posttoday

ควรจะเก็บค่ารักษาผู้ที่นำเชื้อโควิด-19 มาทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่หรือไม่

27 มกราคม 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*********************

การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในประเทศไทยช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 จุดตั้งต้นจุดแรกคือผู้ที่ไปทำงานในสถานบริการในโรงแรม 1 จี 1 ที่ท่าขี้เหล็ก แล้วลักลอบเข้าประเทศพร้อมนำเชื้อโรคมาแพร่ที่เชียงรายและเชียงใหม่ ต่อมาพบการระบาดจุดที่สองคือในแรงงานอพยพชาวพม่าที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ออกไปอย่างกว้างขวางในจังหวัดต่างๆ กว่าครึ่งประเทศ เพราะจุดแพร่ระบาดเป็นตลาดอาหารทะเลสด ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดต่างๆ โดยรอบรวมทั้งกรุงเทพมหานคร

หลังจากนั้นยังพบการระบาดจากบ่อนการพนันในจังหวัดระยอง ชลบุรี และจังหวัดอื่นๆ

การแพร่ระบาดรอบนี้ เกิดขึ้นรวดเร็วและกว้างขวางกว่ารอบแรก นอกจากก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงแล้วยังทำลาย “ภาพลักษณ์” ที่รัฐบาลภาคภูมิใจมาหลายเดือน จากคำยกย่องของหน่วยงานและองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติว่าไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ควบคุมการระบาดของโรคได้ดี โดยรักษาตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อไว้ที่ 4 พันกว่า และจำนวนคนตายคงที่ที่ 60 คน มาได้หลายเดือน แต่การระบาดรอบใหม่เพียงชั่วไม่ถึงเดือน ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อก็ทะลุหลักหมื่นแล้ว

ภาวะความบอบช้ำทางเศรษฐกิจและภาวะการเงินที่ “ตึงมือ” ทำให้เกิดการตั้งคำถามหา “ผู้รับผิดชอบ” ที่ทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่โดยตั้งต้นจากคำถามว่าควรเก็บเงินค่ารักษาจากคนที่เป็นต้นเหตุการระบาดหรือไม่

“เหตุผล”ของการ “คิด” ที่จะเก็บเงินกรณีนี้ น่าจะมาจากพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่มีบทบัญญัติในมาตรา 41 ว่า “ให้เจ้าของยานพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งผู้เดินทางเข้ามากับพาหนะนั้น เพื่อแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตลอดทั้งออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามมาตรา 40 และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”

บทบัญญัติมาตรา 41 นี้ มุ่งดำเนินการกับพาหนะที่ “มาจากท้องที่หรือเมืองท่าใดนอกราชอาณาจักรที่มีโรคระบาด” จึงเป็นคนละกรณีกับคนไทยที่ไปทำงานที่ท่าขี้เหล็กแล้วลักลอบกลับเข้าประเทศและนำเชื้อโรคมาแพร่

กรณีโควิด-19 นี้ ต้องตั้งสติให้ดี เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การใช้อำนาจ “ล้นฟ้า” โดยไม่คำนึงถึง “วิชาการและหลักฐาน” (Sciences and evidences) ผลคือหายนะ และผู้มีอำนาจก็ต้องแพ้ภัยตัวเอง พ่ายแพ้การเลือกตั้งไปอย่างน่าอัปยศอดสู

เรื่องการเก็บค่ารักษาพยาบาลกรณีโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเป็น “โรคติดต่ออันตราย” ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 มีข้อที่ต้องพิจารณา 5 ประการ ดังนี้

ประการแรก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสามว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” บทบัญญัตินี้มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 92 วรรคสามว่า “การป้องกันและปราบปรามโรคติดต่ออันตราย รัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า”

บทบัญญัตินี้ เกิดขึ้นตามหลักการควบคุมและป้องกันโรคติดต่ออันตรายที่จะต้องควบคุมและป้องกันปราบปรามโรคให้ได้โดยรวดเร็ว รัฐจึงต้องกระทำให้ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า ถ้าประชาชนต้องรับภาระค่าใช้จ่าย จะเกิด “กำแพงเงิน” ขัดขวางการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตราย ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียและเสียหายต่อเศรษฐกิจมากมายมหาศาล มากกว่า “ค่าใช้จ่าย” ที่ควรใช้ไปเพื่อควบคุมป้องกันโรค

สังคมไทย ผิดพลาดอย่างมากมาตลอดที่มักเน้นเรื่อง “ประสิทธิภาพ” เพราะหลายกรณีต้องมุ่งให้เกิด “ประสิทธิผล” เป็นเรื่องแรก เช่น การทำสงครามความต้องมุ่งชัยชนะ มิใช่มุ่งประหยัด การควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตรายก็เช่นเดียวกัน

บทบัญญัตินี้มีในรัฐธรรมนูญทุกฉบับนับตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2517 สำหรับฉบับ พ.ศ. 2560 กำหนดให้เป็น “สิทธิ” ของประชาชน โดยเป็นสิทธิที่ “ไม่มีเงื่อนไข” ไม่เหมือนสิทธิอื่นๆ ในอีกหลายมาตราที่มีข้อความต่อท้ายว่า “ตามที่กฎหมายบัญญัติ” และสิทธิเรื่องนี้เป็นสิทธิที่ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ฉะนั้นจะอ้างบทบัญญัติของกฎหมายอื่นมาลบล้างสิทธินี้ไม่ได้ และไม่ควรจะนำมาอ้าง เพราะจะขัดกับหลักการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตรายดังกล่าวแล้ว

