posttoday

เด็กกับการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

19 พฤศจิกายน 2563

โดย ผศ.ดร.นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

**********

ในปี พ.ศ. 2497 องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันสิทธิเด็กสากล” (Universal Children's Day) โดยกำหนดให้ทุกรัฐให้สิทธิและเสรีภาพแก่เด็กตามหลักการขั้นพื้นฐาน 4 ข้อคือ สิทธิการมีชีวิตอยู่รอด (Right of Survival) สิทธิในการพัฒนา (Right of Development) สิทธิในการได้รับการคุ้มครอง (Right of Protection) และสิทธิในการมีส่วนร่วม (Right of Participation) ซึ่ง ผศ.ดร.นภารัตน์ กรรณรัตนสูตร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ให้ความสำคัญกับหนึ่งในหลักการดังกล่าว คือ เด็กต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ด้วยการไม่ให้ถูกทำร้ายทารุณกรรม หรือถูกนำไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ในปี พ.ศ. 2556 อาจารย์นภารัตน์จึงคิดริเริ่มทำโครงการวิจัยเรื่อง การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์: กรณีศึกษาเด็กต่างด้าว ณ โรงเรียนสำหรับเด็กแรงงานข้ามชาติโดยเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker Rights Network: MWRN) ในจังหวัดสมุทรสาครปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ เพราะปัญหานี้อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนไทย

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อแรงงานต่างด้าวและลูกของแรงงานต่างด้าวที่ติดตามพ่อแม่ของพวกเขา จากรายงานสถิติการค้าแรงงานเด็กต่างด้าวโดยมิชอบด้วยกฎหมายในจังหวัดสมุทรสาคร แสดงให้เห็นว่า เด็กต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร ยังคงเป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มผู้ค้ามนุษย์

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในเบื้องต้น อาจารย์นภารัตน์ พบว่า โรงเรียนรัฐบาล และศูนย์การเรียนรู้ในจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึง ศูนย์การเรียนสำหรับลูกแรงงานต่างด้าวของโรงเรียนวัดเทพนรรัตน์ จังหวัดสมุทรสาคร ขาดอุปกรณ์ ตำรา และบุคลากรที่จะสอนเนื้อหาเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองเด็ก และการค้ามนุษย์ อาจารย์นภารัตน์ จึงจัดทำโครงร่างงานวิจัยเพื่อออกแบบเนื้อหาและกิจกรรมในรูปแบบคู่มือและสื่อการเรียนรู้ ซึ่งมุ่งเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของการค้ามนุษย์ให้แก่เด็กนักเรียนต่างด้าว เพื่อลดโอกาสการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในเด็กนักเรียนต่างด้าว ในช่วงต้นของการร่างโครงงานวิจัยนี้

อาจารย์นภารัตน์ เห็นว่า หากคู่มือประกอบด้วยตัวหนังสือเพียงอย่างเดียวก็จะไม่น่าสนใจสำหรับเด็ก ๆ จึงออกแบบเนื้อหาที่มาจากคดีที่เกิดขึ้นจริง และปรับภาษาให้เด็กสามารถเข้าใจได้ง่าย พร้อมแนวคิดการทำหนังสือการ์ตูนประกอบ แล้วนำไปเสนอให้คุณครูทั้งชาวไทยและชาวพม่า พิจารณาเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้เนื้อหาและกิจกรรมมีความน่าสนใจและเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก ๆ ซึ่ง อาจารย์นภารัตน์ ยังคงดำเนินการติดตามผลอย่างต่อเนื่องทุกปี

คู่มือและสื่อการเรียนรู้ดังกล่าว ต่อมาถูกเรียกว่า “สื่อสร้างสรรค์ป้องกันการค้ามนุษย์ในเด็ก” (Creative Instruction Media to Prevent Child Trafficking) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล และสมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผลงานเหล่านี้ ประกอบด้วย 1) คู่มือว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์สำหรับคุณครูเพื่อใช้สอนเด็กนักเรียนต่างด้าวระดับประถมศึกษาปีที่ 3 - 6 คู่มือฯ มีสองภาษาสองแบบ คือ ภาษาไทย - อังกฤษ ภาษาพม่า - ภาษาอังกฤษ 2) หนังสือนิทาน: รวมนิทานป้องกันการค้ามนุษย์ ฉบับสองภาษา หนังสือเล่มนี้ประสงค์ที่จะเล่านิทานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในเด็กต่างด้าว มีเนื้อหาสาระจากประสบการณ์จริงของเหยื่อค้ามนุษย์ 3) โปสเตอร์อาชีพ เป็นภาพการ์ตูนอาชีพต่าง ๆ ที่คุณครูสามารถใช้สอน ประกอบหน้าห้องเรียนในกรณีมีนักเรียนเป็นจำนวนมาก และการ์ดอาชีพ เป็นการ์ดที่นักเรียนสามารถใช้เล่นทายชื่ออาชีพในกลุ่มเพื่อนๆ สื่อที่กล่าวมาข้างต้นได้ถูกนำไปใช้จริงในโรงเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงทางตอนเหนือของประเทศพม่า และ 4) ดีวีดีเพลงต่อต้านการค้ามนุษย์ในเด็ก จำนวน 2 เพลง คือ เพลงอ๊ะ อ๊ะ อา และ เพลงสงสารหนูไหม เพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งฟังและร้องตามได้ง่าย เพราะเพลงมีจังหวะสบาย ๆ พร้อมภาพประกอบการเต้น

จากความทุ่มเทและมุ่งมั่นในการพัฒนาผลงานของอาจารย์นภารัตน์และทีมงานทุกท่าน คู่มือและสื่อการเรียนรู้ดังกล่าวได้รับรางวัล ผลงานนวัตกรรมระดับดีมาก กลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรม การศึกษาและสังคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต จากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2561 ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 (Thailand Research Expo 2018)” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

นอกจากนี้ ผลงานดังกล่าวยังได้รับการจดแจ้งลิขสิทธิ์ จาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ขอนำไปเผยแพร่ทางออนไลน์เพื่อให้เด็กที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษาทั่วโลกสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนนี้ ซึ่งปัจจุบัน อาจารย์นภารัตน์ ได้นำผลงานการวิจัยดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเผยแพร่ โดยกำลังจัดทำคู่มือเล่มที่ 2 ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์บนโลกออนไลน์ หรือผ่านทาง Social Media และการใช้เทคโนโลยีหลากหลายเป็นเครื่องมือในการค้ามนุษย์

นอกจากนี้ จะเน้นเรื่องการใช้การ์ดภาพการ์ตูนหลากหลายแบบ พร้อมคำแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาพม่าเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้เด็กนักเรียนทั้งจากหลักสูตรการเรียนการสอนภาคภาษาไทย และภาคภาษาพม่า สามารถเรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ได้ในเวลาเดียวกัน

ท้ายนี้ อาจารย์นภารัตน์ แสดงความเห็นว่า ปัจจุบัน เด็ก ๆ ค้นหาข้อมูล หรือเพื่อนบนโลกออนไลน์ การสร้างทักษะในการคิดวิเคราะห์สถานการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากเพื่อให้พวกเขารู้เท่าทันว่า ข้อมูลที่โพสต์บนโลกออนไลน์ถูกต้อง และน่าเชื่อถือหรือไม่ คนที่พวกเขาพบบนโลกออนไลน์ไว้ใจได้หรือไม่ ซึ่ง กระทรวงศึกษาธิการควรส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาทุกรูปแบบมุ่งเน้นการสร้างทักษะดังกล่าว เพื่อพวกเขาจะได้รู้เท่าทัน และป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์