posttoday

โอกาสดีของรัฐบาล

18 กุมภาพันธ์ 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

***************

ข่าวที่ดังและอยู่ในความสนใจของประชาชนมากที่สุดในช่วงนี้ ก็คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านต่อรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกใจแต่อย่างใด และผลก็รู้ๆ กันดีก่อนลงมติว่า อย่างไรเสียฝ่ายค้านก็คงมีคะแนนเสียงแพ้รัฐบาล นอกจากไม่มีตัวเด่นในการอภิปรายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้รัฐบาลชี้แจงผลงานให้ฝ่ายค้านและประชาชนทราบด้วย

รัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมทั้งฉบับปี 2560 มาตรา151 เปิดโอกาสให้ “ส.ส.อย่างน้อยหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม้ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ” และให้กระทำได้ปีละครั้ง เพราะถ้าไม่กำหนดไว้ให้ปีละครั้ง ฝ่ายค้านคงหาเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจตลอดทั้งปี รัฐบาลจะไม่มีเวลาที่จะบริหารราชการแผ่นดินเพราะต้องคอยมาตอบคำถามฝ่ายค้าน

ถ้าฝ่ายค้านใช้สิทธิอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา151 ไปแล้วยังไม่พอใจ ก็สามารถไปใช้สิทธิขอเปิดอภิปรายไม้ไว้วางใจ ”โดยไม่ลงมติ” ตามมาตรา 153 อีกได้ตามวิธีการที่กำหนดไว้ นอกจากนั้น หากฝ่ายค้านหรือรัฐบาลเห็นว่ามีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงและเศรษฐกิจที่สภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีสมควรมาปรึกษาหารือกันเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน ก็สามารถขอให้ประธานสภาจัด “การประชุมลับ” โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 155 ได้

ส่วนสมาชิกวุฒิสภาก็ได้รับสิทธิเข้าชื่อขอเปิด “อภิปรายทั่วไป” เพื่อให้คณะรัฐมนตรีชี้แจงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 153 ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ววุฒิสภาไม่ค่อยได้ใช้สิทธินี้

ดังนั้น ใครเป็นรัฐบาลก็ต้องพร้อมที่จะรับการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยเฉพาะจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะถ้ารัฐบาลแพ้เสียงในสภา พรรคฝ่ายค้านมีสิทธิที่จะรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เท่าที่ผ่านมาสองวันแล้ว ไม่มีอะไรตื่นเต้น คนไม่ค่อยสนใจมากนัก อาจเป็นเพราะประชาชนวิตกเรื่องการระบาดของโควิด 19 การทำมาหากินที่ได้รับผลกระทบจากโรคร้ายมากกว่า

โควิด 19 ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นของประเทศและความปรกติสุขของประชาชน เกิดขึ้นรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง ทำให้สถานการณ์การคลังของประเทศเปราะบาง ทุกภาคส่วนในไทยได้รับบาดเจ็บด้วยกันทั้งสิ้น มากน้อยแตกต่างกันไปแต่ละสาขา เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องระดมทรัพยากรทั้งในปัจจุบันและอนาคตมาบรรเทาปัญหา และสามารถทำได้อย่างน่าพอใจ โดยการร่วมมือทั้งภาครัฐและประชาชน

โรคระบาดโควิด 19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยรุนแรงที่สุดนับแต่หลังวิกฤติต้มย้ำกุ้ง ปี 2540 การบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้านั้น ไม่มีทางเลือกมากนัก รัฐบาลพยายามสร้าง “ ดุลยภาพระหว่างผลกระทบทางเศรษฐกิจกับการควบคุมการแพร่ระบาด” ความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้กระจายรุนแรงมากไปกว่านี้ ทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจระดับชาวบ้านเสียหายรุนแรง จนคนลุกฮือขึ้นมาล้มรัฐบาล

หนึ่งปีที่ผ่านมา หากไม่มีอคติ ต้องยอมรับว่า รัฐบาลชุดนี้สามารถบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝีมือของ “เทคโนแครต” ที่สำคัญคือรัฐบาลเชื่อฟังคำแนะนำจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ถ้าปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาบริหารจัดการปัญหา ผลที่ออกมาอาจไม่เป็นอย่างนี้ก็ได้

รัฐบาลสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ ผลก็คือ ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นประเทศที่บริหารจัดการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19 ได้ดีอันดับหนึ่งหรือลำดับต้น ๆ ของโลก นี่เป็นต้นทุนที่จะเป็นผลตามมาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้ รัฐบาลพยายามบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะ “คนตัวเล็กตัวน้อย” ผ่านทางโครงการต่าง ๆ ที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนอยู่ได้กันก่อน

ในขณะที่มีคนบางกลุ่มแทนที่จะให้กำลังใจรัฐบาล กลับแช่งให้รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ คาดหวังว่า คนที่ตกงาน คนที่ทำมาหากินไม่ได้ คนไม่มีกิน จะลุกฮือขึ้นมาล้มรัฐบาล คิดกันแค่นี้จริงๆ แทนที่จะมาร่วมมือกันโดยไม่คิดฝักฝ่าย แบ่งพรรคแบ่งพวก ทำให้ชาติบ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัยจากวิกฤติครั้งนี้ แต่กลับปลุกม็อบสร้างความวุ่นวายรุนแรงแบบฮ่องกง แต่ก็ปลุกไม่ขึ้น

บางพวกฉวยโอกาสในขณะที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย มีปัญหากับโควิด 19 ไปก้าวล่วงสถาบันสูงสุดของประเทศเข้าไปอีก ทั้งที่ไม่เห็นเกี่ยวกันเลย ทั้งที่สถาบันสูงสุดก็ลงมาช่วยประชาชนในการจัดหาอุปกรณ์ในการตรวจเชื้อระยะแรกให้เพิ่มเติม

