posttoday

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ :BCG Soft Power นำไทยสู่โลก

17 มกราคม 2564

โดย สุวิทย์ เมษินทรีย์

***********************

ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างกล่าวชื่นชมโมเดลเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ที่มีการพัฒนาเนื้อหาหรือเรื่องราววัฒนธรรมของประเทศผ่านภาพยนตร์ ซีรี่ย์ หรือเพลงที่ออกมาตีตลาดทั่วโลก และส่งผลไปสู่การบริโภคสินค้าและบริการจากเกาหลีอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปประเทศเกาหลีจากการฉายซีรี่ย์ หรือยอดขายสินค้าและบริการที่มีวง BTS เข้าไปเป็น Presenter

หรือในกรณีของประเทศญี่ปุ่น ที่เรามักจะพูดกันถึงยุทธศาสตร์ Cool Japan ที่มีการส่งออกวัฒนธรรมผ่านอาหาร การ์ตูนญี่ปุ่น (Anime) หรือเกมส์ออกไปทั่วโลก พร้อมๆกับกระตุ้นการบริโภคสินค้าในเวลาเดียวกัน จนท้ายที่สุดก็ดึงคนเหล่านี้ให้เข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง (ดูได้จากการที่นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ใส่ชุดมาริโอ้ในงานเปิดตัวว่าประเทศญี่ปุ่นจะเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน Olympic ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา) ซึ่งหลายท่านเรียกว่าการสร้างเศรษฐกิจจาก “Soft Power” ของประเทศ

สำหรับประเทศไทยเอง เศรษฐกิจสร้างสรรค์นับว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้คนเป็นอย่างมาก เพราะประเทศของเรามีทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายจำนวนมาก ไม่ว่าจะไปอยู่ในพื้นที่ใด หรือทำอะไร ผู้คนทั่วไปก็สามารถหยิบจับเรื่องราว หรือวัฒนธรรมที่มีอยู่มาเล่า หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา แปลง “คุณค่า” ที่มีสร้างเป็น “มูลค่า” เพิ่มได้ทั้งสิ้น

ซึ่งหากลงในรายละเอียด จะพบว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ที่ประกอบด้วยกว่า 15 อุตสาหกรรม ตั้งแต่งานหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ การพิมพ์ กระจายเสียง ซอฟท์แวร์ โฆษณา ออกแบบ สถาปัตยกรรม แฟชั่น อาหารไทย แพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์นั้น มีสัดส่วนต่อ GDP สูงถึงเกือบร้อยละ 10 ในแต่ละปี และยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาสูงกว่า อัตราการเติบโตของ GDP อีกด้วย อีกทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานกว่า 830,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Knowledge แบะ High Skilled Talents สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

ทว่า ในการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยไปสู่เวทีโลก แบบเดียวกับเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นนั้น ยังมี 4 ประเด็นท้าทายที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกันและผลักดันให้เกิดขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ

1.ค้นหาประเด็นและสร้างสรรค์เนื้อหา

ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมกำหนดประเด็นวัฒนธรรมเป้าหมาย อาทิ อาหารไทย มวยไทย แฟชั่นไทย ภาพยนตร์ไทย หรือแหล่งท่องเที่ยวไทย แล้วนำมาพัฒนาเนื้อหา (Content) ตามประเด็นเป้าหมายที่กำหนดมา เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปต่อยอด พัฒนารูปแบบในการนำเสนอผ่านสื่อ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ได้ โดยรัฐกำหนดเพียงประเด็นหรือกรอบใหญ่ๆ แล้วปล่อยให้ผู้ที่เชี่ยวชาญไปสร้างสรรค์เรื่องราวตามรูปแบบที่ต้องการขึ้นมาเอง

2.พัฒนาทักษะ ขึ้นชั้นระดับโลกและการสร้าง Young  Creative  Talents

ประเทศไทยมีบุคลากรสร้างสรรค์ที่มีฝีมือระดับโลกจำนวนมาก แต่ทำอย่างไรที่จะช่วยให้คนเหล่านี้พัฒนาทักษะ ทั้งการ Upskills/ Reskills/ New Skills ที่จำเป็นในการต่อยอด หรือสามารถจัดการเชิงธุรกิจอย่างเป็นระบบได้ หรือแม้กระทั่งการกระตุ้นให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้เห็นโอกาสในการประกอบอาชีพ หรือสร้างรายได้จากความชอบ ความสร้างสรรค์ที่ตนเองมีอยู่ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่เวทีโลก

3.การยกระดับขีดความสามารถ และเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจ

เมื่อเรามีเนื้อหา หรือเรื่องราวเป็นตัวนำแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาคือเราจะมีแนวทางให้ภาคธุรกิจนำเรื่องราวมาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างไร ไล่ตั้งแต่การรังสรรค์นวัตกรรมผ่าน Creative Business Model การเชื่อมโยงตลาดใหม่ๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Creative Startups) เกิดขึ้นมามากขึ้นด้วย

4.การสร้างระบบนิเวศและพัฒนาย่านสร้างสรรค์

การพัฒนาย่านที่มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และการประกอบธุรกิจจะช่วยให้เกิดคน หรือธุรกิจสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Creative City ของ UNESCO หลายที่ ไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองแห่งอาหาร (Creative City of Gastronomy) เชียงใหม่และสุโขทัย ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองแห่งงานหัตถกรรม (Creative City of Crafts and Folk Arts) หรือแม้แต่กรุงเทพฯ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองแห่งการออกแบบ (Creative City of Design)

ประเด็นที่น่าคิดคือ นอกจากที่เราจะขยายเมืองลักษณะนี้มากขึ้นแล้ว เราจะมีแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาเมืองที่เราได้รับการยกย่องต่อจากนี้ไปอย่างไร ที่จะสามารถสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจสร้างสรรค์ได้อย่างเหมาะสม

ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมาอย่างช้านาน และเมื่อเกิดวิกฤติโควิดในช่วงที่ผ่านมา ก็นับว่าเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่เราจะต้องเริ่มปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้งให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเราจะต้องให้ความสำคัญกับกลไกการขับเคลื่อนใหม่ๆ อย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการรวมพลังทุกภาคส่วนมาร่วมวางแผนยุทธศาสตร์ และร่วมขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง

..หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยความมุ่งมั่น และการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในอนาคตเราจะมี Content ของไทยออกไปตีตลาดโลก และประเทศไทยจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชั้นนำของโลกได้

**ขอขอบคุณ คุณกวิน เทพปฏิพัธน์ ที่เสนอแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านบทความนี้ครับ