posttoday

ปล่อยความขัดแย้งให้มันไหลไป ...

11 ธันวาคม 2563

โดย...โคทม อารียา

*****************

ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา ห้ามไม่ให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ มันอาจจะดีก็ได้ถ้าเป็นพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ อาจจะร้ายก็ได้ถ้ามันรุนแรงและสร้างความไม่เป็นธรรมตลอดจนบาดแผลทางกายและทางใจ อาจกล่าวได้ว่าความขัดแย้งในสังคมการเมืองไทยเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2475 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ยังมีหลายคนที่อยากกลับไปเป็นแบบเก่า จึงขัดแย้งกับคณะราษฎร 2475 ในอดีต และต่อเนื่องมาถึงคณะราษฎร 2563 ในปัจจุบัน

บางคนอาจตั้งคำถามว่า 88 ปีผ่านไปทำไมยังเป็นแบบนี้ จึงขอให้ฟังโวหารของประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบันดูบ้าง เอ็มมานูแอล มากร็องรำพึงรำพันว่า “ในการเมืองฝรั่งเศส สิ่งที่ขาดหายไปคือภาพลักษณ์ของกษัตริย์ ผมคิดว่าโดยพื้นฐานแล้ว ประชาชนชาวฝรั่งเศสไม่อยากให้ภาพนั้นล้มหายไป ความสะพรึงกลัว (ในช่วงหลังการปฏิวัติใน พ.ศ. 2332) ได้ทำให้เกิดความอ้างว้างด้านอารมณ์ ด้านจินตภาพ ด้านชุมชนรวม อ้างว้างเพราะไม่มีกษัตริย์อีกต่อไปแล้ว”

หลังการปฏิวัติ ระบอบการปกครองของฝรั่งเศสยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายครั้ง คือเป็นสาธารณรัฐที่หนึ่งได้ 15 ปี นโปเลียนก็รัฐประหารและตั้งตนเป็นจักรพรรดิ์ จากนั้นประเทศก็ย้อนกลับไปสู่ระบบกษัตริย์ในเชื้อสายเดิม รวมเวลา 44 ปี จึงมีการสถาปนาสาธารณรัฐที่สองขึ้นมาซึ่งมีอายุสั้นเพียง 4 ปี

จากนั้นนโปเลียนที่สามได้ขึ้นครองราชย์ในระบอบจักรพรรดิ์จนถึง พ.ศ. 2413 เป็นเวลา 18 ปี คราวนี้ถึงเวลาที่ฝรั่งเศสจะมีการปกครองแบบสาธารณรัฐอย่างมั่นคงเสียที กระนั้น สาธารณรัฐที่สามอยู่ได้ 70 ปี คืออยู่มาจนถึงปี พ.ศ. 2483 ที่ถูกเยอรมันนาซียึดครอง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการสถาปนาสาธารณรัฐที่สี่ซึ่งมีอายุสั้นเพียง 12 ปี ช่วงนี้เป็นช่วงล่าถอยจากอาณานิคมและเป็นช่วงที่การเมืองขาดเสถียรภาพ

นายพลเดอ โกล ถือโอกาสช่วงชิงอำนาจ และจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่สถาปนาการปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา ซึ่งถือว่าเป็นสาธารณรัฐที่ห้าของฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสยึดมั่นในการปกครองแบบสาธารณรัฐ แต่ก็ยังมีคนจำนวนน้อยมากที่อยากฟื้นฟูราชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ ที่เล่าเรื่องราวของการเมืองฝรั่งเศสมาอย่างยืดยาวนี้ เพราะอยากจะชึ้ให้เห็นว่า หนทางสู่การเป็นสาธารณรัฐที่มีเสถียรภาพในฝรั่งเศสใช้เวลายาวนานมาก (81 ปี) ปัจจุบัน คนที่อยากฟื้นฟูราชาธิปไตยในฝรั่งเศสอยู่ร่วมกันด้วยดีกับคนที่ยึดมั่นในสาธารณรัฐ ทั้งนี้เพราะทุกคนเคารพสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

ในระบอบประชาธิปไตย คนที่เห็นต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีเกียรติและศักด์ศรี ไม่ควรมีใครถูกเบียดเบียน ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง รัฐธรรมนูญหลายฉบับของไทยก็มีบทบัญญัติเช่นนี้ หลายเดือนมานี้ คนรุ่นใหม่จำนวนมากได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกเขาอาจเป็นคนส่วนน้อย แต่รัฐกำลังใช้กฎหมายดำเนินคดีต่อผู้นำการชุมนุมไปเรื่อย ๆ การแสดงความเห็นที่แตกต่างกำลังเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงไปแล้วหรือ จะมีทางออกใดที่ดีกว่าการลงโทษผู้ที่เห็นต่างในเรื่องที่ฝ่ายรัฐถือว่าเป็นภัยได้หรือไม่ ผมไม่มีคำตอบที่เป็นรูปธรรม มีแต่ความเชื่อในระบอบประชาธิปไตย

