posttoday

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

28 ธันวาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***************

ในบทความ “7 มีนาคม ระลึกพระคุณผู้เกื้อหนุนจุฬาฯ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร” (เผยแพร่ 7 มีนาคม 2020) (https://www.cuartculture.chula.ac.th/news/2268/) ของสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อความดังต่อไปนี้

“…ส่วนพระดำริของพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทรนั้น ทรงตรึกตรองดำริรูปการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้กว้างขวางยิ่งนัก ได้ทรงคิดโครงร่างเกี่ยวกับการบริหารของมหาวิทยาลัย เพื่อแก้ข้อขัดข้องที่มีอยู่ในเวลานั้น ได้ทรงคิดให้มี ‘สภาศาสตราจารย์ (Senate)’ ขึ้น มีหน้าที่ที่ต้องทราบกิจการเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยทุกอย่าง ทั้งทางธุรการ และวิชาการ ทรงคิดให้มีสภามหาวิทยาลัยประกอบด้วยผู้แทนอาจารย์ และผู้แทนกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ เป็นสมาชิก เป็นสภาที่มีสิทธิ์ที่จะสอบถามและแสดงความเห็นติชมแนะนำได้ทุกประการ

ทรงเห็นว่า เพื่อความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย สมควรขอรับพระราชทานที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอันยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของพระคลังข้างที่ เป็นสิทธิ์ขาดแก่มหาวิทยาลัยเสีย

และนอกจากนั้นยังได้ทรงพระดำริเกี่ยวกับการที่จะจัดการศึกษาทั้งในคณะที่มีอยู่แล้วในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในบัดนั้น กับทั้งวิชาที่ควรจะสอนเพิ่มขึ้นในมหาวิทยาลัย เช่น ‘ธรรมศาสตร์ (Jurisprudence, Laws) วิชาเรื่องป่าไม้ (Forestry) วิชาเรื่องเหมืองแร่ (Mining) ศิลาศาสตร์ (Mineralalogy) โบราณคดี (Archaeology) ศิลปกรรมประณีต (Fine Arts) ดนตรี (Music)’ เป็นต้น…”

(ตอนหนึ่งจาก “70 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”) ระลึกพระคุณผู้เกื้อหนุนจุฬาฯ 7 มีนาคม 2494 – 2563 โอกาส 69 ปีนับแต่วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 9 อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ประธานคณะกรรมการดำริรูปการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทรงเริ่มต้นความร่วมมือทางวิชาการกับมูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และในบทความ “8 ธันวาคม 2563 : 107 ปีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (เผยแพร่ 21 ธันวาคม 2020) (https://www.cuartculture.chula.ac.th/news/5560/) ของสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อความดังต่อไปนี้

“107 ปีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 ธันวาคม 2456 – 2563 ‘ในที่นี้จะต้องเล่าเรื่องหนึ่ง ซึ่งคนภายหลังไม่ค่อยทราบ คือในสมัยนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้กับข้าพเจ้าเปนพี่น้องที่สนิทกันมาก ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นอย่างไร ก็ได้ทูลให้ทรงทราบ ท่านก็ทรงสนับสนุนและได้ช่วยกันประสานงานทางสภากาชาดกับโรงเรียนราชแพทยาลัย และโรงพยาบาลศิริราชให้สอดคล้องและส่งเสริมกิจการทั้งสองฝ่ายให้เข้ารูปเข้ารอยกัน…

เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าไปจัดการศึกษาวิชชาแพทย์ และวิชชาผดุงครรภ์และพยาบาลได้สักหน่อย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ก็ทรงแสดงพระดำริห์มาว่า ตามกรมกองทหารบกมีแพทย์ประจำหน่วยพยาบาลอยู่แล้ว และยังจะได้เพิ่มเติมไปอีกเรื่อยๆ แต่ทางเภสัชกรรมนั้นยังไม่มีผู้ที่ได้เรียนและได้รับการอบรมไปประจำตามที่จำหน่ายยาเลย ควรจะตั้งโรงเรียนแพทย์ปรุงยาขึ้นอีกแขนงหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นด้วยจึงได้จัดตั้งโรงเรียนปรุงยาขึ้น สอนวิชชารากฐานร่วมกันไปกับนักเรียนแพทย์ แล้วไปแยกกัน ทางฝ่ายแพทย์ปรุงยาก็ไปเรียนเภสัชศาสตร และฝึกหัดในทางเภสัชกรรม…’

จากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในสารศิริราช ฉบับพิเศษ พฤษภาคม 2493 ได้บอกเล่าที่มาของการเริ่มต้นวิชาทางเภสัชกรรมสมัยใหม่ในสยาม “แผนกแพทย์ผสมยา” ในโรงเรียนราชแพทยาลัย ได้ก่อตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2456 ซึ่งถือว่าเป็นวันสถาปนาคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นวันสถาปนาวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทยอีกด้วย การดำเนินงานในระยะแรกนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงจัดหลักสูตรแพทย์ผสมยา จำนวน 2 หลักสูตร ทำการเรียนการสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2457 – 2463 นับเป็นรากฐานอันสำคัญยิ่งของการศึกษาวิชาเภสัชกรรม

ต่อมา 26 มีนาคม 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชแพทยาลัยมาเป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัย แผนกปรุงยาจึงได้มาสังกัดในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงปีพุทธศักราช 2477 เภสัชกร ร้อยเอก หวาน หล่อพินิจ ได้เสนอให้ใช้คำว่า ‘เภสัชกรรม’ แทนคำว่า ‘ปรุงยา’ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นแผนกเภสัชกรรม และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระหว่างปีพุทธศักราช 2476 – 2478 ความนิยมการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ลดน้อยลง เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายรองรับวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน แม้ว่าจะมีการปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตร์ หากแต่ไม่สามารถดำเนินงานถึงชั้นปริญญาได้ ปัญหาประการหนึ่งคือไม่มีอาคารทำการเพียงพอ และไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ต่อมา การเกิดขึ้นของกองเภสัชกรรม การตราพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พ.ศ. 2479 และโครงการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยา จึงทำให้มีความต้องการผลิตบุคลากรด้านเภสัชศาสตร์ขึ้นอีกครั้ง

ดร.ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนทุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้สำเร็จวิชาเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมิวนิก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นรัฐมนตรี และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม อธิการบดีในขณะนั้น ได้แต่งตั้ง ดร.ตั้ว ลพานุกรม ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จึงได้รับการสนับสนุนและสามารถจัดการศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งจัดสร้างอาคารเรียนของแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก (ปัจจุบัน คืออาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์)

พุทธศักราช 2488 ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น แผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ย้ายไปจัดตั้งเป็นคณะเภสัชกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ต่อมา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2512 ได้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล’ จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช 2515 โดยคำสั่งคณะปฏิวัติ ลงวันที่ 13 เมษายน 2515 ให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามเดิม จึงเป็น ‘คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ร่วมพัฒนาการดูแลการใช้ยาของประชาชนและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาในประเทศให้มีศักยภาพและนวัตกรรม เปิดสอนระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาวิชาซึ่งสังกัดภาควิชาต่าง ๆ อาทิ ภาควิชาเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม อาหารและเภสัชเคมี เภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ เภสัชวิทยาและสรีรวิทยา ฯลฯ รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ Pharmaceutical Technology และ Social and Administrative Pharmacy ในระดับบัณฑิตศึกษา” ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ

พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 58 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์; พระธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) ประสูติในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 หลังประสูติได้ 11 วัน พระมารดาก็ถึงแก่อนิจกรรม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุ้มพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์มาพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีด้วยพระองค์เอง พร้อมกับตรัสว่า "...ให้มาเป็นลูกแม่กลาง..." สมเด็จพระบรมราชเทวีก็ทรงรับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์พร้อมทั้งพระเชษฐภคินี คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ไว้ในอุปการะ โดยทรงเลี้ยงดูพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งมีพระชันษาใกล้เคียงกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เหมือนกับพระราชโอรสของพระองค์เอง

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ เสด็จไปศึกษาชั้นมัธยม ณ เมืองฮัสเบอรสตัด ประเทศเยอรมนี ใน พ.ศ. 2442 จากนั้นทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก โดยมีพระประสงค์ที่จะศึกษาวิชาแพทย์ แต่ในระยะแรกทรงศึกษาวิชากฎหมาย ตามพระราชประสงค์ของพระบิดา ต่อมาจึงทรงเปลี่ยนไปศึกษาวิชาการศึกษา และยังทรงเข้าศึกษาวิชาที่เกี่ยวกับการแพทย์บางอย่างเป็นการส่วนพระองค์กับศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นด้วย

พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ "พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร" เมื่อพ.ศ. 2457 ทรงรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงศึกษาธิการ และทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2458 ทรงปรับปรุงหลักสูตรการเรียนให้ได้มาตรฐาน

