posttoday

จอห์น มิลตัน: นักคิดฝ่ายล้มเจ้าของอังกฤษ

26 พฤศจิกายน 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

************************

ในสงครามกลางเมืองอังกฤษระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายพระมหากษัตริย์ พระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง ใน(ค.ศ. 1642-1649) หนึ่งในผู้ที่สนับสนุนฝ่ายรัฐสภาคือ จอห์น มิลตัน (John Milton: 1608-1679) ผู้เป็นกวีและนักคิดนักเขียน

มิลตันเป็นคนที่ชื่นชมกาลิเลโออย่างยิ่ง ในราวเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1638 มิลตันได้เดินทางไปพบกาลิเลโอที่บ้านเกิดของเขา ในเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี มิลตันได้พบกาลิเลโอ ซึ่งในขณะนั้นกาลิเลโอเป็นชายชราอายุเจ็ดสิบสี่ ตาบอด และยังถูกกักบริเวณตามคำสั่งของศาสนจักร โดยศาสนจักรพยายามจะบังคับให้กาลิเลโอละทิ้งความคิดความเชื่อที่ว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ (ระบบสุริยจักรวาล) เพราะในความเชื่อของศาสนจักร ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก

จอห์น มิลตัน: นักคิดฝ่ายล้มเจ้าของอังกฤษ

                                                   มิลตันเข้าพบกาลิเลโอ

นอกจากมิลตันแล้ว นักคิดทางการเมืองอย่างโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes: 1588-1679) ก็ชื่นชมกาลิเลโอเช่นกัน แต่ที่แปลกคือ แม้ว่าทั้งสองจะชื่นชมความคิดของกาลิเลโอ แต่ในขณะที่ฮอบส์สนับสนุนระบอบกษัตริย์ ส่วนมิลตันกลับไปอยู่ฝ่ายล้มเจ้า !

จอห์น มิลตัน: นักคิดฝ่ายล้มเจ้าของอังกฤษ

                        จักรวาลของกาลิเลโอ                                                        จักรวาลของศาสนจักร

จากการได้พบกับกาลิเลโอ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้มิลตันเขียนบทกวีอันโด่งดังของอังกฤษและของโลกด้วย บทกวีที่ว่านี้ชื่อ “Paradise Lost” (คนไทยแปลว่า “สวรรค์ลา”) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1667 และจากการปิดกั้นทางความคิดและสื่อสิ่งพิมพ์ที่ศาสนจักรกระทำต่อกาลิเลโอในอิตาลี ส่งผลให้มิลตัน---หลังจากที่เขากลับมาอังกฤษแล้ว---ออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพทางความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในสิ่งพิมพ์ โดยเขาได้เขียนหนังสือชื่อ Areopagitica: A speech of Mr. John Milton for the liberty of unlicensed printing to the Parliament of England” (“Areopagitica: วาทะของนายจอห์น มิลตันเพื่อเสรีภาพในการตีพิมพ์ต่อรัฐสภาแห่งอังกฤษ”) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1644 อันเป็นช่วงต้นๆของสงครามกลางเมือง

จอห์น มิลตัน: นักคิดฝ่ายล้มเจ้าของอังกฤษ

ในหนังสือเล่มดังกล่าว มิลตันต่อต้านการปิดกั้นทางความคิด (censor) โดยมีข้อโต้แย้งที่แหลมคมยิ่ง นั่นคือ “การทำลายหนังสือดีๆเล่มหนึ่งก็ไม่ต่างจากการฆ่ามนุษย์คนหนึ่ง ใครที่ฆ่ามนุษย์ก็เท่ากับฆ่าสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล ที่เป็นฉายา (image) ของพระผู้เป็นเจ้า (ตามคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ (อาดัม) ตามฉายาของพระองค์—ผู้เขียน) ในสายตาของพระผู้เป็นเจ้า คนที่ทำลายหนังสือดีๆเล่มหนึ่ง เขาผู้นั้นคือผู้ฆ่าเหตุผล และฆ่าฉายาของพระผู้เป็นเจ้า”

