posttoday

พ่อแห่งแผ่นดิน: แนวคิดพ่อปกครองลูกของอังกฤษ: เหตุผลและข้อโต้แย้ง (3)

31 ธันวาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

****************

แนวคิดปิตาธิปไตยของอังกฤษยืนยันว่า ผู้ที่เป็นพ่อของครอบครัวที่ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกตามที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลก็ไม่ต่างอะไรจากกษัตริย์นั่นเอง สิทธิอำนาจอันชอบธรรมของกษัตริย์ (Jus Regium) มาจากสิทธิอำนาจอันชอบธรรมของความเป็นพ่อ (Jus Patrium) ซึ่งเป็นไปตามพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

และจะเห็นได้ว่า ในการผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนาในอังกฤษ บรรดาผู้สนับสนุนแนวคิดปิตาธิปไตยได้กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาในปี ค.ศ. 1606 ว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานอำนาจอันชอบธรรมเหนือลูกหลานให้แก่อาดัมและบรรดาผู้เป็นบิดาทั้งหลายต่อๆกันมาในช่วงก่อนหน้าน้ำท่วมโลก และทรงบัญญัติไว้ให้เป็นกฎธรรมชาติที่บรรดาลูกหลานและผู้สืบเชื้อสายต่อๆมาจะต้องกลัว เคารพยำเกรง ให้เกียรติและเชื่อฟังบิดาของพวกเขา

อำนาจที่ว่านี้แม้ว่าเราจะเรียกว่าเป็นอำนาจของผู้เป็นพ่อ (potesta patria) กระนั้น เมื่อพิจารณาให้ดีว่าอำนาจดังกล่าวนี้ได้ขยายตัวไปอย่างไรแล้ว จะเห็นได้ว่า อำนาจของกษัตริย์ (potesta regia) ก็เป็นอำนาจชนิดเดียวกันนี้เอง และอำนาจของกษัตริย์ก็อาจจะถูกเรียกว่าเป็น อำนาจของพ่อ (potesta patria) ได้ด้วยเช่นกัน”

มีนักคิดนักเขียนหลายคนของอังกฤษในยุคนั้นที่สนับสนุนคำอธิบายที่ว่า อำนาจของอาดัมอยู่ในฐานะอำนาจของกษัตริย์ เช่น Donne, Maynwaring, Wilan, Rawlinson และ Field ขณะเดียวกัน ภายในกลุ่มของพวกปิตาธิปไตยนิยมนี้ ก็ยังแบ่งออกเป็นสองสาย สายแรกคือกลุ่มที่อ้างว่า กฎธรรมชาติให้ความสำคัญต่อบรรพบุรุษคนแรกและรวมถึงบุตรคนโตด้วย

ในขณะที่อีกสายหนึ่งนั้นเห็นว่าการสืบสานอำนาจนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกษัตริย์ที่ไม่จำเป็นต้องให้เป็นบุตรคนแรกเป็นผู้สืบสานเสมอไป หนึ่งในสายที่สองนี้ก็คือ แอพ-โรเบิร์ต (Ap-Robert) ผู้ซึ่งออกมาโจมตีแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับบุตรคนแรกเท่านั้น โดยในข้อเขียนของเขาที่ชื่อ “The Younger Brother: His Apology or A Discourse proving that parents may dispose of their estates to which of their children they please” (1641)” เขายืนยันว่า พ่อแม่จะให้ผู้คนใดเป็นผู้สืบสานก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นบุตรคนโตเท่านั้น

ถ้าอำนาจของผู้ที่เป็นบิดาคนแรกของมนุษย์ในโลก (นั่นคือ อาดัม) มีลักษณะที่เป็นอำนาจของกษัตริย์ด้วยตามการกล่าวอ้างของทฤษฎีปิตาธิปไตย สิ่งที่จะต้องพังทลายไปทันทีก็คือ ความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยแรกเริ่ม ที่เชื่อว่าธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้เท่าเทียมกันและทฤษฎีสัญญาประชาคมที่ยืนยันว่า อำนาจของกษัตริย์มีที่มาจากมหาชน เพราะอย่างที่จอร์จ คาร์ลตัน บิชอพแห่งคลันดัฟ (George Carleton: 1599-1628: Bishop of Llandaff) อ้างไว้ว่า “ด้วยการปกครองแรกเริ่มระหว่างมนุษย์ด้วยกันในโลกนี้คือการปกครองในแบบครอบครัว มันจึงเป็นเรื่องประหลาดพิลึกยิ่งที่จะคิดและเป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์ว่าอำนาจการปกครองนั้นมาจากปวงประชามหาชน (multitude)”