โดยเฉพาะการพยาบาลผดุงครรภ์ ซึ่งในสมัยนั้นยังนิยมใช้การแพทย์แผนโบราณ คลอดบุตรโดยหมอตำแยกันอยู่ ทรงส่งเสริมให้ข้าราชบริพารในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เข้าเรียนต่อหลักสูตรของศิริราชพยาบาล ให้สนใจศึกษาวิชาแพทย์และพยาบาลแผนปัจจุบันให้มากขึ้น ทรงปลูกฝังความนิยมในการเรียนแพทย์ให้เป็นที่แพร่หลาย จัดการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ให้มีมาตรฐาน นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นผู้โน้มน้าวสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ให้ทรงสนพระทัยวิชาการแพทย์ หลังจากที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชทรงผิดหวังและท้อถอยจากการปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพเรือตามที่ทรงได้ศึกษามา

ในปี พ.ศ. 2481 ในสมัยรัฐบาลของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พระองค์ทรงถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในกบฏพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นปัญหาระหว่างพระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) เจ้านายหลายพระองค์ถูกกล่าวหาว่าสมคบคิดในฝ่ายกบฏครั้งนี้ รวมถึงเสด็จในกรมฯหรือพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร

สาเหตุของการถูกกล่าวหาน่าจะมาจากที่พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ซึ่งสูงส่งทั้งฐานะในความเป็นเจ้านายชั้นสูงและฐานะทางการเงิน อีกทั้งยังทรงเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปอย่างสูง เมื่อได้ทรงเข้ามาพัฒนากิจการแพทย์สยาม ก็ทำให้ผู้คนหันมาเอาใจใส่และให้ความร่วมมือ ทำให้กิจการแพทย์เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

พระกรณียกิจที่ได้ทรงปฏิบัติมาตลอดเวลารับราชการในโรงเรียนราชแพทยาลัยและโรงพยาบาลศิริราชนั้นเป็นที่ประทับอยู่ในใจของคนทั่วไปที่ได้รับพระเมตตา ซึ่งทรงเผื่อแผ่พระเมตตานั้นต่อคนทั่วไปโดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ ด้วยน้ำพระทัยที่บริสุทธิ์ในการประกอบคุณงามความดีทุกประการ ทั้งกับบ้านเมืองและบุคคล ทำให้ทรงเป็นที่รักที่เคารพของผู้คนทุกชั้นทุกเหล่า นับแต่พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีข้าราชการ ข้าราชสำนักทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยที่ทรงมีโอกาสร่วมงานหรือเกี่ยวข้องด้วย ตลอดจนบรรดาลูกศิษย์นักเรียนแพทย์ซึ่งสำเร็จการศึกษาเข้ารับราชการเป็นข้าราชการคนสำคัญในเวลาต่อมา

แต่สิ่งเหล่านี้กลับส่งผลร้ายต่อพระองค์ แม้จะมิได้ทรงเกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมืองแล้ว แต่ก็ไม่ทำให้ความระแวงแคลงใจของรัฐบาลเวลานั้นหมดไป อันเนื่องมาแต่การที่ทรงเป็นที่เคารพรักของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ทำให้รัฐบาลเกิดความระแวงไปว่าจะทรงเป็นอันตรายกับความมั่นคงของรัฐบาล วิธีหนึ่งที่รัฐบาลสมัยนั้นใช้กำจัดผู้ที่คิดว่าจะเป็นอันตรายกับตนและพวกพ้อง คือการจับกุมคุมขังในข้อหากบฏล้มล้างรัฐบาล มีผู้คนจำนวนมากที่ถูกรัฐบาลตั้งข้อหาดังกล่าว ผู้คนเหล่านั้นล้วนแต่เป็นผู้ที่กว้างขวางและได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนทั่วไป ทั้งทางที่มีความรู้สูง หรือมีผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อราชการและในวงสังคม ทำให้มีบารมี สามารถที่จะชักจูงหรือชักชวนผู้คนให้เห็นถึงความบกพร่องของรัฐบาลในแง่มุมต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อต้านหรือล้มล้างรัฐบาล

เหตุผลต่างๆ ดังกล่าวนี้ ทำให้กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงอยู่ในข่ายความระแวงของรัฐบาล รัฐบาลสมัยนั้นจึงตั้งข้อหาคิดกบฏล้มล้างรัฐบาลให้กับพระองค์

