posttoday

งานประวัติศาสตร์ไทยของปัญญาชนร่วมสมัย

25 ธันวาคม 2563

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

**************

ข้าพเจ้าตอบคำถามนิสิตเก่าที่มาหาว่าปีใหม่จะทำอยู่ 2 อย่าง คือ เร่งแปลงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ กับ แก้เบื่ออยู่บ้านไปไหนไม่ถนัดในยามนี้ด้วยการอ่านหนังสือในเรื่องที่ต้องสอนเทอมหน้า ตอนนี้กำลังอ่านงานของ Mark Blyth เกี่ยวกับ 2 Is คือ Ideas หรือตัวความคิด กับ Institutions หรือสถาบันอยู่ พอตอบคำทักทายแล้ว คนมาหาก็เข้าสู่ประเด็นที่เขาตั้งใจมาพบ คือเขามาถามความเห็นข้าพเจ้าเกี่ยวกับงานร่วมสมัยด้านประวัติศาสตร์ไทยที่ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ เพราะเห็นว่าข้าพเจ้าเคยมีงานเขียนเกี่ยวกับนักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงในขณะนี้ที่ศึกษาและเปิดประเด็นกับสถาบันกษัตริย์ ส่วนเขาเองกำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับความคิดทางการเมืองไทย

ข้าพเจ้าขอคำถามเขาชัด ๆ เพราะถ้าไม่ถามอย่างจำเพาะเจาะจง ก็ไม่รู้จะตั้งต้นตรงไหน หลังจากถามตอบเรื่องที่เขาต้องการทราบกันไปพักใหญ่ เขาก็ถามข้าพเจ้าขึ้นมาด้วยคำถามที่ออกจะแปลกเหมือนกันว่า ถ้าหากจะขอคำชม อาจารย์จะชมงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อย่างไร?

ข้าพเจ้าบอกนิสิตเก่าผู้คุ้นกันว่า ความจริงในงานเก่าที่ผมเขียนถึงปัญญาชนทั้งสอง ก็มีทั้งวิธีชมและคำชมอยู่ในนั้นเหมือนกัน แต่ในตอนนี้ถ้าจะให้แนะว่าควรชมงานของเขาทั้งสองอย่างไร ชมทั้งในความหมายของทางพิจารณาในการอ่านงานเขียนของเขา กับความหมายที่จะใช้แสดงความชื่นชมปัญญาชนทั้งคู่ ผมเสนอคุณลองหาทางทำความเข้าใจความคิดของ Walter Benjamin ต่อประวัติศาสตร์ดู น่าจะให้ทางทำความเข้าใจทั้งตัวงานวิชาการและภารกิจการเคลื่อนไหวของคนทั้งสองดีขึ้น

ผมเองยังไม่เห็นใครชมพวกเขาผ่าน Benjamin หรือจะมีแล้วก็ไม่รู้ เพราะไม่ได้ติดตามวงวิชาการประวัติศาสตร์ไทยใกล้ชิด แต่คนที่จะอธิบายความคิดต่อประวัติศาสตร์ของ Benjamin ให้คุณได้แน่ ไม่ใช่ผม ต้องไปขอความรู้จากอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ถ้าคุณมีทางติดต่ออาจารย์ได้

เพื่อให้เขาพอทราบเค้าความคิดของ Benjamin ต่อประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าอาศัยมติของผู้เชี่ยวชาญ Benjamin คนหนึ่งในโลกวิชาการฝรั่ง คือ Susan Buck-Morss มาแนะนำเขาอีกที Buck-Morss บอกว่า Benjamin ถือว่างานของเขาเป็น “Copernican revolution” ในการเขียนประวัติศาสตร์ และเขาตั้งใจจะใช้ความรู้จากประวัติศาสตร์ตามแนวทางที่เขาเขียนออกมานี้เป็น “antidote” คือเป็นยาถอนพิษสำหรับช่วยให้คนร่วมสมัยหลุดออกจากจิตสำนึกแบบเดิมๆ ที่ความเข้าใจและความทรงจำร่วมกันของสังคมเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมาได้พาเอาปรัมปราคติ ความเคลิ้มฝัน ทัศนมายาต่าง ๆ มาบรรจุไว้จนเต็ม แล้วมองเห็นปัจจุบันในลักษณะที่เป็นความต่อเนื่องสืบเป็นเส้นตรงมาจากอดีตโดยไม่มีขาดสายหรือขาดตอน ทั้งที่ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันมีความเป็นไปได้อื่น ๆ มีคติความคิด มีค่านิยมทางวัฒนธรรมแบบอื่นๆ ที่อาจพาเปิดเส้นทางใหม่ๆ ที่ต่างออกไปจากที่เป็นอยู่นี้ แต่ถูกทำให้กลบลบหายไป ถูกลืมเลือนไป ถูกฝังไว้ใต้วัฒนธรรมที่เหลือรอดมา ไม่ให้มีใครขุดขึ้นมาใช้ได้ใหม่

