posttoday

 ความคาดหวังของประชาชนในปี 2564

07 มกราคม 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ 

********************

เป็นการคาดหวังให้พอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป หรือเกินความเป็นจริง ความเป็นไปได้

เป็นการสะท้อนความกังวลของประชาชน และความคาดหวังต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับเลือกให้บริหารประเทศเพื่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย การกินดีอยู่ดีของประชาชน คาดหวังที่จะให้บริหารจัดการภัยคุกคาม ความเสี่ยง ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ประชาชนคาดหวังที่จะให้รัฐบาลแก้ความกังวลในปี 2564

ความคาดหวังแรก คือ ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 รอบที่สองให้ได้ การแพร่ระบาดรอบนี้มีแนวโน้มจะรุนแรงกว่ารอบแรก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มจะโงหัวขึ้นมา  ทำให้ต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานขึ้นไปอีกโชคดีที่รัฐและประชาชนมีประสบการณ์และร่วมมือกันอย่างดีในเรื่องนี้มาแล้ว และเรากำลังจะได้วัคซีนมาฉีดให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางก่อนในช่วงแรก และประชาชนทั่วไปในเวลาถัดมา

รัฐบาลบริหารจัดการ ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19 รอบแรกได้ดีจนได้รับคำชมจากองค์การระหว่างประเทศและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เราหวังและให้กำลังใจกับรัฐบาลชุดนี้ในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้แม้ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกว่าเดิม และอาจใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิ,

คนไทยต้องให้กำลังใจรัฐบาล  แม้แต่ฝ่ายค้านก็ต้องให้กำลังใจ ไม่ใช่ดีอกดีใจและฉวยโอกาสโจมตีรัฐบาล และควรเสนอแนะในทางที่เป็นบวก อย่าไปตามอเมริกันที่บ้าเรื่องสิทธิเสรีภาพ จนกลายเป็นประเทศที่มีคนตายและคนติดเชื้อมากที่สุดในโลก

เพราะหากตาย ก็ไม่มีโอกาสได้ใช้สิทธิเสรีภาพ ต้องเอาชีวิตให้รอดก่อน เพื่อใช้สิทธิเสรีภาพ

รัฐบาลต้องฟังข้อเสนอแนะของคุณหมอทั้งหลาย ขณะเดียวกัน ก็ไม่ปิดหูปิดตาต่อข้อเสนอของฝ่ายอื่น พยายามหาจุดสมดุลระหว่างการป้องกัน ระงับยับยั้งการแพร่กระจาย  การลดผลกระทบและ ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนี้

การใช้จ่ายภาครัฐ เป็นเพียงเครื่องยนต์เดียวที่เหลืออยู่ เพราะเครื่องยนต์ที่เหลือดับหมดแล้ว กระทรวงการคลังยืนยันว่า ยังมีเงินเพียงพอทั้งเงินกู้และเงินงบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบสองเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ตามลำดับความสำคัญเร่งด่วน ดังที่เคยทำโครงการต่าง ๆ มาแล้ว ซึ่งได้รับคำนิยมจากคนทั่วไป

เงินช่วยเหลือลงไปถึงมือประชาชนโดยตรง โดยไม่ตกหล่น ไม่เป็นแบบก่อนที่ความช่วยเหลือนี้เหมือนกับไอติมแท่งที่ระหว่างทางโดนนักการเมืองดูดจนเหลือไอติมติดปลายไม้นิดเดียวเมื่อไปถึงประชาชน แต่ครั้งนี้ ไอติมไปถึงมือประชาชนเต็มแท่ง รวดเร็ว ไม่ละลายระหว่างทาง

เงินที่กู้มา  หรือเงินงบประมาณจากภาษีของประชาชน ถ้าลงไปยังประชาชนโดยตรง ไม่ตกหล่นระหว่างทาง หรือไม่มีใครมาดูดเลียไอติม   ประชาชนไม่มีปัญหา เพราะตระหนักถึงเหตุผลและความจำเป็น  

แต่ก็ต้องเฝ้าดูแบบตาไม่กระพริบ แม้นายกรัฐมนตรีคนนี้เป็นคนใจซื่อมือสะอาด แต่ก็ยังมีนักการเมืองหลงยุคที่คอยจ้องงาบอยู่เหมือนกัน

อย่างไรก็ดี  สิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วนเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องและ ความคาดหวังเฉพาะหน้า ของประชาชน คือ เร่งปราบปรามส่วยแรงงานต่างด้าว และส่วยบ่อนการพนันโดยเร็ว  เพื่อลดความหงุดหงิดของประชาชน เพราะโควิดระบาดครั้งที่ 2 มาจากแรงงานต่างด้าวที่ไม่ผ่านจุดคัดกรองและบ่อนการพนัน รัฐบาลต้องเร่งกวาดล้างเจ้าหน้าที่ที่หากินกับสองเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด

อีกทั้งเป็นไฟต์บังคับที่ทำให้ประชาชนเรียนรู้การสื่อสารผ่านระบบดิจิตัลได้อย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่รัฐก็ได้เรียนรู้การทำงานจากบ้าน การประชุมผ่านระบบวิดิโอได้เร็วขึ้น

เมื่อถึงคราวลำบาก เราต้องช่วยกันและฟังบรรดาคุณหมอทั้งหลาย  แม้เจ็บบ้างแต่ “เจ็บแล้วจบ“ เช่นครั้งแรก  ประชาชนก็พร้อมร่วมมือ

