posttoday

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการเผยแพร่ศาสนาของตะวันตก

25 มกราคม 2564

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร       

*********************

อันที่จริงตะวันตกได้เข้ามาติดต่อกับไทยแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เด่นชัดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2199-2231 (ค.ศ. 1656-1688) ขณะนั้นยุโรปอยู่ภายใต้  “ยุคแห่งการสำรวจ” (the Age of Discovery)  ที่เริ่มขึ้นประมาณต้นศตวรรษที่สิบห้าจนถึงกลางศตวรรษที่สิบเจ็ด นำโดยโปรตุเกสเป็นชาติแรกของยุโรป ในแห่งการสำรวจนี้ ชาติต่างๆในยุโรปได้เริ่มมีการรับเอาลัทธิล่าอาณานิคม (colonialism) เป็นนโยบายแห่งชาติ  การติดต่อระหว่างฝรั่งเศสกับสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีจุดมุ่งหมายเพื่อแข่งขันกับชาติต่างๆในยุโรปในทางการค้า เผยแพร่คริสตศาสนาและมีอิทธิพลเหนือชาติต่างๆในเอเชีย ฝรั่งเศสมุ่งหมายให้กรุงศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในในดินแดนที่นับถือคริสต์และอยู่ภายใต้การอารักขาของตน (a French Protectorate) โดยไม่ถือว่าเป็นอาณานิคม (colony)

รัฐในอารักขาหมายถึง รัฐที่อยู่ภายใต้การควบคุมและปกป้องโดยรัฐอื่นและไม่มีความเป็นอิสระ (dependent territory) ในการต่างประเทศ แต่ยังคงมีความเป็นอิสระในการดำเนินการปกครองภายในรัฐ ซึ่งแตกต่างจากการเป็นอาณานิคมที่รัฐที่เป็นเจ้าอาณานิคมจะส่งคนของตนมาปกครองและควบคุมและครอบครองทรัพยากรและทรัพย์สินสาธารณะภายในอาณานิคมของตน แต่หลังจากสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในปี พ.ศ. 2231 สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงขับไล่ฝรั่งเศสออกไป ทำให้กรุงศรีอยุธยารอดพ้นจากการตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส  ในทำนองเดียวกันกับก่อนหน้านี้ที่ญี่ปุ่นมีนโยบายต่างประเทศต่อต้านและขับไล่อิทธิพลตะวันตกออกไปในปี พ.ศ. 2182 (ค.ศ. 1639) และได้ดำเนินนโยบายปิดประเทศหรือ “โดดเดี๋ยวในการต่างประเทศ (isolationism)” ต่อมาเป็นเวลาถึงสองร้อยปี โดยระหว่างนั้น ญี่ปุ่นเลือกที่จะติดต่อทำการค้ากับดัทช์และจีนเท่านั้น

จากยุคสำรวจของยุโรประหว่างต้นศตวรรษที่สิบห้าจนถึงศตวรรษที่สิบเจ็ด ต่อมาในปลายศตวรรษที่สิบแปด ชาติต่างๆในยุโรปรวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้เข้าสู่ “ยุคล่าอาณานิคม” (Colonialism)  เต็มตัว มีการต่อสู้แข่งขันกันในการเข้ามายึดครองและควบคุมทั้งกิจการการทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งทรัพยากรของรัฐต่างๆ อิทธิพลของชาติต่างๆในยุโรปในตอนสมัยรัชกาลที่สามปรากฎให้เห็นในรูปของการเข้ายึดครองรัฐต่างๆเป็นอาณานิคม

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2369-2394 (ค.ศ. 1826-1851) อังกฤษมีอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังต่อไปนี้คือ บริเวณที่เรียกว่า บริติชมาลายา อันได้แก่  “นิคมช่องแคบ” (Straits Settlements) ที่เริ่มเกิดขึ้น พ.ศ. 2369 (ค.ศ. 1826) อันประกอบไปด้วยปีนังที่ตกเป็นอาณานิคมตั้งแต่ ค.ศ. 1786 (พ.ศ. 2329) สิงคโปร์ ค.ศ. 1819 (พ.ศ. 2362) มะละกา ค.ศ. 1824 (ค.ศ. 2367) และบริติชบอร์เนียว ได้แก่ ลาบวน ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391) ส่วนดินแดนที่ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสได้แก่ กัมพูชา ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406)    

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการเผยแพร่ศาสนาของตะวันตก

               

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการเผยแพร่ศาสนาของตะวันตก

จากสภาวการณ์ดังกล่าวนี้เอง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรใกล้จะเสด็จสวรรคต ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัสสุดท้ายก่อนเสด็จสวรรคตว่า “...การต่อไปภายหน้า...การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว...”

