกับอังกฤษอย่างยิ่ง ส่งผลให้พระองค์ทรงสติฟั่นเฟือนในที่สุด

(เรียบเรียงจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น วิกิพีเดีย สารานุกรมบริเตนนิกา และผู้เขียนขอขอบพระคุณ สุวรรณา สัจจวีรวรรณ, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2519 เรื่อง “เปรียบเทียบการดำรงรักษาเอกราชของประเทศไทยโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของพม่าโดยพระเจ้ามินดง และของญวนโดยจักรพรรดิตือตึก”)

************************