posttoday

รัฐบาลกับ"ม่านความเข้าใจ"ใน พ.ศ.2564

02 มกราคม 2564

โดย ทวี สุรฤทธิกุล

******************************

ปี 2564 น่าจะเป็นปีที่รัฐบาลต้องสื่อสารกับประชาชน “อย่างหนัก” “ไม่ออก แล้วผมทำผิดอะไร” คือวาทะแห่งปี 2563 ตามการตัดสินของนักข่าวสายทำเนียบรัฐบาล อันเป็นคำพูดของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอบโต้กระแสเรียกร้องของกลุ่มม็อบเยาวชนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งบทความนี้ไม่ได้จะมาถกเถียงกันว่า นายกรัฐมนตรีทำอะไรผิด(ในการบริหารและปกครองประเทศ)หรือไม่

แต่อยากให้มองไปที่คำพูดนั้นว่า มีข้อบกพร่องในการสื่อสารอย่างไร พลเอกประยุทธ์มีปัญหาในการสื่อสารกับประชาชนค่อนข้างมาก ในปีแรก ๆ หลังรัฐประหาร 2557 พลเอกประยุทธ์ใช้ลีลา “กระโชกโฮกฮาก” ในการแสดงบุคลิกความเป็นผู้นำ เหมือนว่าถ้าเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ต้องวางฟอร์มให้ดุเดือดอย่างนั้น แต่ก็มีคนแก้ตัวให้พลเอกประยุทธ์ว่า แกก็เป็นตัวของแกอย่างนั้น ด้วยความที่แกเป็นทหารมานาน ปกครองดูแลทหารด้วยกันมาอย่างนั้น ก็เลยติดนิสัยและต้องมีท่าทางที่ดูน่ากลัวดังกล่าว แต่สื่อและสาธารณชนก็มองเหมือนกันว่า ท่าทีดังกล่าวดู “โอเวอร์” เกินไป เหมือนกำลังดูการแสดงของผู้มีอำนาจคนหนึ่งที่กำลังแสดงอาการข่มขู่คุกคามประชาชนกระนั้น

พลเอกประยุทธ์ก็คงจะรู้ตัว ดังจะเห็นได้จากมีการปรับตัวให้ดูนุ่มนวลอยู่ระยะหนึ่ง มีการออดอ้อนด้วยการแต่งเพลงออกมา 2-3 เพลง ใบหน้ามีรอยยิ้มมากขึ้น การเดินด้วยลีลาที่โยกไหว “แกว่งไหล่ ส่ายเท้า” ดูเบา ๆ ไป คำพูดก็มีทีเล่นทีจริงหยอกเย้าให้ดูน่ารัก แต่ก็ทำได้ไม่นาน อาการ “น็อตหลุด” ที่เคยเป็นก็โผล่ออกมาอีก เหมือนกับอาการแบบนี้เป็น “นิสัยถาวร” กระนั้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2559 ก็มีผู้สังเกตว่าพลเอกประยุทธ์ดูจะ “สงบเสงี่ยม” จนผิดปกติ กระทั่งมีคนวิเคราะห์ว่าพลเอกประยุทธ์กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ “ไม่ค่อยมีความมั่นคง” จนเมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ได้ผ่านพ้นไป พลเอกประยุทธ์จึงดูแช่มชื่นขึ้น และกลับมาเป็นตัวของตัวเอง “มากขึ้น” อย่างที่เราได้เห็นมาตลอดปี 2563 นั้น

ในปี 2563 ดูเหมือนว่าพลเอกประยุทธ์จะมีความมั่นใจในสถานภาพของตนเองเป็นอย่างยิ่ง แบบที่เรียกด้วยภาษาเซียนมวยว่า “ไม่มีใครเอาลงได้” (หมายความว่าไม่มีใครเอาชนะได้) ซึ่งสื่อมวลชนก็มองเห็น “อหังการ” นั้น ดังที่ได้มีการนำคำพูดด้วยความมั่นใจสุด ๆ ของพลเอกประยุทธ์มาเป็น “วาทะแห่งปี” ดังกล่าว

ซึ่งถ้ามองด้วยสายตาของผู้ติดตามการเมืองทั่ว ๆ ไปก็คงจะรู้สึกเพียงแค่ว่าเป็นการนำเสนอให้สนุกสนาน “แสบ ๆ คัน ๆ” เพื่อสร้างสีสันทางการเมือง แต่ถ้ามองด้วยสายตาของผู้สนใจด้านการสื่อสารทางการเมือง ก็น่าคิดว่านี่พลเอกประยุทธ์กำลังจะ “ล่อเป้า” ให้ผู้คนออกมารุมถล่มและสั่นคลอนรัฐบาลหรือไม่ แม้ผู้เขียนจะไม่ใช่โหราจารย์ที่เชี่ยวชาญในการทำนายอนาคต (ซึ่งก็มีถูกมั่งผิดมั่งแทบทุกคน) แต่ก็พอจะพยากรณ์ “ความน่าจะเป็น” ตามทฤษฎีของการสื่อสารทางการเมืองได้ว่า “รัฐบาลนี้อยู่ลำบาก” ก็ด้วยคำพูดที่ว่า “ผมไม่ผิด” อันเป็นคำพูดที่แสดงถึง “ความมั่นใจที่เกินล้น” ซึ่งเป็นการ “ยังชีวิตอยู่ในความประมาท” ที่คนทั้งหลายก็พอทราบว่า “เป็นหนทางแห่งความตาย”