ในขณะที่ทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพากเพียรอุตสาหะศึกษาวิทยาการความรู้ ความเชื่อและความคิดสมัยใหม่ของชาวตะวันตก  ทำให้พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่รับรู้ภูมิปัญญาสมัยใหม่ของตะวันตก

ในการเผยแพร่ศาสนาของชาติตะวันตก ด้วยต้องการให้คนไทยเข้ารีตและหากผู้คนหันไปนับถือกันเป็นจำนวนมาก ก็ย่อมหนีไม่พ้นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลในด้านอื่นๆของชาติตะวันตกด้วย ในการรับมือกับอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงแสดงทัศนะเกี่ยวกับความเชื่อที่ไร้เหตุผลในทางศาสนาในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “ทรงคัดค้านข้อความบางข้อในพระคัมภีร์ไบเบอล”  ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์ของพระองค์ ดังที่ทรงวิจารณ์เนื้อหาบางตอนในพระคัมภีร์ไบเบิลทำนองประชดประชันออกขำๆว่า

“แลคนลางคนเขาก็ว่าอยู่ว่า เมื่อพระเจ้าโปรดโนอาแลครอบครัวของโนอาให้ทำเรือกำปั่นหนีน้ำวินาศ ถ้าครั้งนั้นจะโปรดให้ทำจักรกลไฟแลหางเสือถือท้าย และวิชาวัดลองชิตูดลัดติตูดได้ก็จะดี โนอาจะได้ใช้จักรไปเที่ยวดูค่างโน้นดูค่างนี้ แลเรือตกอยู่ที่ไหนจะได้รู้  น้ำลดแล้วฤา ยังจะได้รู้  จะไม่ต้องปล่อยกาปล่อยพิราบ อย่างว่าในหนังสือไบเบอลนั้นเลย...

ลางคนว่าอีกว่าผู้ที่มีความเชื่อมั่น ด้วยน้ำใจบริสุทธิ์ในสาศนาพระเยซูคฤสต์ ได้โปรดคนง่อยให้หายก็ไม่รู้ว่ากี่คน ได้โปรดคนเสียจักษุได้ลืมตาขึ้นเปนปรกติก็ไม่รู้ว่าเท่าไร ได้โปรดคนโรคเรื้อนให้หายก็มาก จนคนตายก็ว่าให้เปนคืนขึ้นได้ก็มี ก็ความอัศจรรย์อย่างนี้ มีในหนังสือใบเบอลทอดท้ายเปนหลายแห่ง ก็ผู้ที่เชื่อในสาศนามั่นคง เปนผู้ถวายตัวถวายชีวิตรแก่สาศนา ในทุกวันนี้ที่เปนโรคเรื้อนเองก็มี เปนลมอำมพาธเป็นง่อยก็มี ไม่อยากให้กันตายเสียดายกันนักก็มีเห็นอยู่ชัดๆ เถียงไม่ได้ ก็เมื่อตัวเองยอมรับว่าตามแต่น้ำพระไทยพระเปนเจ้าแล้วก็ยกไว้ คนอื่นที่เขาเข้ารีตเข้าเชื่อถือใหม่ๆ ผู้เปนครูสอนถ้าโปรดให้พ้นโรคเรื้อนโรคง่อย แลพ้นความตายให้เห็นจริงได้สัก 2-3 รายแล้วป่านนี้มิมีคนเข้าสาศนาด้วยหมดทั้งโลกย์แล้วฤา ก็การหาเปนได้ดังนั้นไม่ คนซื่อๆ ซึ่งไม่ได้พึ่งพาอาไศรยสาศนานั้น จึงไม่สงไสยในหนังสือใบเบอลว่าจะเปนเช่นท่านว่านั้นเลย”                                     

