posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (5)

09 มีนาคม 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*************

แนวคิดที่ห้า เรื่องการกระจายวัคซีน

ในที่สุด วัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็มาถึงไทยแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมาในวันเดียวกันถึง 2 ล็อต ล็อตแรกเป็นวัคซีนเชื้อตายของซิโนแวคจากจีน 2 แสนโด๊ส มาในตอนเช้า และล็อตที่สองเป็นวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะของแอสตราซิเนกา จำนวน 1.13 แสนโด๊ส โดยแหล่งต้นทางมาจากสาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้

ต้องชื่นชม “ฝืมือ” ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่นอกจากจะนำวัคซีนซิโนแวคเข้ามาได้แล้ว ยังนำวัคซีนของแอสตราซิเนกาเข้ามาได้ด้วย ทั้งๆ ที่เกิดปัญหา เนื่องจากวัคซีนแอสตราซิเนกาที่เดิมจะได้เข้ามาก่อนเพื่อนจากอิตาลี เกิด “สะดุด” เพราะมีปัญหาการผลิตจนไม่สามารถส่งมอบให้สภาพยุโรปได้ตามสัญญาจนถูกระงับการส่งออก

วัคซีนซิโนแวคนั้น มีข้อจำกัดเพราะข้อมูลความปลอดภัย และประสิทธิศักย์ของวัคซีนมีเฉพาะกับประชากรช่วงอายุ 18-59 ปี เท่านั้น สำหรับคนสูงอายุยังมีข้อมูล “จำกัดมาก” ยังไม่สามารถนำไปใช้กับคน สูงอายุได้ ขณะที่วัคซีนของแอสตราซิเนกามีข้อมูลเพียงพอและสามารถฉีดให้คนสูงอายุได้แล้ว

เดิม พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ประกาศพร้อมจะฉีดวัคซีนของซิโนแวคถ้าอยู่ในเกณฑ์ให้ฉีดได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ตอนที่นายกฯ ประยุทธ์ ประกาศนั้น ยังไม่มี “ข่าว” เรื่องที่จะได้วัคซีนจากแอสตราซิเนกา สิ่งที่นายกฯ ประยุทธ์ ประกาศ จึงเป็นการแสดงภาวะผู้นำที่ต้องการให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่า วัคซีนที่นำเข้ามาฉีดให้ประชาชนนั้น ต้องมีความปลอดภัยและประสิทธิศักย์อย่างเพียงพอ และตนพร้อมจะเป็นคนแรกๆ ที่รับการฉีด แต่ถึงเวลาจะต้องฉีดจริงๆ ก็คงหาแพทย์ที่จะ “เสี่ยง” ฉีดให้นายกฯ ประยุทธ์ได้ไม่ง่ายนัก เพราะอาจเข้าข่าย “ผิดจริยธรรม” ฐานประกอบวิชาชีพโดยประมาท

ทั้งนี้ เพราะข้อบังคับจริยธรรมทางการแพทย์ มีความละเอียดอ่อน แตกต่างจากเรื่องการประมาทเลินเล่อในทางอาญาหรือแพ่ง กล่าวคือ การประมาทเลินเล่อในทางอาญาหรือแพ่งจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อการประมาทนั้น “ก่อให้เกิดความเสียหาย” แก่บุคคลอื่น แต่หลักจริยธรรมทางการแพทย์ ถ้าประกอบวิชาชีพโดยประมาท แม้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็เข้าข่ายผิดจริยธรรมแล้ว และในทางจริยธรรมแม้ไม่มีผู้เสียหาย ก็อาจมีผู้ร้องเรียน “กล่าวโทษ” ให้แพทย์ถูกดำเนินการทางจริยธรรมได้

แน่นอนว่า เรื่องละเอียดอ่อนและอ่อนไหวที่อยู่ในการ “จับจ้อง” ของสาธารณชนและการ “ตรวจสอบ” ของฝ่ายค้านด้วย จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องระมัดระวัง

อันที่จริง เมื่อวัคซีนมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ แล้ว ยังไม่สามารถนำไปฉีดได้ทันที เพราะต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญ คือ (1) การขึ้นทะเบียนกับ อย. และ (2) ต้องผ่านการตรวจคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อนจะนำไปใช้ได้ เนื่องจากวัคซีนเป็นชีววัตถุ (biological product) จะต้องผ่านการตรวจปล่อยแต่ละล็อต (lot release) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา แต่โดยที่ทุกฝ่ายต้องพยายาม “เร่งรัด” ดำเนินการให้ “ทันอกทันใจ” ผู้คนที่ตั้งตารอคอย ดังนั้น “ข้อมูล” ความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน ซิโนแวคในผู้สูงอายุน่าจะมาไม่ทันวันฉีด

