posttoday

สัตว์“ปฏิรูป”การเมือง

05 ธันวาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

***************

สัตว์บางชนิดชอบกัดโค่นต้นไม้เพื่อกินยอดหรือล้มต้น

ที่บ้านผู้เขียนแม้จะมีเนื้อที่เพียง 1 งานเศษ แต่ก็ปลูกต้นไม้ยืนต้นไว้เป็นจำนวนมาก จนแน่นเต็มพื้นที่ หลายปีผ่านไปก็บดบังบ้านหลังเล็ก ๆ จนหมด ดูเหมือน “บ้านเล็กในป่าใหญ่” จริง ๆ เช้า ๆ ก็จะมีนกกางเขนส่งเสียงปลุก สาย ๆ ก็จะมีนกเขามาจิกกินอาหารแมวที่เหลือทิ้งไว้ ถ้าเป็นหน้ามะม่วงออกผลก็จะมีกระรอกมาแทะกินจนหล่นกระจายลงมาที่พื้นดิน บางทีก็อดบ่นกับกระรอกไม่ได้ว่า ทำไมต้องกัดหล่นเรี่ยราดด้วย ทำไมไม่กินให้เรียบร้อย ค่อย ๆ แทะบนต้นนั่นแหละ แล้วอย่าไปกัดก้านของผลมะม่วง จะได้กินจนหมดลูก

วันหนึ่งจึงเอากล้องส่องทางไกลมาส่องดูที่พวงมะม่วงที่อยู่ค่อนข้างสูง เพื่อสังเกตการณ์กัดแทะของเจ้ากระรอก มองเห็นว่ามันจะเลือกกัดลูกที่กำลัง “เข้าไคล” คือแก่จัดใกล้จะสุก และเลือกกัดตรงบริเวณหัวผลใกล้กับขั้ว สักพักมะม่วงผลนั้นก็หล่นลงมา จึงหยิบมาดูใกล้ๆ จึงเห็นว่าบริเวณที่ถูกกัดนั้นจะมีความมันหรือปริมาณแป้งมากกว่าตรงปลายผล ซึ่งตรงหัวขั้วคงจะอร่อยกว่าตรงปลายผลที่ยังคงมีความเปรี้ยว จึงทำให้เข้าใจว่ากระรอกคงจะมีภูมิปัญญาถ่ายทอดกันสืบต่อมาถึงบริเวณที่อร่อยที่สุดของผลไม้ (ถ้าบ้านไหนปลูกมะพร้าวหรือผลไม้อื่น ๆ ก็คงจะสังเกตเห็นแบบเดียวกันนี้) แต่มันคงไม่ได้รู้มากเกินไปกว่าการกัดกินตรงบริเวณนั้น โดยไม่ได้คิดว่าจะทำให้ผลไม้หลุดร่วงออกจากขั้ว และทำให้กินไม่หมดผล ต้อง “เสียของ” ไปเป็นส่วนใหญ่

ตอนเด็ก ๆ เคยดูสารคดีเกี่ยวกับเจ้าตัว “บีเวอร์” ที่อยู่แถบทวีปอเมริกาเหนือ บีเวอร์จะอาศัยอยู่ในป่าริมธารน้ำ ว่ากันว่าบีเวอร์เป็น “นักสร้างเขื่อน” ที่เก่งที่สุด โดยจะนำกิ่งไม้ขนาดพอสมควรมาวางขัดกันให้กองเป็นคันเขื่อนขวางทางน้ำ หนึ่ง ก็เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยที่เจ้าตัวบีเวอร์ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมน้ำ และสอง เพื่อกักเก็บอาหาร คือปลาต่าง ๆ ที่จะมาแออัดกันอยู่ที่หน้าเขื่อน แต่ช่างน่าเศร้าใจที่เจ้าบีเวอร์กลับเป็น “นักทำลายป่า” ที่น่ากลัวที่สุดด้วยเช่นกัน เพราะก่อนที่จะได้กิ่งไม้มาสร้างเขื่อน บีเวอร์จะไปกัดต้นไม้ใหญ่ ๆ ลงมาทั้งต้น แล้วเลือกเอาเฉพาะกิ่งไม้ตามขนาดที่ต้องการมาสร้างเป็นเขื่อนต่อไป ทำให้ต้นไม้ใหญ่ล้มระเนระนาด และป่าต้องสูญเสียทรัพยากรที่ล้ำค่าอย่างที่ยากจะหามาทดแทนได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งก็คือต้นไม้นานาชนิดที่ต้องใช้เวลานับสิบ ๆ ปีกว่าจะเอามาใช้ประโยชน์ได้

หันมามองที่ม็อบเยาวชนที่กำลังคิดปฏิรูปประเทศกันอยู่ขณะนี้ ก็ทำให้นึกเปรียบเทียบกับเจ้ากระรอกและตัวบีเวอร์ ที่คิดจะสร้างอนาคตด้วยความรู้ที่จำกัด แน่นอนว่าความคิดความฝันของเยาวชนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แม้บางความเห็นจะบอกว่าเป็นเรื่องของช่วงวัยที่ “ฮอร์โมนว้าวุ่น” แต่ถ้าหากมีการบ่มเพาะอารมณ์ความรู้สึกของเยาวชนเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ “การสะสมของความฝัน” ก็จะกลายเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในอนาคต

ปัญหาที่ผู้เขียนกำลังสนใจก็คือ ความคิดความฝันของเยาวชนเหล่านี้มีที่มาอย่างไร จากใคร หรือด้วยอะไร หากจะคิดง่าย ๆ จากประสบการณ์ส่วนตัว ที่เคยถูกหล่อหลอมมาในยุคที่ผู้คนเบื่อหน่ายเผด็จการทหารในช่วง พ.ศ.2516-2519 ก็คาดเดาว่าเยาวชนเหล่านี้ที่เติบโตมาในช่วง “ปฏิรูปการเมือง” (พ.ศ. 2535 - 2544) น่าจะถูก “กล่อมเกลา” ด้วยกระแสการตื่นตัวของการมีส่วนร่วมทางการที่ค่อนข้างสูง อันเกิดจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ในช่วงนั้น

ครั้นถึงช่วงที่มีการเลือกตั้ง พ.ศ. 2543 (เลือก ส.ว.) และ2544 (เลือก ส.ส.) และมีการเมืองในระบบรัฐสภาในช่วงดังกล่าว จนถึงที่มีการรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 กลุ่มเยาวชนเหล่านี้ก็กำลังเติบโตเป็นวัยรุ่น โดยเฉพาะในช่วงที่การเมืองวุ่นวายระหว่างปี2551 - 2557 ที่มาสิ้นสุดด้วยการรัฐประหารในปี 2557 นั้น หลายคนในกลุ่มแกนนำเยาวชนก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ หลายคนมีสิทธิเลือกตั้งและมีโอกาสได้ลงคะแนนเป็นครั้งแรก (บ้างก็ใน พ.ศ.2554 และบ้างก็เพิ่งมาได้ใช้สิทธิใน พ.ศ. 2562) จึงน่าจะส่งผลต่อ “ความคิด - ความฝัน” ของเยาวชนกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัญหาทางการเมืองที่เกิดจากการแทรกแซงของทหารในช่วงเวลานี้ถึง 2 ครั้งนั้นด้วย

อีกเรื่องหนึ่งเยาวชนกลุ่มนี้ได้ถูกหล่อหลอมมาในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนรัชกาล นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 ไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราชจนกระทั่งสวรรคตใน พ.ศ. 2559 ข่าวคราวเกี่ยวกับ “รัชกาลใหม่” ก็โหมแรงมากขึ้น ด้วยกระแสของโซเชียลที่เป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ บางส่วนอาจจะเป็นการสื่อสารกันด้วยความกังวล อันเป็นปกติของสังคมไทยที่เต็มไปด้วยการ “นินทากาเล”

แต่บางส่วนก็อาจจะมีผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพยายามถ่ายทอดเข้าไป ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ก็ทำให้เยาวชนที่กำลังเป็นห่วงต่ออนาคตของพวกเขา ต้องมีการแสดงออกให้มากขึ้น เพราะพื้นฐานของสังคมไทยมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างแข็งแรง แต่เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในภาวะที่ถูกระบอบทหารห้อมล้อม ก็ทำให้เกิดความหวาดหวั่นต่ออนาคตของเยาวชนเหล่านี้มากขึ้น ดังที่เราได้เห็นภาพของการจับเรื่องของทหารเข้ามาเป็นประเด็นของการเปลี่ยนแปลงร่วมกันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งเรื่องที่จะให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก และการที่จะให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

หลายคนมองการเคลื่อนไหวของเยาวชนด้วยความอึดอัดและเป็นกังวลอย่างยิ่ง อย่างที่ผู้เขียนพาลนึกไปถึงเรื่องกระรอกที่บ้านและบีเวอร์ที่เคยดูในสารคดีทางโทรทัศน์ เกรงว่าจะเป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” หรือ “โค่นป่าหากิ่งไม้” แต่ถ้าเราจะมองให้ลึก ๆ โดยเอาตัวเราที่เคยเป็นเยาวชนนั้นมาเช่นกัน ก็อาจจะสบายใจขึ้นบ้างว่า “ถึงเวลาที่อะไรจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน” ที่รวมถึงตัวเยาวชนเหล่านี้ด้วย

มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองโดยสัญชาติญาณ ย่อมจะคิดสร้างการเมืองที่เหมาะสมกับตัวมนุษย์นั้นต่อไป

*******************************