posttoday

รำลึกถึง มนูญ ศิริวรรณ

08 มกราคม 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

***************

เมื่อวันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2563 ขณะร่วมประชุมที่กระทรวงพลังงาน มนูญ ศิริวรรณ ในวัย 74 ปี พูดน้อยผิดสังเกต และระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน เกิดอาการภาวะหัวใจล้มเหลว มีผู้พยายามช่วยกู้ชีพและนำส่งโรงพยาบาลวิภาวดี แต่มนูญ ก็จากไปอย่างสงบในวันนั้นเอง

มนูญ เป็นคนหนึ่งที่รู้เรื่องพลังงานดีที่สุด มีข้อมูลรอบด้าน เพราะทำงานคลุกคลีกับเรื่องนี้มายาวนานหลังจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทำงานกับบริษัทเอสโซ่สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่หลังจบการศึกษาจากสาขาวิชาการปกครองคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายค้าปลีก (Retail Sales manager)

และเลื่อนตำแหน่งตามลำดับเป็นที่ปรึกษาฝ่ายค้าปลีก (Retail Advisor) และบุคลากรระดับสูงฝ่ายการตลาด (Marketing Classman) ต่อมาได้ย้ายไปทำงานกับบริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) เมื่อ พ.ศ. 2540 เริ่มจากตำแหน่งผู้อำนวยการขาย และเลื่อนตำแหน่งตามลำดับเป็นผู้อำนวยการอาวุโสสายอุตสาหกรรมและน้ำมันหล่อลื่น เมื่อ พ.ศ. 2546 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อ พ.ศ.2548 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อ พ.ศ.2549

หลังจากนั้นได้ออกไปเป็นประธานกรรมการบริษัทการจัดการธุรกิจจำกัด และแสดงบทบาทเป็นนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน และที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันวิทยาการพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในวัยเกษียณ มนูญ ติดตามเรื่องพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอข้อมูลและความคิดเห็นทั้งการเขียน การพูดในเวทีต่างๆ ทั้งในที่ประชุม สัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และโดยทางสื่อมวลชน

มนูญ มีข้อมูลมากมาย รอบด้าน โดยมีท่าทีเปิดกว้าง รับฟังจากทุกฝ่าย และแสดงออกด้วยท่าทีที่สุภาพ อดทน ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนคนไทยอย่างแท้จริง แม้บางครั้งจะถูกใส่ร้าย โจมตีด้วยถ้อยคำรุนแรง มนูญก็จะตอบโต้อย่างสุภาพด้วยข้อมูลและเหตุผลที่หนักแน่นเสมอ มนูญจึงได้รับความไว้วางใจในคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพลังงานหลายคณะ จึงแม้ในวัยชราที่สังขารถูกรุมเร้าด้วยโรคภัยไข้เจ็บก็ยังทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง จนวันสุดท้ายของชีวิตก็ยังไปร่วมในเวทีประชุมเรื่องพลังงาน

ผู้เขียนรู้จักกับมนูญตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษาโดยร่วมอยู่ใน “กลุ่มนิสิตนักศึกษาบูรณะชนบท” ซึ่งเป็นที่รวมของนิสิตนักศึกษาหลากหลายสถาบัน งานสำคัญคือการทำค่ายอาสาพัฒนาที่บ้านห้วยหวาย ต.หัวปลวก อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวไทยวน (ตามคำแนะนำของอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์)

ค่ายอาสาพัฒนาแห่งนั้น มีเอกลักษณ์สำคัญคือการมุ่งทำงานพัฒนาระยะยาว และเป็นค่ายที่มุ่ง “หล่อหลอม” ความคิดเพื่อสังคมและประเทศชาติ จึงนอกจากงานโยธาและการเข้าหาประชาชนในชุมชนในเวลากลางวันแล้ว ตกเย็นหลังอาหาร จะมีเวลาอภิปรายถกเถียงทั้งเรื่องงานของค่ายและปัญหาบ้านเมือง จบลงด้วยการร้องเพลงคลอเสียงกีตาร์ ค่ายแห่งนี้จึงเป็นทั้งค่ายอาสาพัฒนา ค่ายความคิด ค่ายฝึกการอภิปรายถกเถียงโดยไม่ลืมเรื่องศิลปวัฒนธรรมเพื่อเชื่อมความรักความสามัคคี และเป็นการพัฒนาอย่างรอบด้านทั้งร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม

เพราะเป็นค่ายที่รวมนิสิตนักศึกษาจากหลากหลายสถาบัน หลายคนที่เติบโตทางความคิดในเวลาต่อมาจึงมีความหลากหลายมาก เช่น พิรุณ ฉัตรวณิชกุล, จรัล ดิษฐาอภิชัย, อัมรินทร์ พัฒนศิริ, ประทีป นครชัย, ชันเกษม ผลชีวิน, สุริชัย หวันแก้ว, สืบศักดิ์ พรหมบุญ, บำรุง ปรมาธิกุล, พรชัย ชินวัตร, ปราโมทย์ บันสิทธิ์

งานของกลุ่มนิสิตนักศึกษาบูรณะชนบท เป็นงานหล่อหลอมความคิด และทักษะการทำงานนอกห้องเรียนที่สำคัญ โดยมุ่งแนวทาง “การบูรณะ” หรือ “การพัฒนา” ประเทศตามกระแสของรัฐบาลตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ก่อกำเนิดและเติบโตต่อมาคือ แนวคิดทางการเมืองที่เดินแนวทางเสรีนิยม ประชาธิปไตย เป็นจุดตั้งต้น

งาน “การเมือง” เรื่องแรกคือการต่อต้านการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ จาก 50 สตางค์ เป็น 75 สตางค์ ซึ่งพวกเรามองกันว่าเป็นการขึ้นราคาที่สูงมาก ถึง 50% กระทบต่อคนยากจนและรายได้น้อยรวมทั้งนิสิต นักศึกษา พวกเราถกเถียงเรื่องนี้กัน “หน้าดำคร่ำเครียด” และตกลงใจเดินไปพบหนังสือพิมพ์คือหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ได้พบบรรณาธิการและบางท่านในกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ลงเป็นข่าวหน้าหนึ่งพร้อมถ่ายรูปนิสิตนักศึกษา 3 คนที่ประกาศคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารและ “ท้า” ผู้เกี่ยวข้องออกมาโต้กันทางโทรทัศน์ นิสิตนักศึกษา 3 คนนั้น มีมนูญ ศิริวรรณ, ประทีป นครชัย และผู้เขียน

ข่าวนั้นสร้างกระแสได้พอสมควร แต่ที่ทำให้มีผลอย่างชัดเจนคือ หลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ได้วันเดียว ก็มีการชุมนุม “ไฮด์ปาร์ค” ที่สนามหลวงโดยประเด็นหลักก็คือ การคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ หลังการชุมนุมได้พักใหญ่ ก็มีการเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชูป้ายคัดค้าน เดินผ่านสนามหลวงไปตามถนนราชดำเนิน ผู้ชุมนุมที่สนามหลวงก็พากันเดินตามขบวนไปด้วย มีตำรวจคอยกั้นเป็นระยะๆ จุดแรกคือที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และจุดที่มีแผงเหล็กและตำรวจตั้งแนวกั้นแน่นหนาคือที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งเป็นสะพานประวัติศาสตร์ครั้งนิสิต นักศึกษา และประชาชน เดินขบวนคัดค้านการเลือกตั้งสกปรกเมื่อ พ.ศ. 2500 จนเกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้เดินขบวนกับทหารที่บริเวณสะพานแห่งนั้น และเกิด “วีรบุรุษมัฆวาน” คือ ร.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ที่สั่งการมิให้ทหารยิงประชาชน

การเดินขบวนเมื่อ พ.ศ. 2511 ก็ “หวั่นๆ” ว่าจะเกิดความรุนแรง เพราะตำรวจเตรียมขัดขวางชัดเจน ฝ่ายเดินขบวนก็แสดงความมุ่งมั่นจะต้องฝ่าแนวขวางกั้นไปให้ได้ ผลที่สุดฝ่ายนิสิตนักศึกษาประชาชนก็ฝ่าแนวกั้นไปได้โดยช่วงเวลานั้นน้ำในคลองแห้งขอด ประชาชนจึงเดินข้ามคลองตาม 2 ข้างสะพานไปได้ ตำรวจเห็นเช่นนั้นจึงยอมเปิดแนวขวางกั้น แล้วถอยไปตั้งรับที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ขบวนมุ่งไปปักหลักชุมนุมที่นั่น