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการเผยแพร่ศาสนาของตะวันตก

จากความข้างต้นสามารถตีความได้ว่า พระองค์ทรงเริ่มตระหนักหรือเห็นเค้าลางของความรู้ที่เรียกว่าปรัชญาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ นั่นคือความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่พัฒนาก้าวหน้าเป็นเส้นตรง (unilinear progress) โดยเฉพาะข้อคิดเกี่ยวกับเรื่อง พระเจ้าโปรดโนอา เพราะในครั้งที่ยังทรงผนวชอยู่ พระองค์ก็ทรงได้เรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ปฏิทินสากล” หรือที่พระองค์ทรงกล่าวถึงว่า “ยูนิเวอสัล คาเลนดา คือ ปฏิทินสำเร็จ (สำหรับใช้ได้ทั่วไป) ในสตันดาดดิกชันนารี”  แล้วด้วย

และจากการที่พระองค์ทรงสามารถวิจารณ์ความไร้เหตุผลและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ในพระคัมภีร์ไบเบิล พระองค์จึงทรงกล้าที่จะวิจารณ์และชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งในพระคัมภีร์ไบเบิลและทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงมิสเตอ และมิสซิซ เอ็ดดีผู้มีความประสงค์จะเผยแพร่ศาสนาคริสต์แก่ราษฎรชาวสยามว่า

“ท่านจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าพูดจริงปราศจากข้อความใด ๆ ซึ่งใกล้กับความเท็จ หรือเคลือบคลุมเป็นต้น เพราะความสัตย์ย่อมเป็นสิ่งสำคัญในศาสนาทั้งสิ้นในโลก .....เพราะฉนั้นข้าพเจ้าขอกล่าวตามความจริงที่อยู่ในใจข้าพเจ้า ข้อความในจดหมายของท่านมักกล่าวถึงความน่าพิศวง แลน่าชมแห่งคุณสมบัติของมิสเตอร์แมตตูนแลมิสเตอร์ เอส. อาร์. เฮาส์  เพื่อให้เป็นเครื่องนำความอัศจรรย์ใจให้เกิดแก่ข้าพเจ้า ซึ่งอาจเป็นทางเบื้องต้นชักจูงให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนไปถือคริสตศาสนาโดยง่าย แต่คำพูดเช่นนั้นมิชชันนารีทุกคนได้พูด แลบรรยาย ณ ที่มามากแล้วกว่าที่ท่านกล่าวพูดซ้ำเล่าจนกลายเป็นของชินหูเพราะไทยเรารู้แน่แล้วว่า การเผยแพร่ของชาวเมืองคริสเตียนนั้นได้กระทำโดยประการที่เคยนำคริสตศานาไปสั่งสอนชาวป่า แลชาวประเทศมิลักขะได้ง่ายดายตามวิธีของโคลัมบัสเป็นต้น อนึ่งพวกมิชชันนารีผู้มีความรู้ทางศาสนาดังกล่าวแล้ว ไม่มีตำแหน่งที่จะหาเลี้ยงชีพในเมืองมารดาของตนโดยวิชาที่มีอยู่ เพราะว่าทีนักเทศน์แลครูสอนศาสนาวิธีเดียวกันมากเกินกว่าจำนวนวัดที่มีในประเทศคริสเตียนทั้งหมด จึงต้องดำเนินการหาเลี้ยงชีพด้วยอาศัยรับเงินของผู้มีใจกอปร์ด้วยปราณียอมสละง่าย ซึ่งผู้จ้างบันดาลให้มีความยินดี ยอมเสียเงิน เพื่อให้มีผู้นำศาสนาที่นับถือของตนไปเทศน์สั่งสอนในเมืองอื่น ๆ ซึ่งตนเห็นว่าราษฎรอยู่ในความมืดมนไร้ปัญญาคือความสว่าง แต่คนมีปัญญาเช่นข้าพเจ้า แลคนอื่นที่มีความรู้ทราบดีแล้วว่า คริสตศาสนาเป็นแต่การงมงายเชื่อลัทธิโบราณของพวกยิวผู้ใกล้จะเป็นมิลักขะ แต่ว่าได้มีผู้นำเข้าไปแพร่หลายในยุโรป ก่อนแสงสว่างแห่งความรู้อันไม่มีข้อสงสัยคือวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นในยุโรป..... เราติดต่อกับมิตรชาวยุโรป แลอเมริกันกฏเพื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์แลศิลปศาสตร์.....เราทราบแล้ว่ามีคนเป็นอันมากซึ่งรอบรู้วิชาแลเป็นอาจารย์ในวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ..... พวกนี้ติฉินแลปฏิเสธทุกข้อที่กล่าวไว้ในไบเบอล แลแสดงว่าไม่เชื่อถือเลย ขอท่านอย่ามัวกังวลเขียนแนะนำมาในเรื่องเช่นนั้น ถ้าข้าพเจ้าเชื่อลัทธินั้น ข้าพเจ้าก็คงอยู่ในศาสนาคริสเตียนเสียก่อนที่ท่านได้ยินนามข้าพเจ้าแล้วกระมัง .....ข้าพเจ้ากล่าวโดยจริงใจว่า  ข้าพเจ้าขอบใจท่านมาก ในการที่ท่านปรารถนาให้ข้าพเจ้ามีความสุขทั้งภายในและภายนอก ..... แต่ข้าพเจ้ารับทำตามคำแนะนำของท่านไม่ได้ เพราะความเชื่อของข้าพเจ้ามีว่า ธรรมะแลคุณความดีโดยกิริยาแลใจ อันเป็นน้ำเนื้อของศาสนาทั้งปวงทั่วโลกนั้น เป็นทางถูกต้องที่จะได้รับสุขนิรันดร.....ที่นี่มีผู้ดีหลายคนซึ่งแต่ก่อนได้เชื่อในเรื่องสร้างโลก แลโลกสัณฐานตามตำราของพราหมณ์ ซึ่งคนแต่งหนังสือพุทธศาสนาครั้งโบราณได้นำเข้ามาไว้เป็นลัทธิในพุทธศาสนา โดยไม่รั้งรอผู้รู้อย่างเก่าของเรานั้น ..... การทำนายในเรื่องเยซูตามคำกล่าวของผู้ทายทั้งสิ้น ผู้มีความรู้เหล่านี้ไม่มีใครเชื่อเลย โปรดอย่าต้องลำบากเพื่อชักจูงเราให้เชื่อในลัทธินั้น เราไปฟังคำบรรยายเป็นอันมากจากพวกมิชชันนารีซึ่งอยู่ที่นี่ ..... คัมภีร์ไบเบอลแลอรรถกถาต่างๆ ก็ได้เคยอ่านมามากแล้ว.....ท่านอย่าเสียใจหรือโกรธข้าพเจ้าในเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วถึงข้อความในเรื่องศาสนา ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนั้นเพราะข้าพเจ้าไม่เต็มใจให้ท่านลำบากในการพยายามชักชวน ซึ่งคงจะไม่เป็นผลสำเร็จได้เลย .... (ที่เน้นทั้งหมด เป็นของโดยผู้เขียน)”

