posttoday

นักการเมืองยังจะพัฒนาได้อีกไหม(4)

13 มีนาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************

นักการเมืองไทยที่ไม่พัฒนาก็เพราะกลัวทหารและกลัวการเลือกตั้ง

ในการสัมภาษณ์ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพื่อทำประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องพัฒนาการของการเมืองไทย พอมาถึงสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ท่านได้เล่าด้วยความสนุกสนาน ที่อาจจะเป็นด้วยเกิดขึ้นในช่วงที่ตัวท่านยังอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ อย่างที่สมัยนี้เรียกว่า “ห้าว” โดยในยุคของจอมพล ป.ที่ขึ้นมามีอำนาจในรอบสองภายหลังรัฐประการ พ.ศ. 2490 นั้น ในระยะแรกก็ออกอาการที่เอาอกเอาใจนักการเมืองอยู่พอสมควร แต่ครั้นมีเลือกตั้งใน พ.ศ. 2492ที่เป็นการเลือกตั้งเพิ่มเติม สภาก็ออกอาการ “เอาไม่อยู่" ที่สุดจอมพล ป. ต้องทำรัฐประหารตัวเองเพื่อยกเลิกระบอบรัฐสภานั้นเสีย

โดยในช่วงนี้เป็นช่วงที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.แล้ว (อย่างที่ได้เขียนไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ท่านไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนให้ ส.ส. จนกระทั่งมีชาวบ้านขอเอาทองคำเปลวมาปิดที่แขนของท่าน เป็นข่าวโด่งดังมากในยุคนั้น) และมาทำหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดยได้ตั้งป้อมต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการอย่างเอาจริงเอาจัง ทำให้หนังสือพิมพ์สยามรัฐถูกตำรวจเอาโซ่มาล็อคแท่นพิมพ์อยู่หลายครั้ง แม้แต่ตัวท่านเองก็ถูกจับเกือบจะเข้าคุก

ท่านเล่าว่าที่ท่านถูกตำรวจจับในครั้งนั้นก็เป็นพราะท่านได้เขียนพาดพิงว่า จอมพล ป.ไปคบด้วย “กุ๊ยมะริกัน” คือไปให้การต้อนรับทูตอเมริกันคนหนึ่ง (ถ้าเป็นสมัยนี้น่าจะคล้าย ๆ กันกับที่นายกรัฐมนตรีของไทย “แอบ” ไปให้การต้อนรับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของพม่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งถ้าฝ่ายค้านเล่นเป็น น่าจะจับเอาไปเป็นประเด็น “เอาผิด” นายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกัน)

เท่านั้นแหละจอมพล ป.ก็ให้คนไปแจ้งความว่าถูกท่านหมิ่นประมาท ท่านขึ้นศาลและเป็นทนายให้กับตัวเอง และมีเรื่องราวที่สนุกสนานมากในการเป็นทนายด้วยตัวเองในครั้งนั้น เช่น อัยการที่เป็นทนายฝ่ายโจทก์ซักท่านว่า รู้ไหมว่าคำว่า “กุ๊ย” แปลว่าอะไร ใช่หมายถึงพวกคนชั้นต่ำที่มีความประพฤติชั่วช้าเลวทรามหรือไม่

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ได้ตอบไปว่า น่าจะเป็นภาษาจีน แต่ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร รู้แต่ว่าข้าวต้มที่คนนิยมรับประทานตามถนนทั่วกรุงเทพฯนั้นเขาเรียกว่า “ข้าวต้มกุ๊ย” คงจะแปลว่า “อร่อย” หรือ “ดี” กระมัง ทำเอาอัยการไปไม่เป็น และศาลก็ดูเหมือนจะกลั้นหัวเราะอยู่ในลำคอ ซึ่งในช่วงที่กำลังมีการขึ้นศาลอยู่นั้น ก็มีคนมากระซิบบอกท่านว่า จอมพล ป.ได้ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เตรียมคุกไว้รับคุณคึกฤทธิ์ด้วย โดยบอกว่าขอให้เลือกห้องที่สะอาด ๆ สักหน่อย ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังรำลึกถึงพระคุณเช่นนั้นของจอมพล ป. อยู่เสมอ เพราะถ้าจะว่ากันไปแล้ว หลังรัฐประหาร 2490 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เคยเป็นรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลของทหารชุดนั้นด้วย ทั้งยังได้รับความเอ็นดูทักทายพูดคุยด้วยดีจากท่านจอมพล อยู่เสมอ สุดท้ายคดีได้ถูกยกเลิกไปเนื่องจากเกิดรัฐประหารใน พ.ศ. 2500

