posttoday

เสรีภาพทางวิชาการ 

04 มกราคม 2564

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร     

*********************

เสรีภาพทางวิชาการจะมีความหมายแน่แท้อย่างใด ผมไม่ทราบ แต่เชื่อว่ามันคงมีความหมายแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคนหรือแต่ละสังคมและแต่ละยุคสมัย แต่สำหรับผม เสรีภาพทางวิชาการมีทั้งความเหมือนและความต่างกับเสรีภาพในการพูด-คิดหรือแสดงออก เสรีภาพในการพูดและแสดงออกนั้นมีนัยที่กว้างกว่าเสรีภาพทางวิชาการ พูดง่ายๆก็คือ เสรีภาพทางวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการพูด-คิดหรือแสดงออก ขณะเดียวกัน เสรีภาพทางวิชาการไม่ได้หมายความว่า นักวิชาการเท่านั้นที่มีเสรีภาพนี้ เพราะคนที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการก็มีเสรีภาพทางวิชาการได้  ขณะเดียวกัน สิ่งที่นักวิชาการแสดงออกก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นวิชาการเสมอไปด้วย  พูดง่ายๆก็คือ บางครั้ง การที่นักวิชาการใช้เสรีภาพ อาจจะเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก โดยเนื้อหาที่แสดงออกมานั้นไม่ได้สามารถเรียกได้ว่าเป็นเนื้อหาและวิธีการที่เป็น “วิชาการ” และบางครั้ง การที่คนที่ไม่ใช่นักวิชาการใช้เสรีภาพ ก็อาจจะเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการก็ได้

อย่างที่มีคนไปแสดงความรักต่อกันในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือกิริยาท่าทาง เห็นได้ชัดว่า นั่นเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งในแต่ละสังคมก็มีบรรทัดฐานต่อขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงออกแตกต่างกันไป และยิ่งในสังคมยุคโลกาภิวัตน์แล้ว ยิ่งยากที่จะบอกได้ว่า  เกณฑ์อันไหนถูกอันไหนผิด เพราะบรรทัดฐานมันข้ามพรมแดนกันยุ่งขิงไปหมด ไม่ต่างจากวัฒนธรรม ที่ทุกวันนี้ ยากที่จะชี้ว่า อันไหนเป็นวัฒนธรรมของแท้ และอะไรคือวัฒนธรรมประจำสังคมหรือประจำชาติ ยิ่งในพื้นที่ในโลกสื่อสมัยใหม่แล้ว มันก็ยิ่งยุ่งขิงไปหมด จะหาบรรทัดฐานก็คงยากกว่าใน “สังคมที่เจอตัวกัน” เพราะในสังคมที่เจอตัวกัน มันมีขอบเขตของมันเสมอ นั่นคือ มันมีพื้นที่จำกัดและมีคนจำกัด  และในพื้นที่ที่จำกัดและคนจำกัด คนในพื้นที่นั้นก็สามารถบอกหรือสร้างหรือกำหนดขอบเขตของเสรีภาพขึ้นมาได้ แต่สิ่งที่พวกเขา (จำนวนหนึ่ง) กำหนดภายใต้พื้นที่ (ขนาดหนึ่ง) ณ เวลานั้นๆ  ย่อมไม่สามารถจะขยายไปครอบคลุมคนอื่นๆในพื้นที่อื่นและเวลาอื่นได้ ต่อให้ใช้อำนาจรัฐ อาจจะสามารถควบคุมสังคมที่เจอตัวกันได้  แต่สังคมเจอตัวมันก็มี “จำนวนคนหนึ่งๆ” “พื้นที่หนึ่งๆ” และ “เวลาหนึ่งๆ” จำกัดอยู่เสมอ   แต่สำหรับโลกหรือพื้นที่ในสื่อสมัยใหม่ คงยากที่จะควบคุม

จากการแสดงความรักต่อกันในที่สาธารณะข้างต้น หากมีผู้คนนำไปถกเถียงกันโดยพยายามใช้เหตุผลหรือชุดความคิด ชุดจริยธรรม ศีลธรรม จารีต ฯลฯ และพยายามตัดสินว่า ขอบเขตมันควรอยู่แค่ไหนและอย่างไร ? ในลักษณะของข้อเสนอเพื่อการหารือถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปที่พอเป็นไปได้หรือถ้าหาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็เสวนากันต่อไป อย่างนี้ เรียกได้ว่า เป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า คนที่ไม่ใช่นักวิชาการก็สามารถแสดงออกทางความคิดผ่านการพูดหรือเขียนในลักษณะนี้ได้

แต่ถ้าแสดงออกในแบบว่า “ข้าจะทำ มันเป็นเรื่องของข้า ข้ามีเสรีภาพ มันหนักกระบาลใคร ?” ถ้าพูดออกมาแค่นี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและพูด ซึ่งเห็นได้ชัดว่า คนที่เป็นนักวิชาการก็อาจจะเข้าข่ายนี้ก็ได้ หากแสดงออกเพื่อจะยืนยันในสิ่งที่ตนเชื่อโดยไม่ฟังเหตุผลของคนอื่นหรือเหตุผลในแบบอื่น