ขณะนี้การสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเหมือนว่า “มีม่านบัง” อันเนื่องมาจากการปิดกั้นในระบบการสื่อสาร “หลายระดับ” ทั้งนี้จะข้อละเว้นในระดับ “บนสุด” ไว้ก่อน เอาแต่เพียงระดับ “การบริหาราชการ” ที่เป็นความเกี่ยวข้องระหว่างรัฐบาลกับประชาชนโดยตรง โดยใช้ตัวแบบการก่อตัวประท้วงรัฐบาลของม็อบเยาวชนมาเป็นกรณีศึกษา ทั้งนี้จะใช้ข้อเรียกร้องของม็อบใน 2 ข้อแรก คือ ให้พลเอกประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แสดงถึงข้อบกพร่องของการสื่อสารดังกล่าว

ในข้อแรก พลเอกประยุทธ์ได้ออกมายืนยันอย่างแข็งกร้าวว่า “ไม่ออก ผมผิดอะไร” นี่ก็แสดงถึงการปฏิเสธความจริงที่ว่า “ไม่มีใครดีเลิศร้อยเปอร์เซ็นต์” คือแทนที่พลเอกประยุทธ์จะรับฟังแล้วพยายามหาข้อบกพร่องของตัวเอง (อย่างเช่นที่เคยปรับปรุงความกระโชกโฮกฮากอยู่ช่วงหนึ่ง หรือความสงบเสงี่ยมเจียมตัวที่เคยทำได้) แล้วยอมรับความจริงของข้อบกพร่องเหล่านั้น โดยเฉพาะที่กลุ่มม็อบบอกว่า “มีความผิด” ซึ่งรัฐบาลก็โยนเรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภา ที่ประธานรัฐสภาคือนายชวน หลีกภัย ก็พยายามมะงุมมะงาหรา “ค่อย ๆ” ดำเนินการอยู่

แต่ก็เชื่อได้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในการหาทางออกในความขัดแย้งครั้งนี้ อันจะไปสู่ความรุนแรงในรอบใหม่ในปี 2564 นี้ ด้วยความบกพร่องในเรื่องแรกก็คือ “การหลบเลี่ยงความจริง” ในข้อต่อมา การถ่วงเวลาที่จะให้การแก้รัฐธรรมนูญเต็มไปด้วยความล่าช้า (โดยที่มีผู้วิเคราะห์ว่าอาจจะถึงขั้น “แท้ง” ยกเลิกการแก้ไขเสียกลางคัน เพราะมีการส่งตีความไปยังศาลรัฐธรรมนูญในบางประเด็น) นี่ก็แสดงถึงความประมาทของรัฐบาลต่อ “อารมณ์ทางสังคม” ที่แสดงถึง “การตระบัดสัตย์” ของผู้มีอำนาจ (ถ้าเป็นคนทั่วไปจะเรียกว่า “ปลิ้นปล้อน”)

ซึ่งกลุ่มม็อบสามารถนำไปก่อกระแสในหมู่คนที่เกลียดชังรัฐบาลนั้นได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงคนที่เคยเข้าข้างรัฐบาลก็อาจจะเริ่มไม่วางใจรัฐบาล และอาจจะมองเห็นความบกพร่องในข้อนี้ออกมาเรื่อย ๆ ในที่สุดก็จะนำความเสื่อมมาสู่รัฐบาล รวมถึงความรุนแรงทางการเมืองที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง อันเป็นความบกพร้องในข้อที่สอง คือ “การหลอกลวงราษฎรของตนเอง”

สำหรับกรณีที่รัฐบาลพยายามไล่จับกุมกลุ่มม็อบในความผิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการชุมนุม ถ้ากลุ่มม็อบ “เล่นเป็น” และนำประเด็นนี้ไปขยายผลทางการเมือง กลุ่มม็อบก็ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่บอกว่ารัฐบาลนี้ดีแต่ไล่จับเด็ก ๆ และปิดบังความผิดของตนเอง แม้รัฐบาลนี้จะมีแผลเรื่องการคอร์รับชันในโครงการต่าง ๆ น้อยมาก (เพราะไม่มีใครให้ข้อมูลกับม็อบหรือฝ่านค้าน)

แต่รัฐบาลนี้กำลัง “คอร์รับชันอำนาจ” ซึ่งกลุ่มม็อบจะต้องชี้ให้ผู้สนับสนุนเชื่อให้ได้ว่า รัฐบาลนี้คอร์รับชันอำนาจอย่างไร และจะทำให้เกิด “หายนะ” แก่บ้านเมืองและอนาคตของคนไทยได้อย่างไร คอร์รับชันอำนาจคืออะไรน่ะหรือ ก็คือ “บ้าอำนาจ” นั่นเอง !