posttoday

ตรีสดมภรัฐ : 3เสาหลักแห่งการปกครอง

26 ธันวาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************

อะไรคือ “เสาหลัก” ของอำนาจทางการเมืองการปกครอง ?

ในตำรารัฐศาสตร์กล่าวไว้ว่ามี “3 เสาหลัก” คือ “เสถียรภาพ ประสิทธิภาพ และความชอบธรรม” ทั้งนี้ทั้งสามเสาจะต้องอยู่ด้วยกันอย่างสมดุล จะขาดเสาใดเสาหนึ่ง หรือเสาใดเสาหนึ่งจะชำรุดบกพร่องไม่ได้ ซึ่งผู้เขียนขอเรียกหลักการนี้ว่า “ตรีสดมภรัฐ” คือการปกครองที่ต้องประกอบด้วย “หลัก” หรือ “เสา” ที่สำคัญ 3 ส่วนดังกล่าว (ตรี = สาม, สดมภ์ = เสา, รัฐ = การปกครอง)

“เสถียรภาพ” หมายถึง ความนิ่ง ความต่อเนื่อง และความมั่นคง ซึ่งในทางการเมืองก็คือความสงบเรียบร้อยของสังคม ความต่อเนื่องของการเข้าสู่อำนาจ และความมั่นคงเข้มแข็งของรัฐ

“ประสิทธิภาพ” หมายถึง ความสำเร็จหรือการทำงานได้ตามเป้าหมาย ซึ่งในทางการเมืองก็คือการทำหน้าที่ในส่วนต่าง ๆ ของระบบการเมืองบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น รัฐบาลทำงานได้ตามนโยบายที่กำหนด รัฐสภาควบคุมตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง และศาลให้ความยุติธรรมได้เป็นอย่างดี เป็นต้น

“ความชอบธรรม” หมายถึง ความถูกต้องและความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในทางการเมืองก็คือความถูกต้องในการเข้าสู่อำนาจ เช่น ในระบอบประชาธิปไตยผู้ปกครองก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยมีกฎหมายรองรับ อย่างที่เรียกว่า “นิติธรรม” ตรงข้ามกับระบอบเผด็จการที่ขึ้นอยู่กับเหตุผลของผู้มีอำนาจ รวมถึงการทำหน้าที่ของกลไกต่าง ๆ ก็ต้องมีกฎหมายรองรับ จึงจะได้รับการยอมรับจากผู้ใต้ปกครอง

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การปกครองของ คสช.มุ่งเน้น “เสถียรภาพ” เป็นหลัก ในขณะที่ “ประสิทธิภาพ” คือการทำหน้าที่ตามที่สัญญากับประชาชนไว้ยังบกพร่องอยู่มาก เป็นต้นว่า กว่าหกปีที่ปกครองประเทศไทยมาก็ยังไม่เห็นการปฏิรูปอะไรมากนัก ทั้งที่เป็นเหตุผลหลักในการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงขั้นกำหนดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและฉบับถาวร รวมถึงปัญหาการคอร์รัปชั่นและการเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งคณะ คสช.ใช้เป็นข้อโจมตีนักการเมืองที่ตนเองยึดอำนาจมา จึงทำให้ “ความชอบธรรม” อยู่ในระดับต่ำ เพราะหลายครั้งที่ คสช.ใช้อำนาจพิเศษ “รุกล้ำ” เข้าไปในรัฐธรรมนูญ หรือใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการละเมิดกฎหมาย ที่น่าจะขัดกับหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

การปกครองของไทยมักจะยึดเอาความมั่นคงมีเสถียรภาพนี้มาโดยตลอด ทำให้การเมืองไทยมีเพียงเสาหลักเสาเดียว คือ “เสาเถียรภาพ” และผู้ปกครองก็พยายามทำให้เห็นว่า ด้วยเสถียรภาพนี้เองจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพ แล้วประสิทธิภาพก็จะสร้างความพอใจให้กับประชาชน หรือเราอาจจะเรียกการปกครองแบบนี้ได้ว่า “แบบศาลพระภูมิ” ที่มีเพียงเสาเดียวเป็นหลักอยู่อย่างนั้น

