posttoday

การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที1ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม(ตอนที่สาม)

25 มีนาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***************

การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที1ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม(ตอนที่สาม)

จากตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันระหว่างการทำแผนที่ประเทศกับมาตรา1 ในร่างพระราชกฤษฎีกาที่1ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม โดยมาตรา 1 กล่าวว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฤาพระเจ้ากรุงสยาม เป็นบรมราชาธิราชแห่งมลาวประเทศ มลายูประเทศ กเหรี่ยง ฯลฯ ผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ” ซึ่งถือว่าเป็นการกล่าวถึงอาณาเขตดินแดนของประเทศเป็นครั้งแรกในรูปของกฎหมายที่มีสถานะของการเป็นรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้ จะกล่าวในพระราชสาส์นที่มีไปยังประมุขของประเทศต่างๆโดยเฉพะประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่กำลังเดินทางเข้ามาภายใต้โครงการล่าอาณานิคมและการแสวงหาประโยชน์ทางการค้า

การกล่าวถึงอาณาเขตดินแดนของสยามในพระราชสาส์นนั้น จะเห็นได้จากพระราชสาส์นในรัชกาลที่สี่ เช่น พระราชสาส์นที่ทรงพระราชทานไปยังกรุงฝรั่งเศส พ.ศ. 2398 มีข้อความว่า “พระราชสาส์น สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทรมหิทราอยุธยา เป็นใหญ่ในแผ่นดินสยาม เมืองขึ้นใกล้เคียงต่างๆ คือ เมืองลาวเฉียง ลาวกาว กำโพชา แลเมืองมลายูหลายเมือง ฯลฯ”

และในพระราชสาส์นที่ถวายสมเด็จพระนางวิกตอเรียฯ พ.ศ. 2398 มีข้อความว่า “พระราชสาส์น ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ในรัชกาลที่ 4 ในพระบรมราชวงศ์ ซึ่งดำรงกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยาณประเทศบางกอกนี้ ได้ครอบครองเป็นเจ้าของพระมหานครราชธานีใหญ่ในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยามเหนือใต้ แลแผ่นดินต่างๆอยู่เคียงอยู่ใกล้ในที่นั้นๆ บางแห่ง แลเป็นที่อยู่ของชนชาวต่างประเทศมีเพศภาษาต่างๆหลายอย่าง คือ ลาวเฉียง ลาวกาว แลกำพูชา มาลายู กระเหรี่ยงแลอื่นๆ ในทิศทางต่างๆ โดยรอบคอบขัณฑสีมาอาณาจักรสยาม…”

และในพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระนางวิกตอเรียมหาราชินีขอพระราชทานไปลอนดอน พระยามนตรีมหาสุริยวงศ์ ราชทูตเชิญไป มีความว่า “….พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม ผู้เป็นใหญ่แก่ประเทศราชต่างๆที่ใกล้เคียงคือเมืองลาว เมืองกำโพชา เมืองมลายู หลายเมืองแลเมืองที่อื่นฯ…”

จากพระราชสาส์นสามฉบับที่ยกมาเป็นตัวอย่างพอสังเขป จะเห็นว่า มีการกล่าวอ้างถึงอาณาเขตดินแดนภายใต้พระเจ้ากรุงสยาม แต่ไม่มีความชัดเจนแน่นอนและมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละฉบับ เช่นในฉบับที่พระราชทานไปยังกรุงฝรั่งเศส กล่าวว่า “…สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทรมหิทราอยุธยา เป็นใหญ่ในแผ่นดินสยาม เมืองขึ้นใกล้เคียงต่างๆ คือ เมืองลาวเฉียง ลาวกาว กำโพชา แลเมืองมลายูหลายเมือง ฯลฯ” คำถามคือ เมืองมลายูหลายเมืองที่ว่านี้คือเมืองอะไรบ้าง ? และที่กำกับด้วย ฯลฯ หมายถึงอะไร ? และเขตแดนของลาวเฉียงกับลาวกาวอยู่ตรงไหน ?