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลจะเผยแพร่ผลงานในการบริหารจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดโควิด 19 และแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนในการทำมาหากินของประชาชน เศรษฐกิจระดับครัว เรือน

การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นเหตุผลและความจำเป็นที่ใครเป็นรัฐบาลก็ต้องทำเพราะเราไม่มีเงินพอที่จะแก้วิกฤติที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน เงินที่กู้มาทุกบาททุกสตางค์ก็ลงไปที่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เป็นมาตรการ (1)เสริมสภาพคล่อง บรรเทาหนี้สินของธุรกิจขนาดกลางและย่อม (2) ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน (3 ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน (ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊สหุ้งต้ม) (4) ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น (5) ช่วยซอฟต์โลน ให้ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม รัฐบาลทยอยออกโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน “กลุ่มเปราะบาง”ที่ประกอบอาชีพอิสระ แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ เช่น โครงการ”บัตรคนจน” (14.6 ล้านคน) โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” โครงการ “คนละครึ่ง” (15-20 ล้านคน)ซึ่งดังที่สุดจนต้องเปิดเฟส 3 โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โครงการ “เราชนะ” (31 ล้านคน) โครงการ “ม. 33 เรารักกัน” เป็นต้น

นอกจากนั้น รัฐบาลยังช่วย “ซอฟต์ โลน” ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม และธุรกิจต่อเนื่อง (รวมพนักงาน 4 แสนคน) ทั้งขยายเวลาเงินกู้ ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3 ปี

จะเป็นความบังเอิญหรืออ่ย่างไรก็ตาม คนที่ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่เป็นคนอายุเกิน 18 ปี ซึ่งมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งหมดแล้วไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้ทำให้พรรคฝ่ายค้านตกใจมากพอสมควรสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะนี่คือผลพลอยได้ทางการเมือง ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ทุกคนที่ได้รับความช่วยเหลือจะลงคะแนนให้รัฐบาล แต่สิ่งที่พรรครัฐบาลไม่เคยได้ก็มีโอกาสจะได้

ที่คนชมมากคือ ไอติมแท่งนี้ไม่โดนดูดระหว่างทางจนเหลือแต่ไม้ไอติมเมื่อลงไปถึงประชาชน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการส่งเงินโดยตรงไปยังกระเป๋าของประชาชนผ่านแอพต่าง ๆ เช่น แอพ “เป๋าตัง” ผลพลอยได้ คือ รัฐบาลจะได้ข้อมูลพื้นฐานของประชาชนเพื่อการช่วยเหลือในโอกาสต่อๆ ไป

เปรียบเทียบกับเงินกู้หลายแสนล้านบาทที่รัฐบาลชุดก่อนกู้มาใน “โครงการจำนำข้าว” โดยอ้างว่าจะช่วยเหลือเกษตรกร สุดท้ายไอติมแท่งนี้โดนดูดจนเหลือแต่ไม้ และคนไทยเป็นหนี้สินกันถ้วนหน้า

เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการครั้งนี้ จึงไม่แปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีจะได้รับความนิยมมากที่สุดติดต่อกันหลายครั้งจากการทำโพลล์ จากภาพของนายกรัฐมนตรีที่โปร่งใส มือสะอาด

รัฐบาลประยุทธ์สามารถ “สร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ” ได้ กล่าวคือ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศปี 2564 มีโอกาสโตขึ้นจากที่ติดลบร้อยละ 6 ในปี 2563 ( ซึ่งต่ำที่สุดนับแต่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ) มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศนับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินสำรองภายในประเทศเหลือเฟือ การกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ การเยียวยาประชาชน สนับสนุนการมีงานทำ (หรือตกงานน้อย) ทำให้ประเทศไทยสะสมพลังที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าหลังโควิด 19 หลังจากอัดฉีดเงิน 5 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ สรุปคือ “เอาอยู่”

เวลานี้ เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลอนุมัติไปแล้ว 256 โครงการ รวม7.5 แสนล้านบาท แยกเป็นใช้เพื่อการฟื้นฟู และเพื่อการลงทุน ส่วนใหญ่ใช้ไปใน โครงการ “คนละครึ่ง” เวลานี้เหลือ 2.5 แสนล้านบาท

แต่เงินที่ลงทุนไปแล้วในโครงการต่าง ๆ ที่จ่ายตรงกับประชาชนจะหมุนเวียนอีกหลายรอบ

แม้การขยายตัวทางเศรษฐกิจหดตัวกว่าที่คิด แต่มีแนวโน้มว่าจะดีกว่าที่ประเมินไว้เพราะมาตรการของรัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกที่ดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเล็กน้อย ทำให้คณะทำงานทีมเศรษฐกิจและทีมหมอของนายกรัฐมนตรีมีกำลังใจที่จะลุยงานมากขึ้นต่อเนื่อง

คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีพลังงาน ซึ่งชี้แจงต่อที่ประชุมสภาระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สามารถสะกดคนฟังทั้งที่สภาและที่บ้าน ท่านได้สรุปได้สั้น ได้ใจความ มองเห็นภาพ และไม่มี ส.ส.ฝ่ายค้านคนใดลุกขึ้นถามหรือก่อกวน แสดงว่าเข้าใจดี

ดังนั้น การที่ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จึงเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลสามารถชี้แจงผลงานให้ประชาชนทราบ และประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองว่า สมควรไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่อย่างไร หรือไม่ควรไว้วางใจฝ่ายค้านแทน (จบ)