ในปี ค.ศ. 1649 หลังจากฝ่ายรัฐสภาได้ชัยชนะและพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งทรงถูกพิพากษาสำเร็จโทษ มิลตันได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญให้ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ (republicanism) ในปีเดียวกันนั้น มิลตันได้เขียนหนังสือชื่อ The Tenure of Kings and Magistrates อันเป็นข้อเขียนที่ให้เหตุผลปกป้องสาธารณรัฐในฐานะที่เป็นการปกครองของประชาชน (popular government)

การมุ่งมั่นปกป้องรักษาระบอบสาธารณรัฐอย่างแรงกล้าของมิลตัน ส่งผลให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีในหมู่ผู้นำการปฏิวัติ ทำให้เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการฝ่ายภาษาต่างประเทศของสภาแห่งรัฐ (the Council of State) ซึ่งสภานี้ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทนพระมหากษัตริย์ เพราะไม่ต้องการให้อำนาจไปอยู่ในมือของคนๆเดียวอีกต่อไป

ภาระหน้าที่หลักของตำแหน่งของมิลตันในสภาแห่งรัฐคือ เขียนหนังสือโต้ตอบในภาษาละตินให้สาธารณรัฐอังกฤษ และยังรวมถึงการเขียนงานในลักษณะของการรณรงค์ (ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามก็คงเรียกว่า โฆษณาชวนเชื่อ) สร้างกระแสสนับสนุนสาธารณรัฐ และที่สำคัญคือ การอธิบายความชอบธรรมของการตัดสินสำเร็จโทษพระมหากษัตริย์---พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง ซึ่งฝ่ายรัฐสภาในฐานะที่เป็นผู้ชนะสงครามได้กล่าวหาพระเจ้าชาร์ลส์ในฐานะที่เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

จากมุมมองของฝ่ายรัฐสภา เห็นว่า หลังจากสงครามกลางเมืองช่วงแรกยุติลง (สงครามกลางเมืองอังกฤษมีสามช่วง ดังที่ได้เคยกล่าวไปในตอนก่อนๆแล้ว) ฝ่ายรัฐสภาก็ได้ออกกฎหมายเพื่อแต่งตั้งศาลในการพิพากษาคดีพระเจ้าชาร์ลส์ เพราะรัฐสภายอมรับเงื่อนไขที่ว่า พระมหากษัตริย์ แม้ว่าจะทรงทำผิด (the king did wrong) แต่พระองค์ก็ทรงมีสิทธิ์ที่จะแก้ต่างให้ความชอบธรรมต่อการกระทำของพระองค์ได้ และก็ยังยอมรับพระองค์ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์

แต่พระราชอำนาจจะต้องถูกจำกัดภายใต้เงื่อนไขใหม่ แต่ พระเจ้าชาร์ลส์ไม่ทรงยอมรับ และยังทรงเดินหน้าทำสงคราม ซึ่งถือเป็นช่วงที่สองของสงครามกลางเมือง และฝ่ายรัฐสภาเห็นว่า การนองเลือดในสงครามกลางเมืองช่วงหลังนี้เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น และพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งทรงต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น เพราะในสงครามกลางเมืองช่วงหลังนี้ พระเจ้าชาร์ลส์ได้ทรงนำกองทัพจากสก๊อตแลนด์เข้ามาร่วมทำศึกด้วย

ซึ่งฝ่ายรัฐสภาเห็นว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะในช่วงแรก ยังเป็นสงครามหรือเป็นการทะเลาะระหว่างคนอังกฤษด้วยกันเอง แต่การเอากองทัพต่างชาติเข้ามาประหัตประหารคนอังกฤษด้วยกัน ถือว่าเป็นการกระทำที่อภัยไม่ได้ เข้าข่ายเป็น “ทรราช ทรยศต่อแผ่นดินอังกฤษ และเป็นฆาตกรสังหารชีวิตเลือดเนื้อของผู้คนในแผ่นดินอังกฤษด้วยกันเอง”

ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายรัฐสภาจึงตั้งข้อกล่าวหาพระเจ้าชาร์ลส์ในฐานะ “ทรยศต่อแผ่นดินอังกฤษ” ด้วยพระองค์ไม่ได้ใช้พระราชอำนาจไปเพื่อความดีงามของอังกฤษ แต่กลับใช้เพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์

