posttoday

SDGs mega trends 2021 : โอกาสในวิกฤตของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน(ตอนที่ 1)

29 มีนาคม 2564

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

**************************************

วิกฤต COVID-19  ผลักเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1930 แต่หากเชื่อว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส  แล้วเปิดมุมมอง “พลิกเกม” สู่การเป็นผู้นำ  โอกาสที่จะก้าวขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าท่ามกลางวิกฤตย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้  สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT (Global Compact Network Thailand) ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นขององค์การสหประชาชาติ  จึงได้เปิดข้อมูล “5  SDGs Mega Trends 2021” เป็นปีที่สอง เพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มสำคัญด้านความยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และแนวทางปรับตัวของภาคธุรกิจในช่วงเวลาของการฟื้นตัวจาก COVID-19 รวมทั้งประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต้องการการตอบสนองอย่างเร่งด่วน  ซึ่งธุรกิจสามารถนำไปพิจารณาและใช้กลยุทธ์ความยั่งยืน “เร่งเครื่อง” สู่การเป็นองค์กรชั้นนำด้านยั่งยืน และเป็นส่วนสำคัญในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) ขององค์การสหประชาชาติด้วย

ในตอนแรกนี้  ขอนำเสนอประเด็นที่อาจถูกมองข้ามอย่างเรื่องของ ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งปีนี้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับหนึ่งของ SDGs Mega Trends 2021 โดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ประเมินว่า วิกฤต COVID-19 ทำให้แรงงานทั่วโลกอย่างน้อย 81% หรือ 2.7 พันล้านคนได้รับผลกระทบจากมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของโรค  มีแรงงานจำนวนมากต้องตกงาน เนื่องจากธุรกิจต้องปิดกิจการ บ้างก็ถูกลดค่าแรงหรือชั่วโมงทำงานไปจนถึงเปลี่ยนสภาพการทำงาน 

SDGs mega trends 2021 : โอกาสในวิกฤตของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน(ตอนที่ 1)

ในช่วงการระบาด COVID-19   ยังทำให้แรงงานเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแรงงานไม่มีสัญญาจ้างที่แทบไม่มีทั้งความมั่นคงทางการเงินและอำนาจต่อรอง  ในสถานการณ์นี้พวกเขาถูกผลักให้ไปเป็นแถวหน้าในฐานะแรงงานจำเป็น ต้องแบกรับหน้าที่ความรับผิดชอบสำคัญในช่วงเกิดโรคระบาดเช่น ดูแลความสะอาด ผลิตหน้ากาก อนามัย ขนส่งอาหาร ดูแลผู้ป่วย เก็บขยะ แต่กลับมีความมั่นคงในอาชีพและได้รับผลตอบแทนทางการเงินน้อยและบางส่วนก็เสี่ยงตกงานแบบกะทันหันทันที หากนายจ้างเลิกจ้าง

บนความอ่อนไหวของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นความยั่งยืนที่ต้องจับตาถึงทิศทาง โดยนิตยสารชั้นนำระดับโลกอย่างฟอร์บส์ ระบุว่า “การระบาดของ COVID-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยมีช่องว่างห่างออกไปอีก” คำแนะนำ คือ “บริษัทขนาดใหญ่จำเป็นต้องทบทวนโมเดลธุรกิจของตัวเองและบริหารจัดการการมีส่วนร่วมในระดับโลกให้ดีขึ้น นอกจากกระจายการผลิตเพื่อสร้างงานในประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ก็จำเป็นจะต้องดูแลปกป้องแรงงานในประเทศนั้นๆ ด้วย และพยายามไม่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอีก”

หากยึดตามข้อแนะนำพื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) สิ่งที่องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องทำประการแรก คือ ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ตามการบังคับใช้กฎหมายขั้นพื้นฐาน ซี่งรวมถึงการดำเนินมาตรการปกป้องแรงงาน ได้แก่ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสม การมีสิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง การกำหนดเพดานชั่วโมงทำงาน และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตัวเองที่จำเป็น  เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจนเจ็บป่วยหรือถึงขั้นเสียชีวิต