ข้อความข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีระเบียบวิธีคิดและโลกทัศน์สมัยใหม่ (modern) ที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์ตามแนวคิดตามกระแสของยุคสมัยที่เรียกว่า “ยุคเรืองปัญญา” (The Age of Enlightenment)   ของตะวันตกที่พระองค์ทรงเรียกว่า “แสงสว่างแห่งความรู้อันไม่มีข้อสงสัยคือวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นในยุโรป” และด้วยความสนพระทัยในความรู้สมัยใหม่อย่างยิ่ง ทำให้พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในด้านดาราศาสตร์ ทรงสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ล่วงหน้าเป็นเวลาถึง ๒ ปี และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมเชิญทูตฝรั่งเศสและสิงคโปร์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนั้น นอกจากนี้ พระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวิทยาศาสตร์นั้น ยังทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสัตววิทยาสมาคมแห่งสหราชอาณาจักรอีกด้วย

เหตุผลหนึ่งที่ชาติตะวันตกมักใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามายึดครองประเทศอื่นก็คือ ความป่าเถื่อนไม่ศิวิไลซ์ แต่การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาเข้าใจภูมิปัญญาสมัยใหม่ของตะวันตกและสามารถสนทนาตอบโต้วิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุด้วยผลกับชาติตะวันตกได้อย่างเสมอกันนั้นย่อมทำให้ชาติตะวันตกเหล่านั้นไม่สามารถใช้ข้ออ้างดังกล่าวได้ถนัดนัก

แม้ว่าการใฝ่รู้ของพระเจ้าแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ย่อมเป็นประโยชน์โดยตรงต่อตัวพระองค์เอง แต่ก็แยกไม่ออกจากผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะมีใครสามารถบังคับให้พระเจ้าแผ่นดินต้องศึกษาหาความรู้ได้ นอกจากจะเกิดจากตัวพระองค์เอง และจะด้วยความใคร่รู้หรือความห่วงใยเอกราชของบ้านเมือง ก็สุดแล้วแต่จะตีความ