ในช่วงนี้เราพูดกันมากเรื่องการปรองดองและความสมานฉันท์ ในเวลาที่มีความขัดแย้ง เราอยากเร่งให้มีการแก้ไขความขัดแย้ง อยากให้ไปถึงช่วงเวลาหลังความขัดแย้ง (post-conflict) เร็ว ๆ และเมื่อจินตนาการว่ากำลังจะพ้นความขัดแย้งไปแล้ว ก็อยากไปให้ถึงการปรองดองและความสมานฉันท์ อย่างไรก็ดี ยังมีขั้นตอนก่อนถึงการปรองดองอยู่ขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า reconciliation และขอแปลว่าการคืนดี ที่กล่าวมานี้อาจทำให้คิดว่า ทุกอย่างจะคลี่คลายไปตามลำดับเวลาแบบเชิงเส้น (linear)

แต่ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า ความขัดแย้งมักไม่คลี่คลายแบบเชิงเส้น และมักจะวนไปวนมามากกว่า คือมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น พร้อมกันนั้นก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้มันสลายไปและเกิดขึ้นใหม่อีก หมุนเวียนไปเช่นนี้ ยกเว้นว่าเราจะปล่อยมันไป เราจึงควรเริ่มหรือพยายามให้มีการคืนดีได้แล้ว

แม้ว่าจะยังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2475 และปะทุขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า กล่าวคือเราเริ่มการคืนดีได้โดยไม่ต้องรอให้ถึงช่วงหลังความขัดแย้ง (post-conflict) ซึ่งไม่มาถึงอย่างสนิทใจสักที

ความขัดแย้งมีสามองค์ประกอบคือ (1) ทัศนคติและความเชื่อ (2) พฤติกรรม (3) ข้อขัดแย้งในเชิงระบบและโครงสร้าง ตั้งแต่ปี 2475 มีความขัดแย้งในเรื่องความเชื่อทางการเมืองเรื่อยมา บางคนเชื่อในเรื่องราชาธิปไตย ที่เชื่อมากหน่อยก็ยังอาลัยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บางคนเชื่อในระบอบประชาธิปไตย บางคนหาทางประนีประนอมระหว่างราชาธิปไตยกับประชาธิปไตย บางคนเชื่อในเรื่องการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ

บางคนอยากให้มีการกระจายอำนาจหรือให้มีประชาธิปไตยแบบฐานราก บางคนเชื่อในทุนนิยมเสรี บางคนเชื่อในสังคมนิยม บางคนเชื่อในระบบรัฐสวัสดิการ บางคนเชื่อในเศรษฐกิจพอเพียง บางคนพอใจหรือเคยชินกับระบบผู้ใหญ่-ผู้น้อย คอยปกป้องผู้ใหญ่ที่ประพฤติไม่เหมาะสมและคอยเล่นงานผู้น้อยหรือเล่นงานผู้ใหญ่บางคนที่ตกจากอำนาจ บางคนบอกว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน บางคนบอกว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้จักกัน” (ในความหมายของการมีเส้นสาย) บางคนบอกว่าต้องปฏิบัติกับทุกคนเสมอกัน ฯลฯ

ดังที่กล่าวมาแล้ว การมีความเห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความขัดแย้งทางสังคมการเมืองไทยมีความยืดเยื้อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเชื่อที่ต่างกันดังกล่าวทำให้เกิดความกลัว และความกลัวทำให้มีการหักล้างโค่นล้มกัน มีการใช้อำนาจและมาตรการทางวัตถุวิสัยมาบังคับเปลี่ยนความเชื่อที่เป็นอัตวิสัย ตลอดเวลามา มีผู้เสนอและผู้ปฏิบัติเพื่อ “ให้การศึกษา” แก่ประชาชน ซึ่งทำอย่างได้ผลไม่มากก็น้อย เช่น ถ้ากลัวว่าเขาจะไม่รักชาติ ก็ให้สอนประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมให้มากขึ้นไปอีก