คำฟ้องที่ฝ่ายรัฐสภามีต่อพระองค์คือ ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่กลับใช้พระราชอำนาจไปเพื่อมุ่งบรรลุแผนการอันชั่วร้าย ปกป้องตัวเองและพวกพ้องและพฤติกรรมอันชั่วช้า ทำสงครามต่อต้านรัฐสภา ที่เป็นสถาบันตัวแทนของประชาชน และใช้พระราชอำนาจไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์สาธารณะ สิทธิของผู้คน เสรีภาพ ความยุติธรรม และความสงบสุขของผู้คนในชาติ ผู้คนต้องล้มตายในสงครามกลางเมืองสองครั้งนี้มีจำนวนถึง 84,830 คน และตายจากการบาดเจ็บอีกถึงนับแสนคน คิดเป็นร้อยละ 3.6 ของประชากรทั้งหมดในขณะนั้น

แม้ว่า คำฟ้องของฝ่ายรัฐสภาจะฟังดูมีน้ำหนัก แต่กระนั้น ทางสภาแห่งรัฐก็ต้องให้มิลตันเร่งสร้างกระแสความชอบธรรมต่อกระบวนการพิพากษาและการตัดสินสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์อย่างเต็มที่ เพราะเหตุการณ์การสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งครั้งนั้นถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทั้งในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษและของทั้งยุโรปเลยก็ว่าได้ เพราะที่ผ่านมา แม้พระมหากษัตริย์อังกฤษ เช่น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่สอง (ค.ศ. 1284-1327) พระเจ้าริชาร์ดที่สอง (ค.ศ. 1367-1400) และพระเจ้าเฮนรี่ที่หก (ค.ศ. 1421-1476) จะถูกโค่นล้มหรือปลงพระชนม์ แต่ก็เกิดจากฝีมือของคนที่ต้องการมาแทนที่พระองค์ ซึ่งก็มักจะเป็นพวกเจ้าด้วยกัน

แต่ไม่เคยมีการนำตัวพระมหากษัตริย์มาขึ้นศาลเพื่อพิพากษาอย่างที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งในปี ค.ศ. 1649 เพราะตามคติการปกครองของอังกฤษก่อนหน้านี้ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เป็นพระราชอำนาจที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้อำนาจใด ยกเว้นอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น และด้วยเหตุที่พระราชอำนาจของพระองค์เป็นอำนาจแห่งเทวสิทธิ์ (Divine Right)

การใช้พระราชอำนาจของพระองค์จึงไม่มีวันผิดพลาด (The King can do no wrong.) หรือหากผิดพลาด สิ่งที่ไพร่ฟ้าราษฎรพึงกระทำได้ก็คือ การขอความเมตตาและการสวดภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่การลุกขึ้นใช้กำลังต่อต้านพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เพราะตุลาการหนึ่งเดียวที่จะพิพากษาพระมหากษัตริย์ได้คือ พระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์ แต่การพิพากษาพระมหากษัตริย์ครั้งนี้เกิดขึ้นในนามของ “ประชาชนคนทั้งแผ่นดินอังกฤษ” ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงจำต้องให้มิลตันใช้ความรู้ความสามารถในการเขียนสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนและผู้คนในยุโรป

ที่กล่าวว่า การพิพากษาพระเจ้าชาร์ลส์กระทำในนามของ “ประชาชนคนทั้งแผ่นดินอังกฤษ” จริงๆแล้ว ประชาชนคนอังกฤษรับรู้ด้วยแค่ไหน ไม่มีใครทราบ เพราะเป็นการกล่าวอ้างของรัฐสภาในฐานะตัวแทนของประชาชน อาจจะมีคนอยากจะตะโกนถามพวกนักการเมืองในสภาว่า “มึงถามกูหรือยัง ?”

จอห์น มิลตัน: นักคิดฝ่ายล้มเจ้าของอังกฤษ

                            ภาพวาดเหตุการณ์บั่นพระเศียรพระเจ้าชาร์ลส์