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงบันทึกไว้ใน เกิดวังปารุสก์สมัยประชาธิปไตย ความว่า “ปลายเดือนมกราคม ทุกๆ คนได้ฟังข่าวอย่างสะทกสะท้านหวาดหวั่นมากมีคนสำคัญและผู้หลักผู้ใหญ่คนอื่นๆ อีกเป็นอันมากถูกตำรวจจับโดยข้อหาว่าจะทำการกบฏ” อีกทั้งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ยังทรงบรรยายต่ออีกว่า “ เหตุเกิดในตอนเช้ามืดวันที่ 29 มกราคม 2481 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 51 คน ฐานดำเนินการเพื่อคิดการกบฏและวางแผนประทุษร้ายชีวิตบุคคลในคณะรัฐบาล

ในบรรดาผู้ถูกจับกุมครั้งนั้น มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร รวมอยู่ด้วย โดยตำรวจสันติบาลได้เชิญเสด็จพระองค์จากลำปางเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2481 ซึ่งทำให้เจ้านายและประชาชนทั่วไปประหลาดใจมาก เพราะทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่และไม่ทรงเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด”

ทางการในขณะนั้นได้นำพระองค์ท่านไปคุมขังไว้ยังสถานีตำรวจพระราชวังในห้องขังรวมผู้ต้องหาด้วยความที่พระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นพระราชบุตรขององค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงวางตนเป็นปกติ ไม่สะทกสะท้านแต่อย่างใด ดำรงไว้ซึ่งความเป็นขัติยมานะอย่างแท้จริง ดังที่ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บันทึกไว้ว่า

“...ตั้งแต่เวลาที่ตำรวจเข้าไปจับหรือเชิญเสด็จตลอดจนถึงเวลาที่เสด็จขึ้นรถด่วนเข้าไปในห้อง มีเจ้าพนักงานยืนคุมหัวรถท้ายรถ เสด็จในกรมฯมิได้มีพระอาการผิดปรกติหรือสะทกสะท้านแม้แต่น้อย คำว่า ขัตติยมานะ นั้น ผู้เขียนเคยได้ยินคนพูดบ่อยครั้ง และตีความหมายกันไปมากมาย แต่ผู้เขียน(มร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) ได้เคยเห็นของจริงก็ในคราวนั้นครั้งเดียว...”

เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระบรมราชเทวี ด้วยความที่รักราชบุตรแม้ไม่ใช่พระโอรสที่ประสูติแต่พระองค์ หากแต่ทรงอภิบาลมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์จึงมีความเป็นห่วงพระราชโอรสเป็นอย่างยิ่งถึงกับทรงปรารภว่า “ทำไมรังแกฉันอย่างนี้ มันจะเอาชีวิตฉัน มาทำลูกชายฉันเห็นได้เทียวว่า รังแกฉัน"

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ แสดงบทบาทความเป็นพระราชมารดา ที่จะพยายามช่วยเหลือบุตรทุกวิถีทางเป็นแบบอย่างมารดาที่น่ายกย่อง และนำมาเป็นแบบอย่าง

รัฐบาลตั้งศาลพิเศษขึ้นเพื่อตัดสินคดีกบฏโดยเฉพาะ ศาลนี้ไม่มีทนายคอยช่วยเหลือแก้ต่างให้ จำเลยทุกคนต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีด้วยตนเองรวมทั้งการซักค้านพยานโจทก์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพยานที่จำเลยไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้จักมาก่อน และไม่เปิดโอกาสให้จำเลยพิสูจน์ความจริงความบริสุทธิ์ของตนเองใดๆ ทั้งสิ้น แม้พยานโจทก์จะให้การเท็จอย่างไร หรือจำเลยพยายามจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเพียงใด ศาลพิเศษซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลก็จะไม่ฟัง

กรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระยศขณะนั้น) ทรงถูกขังเป็นเวลา 10 เดือน จนกระทั่งมาถึงวันพิพากษาคดี คำตัดสินยิ่งนำความบอบช้ำมาแก่พระองค์นั่นคือ ในขั้นแรกศาลตัดสินประหารชีวิต และลดโทษของพระองค์เป็น จำคุกตลอดชีวิต ส่งเสด็จไปกักขัง ณ เรือนจำบางขวาง หลังจากนั้นก็ถอดพระยศของพระองค์ให้เหลือเพียง นักโทษชายรังสิต

นับว่าพระดวงชะตา ณ ตอนนั้นตกต่ำอย่างหาที่เปรียบมิได้ นำความทุกข์มาสู่พระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ อย่างที่สุดแทบบรรทมไม่หลับ เสวยไม่ได้ ความทุกข์ท่วมทวี เมื่อมีข่าวในปีนั้นเอง ยังต้องทรงสูญเสียสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ฯ พระราชธิดาพระองค์สุดท้าย สถานการณ์เวลานั้นทำให้การจัดงานพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ เป็นการจัดงานพระศพเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่น่าเศร้าที่สุดดังที่ปรากฏความว่า