ถ้ากลัวว่าเขาจะไม่เป็นพลเมืองดีก็ให้สอนหน้าที่พลเมือง ถ้ากลัวว่าเขาจะขาดคุณธรรมก็ให้สอนวิชาศีลธรรมและปลูกฝังค่านิยม 12 ประการของ คสช. เป็นต้น ดังนั้น การคืนดีอาจจะเริ่มที่คำถามว่า “แล้วเรากลัวไปทำไม เราปล่อยวางและไม่มองคนอื่นว่าเป็นภัยคุกคามบ้างได้ไหม มองว่าคนอื่นเป็นเพื่อนร่วมโลก ไม่ใช่ศัตรูได้ไหม” ส่วนคำถามที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือจะทำอย่างไร เมื่อปล่อยวางความกลัวได้ เราจะอยู่กับผู้อื่นโดยยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็นได้อย่างไร ขั้นตอนต่อไปในเรื่องของทัศนคติการคืนดีคือการพัฒนาไมตรี (empathy) หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง อย่างไรก็ดี การพัฒนาทัศนคติหรือวัฒนธรรมทางการเมืองเช่นนี้ต้องใช้เวลา อาจเป็นหลายสิบปีหรือหลายชั่วอายุคน แต่ไม่สายที่จะเริ่มตั้งแต่บัดนี้มิใช่หรือ

พฤติกรรมทางการเมืองพฤติกรรมหนึ่งที่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการคืนดี คือการใช้สื่อออนไลน์เพื่อสื่อข้อความต่าง ๆ นานา โดยคิดว่าไม่ต้องรับผิดชอบ เขาว่าเรา-เราว่าเขาไปเรื่อย ๆ มีบ้างที่รู้ว่าข่าวหนึ่งเป็นข่าวเท็จ ก็ยังจงใจสร้างหรือแชร์กันไป ทั้งนี้ด้วยความสนุกหรือด้วยจงใจในจุดมุ่งหมายเฉพาะตน อนึ่ง รัฐได้ออกกฎหมายคอมพิวเตอร์เพื่อป้องกันการใช้สื่อออนไลน์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความเกลียดชัง หรือยุยงให้เกิดความรุนแรงทางมโนกรรมและวจีกรรม แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะต้องมีใจที่เป็นกลางและเปิดกว้างพอ

พฤติกรรมที่น่าวิตกคือการไม่ฟังกัน ผู้เห็นต่างก็ชุมนุมไป ถูกตั้งข้อหาไป ผู้มีอำนาจก็อธิบายไปแต่ไม่โดนใจหรือจริงใจเท่าที่ควร ฯลฯ เพื่อการคืนดี ตำราท่านว่าจะต้องจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ให้ผู้ที่เห็นต่างได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยหวังให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ กิจกรรมควรมีทั้งแบบบนลงล่างและแบบล่างขึ้นบน โดยรัฐ (หากต้องการส่งเสริมการคืนดี) ไม่วางตัวเป็นอุปสรรค หากควรสนับสนุนทรัพยากรแก่กิจกรรมเหล่านั้นตามสมควร

มาถึงข้อขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ที่สำคัญคือระบบการเมืองการปกครองและระบบกฎหมาย ประเด็นสำคัญในขณะนี้คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่ผู้มีอำนาจจะยอมปล่อยให้อำนาจไหลผ่านไปสู่ประชาชน ให้ประชาชนเห็นพ้องกับการจัดให้มีกฎหมายออกเสียงประชามติที่เปิดกว้างให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำถามที่ให้ลงประชามติสามารถร่วมรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งกระบวนการร่างก็ตรงไปตรงมาจนหมดข้อสงสัย และเชื่อโดยสนิทใจได้ว่าไม่ใครปรับแต่งกระบวนการเพื่อเอื้อแก่ฝ่ายตน

ข้อคิดข้างต้นอยู่บนพื้นฐานว่าเราไม่ค่อยมีเวลามาทะเลาะกันมากมายนัก จึงควรเดินสายกลาง และปล่อยให้ความขัดแย้งในอดีตไหลผ่านไปเหมือนน้ำในสายชลที่พบทางออกจากวังวนสู่ทะเลกว้าง การคืนดีเป็นทั้งเป้าหมายคือการอยู่ร่วมในสังคมการเมืองเดียวกันโดยไม่บังคับให้คนคิดเหมือนกัน เพียงแต่ให้เคารพกันมากพอ และเป็นทั้งกระบวนการที่จะต้องมาร่วมกันคิดค้นเพื่อเดินทางไปสู่วิสัยทัศน์ของระบอบประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นระบอบที่เอื้อต่อการแก้ไขความขัดแย้งรอบด้านอย่างเป็นธรรม

หนทางสู่การคืนดีต้องการการปล่อยใจและการสลัดความบาดหมางที่กัดกินใจออกไป ให้มันไหลไปตามเหตุปัจจัยของมัน

***************