ตามการตีความของ Buck-Morss สิ่งที่ Benjamin ทำกับการเขียนประวัติศาสตร์คือการทำให้ความรู้ประวัติศาสตร์หมดความหมายที่จะทำบทบาทหน้าที่ในทางอุดมการณ์ หมดพลังที่จะใช้ความเข้าใจเกี่ยวกับอดีตมาให้ความชอบธรรมแก่ปัจจุบัน แต่เขาจะขุดและสกัดหาสิ่งที่ถูกกลบฝังไว้ ค้นหาความคิดที่ถูกทำให้ลบเลือนหลงลืมไปหรือถูกพลิกถูกบิดเบือนไปโดยถือว่างานเขียนประวัติศาสตร์ที่จะรื้อเปลี่ยนความทรงจำร่วมกันของสังคมในแบบเดิมเป็นปฏิบัติการทางการเมืองไปด้วยในตัว เพราะ “ความทรงจำทางประวัติศาสตร์สามารถส่งผลสะเทือนได้มากต่อการสร้างเจตจำนงร่วมทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลง”

พอฟังอย่างนั้น นิสิตเก่าที่มาหาเขาก็ย้อนถามข้าพเจ้าอย่างคนคุ้นกันว่า แล้วอาจารย์ไม่ได้รับ antidote มาจากอาจารย์สมศักดิ์กับอาจารย์ธงชัยบ้างหรือ ใครๆ ก็ว่าอาจารย์อยู่กับฝ่ายอนุรักษนิยม ข้าพเจ้าบอกเขาว่า คำว่า อนุรักษนิยม ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่เสียความหมายไปมากแล้วจากปฏิบัติการทางการเมืองที่ผ่านมา เป็นคำๆ หนึ่งที่นักปฏิบัติการเขาเอาไว้ใช้ด้อยค่า แค่บอก อนุรักษนิยมไทย เท่านั้นล่ะ เป็นอันไม่ต้องพูดกันต่อ ไม่แต่เท่านั้นนะ ตอนหลังยังมีนิสิตว่าผมอยู่กับฝ่ายศักดินาด้วยซ้ำไป ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าศักดินาของเขาหมายความอย่างไรแน่ ได้แต่แนะให้เขาไปอ่านการจำแนกความหมายในข้อเขียนของอาจารย์เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส แล้วค่อยมาคุยกันต่อ

ข้าพเจ้าบอกเขาว่า ถ้าจะให้ตอบตอนนี้ ว่าทำไมแม้ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยร่วมสมัยกระแสหลักจะมี Copernican revolution จากอิทธิพลความคิดของปัญญาชนทั้ง 2 แต่ผมยังไม่เปลี่ยนความคิดที่เคยมีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจตอบง่ายๆ ว่า ผมไม่เห็นว่าสถาบันเป็นประเด็นใจกลางในปัญหาการเมืองไทยที่ต้องมีการปฏิรูปให้สำเร็จในวันนี้พรุ่งนี้ หรือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อนสถาบันอื่นใดหมดจะเป็นจุดคานงัดที่เปิดทางให้แก่ความก้าวหน้าทางการเมืองในด้านอื่นๆ ที่จะติดตามมาอีกเป็นพรวน

ผมกลับเห็นว่าการตั้งต้นโดยใช้สถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเป้าหมายในการระดมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใด กลับจะพาให้พวกเราทุกคนในสังคมการเมือง ไม่เฉพาะแต่ฝ่ายที่เคลื่อนไหว ติดอยู่ในกับดักของความชะงักงัน และผลักดันการปฏิรูปเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัญหาต่อไปได้ไม่ถนัด

แต่การจะบอกว่าอะไรเป็น หรือไม่เป็นประเด็นใจกลาง ของปัญหาการเมืองไทยที่จะต้องปฏิรูปก่อนอื่นใด หรือการมองหาประเด็นใจกลางที่เป็นปัญหาของการเมืองประชาธิปไตยของไทยหรือของโลกร่วมสมัยในปีพ.ศ. นี้แล้ว โดยตัวของมันเอง เป็นวิธีมองที่ถูกหรือเปล่า ต้องมีการวิเคราะห์และเสนอความเข้าใจโครงสร้างการเมืองไทยและเศรษฐกิจการเมืองโลกร่วมสมัยในภาพรวมออกมาพิจารณากันก่อน การจะดูกันแต่ในประเด็นย่อยพิจารณาจากเรื่องนั้นเรื่องนี้โดยลำพังแบบแยกส่วนไม่ได้ เรื่องนี้ต้องว่ากันยาว และเห็นต่างกันได้มากแน่

พอบอกเขาแบบนั้น ก็คิดขึ้นได้ว่ากรอบการวิเคราะห์ของ Mark Blyth เกี่ยวกับ ideas และ institutions ที่ข้าพเจ้าอ่านค้างอยู่นั้น ก็ใช้เป็นเหตุผลอีกแบบ ที่ทำให้ข้าพเจ้าเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้ดีเหมือนกัน จึงตั้งต้นอธิบายให้เขาฟังอย่างนี้

จากการประยุกต์ทางวิเคราะห์ของ Blyth โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงาน Great Transformations (2002) มาใช้พิจารณาสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย เราอาจมองสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งส่วนที่เป็นสถาบัน เป็นบุคคลผู้กระทำการ และเป็นความคิดเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในสังคมการเมืองได้ ผมบอกเขาว่าใน 3 ส่วนนี้ ส่วนที่น่าติดตามศึกษาให้ดีคือส่วนที่ว่าด้วยความคิด ที่เป็นผลจากพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาล หรือการตัดสินใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาของการมีผู้สำเร็จราชการ

คำถามสำคัญในส่วนนี้คือ ทำไมการศึกษาความคิดเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจึงสำคัญต่อความรู้ทางรัฐศาสตร์ไทย?

Blyth มีประโยคหนึ่งที่สรุปข้อเสนอตามกรอบการวิเคราะห์ของเขาไว้ดี คือ Structures do not come with an instruction sheets. คนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้กรอบโครงสร้างที่จัดความสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ ไว้ทั้งภายในและภายนอกองค์กรจะซาบซึ้งดีว่า สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าโครงสร้างจะตีกรอบบทบาทและอำนาจหน้าที่ไว้อย่างไร คนที่เป็นผู้ปฏิบัติยังคงจะต้องใช้ความคิดอยู่ดีว่าเขาหรือเธอจะเลือกตั้งเป้าหมายแบบไหน เลือกทำทางไหน และจะดำเนินวิธีการอย่างไร ในการจะใช้โอกาส หรือการฝ่าข้ามข้อจำกัดและแรงต้านที่เกิดขึ้น เมื่อลงมือปฏิบัติ

และไม่เพียงโครงสร้างที่จัดความสัมพันธ์ทางสังคมไม่ได้มีบทผูกติดมาสั่งใครให้ต้องเล่นไปตามบทอย่างแน่นอนว่าจะต้องทำอะไรและทำอย่างไร เป็นผู้กระทำการที่จะต้องคิดต้องเลือกเอง แต่ในโลกความเป็นจริงโครงสร้างความสัมพันธ์เหล่านั้นยังต้องเผชิญกับพลังความเปลี่ยนแปลงจากหลายทิศหลายทางไม่หยุดนิ่ง และไม่อยู่ในอำนาจการควบคุมของใครโดยลำพัง เมื่อโครงสร้างความสัมพันธ์เดิมถูกกระทบด้วยแรงบีบจากพลังทางสังคมหรือผลจากการเปลี่ยนแปลงในระดับระหว่างประเทศส่งเข้ามาหาจากหลายทาง ก็ยิ่งไม่มีอะไรที่จะมากำหนดหรือบอกบทให้ผู้กระทำการทราบได้โดยแน่ชัดว่า เขาควรต้องทำอะไร ไม่ทำอะไร ทำอะไรก่อนหลัง ทำอย่างไรในช่วงเวลาของการจรบรรจบของเหตุปัจจัยที่มาบีบคั้นให้ตัวผู้กระทำการต้องตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ความหมายของความไม่แน่นอนในจุดนี้มีความสำคัญมาก Blyth ใช้ความไม่แน่นอนในความหมายของนักคิดทางเศรษฐศาสตร์คนสำคัญคือ Jack Knight ซึ่งแยกระหว่างความเสี่ยงคือ risk ซึ่งกำหนดค่าความน่าจะเป็นของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ถนัด เช่น การทอยลูกเต๋าในการเล่นสกา กับความไม่แน่นอนหรือ uncertainty ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ Knight เสนอไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1920 โน่นแล้วว่า “This is an infinitely complex and subtle problem; uncertainty itself is subject to uncertainty; we do not know how much we know, or how accurately; there is no viable boundary between knowledge, opinion and ignorance.”

นับจากสมัยที่ตะวันตกตั้งต้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านการเมืองครั้งใหญ่จากการปฏิวัติอเมริกัน การปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนรูปแบบประชาชาติและการปฏิวัติระบบและความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ตามมาตลอดศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20 ก็ได้ตั้งต้นคลื่นความเปลี่ยนแปลงหลายระลอกอันเกิดจากพลังทางสังคมและเศรษฐกิจขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป และที่สหรัฐอเมริกายุโรปส่งพลังเหล่านั้นออกมาสู่ภายนอก พลังผลักดันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมเหล่านี้มาบรรจบกับเงื่อนไขภายในของสยามเองที่ก็มิได้คงที่อยู่นิ่งนับแต่เสียกรุงศรีอยุธยา

การศึกษาพระมหากษัตริย์ไทยในแต่ละรัชกาลนับแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีลงมา จะเห็นว่าแต่ละพระองค์เผชิญกับเงื่อนไขเชิงโครงสร้างและพลังบีบคั้นกดดันการตอบสนองจากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ความคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาลจึงไม่ใช่สิ่งที่คงที่ตายตัว แต่ทุกรัชกาลต้องทรงแสวงหาคำตอบแสวงหาความคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติบทบาทการเป็นพระมหากษัตริย์มาตอบโจทย์ความไม่แน่นอนที่ไม่เหมือนกัน แต่เป็นความไม่แน่นอนในความไม่แน่นอนอย่างที่ Knight เสนอไว้ จะเทียบรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 ที่ 5 กับรัชกาลที่ 6 หรือ 7 ก็จะจัดเรียงโครงสร้างของพลังที่ส่งผลเป็นความไม่แน่นอนออกมาเป็นโจทย์ต่อแต่ละสมัยได้ ที่จะทำให้เราเห็นความคิดของท่านที่ทรงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ไปแล้ว ว่าแต่ละพระองค์เลือกความคิดแบบใดในการทรงงานทรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์

นี่ควรนับรวมผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอย่างนายปรีดี พนมยงค์เข้าไว้ด้วย เพราะในบรรดาความไม่แน่นอนของความไม่แน่นอนนั้น Knight นับรวมการเผชิญกับสงครามไว้ด้วย อะไรคือความคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในยามที่เกิดสงครามใหญ่ เมื่อเทียบระหว่างรัชกาลที่ 6 กับช่วงเวลาที่นายปรีดี พนมยงค์ทำหน้าที่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ก็น่าเปรียบเทียบระหว่างสมัยทั้งสองที่มีรูปการณ์ในเชิงสถาบันและเงื่อนไขทางการเมืองแตกต่างกันมาก

ข้าพเจ้าบอกเขาว่า ความคิดอันมั่งคั่งที่ได้มาจากการเผชิญความไม่แน่นอนที่สะสมอยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเปลี่ยนบทบาทในการเมืองไทยตลอดมา ไม่เพียงเป็นของอันควรศึกษาให้ถ่องแท้ ที่จะให้ฐานความรู้อันเข้มแข็งขึ้นแก่รัฐศาสตร์ไทย แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังครองสถานะของความคิดอันมีความสำคัญในเชิงสถาบัน

Blyth ระบุความสำคัญของความคิดตามนัยนี้ไว้ว่า ความคิดสำคัญ สำคัญก็เพราะ หนึ่ง ความคิดเป็นตัวจัดทางเลือกทั้งในการทำความเข้าใจความซับซ้อนที่มีอยู่ในความไม่แน่นอนที่เผชิญ และทางเลือกในการรับมือกับปัญหาที่เห็นว่าเป็นประเด็นที่ต้องแก้

สอง ความคิดใช้เป็นจุดศูนย์กลางในการระดมการปฏิบัติการร่วมกัน ระดมการสร้างพันธมิตรให้เข้ามาสมัครสมานทำงานร่วมกัน

สาม ความคิดเป็นอาวุธเป็นเครื่องมือยังให้เกิดพลัง เช่น พลังจากความคิดที่เหนือกว่า พลังจากความชอบธรรมที่มากกว่า หรือเป็นอาวุธที่ลดทอนพลังความชอบธรรมของฝ่ายอื่น

สี่ ความคิดสำคัญเพราะมันให้พิมพ์เขียวแก่การจัดความสัมพันธ์ในเชิงสถาบันที่จะยังให้เกิดระเบียบ

ประการสุดท้าย ความคิดมีส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของสถาบันและระเบียบที่ได้รับการจัดขึ้นมาแล้ว

ข้าพเจ้าบอกเขาว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยสะสมความคิดที่ทรงความสำคัญเหล่านี้ไว้มากและหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละรัชสมัย โลกศตวรรษที่ 19 กับโลกศตวรรษที่ 20 เป็นโลกของความไม่แน่นอนมากที่สุดกว่ายุคสมัยใด ที่เกิดขึ้นกับทุกๆ สังคม และทุกสังคมก็มีวิธีตอบโจทย์นี้ต่างๆ กัน องค์ความรู้เกี่ยวกับความคิดและวิธีที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเลือกตอบโจทย์ความไม่แน่นอนของโลกศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่สถาบันได้สะสมต่อเนื่องมาจึงนับเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ และเป็นฐานความรู้ที่ให้ความเข้มแข็งแก่ประเทศไทยด้วย

ข้าพเจ้าสรุปให้เขาฟังว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นของไม่ควรประมาท

**** *****************