posttoday

Restart Thailand 2021

12 ธันวาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************

RT ย่อมาจาก Restart Thailand แปลว่า “เริ่มใหม่เถิดประเทศไทย”

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อกลางสัปดาห์นี้ เมื่อมีผู้ตีความหมายของรูปสัญลักษณ์ของคำย่อนี้ว่า มันเหมือนกับรูปค้อนเคียวที่เป็นสัญลักษณ์ของพวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งพอผู้สื่อข่าวไปถามนายกรัฐมนตรี ก็ดูเหมือนว่าท่านจะฉุนเฉียวกราดเกรี้ยวออกมาทันที รวมถึงคำถามที่ว่าคนกลุ่มนี้กำลังจะนำประเทศไทยไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับผู้นำประเทศท่านนี้เป็นอย่างยิ่ง เหมือนว่ากำลังมีใครไปแหย่รังแตนเข้ากระนั้น

หลายคนคงมองประเด็นนี้ด้วยความสงสัยว่า ม็อบกำลังจะนำประเทศไทยไปสู่ระบอบสาธารณรัฐจริงหรือ แต่ที่น่าสงสัยไปยิ่งกว่านั้นก็คือ ใครนะที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการนี้ และ “เขา” มีเจตจำนงอย่างนั้นจริงหรือ รวมทั้งกลุ่ม RT นี้เกี่ยวข้องกับม็อบเยาวชนที่มีกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องนั้นอย่างไร

ผู้เขียนเคยทำงานอยู่ในสำนักข่าวกรองแห่งชาติในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ถ้าจะให้วิเคราะห์การหาข่าวตามแนวที่เคยมีประสบการณ์ผ่านมา ก็พอจะเชื่อได้ว่าขณะนี้ฝ่ายรัฐกำลังค่อนข้างมะงุมมะงาหรา เพราะตามความคิดและการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบไม่ทัน

ประการแรก นักการข่าวฝ่ายรัฐ(ทั้งพลเรือน ทหาร และตำรวจ)น่าจะยังใช้กระบวนการ “หาข่าว” แบบเดิม ๆ คือการเชื่อมโยงบุคคลที่จะต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลเป้าหมายเหล่านั้น อย่างที่เรียกว่าการสะกดรอย ร่วมกับการแฝงตัวเข้าไปร่วมกิจกรรมอยู่ในกลุ่มม็อบ เพื่อหาข่าวจากกลุ่มคนที่มาร่วมกิจกรรม ซึ่งข่าวสารที่ได้น่าจะเป็นข่าวลวงเสียส่วนมาก

เหตุผลหนึ่งก็คือกลุ่มม็อบเหล่านี้ค่อนข้างกระจัดกระจาย ทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลเต็มไปด้วยความยากลำบาก และอีกปัจจัยหนึ่งคือรูปแบบของการสื่อสาร ก็เป็นเทคโนโลยีแบบปิดหรือการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม ที่ทำให้ยากที่จะเจาะเข้าไปถึงตัวแกนกลางของกิจกรรมนั้นได้ ซึ่งผู้ที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีให้ความเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นเองยังมีสมรรถนะเข้าไปไม่ถึง รวมทั้งที่กลุ่มม็อบก็พยายามกระจายตัวออกจากกัน แม้แต่ที่ผู้ที่มาร่วมกับม็อบก็ไม่ได้มาร่วมในม็อบด้วยการจัดตั้งกันตามแบบการก่อม็อบแบบเก่า ๆ แต่เหมือนเป็นแค่การนัดหมาย “เฉพาะกิจ” ที่ต้องการแสดงความเคลื่อนไหวแต่เพียง “เปลือก” แต่ “แก่น” หรือสาระสำคัญในการก่อม็อบยังไม่มีใครรู้แน่ชัด

อีกประการหนึ่ง รัฐบาลประเมินม็อบค่อนข้างต่ำ ตั้งแต่มองว่าเป็นแค่ “ม็อบเด็ก ๆ” ไม่มีสติปัญญาคิดได้เอง มีคนอยู่เบื้องหลังหรือมีผู้จ้างวาน ไปจนถึงทำด้วยความคึกคะนอง ก็แค่เป็นแฟชั่นหรือแสดงตัวตน อยากออกสื่อ หรือเรียกเรตติ้งในโซเชียล ฯลฯ คงจะชุมนุมกันได้ไม่นาน รวมทั้งที่คิดว่าเดี๋ยวจับพวกที่ทำผิดในการชุมนุมไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็จะเข็ดและซาไปเอง แต่รัฐบาลไม่ได้มองให้ลึกว่า นอกเหนือจากพวกที่รัฐบาลมองเห็นและมีความเชื่อข้างต้นนั้นแล้ว ก็ยังมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ “คิดได้เอง ทำได้เอง” อยู่ด้วย ซึ่งคนเหล่านี้น่าจะมีจำนวนมากกว่าพวกที่ออกมาเดินตามถนน แต่พวกเขาคือคนที่เป็นห่วงอนาคต คนที่สิ้นหวังในกลุ่มผู้ปกครองปัจจุบัน รวมถึงคนที่อยากจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์บ้านเมืองนี้บ้าง จึงได้ใช้โอกาสที่มีม็อบกลุ่มนี้ออกหน้า “เกาะขบวน” ตามมาเป็นพรวนอีกมาก ซึ่งจำนวนมากนั้นไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะพวกเขาไม่ได้ออกมาเดินร่วมประท้วงกับม็อบ แต่เป็นกบฏ “แข็งขืน” อยู่ในที่ตั้ง ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และที่ทำงาน

ผู้เขียนสนใจการสนทนากันในกลุ่มไลน์และเฟซบุ๊คของคนหลาย ๆ กลุ่ม เพราะจะทำให้มอง “กระแสสังคม” ได้ค่อนข้างดี ในขณะที่ผู้มีอำนาจกลับมองว่า นี่เป็นแค่ IO หรือ “สงครามข้อมูลข่าวสาร” และมองแค่ว่านี่เป็นการปั่นกระแส หรือสร้างข่าวลวง แต่รัฐบาลก็น่าจะมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องสงครามข้อมูลข่าวสารนี้อยู่มาก ที่พอจะกล้าแนะนำกับรัฐบาลว่า “สงครามข่าวลวง” นี้แหละที่น่ากลัวกว่าสงครามข่าวจริงเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังมีข้อเสียเปรียบที่ไม่อาจจะปล่อยข่าวลวงได้เหมือนกับฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล

ในขณะที่การให้ข้อมูลที่แท้จริงก็ไม่เป็นที่น่าสนใจของผู้คน เช่นเดียวกันกับที่ฝ่ายที่เชียร์รัฐบาลก็สนใจแต่ว่ารัฐบาลจะโต้ตอบกับฝ่ายต่อต้านนั้นอย่างไร อันเป็นธรรมชาติของผู้เสพสื่อทั้งหลาย ที่ชอบข่าวจำพวกที่สร้างความ “ฮือฮา” ด้วยการ “สาดโคลนข่าว” มากกว่าที่จะเป็นแค่การโต้ข่าวหรือ “แก้ข่าว” ที่จืดชืดและไม่เร้าความรู้สึกอะไร

เมื่อมองไปในปีหน้า หากผู้คนยังชอบที่จะตอบโต้กันทางข่าวสารอย่างเผ็ดร้อนอยู่อย่างนี้ ฝ่ายที่ก่อม็อบก็น่าจะยิ่งเรียกเรตติ้งด้วยการหาข่าวสารอะไรที่ร้อนแรงมากกว่านี้เผยแพร่ออกมาเรื่อย ๆ ในขณะที่รัฐบาลก็คงได้แต่ตั้งรับอย่างเคย เพราะการแสดงความก้าวร้าวของรัฐบาลก็จะมีแต่ยิ่งทำให้เสียมวลชน ในขณะที่ข่าวสารบางอย่าง(โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสถาบัน)ก็ไม่อาจจะเปิดเผยได้ ก็ยิ่งทำให้เป็น “ขี้ปาก” และมีการเติมเชื้อไฟให้ดูร้อนแรงมากขึ้น ซึ่งก็จะเข้าทางผู้เสพข่าวคนไทย ไม่เพียงแต่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่จะมีอะไร “ฮือฮา” มากขึ้น แต่ในฝ่ายที่เชียร์รัฐบาลเองก็จะยิ่งถูกกระแสข่าวที่เป็น “ไฟเย็น” นี้ ค่อย ๆ ลามเลียให้คลอนแคลน

ปี 2564 อาจจะเรียกได้ว่าเป็น Restart Thailand 2021 โดยกระบวนการต่อต้านรัฐบาลทั้งในมุมมืดและในที่สว่าง ที่จะยิ่งก่อ “สงครามไฟ” เพื่อโหมกระพือข่าวให้รัฐบาลง่อนแง่นมากยิ่งขึ้น รัฐบาลอาจจะไม่โชคดีเหมือนในปีนี้ที่มีโควิด 19 เป็น “ยันตร์กันผี” ไม่ให้ใครแตะต้องรัฐบาลได้มากนัก ในขณะที่รัฐบาลก็จะ “เปิดคาง” ให้ฝ่ายต่อต้านนั้นโจมตีได้มากขึ้น เช่น ความไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการลิดรอนเสรีภาพในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งจะ “เรียกแขก” ให้ออกมาร่วมถล่มกันมากขึ้น

ไม่เพียงจะเจอ “ค้อนเคียว” จากม็อบ แต่อาจจะเจอ “ประชาทัณฑ์รัฐ” จากคนที่ทั้งชอบและไม่ชอบรัฐบาลนั้นด้วย

*******************************