“...แต่มาถึงงานพระเมรุสมเด็จพระราชธิดาซึ่งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้ารัฐบาลแจ้งให้ทราบว่าไม่มีเงินที่จะใช้ในการพระเมรุตามพระราชอิสสริยยศ ถ้าต้องพระประสงค์จะถวายพระเพลิงก็ต้องพระราชทานเงิน (เอง)...” (สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ: สมภพ จันทรประภา)

ในตอนที่พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ถูกจองจำในเรือนจำบางขวางเวลานั้นแม้ว่าพระองค์จะทรงทุกข์โทมนัส เพราะการจากสูงสุดก็สู่สามัญ เป็นเพียงนักโทษชายรังสิต แต่พระองค์ก็ทรงดำรงอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็ง กำลังใจส่วนหนึ่งมาจากบุคคลผู้ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นหม่อมเอลิซาเบธผุ้เป็นพระชายาของพระองค์

หม่อมปรนนิบัติตั้งแต่ตอนที่ถูกจองจำ เมื่อย้ายมาที่คุกบางขวาง หม่อมเอลิซาเบธ ก็หาห้องเช่าแถวบริเวณคุกบางขวางเพื่ออาศัยอยู่ คอยทำเครื่องเสวยถวายพระองค์เจ้ารังสิตฯโดยมิได้ขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 ภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และหม่อมเอลิซาเบท รังสิต ณ อยุธยา

นับเป็นสตรีต่างแดนที่มีพระทัยจงรักภักดีต่อพระสวามีอย่างหาที่เปรียบมิได้ สมกับตำแหน่ง สะใภ้หลวงแห่งราชวงศืจักรียิ่งนัก พระองค์ทรงถูกจองจำไม่ให้เห็นเดือนเห็นตะวันเป็นระยะเวลา 5 ปี 7 เดือน กับอีก 28วัน จึงได้รับการปล่อยตัว ในปีพุทธศักราช 2486 และเมื่อถึงรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเป็นรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ พระองค์ก็ได้รับสถาปนาพระยศตามเดิม

ย้อนไปเมื่อคราวที่พระองค์เจ้ารังสิตฯ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในครั้งนั้นพระองค์ทรงอยากไปเข้าเฝ้าพระมารดาของพระองค์ นั่นคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงลี้ภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาประทับที่ศรีราชา หากแต่ในครั้งนั้นพระองค์ทรงกลัวว่าพระราชมารดาของพระองค์จะต้องทรงทุกข์โทมนัส จึงได้แต่แอบทอดพระเนตรแล้วทรงพระกันแสง

ในครั้งนั้นทรงนำความทุกข์ดวงพระทัยของพระองค์เป็นอย่างมากจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวและสถาปนาพระอิศริยยศคงเดิมจึง ได้มาเข้าเฝ้าพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ที่พระราชวังปะอิน ณ เวลานั้นพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ทรงมีความจำที่ลบเลือน จึงทำให้คิดว่าบุตรของพระองค์ทรงกลับมาจาก เมืองนอกนำความปิติยินดีพระแก่พระนางฯเป็นอย่างมาก

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงอย่างเรียบร้อยแล้ว จึงมีการซ่อมแซมวังสระปทุมและเชิญพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ มาประทับที่วังสระปทุมจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อกลับมารับราชการตามเดิมเสด็จในกรมฯ (พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ฯ) ได้ทรงรับราชการ จนกระทั่งได้รับพระเกียรติยศสูงสุดในปีพุทธศักราช 2489 ให้เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ทั้งยังได้รับการเลื่อนพระยศเป็น “ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทรนเรนทร”

พระภารกิจสุดท้ายที่เสด็จในกรมฯ ทรงปฏิบัติ นั่นคือ ได้เข้าร่วมงานอภิเษกสมรสพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เมื่อปีพุทธศักราช 2493 จนกระทั่งในวันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2494 พระองค์ก็สิ้นพระชนม์จากโลกนี้ไปด้วยความสงบ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงได้ทรงเฉลิมพระนามเป็น ”สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร” พระอิศริยยศ สมเด็จกรมพระยา ที่ได้รับการสถาปนานี้พระองค์เป็นพระราชบุตรองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้รับพระอิศริยยศสูงสุด

(ผู้เขียนขอขอบคุณ https://minimore.com/b/3wQ5A/9 และ https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และ https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_16022)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร