posttoday

ถึงเวลาสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ปลอดการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา

25 พฤศจิกายน 2563

โดย...ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

*****************

ที่ผ่านมาเราจะรับรู้เรื่องราวความรุนแรงทางเพศในโรงเรียนและสถานศึกษาก็ต่อเมื่อเรื่องราวเหล่านั้นปรากฎเป็นข่าวดังตามสื่อต่างๆ หลังเป็นข่าวในหลายกรณีพบว่าผู้กระทำการล่วงละเมิดก็ยังคงทำงานอยู่ในสถานศึกษานั้นๆ บางกรณีอาจย้ายไปไปสังกัดที่อื่น ไม่มีหลักประกันว่าบุคคลเหล่านั้นจะงดเว้นพฤติกรรมที่เป็นไม่พึงประสงค์ในสังกัดใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ปรากฎว่ามีมาตรการใดที่จะช่วยป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศและคุ้มครองผู้ถูกล่วงละเมิดที่ต้องการร้องเรียนและเยียวยาจากความเสียหายที่ได้รับ

เป็นที่รับรู้ร่วมกันในสังคมว่ายังมีผู้ถูกล่วงละเมิดอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่เป็นข่าว เพราะผู้ถูกล่วงละเมิดเกิดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะผู้คุกคามทางเพศส่วนใหญ่มีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกล่วงละเมิด ทำให้ไม่มั่นใจว่าเมื่อร้องเรียนออกไปจะได้รับความเป็นธรรรมหรือไม่ ทั้งในแง่กระบวนการตรวจสอบและผลกระทบอันเกิดจากการท้าทายอำนาจผู้คุกคามทางเพศ

และหลายกรณีพบว่ามีการปกป้องผู้คุกคามทางเพศเพราะต้องการปกป้องหน้าตาขององค์กรและแวดวงวิชาชีพของตน ในเรื่องที่ไม่เป็นข่าวก็พยายามใช้ช่องทางกฏหมายที่เอื้อให้ประนีประนอมและชดใช้ค่าเสียหายแทนการฟ้องร้องดำเนินคดี หากเรื่องแดงขึ้นก็ใช้วิธีโทษผู้ถูกล่วงละเมิด โดยใช้มายาคติทางเพศที่มีอยู่เป็นเครื่องมือเพื่อปิดปากและลดความชอบธรรมของผู้ถูกล่วงละเมิด

ความไร้ประสิทธิภาพของการรับมือกรณีการล่วงละเมิดในสถานศึกษา เกิดจากความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม และการฉวยใช้ประโยชน์จากมายาคติทางเพศ กดทับผู้ถูกล่วงละเมิด ทำให้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษาไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายเอาผิดผู้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าจะช่วยยับยั้งภัยทางเพศต่อเด็กและเยาวชนได้ การป้องกันที่มีประสิทธิผลจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการสร้างวัฒนธรรมที่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่แสวงประโยชน์ทางเพศไม่ว่ากับเพศใดหากผู้นั้นไม่ยินยอม

การป้องกันการคุกคามทางเพศเป็นสิ่งที่สามารถทำได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องการความเอาจริงเอาจังของผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติในทุกระดับ ซึ่งเริ่มได้จากการส่งเสริมให้บุคลากรของสถานศึกษาในทุกระดับและนักเรียน-นักศึกษาเข้าใจเรื่องความรุนแรงทางเพศ มีความรู้ความเข้าใจที่จะระบุได้ว่าประสบการณ์ที่ตนได้รับนั้นเป็นความรุนแรงทางเพศหรือไม่ เข้าใจว่าปรากฎการณ์การล่วงละเมิดทางเพศนั้นเกี่ยวโยงอย่างไรกับวัฒนธรรมปิตาธิปไตยและวัฒนธรรมอำนาจ การส่งเสริมทักษะในการยืนยันสิทธิ การแทรกแซงเพื่อให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนการพัฒนากลไก-ช่องทางในการสื่อสารเพื่อรับเรื่องร้องเรียนให้ผู้ถูกล่วงละเมิดได้ได้รับการคุ้มครองและป้องกันการกลั่นแกล้ง

ปรากฎการณ์ช่วงที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ว่าความตื่นตัวของนักเรียน-เยาวชนในเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง แสดงความพร้อมที่จะเข้าร่วมแก้ไขปัญหา หน้าต่างแห่งโอกาสของกระทรวงศึกษาธิการที่จะปลูกฝังวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนและพัฒนากลไกป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่การป้องกันความรุนแรงในมิติอื่นๆ ได้เปิดขึ้นแล้ว หวังว่ากระทรวงศึกษาธิการจะไม่ปล่อยให้หลุดลอยไป