ประการที่สอง องค์กรธุรกิจต้องตระหนักว่าองค์กรมีหน้าที่รับผิดชอบปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของลูกจ้าง  เช่น ป้องกันไม่ให้เกิดการเก็บข้อมูลที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือต้องไม่ละเลยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากรับผิดชอบงานในองค์กรตัวเองแล้ว ก็จะต้องสนใจผลกระทบที่อาจจะมีต้นตอจากหน่วยงานอื่นที่ทำงานร่วมกัน เช่น หน่วยงานในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และผู้รับจ้างช่วง (Suppliers) ด้วย

SDGs mega trends 2021 : โอกาสในวิกฤตของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน(ตอนที่ 1)

การดำเนินธุรกิจตั้งแต่ยุค COVID-19 เป็นต้นไป องค์กรธุรกิจต้องยึดมั่นกับแนวทางปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการประเมินสภาพการทำงานที่เหมาะสม และให้ความสำคัญกับการจ้างงานที่เป็นธรรม ทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทานขององค์กร ยิ่งไปกว่านั้น หลายองค์กรที่ตระหนักถึงบทบาทและแความสำคัญของการมีส่วนร่วมตอบสนองต่อสถานการณ์นี้ ยังได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานบางส่วนเพื่อช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤตด้วย เช่น โรงแรมปรับเป็นสถานพักฟื้นของผู้ป่วย COVID-19 หรือเป็นโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่กักตัวเพื่อดูอาการ บริษัทผู้ผลิตสินค้าได้ปรับไลน์การผลิตสินค้าปกติมาผลิตหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ รวมถึงการบริจาคเงินและสิ่งของจำเป็นแก่ผู้ที่ต้องการ 

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังคงเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจหันมาทำสิ่งที่เป็นมากกว่ากิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR โดยให้ดำเนินการต่างๆ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของพนักงานและองค์กรพันธมิตร รวมถึงหลีกเลี่ยงการดำเนินงานใดๆ ที่จะส่งผลเสียต่อสิทธิของผู้บริโภคและชุมชนที่ธุรกิจดำเนินการอยู่ด้วย

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานได้แนะนำทิศทางใหม่ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างโอกาสและความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 จากการดูแลด้านสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การปกป้องแรงงาน การปฏิรูปความสัมพันธ์ การมีแนวปฏิบัติด้านจัดซื้อและจัดหาสินค้าและบริการในห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแนวคิดการลงทุนที่พิจารณาโมเดลการลงทุนที่คำนึงด้านสิทธิมนุษยชนและผลกระทบทางสังคมมากขึ้น การปรับปรุงการบริหารจัดการเนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ตอบสนองต่อประเด็นนี้ และการแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับที่บริษัทอาจเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ที่ครอบคลุมถึงความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติด้วย โดยมีผลการศึกษาจำนวนมาก พบว่า บริษัทที่มีทีมผู้บริหารและพนักงานที่มีพื้นเพหลากหลายและแตกต่าง จะเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งและมีผลประกอบการดีกว่าในระยะยาว

สำหรับประเทศไทย  เริ่มมีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเอื้อให้มีระบบนิเวศของกลไกในการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเป็นชาติแรกของเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาตินี้ ซึ่งได้วางแผนภายใต้กรอบหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ที่ให้ความสำคัญกับ 3 หลักการสำคัญ คือ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา และได้กำหนด 4 ประเด็นหลักที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข คือ (1) แรงงาน (2) ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (3) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (4) การลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ

SDGs mega trends 2021 : โอกาสในวิกฤตของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน(ตอนที่ 1)

ซึ่งการประกาศใช้แผนนี้ แสดงถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของประเทศไทยที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภายในและระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป และจะมีการเดินหน้าร่วมมือกับภาคธุรกิจเป็นสัญญาณที่ส่งเสริมกันต่อไป โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับพันธมิตรจัดตั้ง Business and Human Rights Academy เพื่อส่งเสริมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้เป็น “เรื่องง่าย” ที่ธุรกิจ ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม สามารถ “เข้าถึง” “เข้าใจ” และ “นำไปปฏิบัติจริง” เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สามารถวัดได้ อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายให้ Business and Human Rights Academy นี้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ ทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย

องค์กรที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และความรู้ใหม่ๆ ด้านความยั่งยืน ติดตามได้ทาง https://www.globalcompact-th.com

ส่วน SDGs Mega Trends 2021 ประเด็นต่อไปเป็นเรื่องใด ติดตามได้ในตอนต่อไป