ส่วนพระราชสาส์นที่ถวายสมเด็จพระนางวิกตอเรียฯ พ.ศ. 2398 “…พระราชอาณาจักรฝ่ายสยามเหนือใต้ แลแผ่นดินต่างๆอยู่เคียงอยู่ใกล้ในที่นั้นๆ บางแห่ง แลเป็นที่อยู่ของชนชาวต่างประเทศมีเพศภาษาต่างๆหลายอย่าง คือ ลาวเฉียง ลาวกาว แลกำพูชา มาลายู กระเหรี่ยงแลอื่นๆ ในทิศทางต่างๆ โดยรอบคอบขัณฑสีมาอาณาจักรสยาม…” คำถามคือ สยามเหนือและใต้นั้น สุดเขตที่ไหน ? และอาณาเขตการปกครองนั้นใช้เกณฑ์ของ “คนเชื้อชาติ ภาษา” หรืออย่างไร ?

และในพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระนางวิกตอเรียมหาราชินีขอพระราชทานไปลอนดอน พระยามนตรีมหาสุริยวงศ์ ราชทูตเชิญไป มีความว่า “….พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม ผู้เป็นใหญ่แก่ประเทศราชต่างๆที่ใกล้เคียงคือเมืองลาว เมืองกำโพชา เมืองมลายู หลายเมืองแลเมืองที่อื่นฯ…” เมืองอื่นๆที่ว่านี้คือเมืองอะไร ?

ที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นถึงความคลุมเครือในอาณาเขตของประเทศ ด้วยขณะนั้นยังไทยหรือสยามยังไม่มีความคิดความเข้าใจในเรื่องแผนที่ตามแบบตะวันตก รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศของโลกตะวันตกที่อิงอยู่กับอธิปไตยของความเป็นรัฐสมัยใหม่ที่จะต้องมีอาณาเขตดินแดนที่ชัดเจนแน่นอน รวมทั้งผู้คนด้วย และที่สำคัญ เมืองและผู้คนต่างๆเหล่านั้นตระหนักรู้เพียงใดว่า ตนอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้ากรุงสยาม ?

ก่อนที่ฝรั่งจะเข้ามาและใช้กติกาของตน เมืองและผู้คนในแถบนี้ก็คงดำรงอยู่ตามระเบียบดั้งเดิมที่ไม่ได้อยู่ภายใต้แนวคิดเรื่องอธิปไตยของรัฐสมัยใหม่ ไม่ได้อยู่ภายใต้แผนที่สมัยใหม่ และไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นระเบียบของชาติตะวันตก ดังนั้น ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือ การปะทะกันระหว่างวิธีคิดที่แตกต่างกันและมองความยุติธรรมระหว่างประเทศที่แตกต่างกัน

ในงานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์ธงชัย (ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน) ที่ต่อมาได้มีการแปลเป็นภาษาไทยภายใต้ชื่อ “กำเนิดสยามจากแผ่นที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ” ช่วยให้เราเห็นประเด็นเรื่องความคลุมเครือในอาณาเขตของประเทศได้อย่างดี

การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที1ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม(ตอนที่สาม)

อาจารย์ธงชัยได้นำข้อมูลมาเปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาที่ว่านี้ โดยในหน้า 91 เมื่อฝรั่งต้องการเจรจากับไทยเรื่องเขตแดน อาจารย์ธงชัยพบว่า ในเอกสารของ เฮนรี่ เบอร์นี่ (The Burney Papers: ร้อยเอก เฮนรี เบอร์นีย์ ทูตอังกฤษคนที่สองต่อจาก จอห์น ครอว์เฟิร์ด ผู้ลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นีย์ที่ไทยตกลงลงนามกับประเทศอังกฤษใน พ.ศ.2369 นับเป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศตะวันตกในสมัยรัตนโกสินทร์) ได้กล่าวว่า “แม้ว่าราชสำนักสยามจะไม่สนใจ เบอร์นีย์ยังรบเร้าราชสำนักให้เจรจาตกลงเขตแดนกัน ในที่สุดความพยายามของเขาประสบผลสำเร็จ แต่คำตอบของราชสำนักสยามช่างง่ายและตรงไปตรงมาจนน่าประหลาดใจ” แล้ว อาจารย์ธงชัย ก็ยกข้อความจากเอกสารของ เฮนรี่ เบอร์นี่ว่า

“...เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวถึงเขตแดนของมะริด ทวาย และตะนาวศรีนั้น ไม่เคยมีเขตแดนใดสามารถกำหนดกันได้ระหว่างสยามกับพม่า แต่ในเมื่ออังกฤษปรารถนาจะให้กำหนดเขตแดนเหล่านี้แน่นอนลงไป ก็ให้ไปถามเอาจากผู้เฒ่าที่อาศัยตามชายแดนมะริด ทวาย ตะนาวศรี ว่าพวกเขารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับดินแดนที่เชื่อมกัน และให้ถือเอาตามที่คนเหล่านั้นชี้นั่นแหละเป็นเขตแดนระหว่างส่วนของอังกฤษกับสยาม”

ต่อจากข้อความดังกล่าว อาจารย์ธงชัยได้ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับปฏิกิริยาของนักประวัติศาสตร์ฝรั่งอย่างฮอลล์ ( ฮอลล์หรือ D.G. Hall คือศาสตราจารย์สาขาประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ เคยสอนที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลและมหาวิทยาลัยลอนดอน มีผลงานมากมายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่า และตำราที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายของเขาคือ ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) โดยอาจารย์ธงชัยพบว่า “ฮอลล์เห็นว่า คำตอบดังกล่าว (ของราชสำนักสยาม/ผู้เขียน) ไร้เดียงสา”

และสำหรับเบอร์นีย์นั้น อาจารย์ธงชัยพบว่าเบอร์นีย์ “เห็นว่าคำตอบนั้นไร้สาระจนน่าขัน (absurd) และเขารู้ดีว่าทางการอังกฤษต้องประหลาดใจแน่ๆ หากเขาส่งคำตอบดังกล่าวไปให้ แต่สำหรับขุนนางสยามที่อยู่ในคณะเจรจานั้น ไม่มีอะไรน่าประหลาดแม้แต่น้อยเพราะว่า: เส้นเขตแดนระหว่างสยามและพม่าเต็มไปด้วยเทือกเขาและป่ากว้างหลายไมล์ และไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นของชาติใด ต่างฝ่ายต่างมีกองทหารของตนคอยเฝ้าอยู่เพื่อจับคนของอีกฝ่ายหนึ่งที่เดินพลัดหลงเข้าไปในบริเวณดังกล่าว”

การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที1ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม(ตอนที่สาม)                              เฮนรี่ เบอร์นีย์                                                               ศาสตราจารย์ ฮอลล์

เหตุการณ์การเจรจาเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยามข้างต้นนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จะพบว่า ในพระราชสาส์นที่มีไปยังประมุขของประเทศตะวันตก มีการกล่าวถึงดินแดนที่อยู่ภายใต้สยาม ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนอย่างที่กล่าวไปข้างต้น

พอมาตอนปลายรัชกาล ในปี พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศที่ชาติตะวันตกถือเป็นเกณฑ์สำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พระองค์จึงทรงมีพระราชสาส์นไปถึงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และได้ทูลขอให้ทางอังกฤษส่งกงสุลคนใหม่มาแทนเซอร์ รอเบิตส และระบุคุณสมบัติว่าขอให้เป็นผู้ที่

“...ฉลาดในอินเตอรนาแชนนาลลอ (กฎหมายระหว่างประเทศ/ผู้เขียน) ว่าถึงการใหญ่ ๆ ในการบ้านเมือง ควรเป็นที่ปรึกษาหารือให้ ช่วยผู้ครองแผ่นดินฝ่ายสยาม ซึ่งเป็นผู้ครอบครองเมื่อมีอานุภาพน้อยนี้ ในที่จะคิดอ่านการใหญ่ๆ กันภัย ซึ่งจะมีเพราะความเข้าใจผิดแต่ผู้มีอํานาจต่าง ๆ ที่ไปมา...ถึงกระนั้นผู้ครองฝ่ายสยามรู้ตัวว่าเป็น ผู้อยู่ไกลแต่ยุโรป ยังไม่สู้เข้าใจชัดแท้แลคุ้นเคยในกฎหมายอย่างธรรมเนียมอันดีของบ้านเมืองในยุโรป ซึ่งเป็นเมืองเรียบร้อยมานาน แลเป็นเมืองสว่างด้วยการอันดีก็ย่อมยอมความทั้งปวงนั้น ให้กรุงบริตาเนียกับเสนาบดีในกรุงลอนดอนตัดสินใจไม่สงสัย ตั้งใจจะคอยฟังรับสั่งของกรุงบริตาเนีย แลบัญชา ของเสนาบดีเมื่อมีบังคับมาประการใดก็จะยอมทําตาม”