แต่เรื่องเหตุผลนี่มันก็พูดยาก เพราะเหตุผลบางชุดมันปิดประตูตายสนิท เพราะมันตั้งฐานคิดไว้ แล้วก็ขยายความจากฐานคิดนั้นจนยากที่จะพิสูจน์ผิดได้ เว้นเสียแต่จะบอกว่า ฐานคิดที่ตั้งไว้นั้นมันผิด เช่น หลักการบางชุดมันมีฐานคิดว่า “ธรรมชาติมนุษย์แสนจะก้าวร้าวและเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวอย่างรุนแรง” และจากฐานคิดนี้มันก็ต่อยอดไปจนลงเอยว่า จะต้องมีการสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จมาควบคุมพฤติกรรมของคน ไม่ว่าคนจะสร้างอำนาจนั้นขึ้นมาเอง เพราะตระหนักถึงธรรมชาติของตน แล้วกลัวจะรบราฆ่าฟันกันเองจนไม่เหลือชีวิตให้เห็นแก่ตัวได้ต่อไปอีก  หรือจะเป็นคนบางกลุ่มที่คิดและเชื่ออย่างนั้น แล้วสร้างอำนาจขึ้นมาควบคุมคนหมู่มากก็ตาม  ในขณะที่หลักการบางชุดมีฐานคิดว่า “ธรรมชาติมนุษย์นั้นมิได้ก้าวร้าวอะไรมากนัก และไม่ได้เห็นแก่ตัวอย่างรุนแรง” จากฐานคิดนี้มันก็ต่อยอดไปจนลงเอยว่า อำนาจรัฐจำเป็นต้องมี เพราะคนไม่ได้ดีเลิศประเสริฐศรีโดยธรรมชาติ แต่ไม่จำเป็นถึงกับต้องเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ เอาแต่เบาะๆ คนก็อยู่กันได้แล้ว ถ้ามากไปก็กลับจะกระทบกระเทือนการอยู่ดีกินดีของมนุษย์เสีย

หลักการทั้งสองชุดนี้สมบูรณ์ถูกต้องในตัวเอง จะไปวิพากษ์วิจารณ์แลกเปลี่ยนตรงไหนก็ยาก ยกเว้นเสียแต่จะจี้ไปที่ “ฐานคิด” แต่เมื่อลงไปที่ฐานคิด ก็อาจจะลงเอยว่า “ข้าเชื่ออย่างนี้ มันเป็นความจริง มันเป็นเรื่องของข้า ข้ามีเสรีภาพ มันหนักกระบาลใคร  แต่การที่เอ็งไม่เชื่อมันหนักกระบาลข้าหวะ ?” แล้วการใช้เสรีภาพที่ดูเหมือนจะเป็นเสรีภาพทางวิชาการก็อาจจะลงเอยเป็นเสรีภาพในการแสดงออก หรือเสรีภาพในการนับถือศาสนาความเชื่อไปเสีย

แต่ที่ผ่านมา จะพบว่า คนที่เชื่อในหลักการแต่ละชุดที่ว่านี้  ก็พยายามหาเหตุผลตัวอย่างมาหักล้างกันอยู่เสมอ พูดง่ายๆก็คือ แทนที่จะแต่ละฝ่ายจะเลิกคุยกันแล้วก็เทศนาแต่ในหลักของตน ก็กลับยังมี “บทสนทนา” กันอยู่  เช่น คนที่เชื่อเรื่องธรรมชาติมนุษย์ก้าวร้าว ก็อุตส่าห์ไปศึกษาวิจัยทางชีววิทยาเพิ่มเติมจนพบว่า มันมีประจักษ์พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งบอกว่ามนุษย์โดยธรรมชาติก้าวร้าวและดุร้าย เพราะพวกเขาไปพบสารตัวหนึ่งที่ชื่อ Serotonin และจากการทดลองพบว่าสารตัวนี้แหละที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์

คนประเภทที่พยายามใช้ความคิดเหตุผลและไขว่คว้าหาหลักฐานเพิ่มเติมนี้แหละเข้าข่าย “ใช้เสรีภาพทางวิชาการ” แต่ถ้าไม่ฟังอะไร เอาแต่ถือทฤษฎีของตัวเป็นใหญ่ (ทฤษฎีเป็นคำสันสกฤตมีความหมายเดียวกับคำว่า ทิฐิในภาษาบาลี นั่นคือ ความรู้ความเห็น ความเข้าใจ) ก็กลับจะเข้าข่ายใช้เสรีภาพในการแสดงออก ยิ่งถ้าในการยึดถือทฤษฎีของตัวเป็นใหญ่ ไปด่าว่าดูถูกคนอื่นด้วยนั้น ก็คงต้องถูกจำกัดเสรีภาพ ขณะเดียวกัน ถ้าแสดงความคิดเลอะเทอะ ไม่มีหลักใดๆ หรือมีแบบเอาสีข้างเข้าถู ก็ต้องเข้าใจว่า นั่นไม่ใช่การใช้เสรีภาพทางวิชาการด้วยเช่นกัน   แม้สิ่งที่นักวิชาการแสดงออกจะไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของเสรีภาพทางวิชาการ และคนที่ไม่ใช่นักวิชาการสามารถแสดงออกซึ่งเสรีภาพทางวิชาการได้ แต่นักวิชาการก็ถูกคาดหวังว่าสิ่งที่เขาแสดงออกจะเป็นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ

และสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นเสรีภาพทางวิชาการในสังคม ก. อาจจะเป็นเพียงแค่เสรีภาพในการแสดงออกของอีกสังคม ข.ด้วย สังคม ข. ได้ยกระดับการใช้เหตุผลและมีขันติธรรมที่สูงกว่า สังคม ก.