การได้วัคซีนทั้งของซิโนแวคและแอสตราซิเนกามาในวันเดียวกัน จึงทำให้ทุกฝ่าย “สมถวิล” นั่นคือ นายกฯ ประยุทธ์ สามารถประเดิมวัคซีนเข็มแรกของแอสตราซิเนกา ขณะที่รองนายกฯ อนุทิน สามารถฉีดของ ซิโนแวค

สำหรับวัคซีนของซิโนแวคที่ก่อนหน้านั้นยังมีปัญหาเรื่องการขึ้นทะเบียนกับ อย. ก็มี “ข่าวดี” ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียวคือฟิลิปปินส์รับขึ้นทะเบียนเพื่อการใช้กรณีฉุกเฉินเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ และ แครี หล่ำ ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงก็ประเดิมฉีดวัคซีนในวันเดียวกัน

ตาม “แผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19” ซึ่งเป็นแผนเดิมของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ กำหนดแผนการกระจายวัคซีนเป็น 3 ระยะ ดังนี้ (1) เมื่อยังมีวัคซีนจำกัด จะมุ่งลดการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจาก โควิด-19 และเพื่อรักษาระบบสุขภาพของประเทศ (2) เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น จึงมุ่งรักษาเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคงของประเทศ และ (3) เมื่อมีวัคซีนเพียงพอ จึงจะมุ่งสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร และฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

แผนดังกล่าวเป็นแผนที่คาดว่าจะได้วัคซีนจากเอสตราซิเนกาในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะสามารถฉีดให้แก่คนสูงอายุได้ แต่ต่อมาเกิดปัญหาวัคซีนแอสตราซิเนกาจากอิตาลีถูกสหภาพยุโรประงับการส่งออก กลายเป็นวัคซีนตัวแรกคือของซิโนแวค ซึ่งยังไม่มีข้อมูลเรื่องผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จึงมีการปรับแผนตามการแถลงของนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า

“เป้าหมายสำหรับกลุ่มเสี่ยงในระยะแรก ได้แก่ (1) บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน (2) บุคคลที่มีโรคประจำตัวได้แก่โรคทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหอบหืดที่ควบคุมไม่ได้ดี โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังที่อยู่ในระยะ 5 ขึ้นไป (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และโรคอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กก. หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 และ (3) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย"

ต่อมา เมื่อได้วัคซีนจากแอสตราซิเนกาเข้ามาเสริมอีก 1 แสนกว่าโด๊ส แผนการกระจายวัคซีนระยะแรกนี้ก็เปลี่ยนแปลงไป เป็นการฉีดให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุด้วย ตามแผนเดิม จะเห็นว่า ปัญหาโควิด-19 มี “พลวัต” (dynamicity) สูงมาก สถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก บางครั้งเพียงข้ามวันก็ต้องปรับเปลี่ยนแผนแล้ว

คำถามใหญ่คำถามหนึ่งคือ มีข่าวว่าวัคซีนแอสตราเซเนกามีปัญหาเชื้อกลายพันธุ์ในแอฟริกา จะมีปัญหากับการใช้วัคซีนนี้ในไทยหรือไม่ คำตอบคือ ใช้ได้ เพราะในประเทศไทยยังพบปัญหาเชื้อสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ในแอฟริกาน้อยมาก

แต่ที่เป็นปัญหาจริงคือแอสตราเซเนกายังไม่สามารถออกเอกสารรับรองคุณภาพวัคซีนนี้ได้ตามที่เราร้องขอ ทำให้นายกฯ ประยุทธ์ ต้องชะลอการฉีดออกไปก่อน

กรณีของวัคซีนโควิด-19 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าโลกปัจจุบัน เป็น “โลกวูกา” (VUCA world) กล่าวคือ เต็มไปด้วยผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity)

คำถามใหญ่อีกคำถามหนึ่งโดยเฉพาะจากวงการธุรกิจก็คือ ประเทศไทยมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว เมื่อไรเราจะเปิดประเทศได้ คำถามนี้จะได้ศึกษาวิเคราะห์และนำเสนอต่อไป

*****************