posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (6)

19 มีนาคม 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

**************

แนวคิดและแนวทางที่ 6 วัคซีนกับการฟื้นเศรษฐกิจ

เมื่อมีข่าวว่าวัคซีนตัวแรกของโลก คือ วัคซีนของไบโอเอ็นเทค-ไฟเซอร์ มีประสิทธิศักดิ์ถึงกว่า 90% เมื่อตอนต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 หลังวันเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาไม่กี่วัน ทั่วโลกก็มีความหวังเรืองรองเรื่องเศรษฐกิจจะฟื้นตัว และชีวิตจะกลับมาสู่สภาพปกติไม่ต้อง “ทน” อยู่กับสภาพ “ชีวิตวิถีใหม่” ซึ่งต้องรักษาระยะห่าง ฝืนธรรมชาติของมนุษย์ “ปุถุชน” ทั่วไป

ถึงต้นเดือนมีนาคม หลัง “ข่าวดี” เรื่องความสำเร็จของวัคซีนชนิดแรก ตามมาติดๆ ด้วยชนิดที่ 2 ของ โมเดอร์นา ซึ่งก็มีความปลอดภัยและประสิทธิศักย์ใกล้เคียงกัน ซึ่งสำนักงานอาหารและยาสหรัฐได้รับขึ้นทะเบียนวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนั้น “เพื่อการใช้กรณีฉุกเฉิน” ไปแล้ว และสหรัฐได้ฉีดวัคซีนไปแล้วร่วม 60 ล้านโด๊ส ครอบคลุมประชากรราว 18.30%

และในวันที่ 1 มีนาคม อย.สหรัฐก็อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ตัวที่ 3 ของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้น พบว่ามีประสิทธิศักย์ในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง 85% และป้องกันการเจ็บป่วยไม่รุนแรงได้ 66% โดยการฉีดเพียงเข็มเดียว

ทั้งนี้ วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นาป้องกัน การป่วย รุนแรงได้ 95% แต่ต้องฉีด 2 เข็ม และต้องเก็บในอุณหภูมิ -70oซ. และ -20oซ. ตามลำดับ

ขณะที่ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นวัคซีนชนิดใช้ไวรัสอะดิโนเป็นพาหะเหมือนของแอสตราเซเนกา และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8oซ. เหมือนกัน ซึ่งนับเป็น “ข่าวดี” ซึ่งทยอยออกมา และเชื่อว่าจะมีข่าวดีเช่นนี้ปรากฏออกมาเป็นระยะๆ

แต่เศรษฐกิจของสหรัฐก็ยังต้องการการเยียวยาอีกมาก ดังปรากฏว่าในวันเดียวกัน (1 มี.ค.64) สภาผู้แทนสหรัฐลงมติด้วยคะแนนห่างกันไม่มาก 219 ต่อ 212 เสียง ผ่านกฎหมายให้เงินเยียวยาปัญหาจากโควิด-19 ถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยราว 57 ล้านล้านบาท กฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งก็ผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยคะแนนเสียง 50 : 49 กลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกรอบ และผ่านแล้ว เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ด้วยคะแนน 220 : 211 และประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามเป็นกฎหมายแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม

ตามแผนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งประกาศตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม กำหนดฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโด๊ส ใน 100 วันแรก นับถึงวันที่ 1 มีนาคม ผ่านไปเพียง 40 วัน สหรัฐฉีดไปได้ราว 60 ล้านโด๊ส จึงเร็วกว่าเป้าหมาย ทั้งๆ ที่มีวัคซีนเพียง 2 ชนิด เมื่อมีชนิดที่ 3 ที่ฉีดเพียงโด๊สเดียว สหรัฐจึงตั้งเป้าจะฉีดครอบคลุมประชากรเป้าหมายได้ทั้งประเทศภายในกลางปีนี้

นับถึงวันที่ 1 มีนาคม ประเทศที่มีกำลังซื้อสูง และมีประชากรน้อยสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรไปได้มาก แต่ส่วนใหญ่อัตราการครอบคลุมยังหลากหลายมาก โดยประเทศต่างๆ ที่สามารถฉีดวัคซีนโด๊สแรกครอบคลุมประชากรได้ค่อนข้างมากมีดังนี้ อิสราเอล 82.40% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 50.15% สหราชอาณาจักร 20.30% สหรัฐ 18.33% บาห์เรน 15.97% ชิลี 15.03% เซอร์เบีย 14.50% เดนมาร์ก 8.18% ถ้านับเฉพาะที่ฉีดครบ 2 โด๊ส ก็ยังน้อยมาก เช่นในยุโรปเซอร์เบียครอบคลุมประชากรเพียง 6.8% โปรตุเกส 4.5% เยอรมนี 2.3% ฝรั่งเศส 2.0% สหราชอาณาจักร 1.0%

ข่าวดีก็คือ ในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว อัตราการติดเชื้อลดลงตั้งแต่ยังฉีดครอบคลุมประชากรไปได้น้อยมาก เช่น สหรัฐ ซึ่งน่าเชื่อว่า อัตราการติดเชื้อที่ลดลงมิได้เป็นผลจากการฉีดวัคซีน แต่น่าจะเป็นผลจาก “คำสั่งประธานาธิบดี” เรื่องมาตรการควบคุมโควิด-19 ได้แก่ เรื่องการเข้มงวดเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง และการส่งเสริมสุขอนามัยส่วนบุคคล

