posttoday

ครูพละคนแรกในชีวิต

08 กุมภาพันธ์ 2564

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร        

*********************

ถ้าจะถามว่า ในโรงเรียนประถม-มัธยมทั่วไป ครูอะไรที่สอนมากที่สุด (สอนนักเรียนจำนวนมากที่สุด) คำตอบน่าจะไม่หนีครูพละหรือครูศิลปะ ในที่นี้จะพูดถึงครูพละ สมัยที่ยังเรียนประถมต้นอยู่นั้น จำได้ว่าตั้งแต่ประถมปีที่ 1-4 ผมเรียนวิชาพละศึกษากับครูคนเดียวเกือบตลอด มาตอนประถมปีที่ 4 ครูพละคนเดิมลาออกไปไหนก็ไม่รู้ ไม่มีใครบอก เลยได้เรียนกับครูพละคนใหม่

ตกลง ตลอด 4 ปี ได้เรียนวิชาพละศึกษากับครูแค่ 2 คน ในขณะที่วิชาอื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา ภาษาไทยเรียนกับครูประจำชั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ควรจะเรียกว่าครูประจำห้องมากกว่า เพราะถ้าเป็นครูประจำชั้น ก็หมายความว่าเวลาที่ผมเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 4 ซึ่งมีหลายห้อง ผมจะมีทั้งครูประจำชั้นและครูประจำห้อง  แต่ในความเป็นจริง นักเรียนทุกห้องมีแต่ครูประจำห้อง ไม่มีครูประจำชั้น เข้าใจว่าครูประจำชั้น น่าจะมาจากสมัยก่อนโน้น (คือก่อนสมัยผม) ที่นักเรียนมีน้อยมาก ชั้นหนึ่งมีเพียงห้องเดียว จึงเรียกครูประจำชั้นกัน

   

ครูพละคนแรกในชีวิต

ครูประจำห้องสมัยก่อนจะสอนเกือบทุกวิชา ยกเว้นวิชาพละศึกษาและศิลปะหรือดนตรี หรือภาษาอังกฤษขั้นสูง เหตุผลที่ครูประจำห้องไม่ได้สอนวิชาพละศึกษา ศิลปะ ดนตรีหรือภาษาอังกฤษ ก็เพราะวิชาพละศึกษา ศิลปะ ดนตรีเรียกร้องทักษะความชำนาญพิเศษในการสอนอย่างเห็นได้ชัด ภาษาอังกฤษก็เช่นกัน ถ้าเป็นชั้นอนุบาลหรือประถมต้นจัดๆ (ประถม 1-2 ) ที่เรียนเพียงคัดและออกเสียงพยัญชนะ-สระ เอ บี ซี ดี เอ อี ไอ โอ ยู นั้น ครูทุกคนย่อมพอสอนได้ เพราะหากสอนไม่ได้ ก็ต้องถือว่าเป็นภาวะสิ้นคิดหรือสิ้นไร้ไม้ตอกของโรงเรียนจริงๆ ที่จ้างคนแบบนั้นมาเป็นครู

แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษขั้นสูงขนาดต้องผันกริยา ไวยากรณ์ ประโยคคำถาม และต้องสอนการเขียนการอ่านออกเสียง สนทนาโต้ตอบซับซ้อน เช่น อีส อิท อะ บุ๊ค. ?  เยส อิท อีส. อา ยู อะ บอย ? โน ไอ แอม น๊อท อะ บอย.  เป็นต้น  อย่างนี้ต้องมีครูคนหนึ่งที่สอนเฉพาะเลย   ด้วยภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่ ครูประจำห้องแม้พอจะรู้ความภาษาอังกฤษอยู่บ้าง  แต่จะให้ถึงขนาดสอน ซึ่งหมายความว่า นอกจากจะต้องแม่นไวยากรณ์ที่วุ่นวายต่างจากภาษาไทยที่พูดกันอยู่ทุกลมหายใจและในยามหลับฝันแล้ว ยังต้องสามารถอ่านออกเสียงได้สำเนียงพอให้เด็กตื่นเต้นด้วย

เอาเป็นว่า รวมความแล้ว ตลอดเวลา 4 ปีของการเรียนประถมต้นของผม  ผมได้เรียนวิชาต่างๆ กับครูถึง 4 คนที่สอนสารพัดวิชา และครูที่สอนเฉพาะภาษาอังกฤษขั้นสูงอีก 1 คน  แต่สำหรับครูพละนั้น ถ้าครูพละคนเดิมไม่ลาออกไปเสียก่อน ตอนผมขึ้นประถม 4 ผมก็จะมีครูพละเพียงคนเดียวเท่านั้น  (และจะเป็นคนเดียวในดวงใจด้วยหรือเปล่า ? ไม่ทราบ ต้องติดตามกันต่อไป !)