ผู้เขียนได้ไปตรวจสอบในประวัติศาสตร์ช่วงนั้น พบว่าเป็นคดีที่เกิดจากการที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในฐานะคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้เขียนบทความวิจารณ์คำให้สัมภาษณ์ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่พูดถึงการให้ทูตอเมริกันเข้ามาเยี่ยมชมการเลือกตั้งของไทย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 แล้วได้รับคำชมจากทูตอเมริกันว่า “เรียบร้อยดี” แล้วท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เอามาเขียนด้วยความเห็นของท่าน มีข้อความตอนหนึ่งว่า “อ้อ เพราะคบกับกุ๊ยมะริกันอย่างนี้เอง” อันนำมาสู่การฟ้องร้องว่าเป็นการหมิ่นประมาทดังกล่าว

แต่การเลือกตั้งในครั้งนั้นในประวัติศาสตร์ก็บันทึกไว้ว่า เป็นการเลือกตั้ง “ครั้งที่สกปรกที่สุดในประเทศไทย” เพราะพรรครัฐบาลคือพรรคเสรีมนังคศิลา ที่ทหารตั้งขึ้น ได้ใช้เล่ห์กลทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งครั้งนั้นได้ทำให้เกิดศัพท์ใหม่ในการโกงการเลือกตั้ง ได้แก่ เวียนเทียน พลร่ม และไพ่ไฟ โดย “เวียนเทียน” หมายถึงการให้คนเข้าไปหย่อนบัตรเลือกตั้งได้หลายรอบ โดยผู้คุมหน่วยเลือกตั้งไม่กล้าทำอะไร

“พลร่ม” หมายถึงการใช้พวกทหารตำรวจไปลงคะแนนแบบ “ปิดหน่วยเลือกตั้ง” โดยที่ไม่มีใครกล้าห้ามปราม และ “ไพ่ไฟ” ก็หมายถึง การเอาบัตรเลือกตั้งที่กาเลือกผู้สมัครไว้แล้ว ส่งไปวางไว้ในหลาย ๆ หน่วยเลือกตั้ง โดยไม่ต้องมีการหย่อนบัตรแต่อย่างใด อันนำมาสู่การประท้วงโจมตีการเลือกตั้งครั้งนั้น โดยเริ่มจากกลุ่มนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วมาชุมนุมกันแถวสะพานมัฆวานรังสรรค์ข้างทำเนียบรัฐบาล จนพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ให้ ร้อยเอกอาทิตย์ กำลังเอก คุมทหารไปช่วยดูแลการชุมนุม

ภายหลังจอมพล ป.ได้หลบหนีออกนอกประเทศ และพลเอกสฤษด์ สามารถยึดอำนาจได้ ร้อยเอกอาทิตย์ จึงได้ฉายาจากสื่อมวลชนในยุคนั้นว่า “วีรบุรุษแห่งสะพานมัฆวาน” ซึ่งต่อมาได้เติบโตในหน้าที่ราชการเป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต่อมาภายหลังเกษียณอายุราชการได้เล่นการเมือง โดยเป็นหัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย

แต่ว่าในขณะที่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน จะแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหม โดยมีกำหนดไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ระหว่างที่กำลังก้าวขึ้นบันไดเครื่องบินที่ บน. 6 ดอนเมือง ก็ถูกทหารอากาศเข้ารวบตัวลงจากเครื่องพร้อมกับพลเอกชาติชาย และนั่นก็คือการทำรัฐประหารของคณะทหารที่เรียกว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ “รสช.” ที่นำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และคณะทหาร จปร.รุ่น 5

ที่ต้องค้นประวัติการเมืองไทยมาเชื่อมต่อกับคำให้สัมภาษณ์ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในย่อหน้าข้างต้นนี้ ก็เพื่อจะอธิบายให้เห็นว่า ทหารกับนักการเมืองมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ส่วนหนึ่งคือทหารนั่นแหละที่อยากได้อำนาจและสืบทอดอำนาจทางการเมือง

ในขณะที่นักการเมืองก็กลัวทหารและยอมก้มหัวให้ทหารเรื่อยมา ซึ่งคงจะไป “ขมวดปม” ให้เห็นถึงผลกระทบที่ตกกระทบมาถึงการเมืองไทยในทุกวันนี้ในสัปดาห์หน้า

การเมืองไทยนี้มี “วิบาก” และเป็นวิบากที่เหล่าผู้ปกครองเหล่านั้นสร้างไว้ให้ลูกหลานทั้งสิ้น

*******************************