ประการที่สอง การนำ “มาตรการลงโทษ” มาใช้ในการควบคุมป้องกันโรคเป็นสิ่งที่พึงระมัดระวัง ประสบการณ์ในการกวาดล้างไข้ทรพิษ เคยใช้มาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ “ปล่อยปละละเลย” ทำให้เกิดโรคระบาดในท้องที่รับผิดชอบ เป็นผลให้เกิดการปกปิด ไม่มีการรายงานโรคโดยเร็ว ผลคือทำให้ควบคุมโรคไม่ได้ หรือควบคุมยาก ต่อมาทั่วโลกจึงเลิกใช้มาตรการดังกล่าว รวมทั้งกรณีการกวาดล้างไข้ทรพิษ เมื่อโรคถูกขจัดกวาดล้างไปใกล้จะหมดจากโลกแล้ว องค์การอนามัยโลกยังได้ประกาศให้รางวัลแก่ผู้พบโรคนี้ รายละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้สามารถเข้าไปขจัดกวาดล้างโดยรวดเร็ว ผลคือทั่วโลกสามารถกวาดล้างโรคนี้ได้สำเร็จเป็นโรคแรก และหลักการดังกล่าวนี้ ก็นำมาใช้ในการควบคุมป้องกันโรคในประเทศต่างๆ ทั่วโลกสืบมา

ประการที่สาม การใช้ “ค่ารักษาพยาบาล” เป็นเครื่องมือลงโทษผู้นำโรคมาแพร่ เพื่อให้ “หลาบจำ” หรือเพื่อให้บุคคลอื่น “เกรงกลัว” เป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล เพราะแท้จริงแล้วบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็น “เหยื่อ” (Victim) ของระบบโครงสร้างและสังคม คนที่ข้ามไป “ทำมาหากินที่ท่าขี้เหล็ก” และ “ลักลอบ” กลับเข้าประเทศ ล้วนเป็น “เหยื่อ” ของโลกทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ที่พรมแดนประเทศไทยไม่สามารถปิดกั้นการข้ามพรมแดนได้

ผู้ที่มีอภิสิทธิก็จะ “ข้ามรัฐ” ดังกรณีทหารอียิปต์ ขณะที่คนชายขอบก็จะ “ลอดรัฐ” ข้ามไปมา การใช้มาตรการ “ลงโทษ” คนเหล่านี้ จะเข้าลักษณะการ “ลงโทษเหยื่อ” (Victim Blaming) ซึ่งนักการสาธารณสุขชั้นนำของโลก ต่างเห็นว่าเป็นวิธีการที่ไม่พึงนำมาใช้ในการแก้ปัญหาสาธารณสุข เพราะนอกจากแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังเป็นการลงโทษและซ้ำเติมคนที่ต่ำต้อยน้อยหน้าในสังคมอีกด้วย

เซอร์ไมเคิล มาร์มอท (Sir Michael Marmot) นักระบาดวิทยาและนักสาธารณสุขที่มีชื่อเสียงแห่งมหาวิทยาลัยยูซีแอล (University College London : UCL) ได้แสดงปาฐกถาเรื่องนี้ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อหลายปีมาแล้วสรุปชัดเจนว่า มาตรการลงโทษเหยื่อเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เช่น การลงโทษโดยการเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงๆ จากคนที่มีโรคจากพฤติกรรมได้แก่ ภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคพิษสุราเรื้อรัง ถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่ เป็นต้น เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และจะเป็นการซ้ำเติมเหยื่อโดยไม่มีผลในการป้องกันหรือป้องปรามบุคคลอื่นในสังคมแต่อย่างใด

ประการที่สี่ คือเหตุผลด้านมนุษยธรรม ที่ต้องดูแลรักษาทั้งตามหลักมนุษยธรรมและหลักจริยธรรมวิชาชีพ เหมือนเมื่อมีโจรและตำรวจถูกยิงบาดเจ็บเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์และโรงพยาบาลจะต้องให้การดูแลรักษาโดยปราศจากอคติ ส่วนการลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายนั้นๆ ซึ่งควรดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสมในภายหลัง ทั้งกรณีลักลอบเข้าเมืองและกรณีลักลอบเล่นการพนัน

ประการที่ห้า คนเหล่านี้มักเป็นคนยากจน ยากจะ “รีด” เอาค่ารักษาพยาบาลมาได้ แม้ได้ก็ไม่มาก ไม่คุ้มและไม่ควร “เพิ่ม” ปัญหาเข้ามาในกระบวนการรักษาพยาบาลและการควบคุมป้องกันโรค จะทำให้การทำงานที่ยากอยู่แล้ว ยุ่งยากเพิ่มขึ้นโดยไม่สมควร

โดยสรุป การเก็บค่ารักษาพยาบาลผู้นำโรคมาแพร่ กระทำไม่ได้เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ และไม่พึงกระทำเพราะจะทำให้การควบคุมป้องกันโรคติดต่ออันตรายเสื่อมประสิทธิผล เป็นการนำมาตรการลงโทษเหยื่อมาใช้ ซึ่งไม่ควรกระทำ ขัดหลักมนุษยธรรมและหลักจริยธรรมวิชาชีพอีกด้วย

****************