มีการออกกฎศาสนาในปี ค.ศ. 1606 ปฏิเสธความคิดประชาธิปไตยแรกเริ่มที่ประชาชนคือผู้มีอำนาจสูงสุด (sovereign) และอำนาจทางการเมืองนั้นมาจากหรือขึ้นอยู่กับฉันทานุมัติของประชาชน และกฎศาสนานี้ก็ถือเป็นตัวแทนคำสอนที่เป็นทางการของพระ และผู้คนที่เคร่งครัดในศาสนาก็จะนำข้อสรุปดังกล่าวมายืนยันอ้างอิงอยู่เสมอ เช่น ในคำสอนของโทมัส ไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1610 และที่สำคัญคือ ในทฤษฎีปิตาธิปไตยของเซอร์โรเบิร์ต ฟิลม์เมอร์ (Sir Robert Filmer: 1588-1653) ได้ปรากฏถึงอิทธิพลจากกฎศาสนาดังกล่าวนี้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ในงานของโทมัส แจ๊คสัน (Thomas Jackson: 1579-1640) นักเทววิทยาและประธานแห่งคณะ Corpus Christie มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด มีคำกล่าวว่า เป็นเพราะธรรมชาติอันเต็มไปด้วยบาปของมนุษย์ทำให้การปกครองด้วยการบังคับเป็นสิ่งที่จำเป็น และสิทธิในการลงโทษเกิดขึ้นเริ่มแรกในมือของผู้เป็นพ่อ ด้วย “อำนาจกษัตริย์นี้ เมื่อเวลาผ่านไปได้กระจายขยายตัวไปทั่วชาติและประเทศทั้งหลาย มีรากฐานมาจากอำนาจที่ผู้เป็นพ่อของครอบครัวมีเหนือบุตรหลานเหลนโหลนของเขา และในสมัยโบราณ อำนาจของผู้เป็นพ่อนี้ขยายไปปกครองดูแลลูกหลานหลายชั่วคนได้มากกว่าสมัยนี้ เพราะสมัยก่อน พระผู้เป็นเจ้าได้ให้มนุษย์มีอายุยืนยาวนาน และมนุษยชาติขยายเผ่าพันธุ์ได้รวดเร็วกว่าในสมัยนี้”

การที่แจ๊คสันกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่า อำนาจของผู้เป็นพ่อนั้นเป็นอำนาจของผู้ปกครองหรือกษัตริย์อย่างแท้จริง เพราะตามหลักฐานในไบเบิลจะเห็นได้ชัดเจนว่า อาดัมปกครองเหนือลูกหลานเหลนโหลนผู้คนจำนวนมากของเขา เพราะในสมัยแรกเริ่ม พระผู้เป็นเจ้าได้ให้อาดัมมีอายุยืนยาวถึงร้อยสามสิบปี และหลังจากเขาให้กำเนิดบุตรของเขาชื่อเซท (Seth) อาดัมมีอายุถึงแปดร้อยปี และหลังจากที่เขาให้กำเนิดบุตรและธิดาต่างๆของเขาแล้ว เขาก็มีสิริอายุรวมถึงเก้าร้อยสามสิบปี (Genesis: Chapter V.3-4) และเมื่อเซทอายุได้หนึ่งร้อยห้าปี เขาก็ให้กำเนิดอีนอส (Enos) และเซทก็มีอายุยืนยาวต่อไปอีกแปดร้อยเจ็ดปี และหลังจากให้กำเนิดบุตรธิดาแล้ว เขาก็มีสิริอายุรวมถึงเก้าร้อยสิบสองปีถึงจะเสียชีวิต

พ่อแห่งแผ่นดิน: แนวคิดพ่อปกครองลูกของอังกฤษ: เหตุผลและข้อโต้แย้ง (3)

แน่นอนว่า จากที่กล่าวมาแล้วเกี่ยวกับอำนาจอันชอบธรรมในการปกครองเยี่ยงกษัตริย์ของผู้เป็นพ่อและอายุอันยืนยาวมากของผู้เป็นบิดาในแต่ละชั่วคน ทำให้มีผู้กังขาว่า ถ้าผู้เป็นบิดาคนแรกของโลกปกครองเหนือมวลมนุษย์ที่เป็นบุตรหลานเหลนโหลนของเขาได้เพราะด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่กำหนดให้เป็นกฎธรรมชาติที่ผู้เป็นพ่อมีอำนาจเหนือบุตร ฉะนั้นแล้ว ผู้เป็นบุตรที่ต่อมาได้เป็นบิดาของบุตรโดยตรงของเขาเอง ก็ต้องมีอำนาจอันชอบธรรมเหนือบุตรของเขาด้วย

ดังนั้น จึงเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า ระหว่างอำนาจของผู้เป็นบิดาคนแรกของโลกกับอำนาจของผู้ที่เป็นบิดาตามธรรมชาติของบุตรของเขาในเวลาต่อมา ใครจะเป็นผู้ที่มีอำนาจอันชอบธรรมที่สุด ? เพราะไม่ใช่ผู้ที่เป็นบิดาโดยธรรมชาติ (natural father) ทุกคนจะมีอำนาจอันชอบธรรมของผู้เป็นพ่อหรืออำนาจของกษัตริย์อย่างเต็มที่ (full paternal or royal power) ?

ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ จอห์น แอพ-โรเบิร์ต (John Ap-Robert: เกิด ค.ศ. ๑๕๘๓) กล่าวว่า ในแง่นี้ เราต้องถือว่า พระมหากษัตริย์คือ “พ่อแห่งพ่อทั้งปวง” (The king was the Father of all Fathers.) และพระองค์ทรงสามารถใช้อำนาจอันชอบธรรมแห่งความเป็นพ่อของพระองค์ (paternal authority) ยกเลิกอำนาจของบรรดาพ่อทั้งหลายที่เป็นไพร่ฟ้าราษฎรของพระองค์ได้ ด้วยนักคิดที่นิยมทฤษฎีปิตาธิปไตยมักจะชอบมองหรือตีความรัฐหรือราชอาณาจักรประหนึ่งครอบครัวใหญ่ ที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์ที่อำนาจของพระองค์เป็น “ปิตานุภาพ” และถ้าราชอาณาจักรและครอบครัวจะมีความแตกต่างก็ตรงที่ขนาดและจำนวนคนเท่านั้น

ในหนังสือชื่อ A Treatise of Christian Obedience ของนักคิดผู้นิยมปิตาธิปไตย--ทอมัส แจ๊คสัน (Thomas Jackson: 1579-1640) ผู้ซึ่งเป็นนักคิดในต้นราชวงศ์สจ๊วตได้เขียนงานวิพากษ์ “ความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์โรมันฯ” ของมาคิอาเวลลีไว้ด้วย เขาได้กล่าวสนับสนุนปิตาธิปไตยในประเด็นที่ว่านี้ไว้ว่า “ไม่ว่าราชอาณาจักรจะใหญ่โตเพียงใด มีประชากรมากมายเพียงใด แต่อำนาจกษัตริย์และอำนาจแห่งความเป็นพ่อที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดขึ้นนั้นหาได้แตกต่างกันไม่ ความต่างเป็นเพียงเรื่องปริมาณและขอบเขตเท่านั้น หาใช่ในสาระเนื้อหาแต่อย่างใด”

ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่เรื่องสถานะ (title) ว่าใครเป็นกษัตริย์หรือใครเป็นพ่อ เพราะหากใครก็ตามที่ขึ้นเป็นกษัตริย์ เขาก็จะมีอำนาจแห่งความเป็นพ่อของทุกคนและพ่อของแผ่นดินทันที

นักคิดในแนวนี้อีกคนหนึ่งคือ จอห์น บัคเคอริดจ์ (John Buckeridge: 1562-1631) ได้กล่าวอธิบายว่า “ปิตานุภาพ (fatherly power) เป็นที่มาของอำนาจทั้งหลายทั้งปวง และอำนาจทั้งหลายทั้งปวงก็มีรากฐานมาจากปิตานุภาพนี้ เฉกเช่นเดียวกัน อำนาจอันถูกต้องชอบธรรมแท้จริงย่อมจะต้องเป็นปิตานุภาพเท่านั้น”

และด้วยเหตุนี้เองที่เซอร์โรเบิรต์ ฟิลเมอร์ (Robert Filmer: 1588-1653) ผู้บูรณาการความคิดปิตาธิปไตยให้เป็นทฤษฎีการเมืองที่เป็นระบบ กล่าวอ้างว่า การขึ้นสู่อำนาจของกษัตริย์นั้นไม่ได้เป็นสาระสำคัญ แต่สาระสำคัญอยู่ที่เมื่อพระองค์มีอำนาจ ก็เป็นอำนาจแห่งปิตานุภาพ

แม้ว่ากษัตริย์องค์แรกๆของโลกในคติของคริสต์ศาสนาคืออาดัมและทายาทของเขา แต่มันไม่จำเป็นว่า กษัตริย์ในยุคสมัยใหม่ (ในสมัยของฟิลเมอร์) จะต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้สืบสานต่อๆกันมาจากทายาทสายตรงของอาดัม เพราะพระผู้เป็นเจ้าสามารถเปลี่ยนแปลงการสืบสายแห่งราชวงศ์ (the royal line) และรวมถึงแม้กระทั่งรูปแบบการปกครองด้วย

พ่อแห่งแผ่นดิน: แนวคิดพ่อปกครองลูกของอังกฤษ: เหตุผลและข้อโต้แย้ง (3)