ผมเจอครูพละคนแรกของผมตอนประถมปีที่ 1 เพราะตอนเรียนอนุบาล 1-2 แปลกดี เขาไม่ให้เรียนพละ จำได้ว่าสมัยอนุบาลตอนเช้าเรียนอะไรก็ไม่รู้  รู้แต่ว่า ตกบ่าย ครูประจำห้องให้ทุกคนล้างหน้าปะแป้ง แล้วก็บังคับให้ฟุบหน้านอนไปกับโต๊ะโดยมีแขนของตัวเองคั่นกลางระหว่างหน้าผากกับโต๊ะ  ว่าไปแล้ว จะเป็นหน้าผากหรือขมับก็ได้  จะเป็นขมับซ้ายหรือขวาก็ดี ครูไม่ว่า  แล้วแต่ตามอำเภอใจที่เด็กแต่ละคนจะเลือกอาการนั่งฟุบหลับ  แต่ขอให้หลับหรือแกล้งหลับก็ไม่ว่าอีก แต่อย่าส่งเสียงหรือลืมตาก็ถือว่าพอเพียงสำหรับครูแล้ว

ครูพละคนแรกในชีวิต

จำได้ว่า เพื่อนเด็กบางคนไม่ชอบนอนเอาจริงๆ ถึงขนาดยอมแลกกับการถูกครูตียังดีกว่าต้องแกล้งนอนหลับหมดเหมือดไป เพราะการนอนทั้งๆ ที่ไม่ง่วง หรือแกล้งนอนอยู่นิ่งๆ ไม่สามารถส่งเสียงเป็นนกน้อยกระจิ๊บกระจ๊าบนั้น มันเป็นเรื่องเหงาๆ เศร้าๆ ทุรนทุรายอย่างยิ่งสำหรับเด็กวัยนั้นที่สามารถสนุกสนานชีวิตยามตื่นได้ตลอดเวลา 

ดังนั้น เด็กผู้กล้าบางคน (ซึ่งไม่ใช่ผม) จึงยอมถูกครูตีครูด่ายังดีกว่าต้องแกล้งนอน เพราะอย่างน้อย ยังได้ปฏิสัมพันธ์หรือส่งเสียงสนทนากับสิ่งมีชีวิต ถือเป็นอภิสิทธิ์เหนือเพื่อนเด็กร่วมห้องอย่างเห็นๆ แต่เด็กบางคนก็เหลือเกิน ดันชอบนอน พอฟุบหน้าไปก็หมดสติสัมปชัญญะไปทันที พร้อมมีน้ำลายไหลยืดเป็นหลักฐานสนับสนุนให้เห็นในอีกไม่นานนัก (แต่ถ้าแกล้งน้ำลายยืดนี่ถือว่าสุดๆ จริงๆ ป่านนี้ คงเป็นสายลับนิรนามหรือนักแสดงชื่อดังไปแล้ว)

พอขึ้นประถม 1 ตอนบ่ายไม่ต้องนอน แถมบางวันได้เรียนพละ จะได้ออกมากระโดดโลดเต้นให้สมวัยเด็ก ผมจำได้ว่า แอบดีใจล่วงหน้าจนเนื้อเต้นเลยสำหรับวิชาพละชั่วโมงแรกในชีวิต เพราะเห่อรองเท้าผ้าใบและเสื้อกล้ามสีขาวที่เข้าชุดกัน (สมัยนั้น สำหรับผมการได้ใส่รองเท้าสีขาว ถือเป็นความโก้สำอางอย่างแรง ดูคล้ายคนมีฐานะ ซึ่งต่อมาพบว่า อาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนผมที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็ชอบใส่รองเท้าหนังสีขาว แถมกางเกงก็ขาวด้วย เมื่อก้มมองรองเท้าท่านแล้วก็ให้สะดุดตา เก๋ไก๋เหนืออาจารย์ท่านอื่นๆ)

ครูพละคนแรกในชีวิต

ครูพละคนแรกในชีวิต

เมื่อวันนั้นมาถึง เด็กๆ ก็พากันเดินออกจากห้องเรียนมาที่ลานพื้นหินขัดของโรงเรียนเพื่อเรียนวิชาพละชั่วโมงแรกของชีวิต เด็กชายตัวน้อยอย่างผมก็ได้เผชิญหน้ากับครูพละคนแรกในชีวิตด้วยความตกใจสะเทือนขวัญอย่างยิ่ง !