ตำรวจ “แสดงพลัง” โดยการแปรขบวน ขณะที่ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ขึ้นไปบนหลังคารถตำรวจพูดผ่านเครื่องขยายเสียงให้นิสิต นักศึกษา ประชาชน สลายการชุมนุมกลับบ้าน แต่ไม่มีใครฟัง มีแต่เสียงตะโกนโต้แย้ง วิพากษ์วิจารณ์ และไม่มีท่าทีว่าจะยอมโอนอ่อน

พักใหญ่ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลได้มาปราศรัยกับ ผู้ชุมนุมด้วยตนเอง พล.ต.อ.ประเสริฐ มีวาทศิลป์และภาวะผู้นำชัดเจน เริ่มทักทายด้วยการแสดงความเป็นมิตรกับนิสิตนักศึกษา อ้างถึงการ “รับ” ไปเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำให้มีความคุ้นเคยและรู้ดีถึงความเดือดร้อนของนิสิตนักศึกษา ขณะปราศรัยมีเสียงพูดสอดแทรกจากผู้ชุมนุมเป็นระยะๆ แต่ พล.ต.อ.ประเสริฐ ใช้ท่าทีที่สุภาพขอให้รับฟังและรับปากจะนำความเดือดร้อนของประชาชนไปปรึกษาหารือ โดยไม่รับปากว่าจะลดราคาค่าโดยสารลงมาเท่าเดิม แต่แสดงให้ผู้ชุมนุมเชื่อมั่นได้ว่าจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้

เป็นการ “แสดงออก” อย่าง “ผู้ใหญ่” ที่รับฟัง แม้ไม่ “รับปาก” อย่าง “ง่ายๆ”

ในที่สุดผู้ชุมนุมก็มีท่าทียอมรับฟังและค่อยๆ ทยอยกลับบ้านตอนตะวันชิงพลบแล้ว

ผู้เขียนประทับใจในลีลาและการแสดงออกของ พล.ต.อ.ประเสริฐ อย่างมาก และจดจำมาได้จนทุกวันนี้ พวกเราถกเถียงกันว่า รัฐบาลจะยอมลดราคาค่าโดยสารรถเมล์ลงมาหรือไม่ หลายคนไม่เชื่อว่าจะลดราคา เป็นการ “รับปาก” เพื่อสลายการชุมนุมเท่านั้น แต่ผู้เขียนอยู่ในฝ่ายเชื่อว่ารัฐบาลจะลดราคาเพราะผู้รับปากเป็นผู้ใหญ่ระดับสูงมากในรัฐบาล และท่าทีกับน้ำเสียงก็ส่อว่าจะยอม “ถอย” ที่ไม่รับปากชัดเจนก็เพื่อมิให้เกิดปัญหา “ได้คืบจะเอาศอก” เพิ่มข้อเรียกร้องต่อไปอีก

ต่อมาไม่กี่วัน ค่าโดยสารก็ลดลงมาเหลือ 50 สตางค์เท่าเดิม และเรื่องค่าโดยสารรถเมล์ในกรุงเทพฯ ก็กลายเป็นประเด็นทางการเมืองเรื่อยมา

พวกเรา คือ มนูญ ผู้เขียนและเพื่อนๆ เชื่อว่าการลดราคาค่ารถเมล์ครั้งนั้น ผู้มีส่วนสำคัญคือ ผู้ “ก่อการ” เดินขบวนจากธรรมศาสตร์นั่นเอง ซึ่งพวกเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “วีรกรรม” ครั้งนั้นเลย การไปที่หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยของมนูญและพวกเรา อาจมีส่วนบ้างก็คงน้อยมาก และพวกเราส่วนมากก็คงลืมเรื่องนี้ไปหมดแล้ว การจากไปของมนูญทำให้ผู้เขียนนึกถึงความหลังครั้งนั้น

ขอให้ดวงวิญญาณของมนูญจงไปสู่สุคติในสัมปรายภพเทอญ

********************