posttoday

รัฐสภากับการปรับตัวสู่สังคมดิจิตอล (1)

09 มกราคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************

สังคมโลกนั้นเป็น New Normal แต่รัฐสภาไทยยังไปไม่ถึงไหน

ผู้เขียนเดินเข้าสภาครั้งแรกใน พ.ศ. 2523 ในฐานะผู้ติดตาม ส.ส.กรุงเทพมหานคร ที่ชื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม สังเกตเห็นว่าสภานั้นช่างเต็มไปด้วย “ศักดินา” ส.ส.ทุกคนถูกเรียกว่า “ท่าน” เจ้าหน้าที่รัฐสภากุลีกุจอ “เอาอกเอาใจ” บรรดาท่าน ส.ส.เป็นอย่างดี ต่อมาใน พ.ศ. 2549 ผู้เขียนได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ยังคงได้รับการปรนนิบัติเช่นนั้น จึงเริ่มมาวิเคราะห์ดูว่าวัฒนธรรมแบบนี้เป็นมาอย่างไร

จากการค้นประวัติการก่อตั้งสำนักเลขาธิการรัฐสภา ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรดูจะให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐสภาเป็นอย่างมาก เพราะตัวผู้นำคณะราษฎรคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เข้ามากำกับดูแลสำนักเลขาธิการรัฐสภาด้วยตนเอง นี่คงเป็นสาเหตุประการแรกที่ข้าราชการที่ถูกโอนมาช่วยงานในรัฐสภาต้องทำงานอย่างเข้มแข็ง

อีกประการหนึ่งด้วยวัฒนธรรมของระบบราชการที่เป็นมาอยู่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ยังต้องเพิ่มการเอาอกเอาใจ “เจ้านายพวกใหม่” นี้เป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงแต่เขาจะมาบังคับบัญชาพวกตนโดยตรงแล้ว แต่พวกเขา(คณะราษฎร)ยังสามารถโค่นล้มเจ้านายในสมัยเก่านั้นได้ ข้าราชการเหล่านั้นจึงต้องเกรงกลัวในศักดานุภาพของเจ้านายที่เพิ่งขึ้นมามีอำนาจนี้เป็นอย่างยิ่งด้วย

อีกประการหนึ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดในการสถาปนาระบบ “ศักดินาใหม่” นี้ก็คือ ความต้องการของท่านสมาชิกรัฐสภาทั้งหลาย ที่ส่วนใหญ่ในรัฐสภายุคแรก ๆ มักจะมาจากข้าราชการเก่า โดยเฉพาะท่านที่มาจากระบบราชการ คือสมาชิกวุฒิสภา ที่ยัง “มัวเมา” อยู่ในความกร่าง ความใหญ่โต แม้ว่าในส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในยุคต่อ ๆ มา จะมาจากการเลือกตั้งและมีจำนวนสมาชิกจำนวนมากที่มาจากราษฎรธรรมดา แต่ก็ถูกความเป็นราชการนั้นครอบงำไปในที่สุด จึงยิ่งทำให้การบริหารงานในรัฐสภาเต็มไปด้วยศักดินาอย่างเข้มข้นดังกล่าว

รัฐสภามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยกลุ่มนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ที่เข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ทำการศึกษาวิจัยระบบการบริหารงานของรัฐสภา เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมาชิกรัฐสภา และทำให้รัฐสภาเป็นสถาบันหลักของการสร้างประชาธิปไตยขึ้นในระบบการเมืองไทย จนค้นพบส่วนหนึ่งว่าจะต้องให้สมาชิกรัฐสภามีสต้าฟคือ “คณะทำงาน” ที่เข้ามาช่วยงานให้กับสมาชิกรัฐสภา อันเป็นที่มาของตำแหน่งงานที่เรียกว่า “ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกรัฐสภา” ที่เรียกย่อ ๆ ว่า ผู้ช่วย ส.ส. และผู้ช่วย ส.ว.นั้น

แต่เมื่อนำมาใช้จริง ๆ กลับกลายเป็นว่า บรรดาท่าน ส.ส. และ ส.ว.ได้เอาตำแหน่งผู้ช่วยเหล่านี้ไปจ้างบรรดาลูกหลานและญาติพี่น้องมาอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้กับตัวสมาชิกรัฐสภาคนนั้น ๆ เอง (คือเอาชื่อมาใส่แต่ไม่ต้องทำงาน แล้วสมาชิกรัฐสภาเหล่านั้นก็เซ็นต์รับเงินเอาไปเองทั้งหมด หรือแบ่งให้ผู้ช่วยเหล่านั้นบางส่วน) และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างเครือข่ายบริวาร (ด้วยการเอาไปจ้างบรรดาคนรู้จัก โดยเฉพาะหัวคะแนนและคนที่มีพรรคพวกฝากฝังเข้ามา) จึงทำให้ระบบผู้ช่วยฯนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

ในคราวที่ผู้เขียนเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ท่านอาจารย์ชัยอนันต์ก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วย ท่านได้แนะนำกับผู้เขียนที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุม ติดตามงบประมาณ และรับเรื่องร้องทุกข์ (ชื่อยาว ๆ ประมาณนี้แหละ) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบงานของรัฐสภาในตอนนั้นอยู่ด้วย ให้ช่วยพิจารณาหาหนทางพัฒนาระบบผู้ช่วยสมาชิกรัฐสภานี้ให้รัดกุมและเป็นประโยชน์อย่างที่เคยตั้งเป้าหมายมาแต่แรก(เมื่อ 30 กว่าปีก่อนนั้น)

ซึ่งพอดีกับที่อาจารย์ทศพร ศิริสัมพันธ์ ลูกศิษย์ของท่านก็เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติและอยู่ในคณะกรรมาธิการนี้ด้วย จึงเข้าใจในแนวทางดังกล่าวเป็นอย่างดี อีกทั้งอาจารย์ทศพรก็ยังเป็นผู้วิจัยในเรื่องการพัฒนาระบบงานของรัฐสภามาอยู่ก่อน โดยเป็นผู้นำเสนอในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลจากสำนักงบประมาณมาช่วยการทำงานให้แก่สมาชิกรัฐสภา เพราะหน้าที่อย่างหนึ่งของสภานิติบัญญัตินั้นก็คือการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีนั่นเอง ปัจจุบันทราบว่าระบบนี้ช่วยให้การทำงานของรัฐสภาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร เพียงแต่ว่าคนที่เป็นกรรมาธิการงบประมาณไม่ใคร่ให้ความสำคัญ ยังคงดีแต่ถือ “เตารีด” สุมหัวกันกดดันกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ให้จัดสรรงบประมาณตามที่ “กระสือ” เหล่านี้ต้องการ

ที่เล่าเรื่องของการพัฒนาระบบงานของรัฐสภาในบางด้านมาข้างต้นนั้น ไม่ได้เป็นการที่จะมาตำหนิข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาว่า “ไม่พัฒนา” แต่อย่างใด เพียงแต่อยากชี้ประเด็นให้เห็นว่า ปัญหาของรัฐสภาไทยนั้นเกิดจากนักการเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาเหล่านี้พัฒนาไปไม่ทันโลก ที่สำคัญก็คือความเข้าใจใน “การเมืองสมัยใหม่” ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป เผื่อว่านักการเมืองไทยจะได้ปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอกเขาบ้าง

โลกเขากำลังสู้กับโควิด แต่นักการเมืองไทยแทนที่จะหาทางช่วยประชาชน กลับปิดสภาหนีโควิด

*******************************