แน่นอนว่าศาลพระภูมิจะคงอยู่ได้ก็ด้วยความเชื่อถือศรัทธาของเจ้าของบ้าน ตราบใดที่บ้านนั้นอยู่ร่มเย็น มีความสุข มีความเจริญรุ่งเรือง ศาลพระภูมิก็ยังคงเป็นที่เคารพ เจ้าของบ้านก็จุดธูปเทียนและตั้งของเซ่นไหว้ให้เป็นประจำ หรือถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่สามารถดลบันดาลอะไรให้ได้ แต่ถ้าเจ้าของบ้านยังมีความเชื่อถือ มีความหวัง ก็ยังเซ่นไหว้ศาลพระภูมินั้นอยู่เสมอเช่นกัน ดังนั้นประสิทธิภาพของศาลพระภูมิก็คือ “มนตร์วิเศษ” ที่คนยังเชื่อยังหวัง ในขณะที่ความชอบธรรมก็คือความศรัทธาที่มีต่อมนตร์วิเศษนั้น

คณะราษฎรคือศาลพระภูมิศาลแรกสำหรับคนไทย คือเป็นที่พึ่งที่หวังของคนไทยมาแต่ต้น ถึงขั้นที่ประกาศไว้ในแถลงการณ์ฉบับแรกของคณะราษฎรนั้นเองว่า “จะสร้างโลกพระศรีอาริย์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย” จากนั้นคณะผู้ปกครองคณะแล้วคณะเล่าก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเป็นศาลพระภูมิให้คนไทย โดยเฉพาะผู้ปกครองที่เป็นทหารที่ได้อำนาจมาด้วยการรัฐประหาร ก็ยิ่งทำให้คนไทยเชื่อว่าน่าจะมี “มนตร์วิเศษ” ทำอะไรๆ ได้สำเร็จ หรือมีประสิทธิภาพดีกว่ารัฐบาลที่มีที่มาจากวิธีการอื่น รวมถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

คำถามจึงมีอยู่ว่า ทำไมรัฐบาลทหารจึงมุ่งแต่จะสร้างเสถียรภาพแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่มีพลังอำนาจมหาศาลที่น่าจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงขั้นที่สร้างความประทับใจให้น่าเชื่อถือและศรัทธามากยิ่งขึ้น นั่นก็คือสามารถสร้างความชอบธรรมได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องบังคับหรือโฆษณาชวนเชื่อ

คำตอบที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ ทหารมีความเชี่ยวชาญในการใช้กำลังและการบริหารโดยใช้อำนาจเด็ดขาด มากกว่าที่จะมีความเชี่ยวชาญในการใช้สติปัญญาและการบริหารโดยใช้การประสานอำนาจ

ยิ่งไปกว่านั้นทหารถูกฝึกฝนมาเพื่อการสู้รบ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความขัดแย้งหมดสิ้นไป ไปสู่ความสงบเรียบร้อย คือการสร้างความมั่นคงเป็นหลัก ตรงกันข้ามกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีเป้าหมายเพื่อการประสานประโยชน์ หรือการสร้างสมดุลอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ อย่างที่เรียกว่า “พหุอำนาจ” คือการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างกลุ่มที่มีความหลากหลาย

ในขณะที่ระบบทหารจะต้องมีผู้ที่มีอำนาจนำแต่เพียงผู้เดียวในแต่ละสายการบังคับบัญชา จึงไม่คุ้นเคยกับการประสานประโยชน์ที่จะต้องใช้ความสามารถในการโน้มน้าว ใช้ความอดทน และใช้เวลาพอสมควร ในขณะที่การใช้อำนาจเด็ดขาดสามารถทำงานได้รวดเร็วกว่า ด้วยการบังคับโดยไม่ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นต่อความขัดแย้ง แบบที่เรียกว่า “ทุบโต๊ะ” เอาได้ตามใจ

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า อำนาจจะมีความแข็งแรงมั่นคงไม่ใช่แค่การสร้างเสถียรภาพ แต่จะต้องใช้ความมีเสถียรภาพนั้นทำงานให้ประสบความสำเร็จ คือการทำงานที่มีประสิทธิภาพ จึงจะทำให้เกิดความนิยมชมชอบหรือความเชื่อถือศรัทธา ที่เรียกว่าความชอบธรรม ที่อาจจะไม่ใช่ความชอบธรรมตามกฎหมาย แต่เป็นความชอบธรรมที่เกิดจากความพึงพอใจของผู้คน ซึ่งก็เป็นระเบียบของสังคมอีกแบบหนึ่งที่ใช้ในการอยู่ร่วมกัน ที่เกิดขึ้นจากยินยอมพร้อมใจกันของผู้ใต้ปกครอง ซึ่งในทางรัฐศาสตร์พบว่ามีความมั่นคงแข็งแรงมากกว่าความชอบธรรมที่เกิดจากการใช้กฎหมายหรือใช้กำลังบังคับนั้นเสียอีก

สังคมที่มีครบทั้ง 3 เสานั่นแล จึงจะ ถูกต้อง ถูกใจ และมีความมั่นคง

*******************************