และเมื่อเข้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยหรือสยามจึงจำต้องเร่งเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ฝรั่งใช้ และรีบดำเนินการสำรวจและกำหนดเขตแดนของไทยให้ชัดเจนแน่นอนและทำเป็นแผนที่ประเทศสยามขึ้นมาพร้อมๆกับจัดทำรัฐธรรมนูญตามแบบชาติตะวันตก ซึ่งก็คือที่มาของการทำแผนที่และร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม

ต่อประเด็นการทำแผนที่ในรัชกาลที่ห้า ในหน้า 197-198 ของหนังสือ “กำเนิดสยามจากแผ่นที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ” อาจารย์ธงชัยได้กล่าวว่า

“ระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2427 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พนักงานแผนที่ซึ่งนำโดยแมคคาธีร์ (ดู “การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม (ตอนที่สอง/ผู้เขียน) เดินทางร่วมกับกองทัพสยามเพื่อไปสำรวจดินแดนรอบหลวงพระบางและเวียงจันทน์ นับจากนั้นมาจนถึงกลางปี 2436 (ค.ศ. 1893) กองทัพสยามที่ส่งไปปราบฮ่อจะมีคณะนักสำรวจและทำแผนที่เดินทางร่วมด้วยเสมอ การทำแผนที่เป็นภารกิจสำคัญของทุกยุทธการโดยแท้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มีรับสั่งอย่างตรงไปตรงมาต่อกองทัพสยามในปี 2428 (ค.ศ. 1885) ว่า ‘มีพระราชประสงค์ที่จะทรงทราบถิ่นฐานทั้งปวงอันเป็นพระราชอาณาเขต.....จึงโปรดฯให้มีกองแผนที่ขึ้นมาตรวจสอบถิ่นฐานทั้งปวงให้ได้ความชัดแจ้ง ให้แม่ทัพนายกองทั้งปวงช่วยอุดหนุนเจ้าพนักงานทำแผนที่ให้ได้ทำการตลอดไป”

และอาจารย์ธงชัยได้ให้ความเห็นว่า “ การ ‘ทราบ’ ของพระเจ้าอยู่หัวในที่นี้ ก็คือ การได้รู้จักในเชิงภูมิศาสตร์นั่นเอง รายงานการเดินทัพปราบฮ่อของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงเต็มไปด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับธรรมชาติของสถานที่ต่างๆ ชาวบ้าน และการพยายามระบุที่ตั้งแน่ชัดของแต่ละแห่งด้วยวิธีการอ้างอิงต่างๆ แน่นอนว่าแผนที่ถูกวาดขึ้นในทุกๆที่ที่กองทัพยาตราไปถึงและทยอยจัดส่งกลับมายังกรุงเทพฯเป็นระยะๆ” จากข้างต้น กล่าวได้ว่า ประเทศไทยและอาณาเขตประเทศไทยจึงค่อยๆเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างตามแนวทางการทำแผนที่ที่เป็น “ระเบียบโลก” ที่รัฐสมัยใหม่-ประเทศตะวันตกจัดวางและบังคับใช้กับประเทศต่างๆที่ยังเป็นรัฐแบบดั้งเดิมโบราณ

ขณะเดียวกัน จากงานของอาจารย์ธงชัยได้ชี้ให้เห็นว่า สยามมิได้ทำแผนที่ฝ่ายเดียว แต่ฝรั่งเศสก็ทำการสำรวจเพื่อทำแผนที่พื้นที่แว่นแคว้นต่างๆตลอดแม่น้ำโขง และในปี พ.ศ. 2429 ปาวี ในนามของรัฐบาลฝรั่งเศส ได้ขออนุญาตสยามจัดตั้งสถานกงสุลขึ้นที่หลวงพระบาง !