ครูพละคนแรกในชีวิตของผมนั้นมีร่างกายที่อ้วนล่ำ สูงใหญ่ขนาดญาติๆคิงคอง แถมตลอดทั้งตัวยังดำมะเหมี่ยมอีกด้วย นั่นยังไม่เท่าไร เพราะการที่ครูพละอ้วนดำล่ำใหญ่น่าจะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่สำคัญและทำให้ผมอกสั่นขวัญสะท้านต่อไปอีก 3 ปีก็คือ  ผมไม่รู้ว่าครูเป็นอะไรกันแน่ ระหว่างผู้ชายหรือผู้หญิง ? 

ด้วยท่อนล่างของความอ้วนดำล่ำใหญ่นั้นถูกห่อหุ้มไว้ด้วยกระโปรงสั้น ส่วนท่อนบนเป็นเสื้อยืดโปโล กลางลำตัวท่อนบนดูคล้ายจะมีหน้าอก ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นหน้าอกผู้หญิงหรือแผงกล้ามอกผู้ชาย ที่หัวมีผม เป็นทรงที่เขาเรียกกันว่าบ๊อบสั้น  ใบหน้าสันทัดแบบผู้ชาย และมีหน้าตาที่เหมือนผู้หญิงที่คล้ายผู้ชาย และริมฝีปากที่ดำสนิทนั้นกำลังคาบบุหรี่อยู่หนึ่งตัว และแถมยังมีชื่อเล่นที่เป็นชื่อผู้หญิงก็ได้ผู้ชายก็ดี

เด็กชายกระจิ๋วผิวขาวน่ารักน่าเอ็นดูอย่างผม (เมื่อเปรียบเทียบกับครูพละ) กำลังอยู่ในอาการคล้ายเป็นลมหมดสติทั้งยืน (ถ้าตอนนี้ ครูอนุบาลคนไหนบอกให้หลับในท่ายืน ผมก็จะยินดีที่จะปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ แถมหลับตาให้โดยไม่ต้องสั่งอีกด้วย) ตาผมหลับทั้งๆ ที่ยังเบิกโพลงอยู่ (eyes wide shut !)  โดยอัตโนมัติ จอลูกตาไม่ยอมรับภาพสิ่งมีชีวิตที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า  เผื่อความผวากลัวของผมจะหมดหรือลดลงไปได้บ้าง

                                  

ครูพละคนแรกในชีวิต

แต่ไม่ทันตั้งตัว หูก็ได้ยินเสียงของครูเปล่งออกมา เสียงใหญ่ดังมาก คล้ายผู้ชายแต่ก็ไม่เต็มที่ จะเป็นเสียงคล้ายคนแปลงเพศสมัยนี้ก็ไม่ใช่อีก เพราะเสียงคนแปลงเพศนั้นอ่อนหวานไปในทางเพศหญิง แต่เสียงครูนั้น เป็นเสียงที่ช่างน่าสะพรึงกลัวยิ่ง ระบุเพศไม่ได้ 

หลังจากนั่งทบทวนอดีตด้วยใจหวิวๆ ผมก็บอกตัวเองว่า ควรกลับไปค้นเรื่องราวของอสูรหรือเทพแปลกๆ ในเทพปกรณัมกรีกโบราณ ซึ่งน่าจะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจความรู้สึกที่ผมมีต่อครูพละคนแรกในชีวิตและคนเดียวในดวงใจของผมได้

ผมคงไม่เลวทราวชั่วช้าอะไรมากนัก ที่ไม่ได้รักครูพละท่านนั้น ?  ที่เล่ามาก็เพียงเพราะคิดถึง อยากจะตามหาท่าน อยากรู้ว่าท่านเป็นอย่างไรบ้างแล้ว  !

ครูพละคนแรกในชีวิต

(อย่าว่าอะไรผมนักเลยนะครับ  เด็กๆสมัยนั้นยังไม่รู้จักเรื่องเพศสภาพและความหลากหลายทางเพศเหมือนสมัยนี้  และมันก็คงเป็นเรื่องของโชคชะตากระมัง ที่ในที่สุดแล้ว ผมก็ได้กลายมาเป็นผู้รับผิดชอบสอนวิชาเกี่ยวกับเพศสภาพและความหลากหลายทางเพศที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯตลอดยี่สิบปีมานี้ และน่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่แรกของประเทศไทยที่เปิดสอนวิชานี้ในระดับปริญญาตรี)

(อ้อ ! นอกจากครูพละท่านนั้นจะสอนพละแล้ว ท่านยังสอนวิชาศิลปะ เลื่อยและฉลุไม้อีกด้วย ! และแน่นอนว่า มีฉากที่หัวใจดวงน้อยๆของผมโดนครูท่านกระทำย่ำยี จนผมเอาดีทางศิลปะงานไม้ไม่ได้เลยตลอดชีวิต  ไว้จะเล่าให้ฟัง)  

(ปรับปรุงจากข้อเขียนที่ตีพิมพ์ใน WayMagazine ฉบับที่ 18 หลายปีมาแล้ว)