สำหรับประเทศไทย เริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้สูงมาก มีการเร่งรัดเรื่องการตรวจรับรองคุณภาพและการ “ปล่อย” วัคซีน (Lot release) ให้นำไปใช้ได้โดยเร็วเป็น “พิเศษ” มีการประชาสัมพันธ์การเดินทางไปรับวัคซีนที่สนามบินสุวรรณภูมิ และการฉีดวัคซีนเข็มแรกๆ โดยนายกรัฐมนตรีเดินทางไปรับวัคซีนและเป็นสักขีพยานการฉีดวันแรกด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี วันแรกฉีดไปได้รวมหลักร้อยเข็ม และไม่ปรากฏเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงใดๆ เลย

วัคซีนจึงสร้าง “ความหวัง” ให้แก่คนไทยได้ดี ดังปรากฏข่าวและสกู๊ปข่าว เช่น “วัคซีนปลุกท่องเที่ยว” (มติชน จันทร์ 1 มี.ค.64 น.5) และ “หวังพึ่งปาฏิหาริย์วัคซีนปลุกอสังหาริมทรัพย์ฟื้น” (ผู้จัดการรายวัน จันทร์ 1 มี.ค. 64 น. 12)

แต่หาก “เจาะลึก” ในรายละเอียด จะพบปัญหาอุปสรรคมากมาย ดังปรากฏการคาดการณ์ของสมาคมสายการบินเอเชียแปซิฟิก (Association of Asia Pacific Airlines) ได้คาดการณ์การเปิดประเทศแบบ “ปกติ” ของ ประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยแบ่งประเทศเป็นกลุ่มๆ ที่จะสามารถเปิดประเทศรับคนต่างชาติเข้าประเทศ ได้โดยไม่ต้องกักตัว (7-14 วันตามข้อกำหนด)

กลุ่มแรก คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน จะเปิดประเทศได้ใน ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ทั้ง 3 ประเทศ / เขตปกครอง นี้ล้วนเป็นเกาะ ประชากรไม่มาก ควบคุมโรคได้ค่อนข้างดี และมีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลค่อนข้างสูง โดยฐานทางเศรษฐกิจก็อยู่กลุ่มประเทศฐานะดีทั้งสิ้น แต่ต้องรอจนถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เพราะต้องรอให้ประชากรมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” (Herd Immunity) แล้ว เพื่อให้เป็นหลักประกันว่าประชาชน ของตนจะไม่เป็นทั้งผู้แพร่เชื้อและผู้ติดเชื้อ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องได้วัคซีนครบ 2 โด๊ส ครอบคลุมประชากรตาม เป้าหมาย รวมทั้งมีความหวังว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะทรงตัวอยู่ยาวพอสมควร

กลุ่มที่สองคือ ออสเตรเลีย มาเก๊า และนิวซีแลนด์ จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ / เขตปกครองนี้ก็ล้วนเป็นเกาะและมีลักษณะคล้ายกลุ่มที่หนึ่ง

กลุ่มที่สามคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม จะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ไตรมาสสองของปี 2565 ส่วน ไทย บรูไน จีน และมัลดีฟส์ อยู่ในกลุ่มที่สี่ จะเปิดได้ในไตรมาสสามของปี 2565 และกลุ่มที่ 5 เปิดในไตรมาสที่สี่ของปี 2565 คือ อินเดีย มองโกเลีย และมาเลเซีย

ประเทศที่จะเปิดได้ในปี 2566 ได้แก่ ภูฏาน ในไตรมาสสอง อินโดนีเซียไตรมาสสาม และไตรมาสสี่จะมีบังกลาเทศ เนปาล นิวแคลิโดเนีย ฟิลิปปินส์ ซามัว และตองกา ปี 2567 มีปากีสถาน คาดว่าจะเปิดได้ในไตรมาส ที่สาม ที่เหลือจะเปิดได้ในปี 2568 หรือหลังจากนั้น คือ อัฟกานิสถาน กัมพูชา ฟิจิ ลาว เมียนมา เกาหลีเหนือ ปาปัวนิวกินี ศรีลังกา หมู่เกาะโซโลมอน ติมอร์เลสเต และวานูอาตู (“ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์” กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ที่ 22 ก.พ. 64 น.14)

ข้อมูลนี้เป็นการคาดการณ์ของสมาคมสายการบินเอเชียแปซิฟิก ความจริงจะเป็นอย่างไร จะต้องติดตามต่อไป สำหรับประเทศไทย แม้วัคซีนจะเป็นความหวัง แต่ธุรกิจการท่องเที่ยวยังต้องอาศัย “ฝีมือ” ของรัฐบาลอีกมากมาย ฟังเสียงจากนายกสมาคมท่องเที่ยวภาคเหนือแล้วก็ยัง “วังเวง” มาก “..... เรามามโนเอาเองว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 20-30 ล้านคน... ไม่ได้... ต้องลงมือทำให้เร็วที่สุด” มีการขอความช่วยเหลือหลายอย่างจากรัฐบาล “ก็ยังไม่ได้อะไรสักข้อ” (มติชน จันทร์ 1 มี.ค.64 น.5)

วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือฝีมือของผู้นำประเทศ ดังปรากฏว่า แม้จีนจะเป็นจุดตั้งต้นการระบาดของโควิด-19 แต่ จีดีพี ปี 2563 ก็ยังเป็นบวก และต้นปีนี้รัฐบาลจีนก็ประกาศความสำเร็จของการขจัดความยากจนในประเทศสำเร็จ ซึ่งสหประชาชาติก็รับรอง ขณะที่เรายังต้องต่อสู้กันไม่จบเรื่องแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่เป็นฉบับสืบทอดอำนาจเผด็จการอย่างชัดเจน

**********************