ความคาดหวังที่สอง คือ การฟื้นฟูเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ  ที่ก่อนการระบาดครั้งที่ 2 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นทีละน้อย  หรือเลวน้อยลง และคาดว่า จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นในปี 2564 (บนฐานที่ต่ำมากในปี 2563 แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยสองสามปีกว่าจะเท่ากับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิดทั่วโลก ) ที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้น สถานการณ์การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ทำรายได้หลักเข้าประเทศดีขึ้น ที่คิดว่าจะค่อย ๆ เปิดประเทศ และจะเปิดได้เต็มที่ในไตรมาส 4 ของปี 2564 คงต้องเลื่อนไปอีก ในเมื่อภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันจัดการกับวิกฤตินี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศคงค่อย ๆ ดีขึ้น ทั้งนี้บนสมมติฐานที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกันหมด

ความคาดหวังที่สามคือ อยากเห็นการเมืองปี 2564 มีเสถียรภาพ การเมืองจะมีเสถียรภาพได้ รัฐบาลก็ต้องมีเสถียรภาพ รัฐบาลจะมีเสถียรภาพได้ก็เพราะเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ คนไทยมีกินมีใช้ นักลงทุนต่างประเทศอยากมาลงทุนในประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง ทูตไทยในต่างประเทศต้องใช้ “การทูตเชิงเศรษฐกิจ”คอยอธิบายให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจว่า การเมืองไทยมีเสถียรภาพ และให้เงื่อนไขที่ดีกว่า  เขาถึงสนใจจะมาลงทุน รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเที่ยวเมืองไทยอีก

แม้พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ม็อบต่าง ๆ บนถนนจะเรียกร้องสามเวลาหลังอาหารให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีลาออก แต่จากผลการสำรวจความเห็นของประชาชนโดยโพลล์สำนักต่าง ๆ มีผลตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศต่อไป ทิ้งคู่แข่งคนอี่นห่างมาก

สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องของบ้านเมืองนั้น “ความเป็นผู้นำ”  ที่ฝรั่งเรียกว่า ลีดเดอร์ชิพ มีความสำคัญต่อการบริหารประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในวิกฤติ  เราต้องการผู้นำของสามารถทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ในยามบ้านเมืองวิกฤติ เราต้องการผู้นำอย่างหนึ่ง แต่ผู้นำยามวิกฤติไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำที่ดียามบ้านเมืองสงบเรียบร้อยก็ได้

การที่ ส.ส.คนหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลยก พล.อ.ประยุทธ์  ไปเปรียบเทียบว่าคล้ายกับ วินสตัน เชอร์ชิล  นายกรัฐมนตรีอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่สองที่สามารถรักษาเกาะอังกฤษไว้ได้จนสัมพันธมิตรได้ชัยชนะเหนือเยอรมนี แบบนี้ก็มากไป ( ที่น่าสนใจ  เมื่อการเมืองกลับเข้าสู่สภาพปกติหลังสงคราม เชอร์ชิลแพ้โหวตในสภาต้องลาออก แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เหมาะในสถานการณ์หนึ่ง อาจไม่เหมาะกับอีกสถานการณ์หนึ่ง )

สำหรับการเมืองในสภาพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงข้างมากเด็ดขาด ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านมีปัญหาแตกแยกภายใน และคะแนนนิยมลดลง มีการประเมินว่า หากรัฐบาลไม่ทำเรื่องเสียหาย การเมืองในปี 2564 ก็คงไม่วุ่นวายอะไร ยกเว้นว่ารัฐบาลทำเร่องขึ้นมาเอง

ความปรองดองสมานฉันท์ต้องถือเอาผลประโยขน์ของชาติและของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่ปรองดองสมานฉันท์เพียงพิธีการและระหว่างนักการเมืองเท่านั้น   

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนคาดหวังว่า นักการเมืองจะฟังเสียงประชาชนซึ่งเป็นองค์อธิปัตย์ หรือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อย่าลืมว่า  ประชาชนเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นักการเมืองต้องถามประชาชนก่อนทำประชามติว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการแก้ไขหรือไม่ แก้ไขตรงไหน เมื่อแก้ไขแล้วก็ต้องถามองค์อธิปัตย์อีกครั้งว่าเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร  ไม่ใช่ฉวยโอกาสว่าเมื่อประชาชนเลือกเป็นตัวแทนในสภาแล้ว จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ใส่ใจกับความต้องการและความรู้สึกของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเป็นองค์อธิปัตย์แต่อย่างใด

ส่วน การเมืองนอกสภา นั้น ประชาชนอยากขอร้องบรรดาม็อบทั้งหลายว่า  ในปี 2564  ขอให้ก่อม็อบน้อยลงบ้างได้ไหม เพราะประชาชน โดยเฉพาะคน กทม.เบื่อหน่ายม็อบพวกนี้เต็มทีแล้ว อีกทั้งม็อบ “ สร้างความแตกแยก” ซึ่งถือว่าเป็นอนันตริยกรรม การจะขอให้แกนนำเลิกก่อม็อบคงเป็นไปไม่ได้  แต่อย่าให้ประชาชนเดือดร้อนได้ไหม  อย่าสร้างความความสามัคคีในหมู่ประชาชนคนไทยอย่าดูถูก “พลังเงียบ” ที่ยังไม่ออกมา แกนนำม็อบควรเกรงใจประชาชนบ้าง แต่ควรใช้เวลาที่เหลือเดินสายขึ้นศาลตลอดทั้งปี

การที่สะท้อนความต้องการของประชาชนที่คาดหวังให้นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมถึงม็อบคิดถึงผลประโยชน์ของชาติมากกว่าพรรคและบุคคล คงไม่เป็นการคาดหวังที่มากเกินไป