posttoday

หยุดการเมืองแบบทีใครทีมัน

16 พฤศจิกายน 2563

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**********************

การเมืองแบบทีใครทีมันคือ การเมืองที่ฝ่ายหนึ่งมีข้ออ้างในการกระทำการใดๆเพียงเพราะมีคนเคยทำแบบนั้นมาก่อน  และเมื่อตนมีโอกาส ก็ต้องทำได้เช่นกัน  แม้ว่าจะละเมิดกฎหมายก็ตาม            

การเมืองแบบนี้เกิดขึ้นชัดเจนตั้งแต่วิกฤตการเมือง พ.ศ. 2549 ที่มีฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาชุมนุมเดินขบวนขับไล่ทักษิณ ชินวัตร  และต่อมาฝ่าย นปก. และ นปช. ก็ทำในสิ่งที่ฝ่ายพันธมิตรฯทำ เช่น ฝ่ายหนึ่งยึดสนามบิน อีกฝ่ายก็ยึดราชประสงค์ ฯลฯ                     

และล่าสุด การชุมนุมที่นำโดยกลุ่มเยาวชนที่แม้นมีเหตุผลว่า ไม่ต้องการจะอยู่ในการเมืองเน่าๆแบบเดิมๆที่คนแก่รุ่นก่อนทำทิ้งไว้   แต่เมื่อถึงเวลา ก็อ้างเหตุผลว่า ทำไมพวกตนจะทำไม่ได้  ทีตะก่อนพวกสลิ่มเสื้อเหลืองยังทำได้   เช่น ทำไมในช่วงประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์เรื่อง ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง  ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึงใช้จุฬาฯเป็นที่นัดพบรวมพลก่อนจะออกเดินประท้วงทางถนนพญาไท  หรือผู้บริหารบางมหาวิทยาลัยออกหนังสือรับรองให้อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาไปร่วมประท้วงได้โดยไม่นับว่าเป็นการขาด   ฯลฯ 

ทั้งๆที่จริงๆแล้ว การต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ถ้าจะให้ใหม่จริง

ก็ไม่ควรทำแบบคนรุ่นเก่า และใช้เหตุผลแบบคนรุ่นก่อน นั่นคือ ทีใครทีมัน

แต่ก็ไม่ใช่ว่า คนรุ่นใหม่จะไม่มีอะไรใหม่ๆเลยเสียทีเดียว  ที่สังเกตได้คือ การแสดงออกทางภาษาและทางสัญลักษณ์ที่รุนแรงหยาบคายและบางอย่างเข้าข่ายลามกอนาจารในที่สาธารณะ และก้าวเกินกว่า นปช.และคนเสื้อแดงในการใช้ภาษาและการแสดงล้อเลียนด้อยค่าต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์                                              

เมื่อใช้ภาษาได้แบบนี้ นานๆเข้ามันก็จะไปเปลี่ยนสำนึกคิดของผู้ใช้ ที่ยากที่จะกลับมาเหมือนเดิมได้ คนเราลองได้ละเมิดอะไรที่เป็นของต้องห้ามไปแล้ว สักพัก ก็จะกลายเป็นเรื่อปกติ  ซึ่งอันนี้ อาจจะหมายความอย่างที่พวกนักวิชาการหรืออดีตนักการเมืองบางคนบอกว่า มันจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว หรือมันจะจบไม่เหมือนเดิม !                                            

การเมืองแบบทีใครทีมันวนกลับมาให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ  นั่นคือ เมื่อกลุ่มเยาวชนผู้ชุมนุมออกมาแสดงพลัง ก็มีกลุ่มเสื้อเหลืองออกมาแสดงพลัง  และล่าสุด การไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นของธนาธรก็เจอเหตุการณ์แบบแต่ก่อนที่นักการเมืองบางพรรคไม่สามารถไปหาเสียงในบางพื้นที่  และจากบางพื้นที่ลามไปกลายเป็นภูมิภาค เป็นการแบ่งแยกประเทศแบบกลายๆไป                                           

มีคนจำนวนไม่น้อยที่สะใจกับการที่ธนาธรต้องเจอการขับไล่ ขวางรถ และถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ คนที่ไปกระทำต่อธนาธรก็คงบอกกับตัวเองและเข้าใจว่า ก็ทีธนาธรอยู่เบื้องหลังกลุ่มผู้ชุมนุม และสนับสนุนให้ผู้ชุมนุมกระทำต่อขบวนเสด็จ และสนับสนุนให้ละเมิดจาบจ้วงล่วงเกินด้อยค่าพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างโจ่งแจ้งเปิดเผยและต่อเนื่องมากกว่าคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 เสียอีก  ซึ่งธนาธรจะอยู่เบื้องหลังมากน้อยแค่ไหน ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ข้อสันนิษฐานความเป็นไปได้         

ตอนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้วลี “ทักษิณออกไป”  หรือ กปปส. ใช้การเป่านกหวีดใส่  ก็คงนึกไม่ถึงว่า จะมีวันที่เยาวชนจะออกมาเดินขบวนและตะโกนว่า “ไอ้…ตู่”  หรือรัฐมนตรีอดีตแกนนำ กปปส. ถูกนักเรียนเป่านกหวีดใส่อย่างไม่ฟังเสียงใดๆ                           

หรือ “อาจจะนึกถึง” แต่อยู่ภายใต้วิธีคิดการเมืองแบบทีใครทีมัน ดังนั้น ตอนนี้ ทีเอ็ง ข้าไม่ว่า แต่คราวหน้า ทีข้า เอ็งอย่าโวย ก็แล้วกัน และเงื่อนไขแบบทีใครทีมันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆก็จะกลายเป็นเงื่อนไขของการทำรัฐประหารไปอีก                                            

แต่สมัยนี้ ถ้าเกิดรัฐประหารก็จะเข้าทาง จะมีการกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร และจะไม่จบลงง่ายๆเหมือนที่ผ่านมา                             

ดังนั้น การชุมนุมประท้วงใครก็ตาม ก็ไม่ควรจะให้เป็นแบบเดิมๆ แบบทีใครทีมัน  ถ้าประชาชนที่ใดจะประท้วงใคร ก็ควรทำภายในขอบเขตของกฎหมาย เช่น ยืนถือป้ายแสดงข้อความที่ต้องการให้ผู้ถูกประท้วงรับรู้ และจะต้องไม่ใช้ภาษาที่รุนแรงเกินไป และไม่ควรจะไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง หาเสียงของใคร มิฉะนั้นแล้ว การเมืองไทยก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้ และนับวันจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ จนอาจจะเกินเยียวยา                                                    

สิ่งที่เราควรตั้งเป้าร่วมกันขณะนี้ คือ ใครจะพยายามสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร เช่น ชุมนุมยั่วยุใช้วาจาภาษาสัญลักษณ์ที่สุดจะทน ถ้าผิดกฎหมาย ก็ให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมไป ประชาชนไม่มีสิทธิ์ที่จะทำตัวเป็นศาลเตี้ยเสียเอง   ไม่ควรใช้วิธีการแบบเดียวกันตอบโต้กันไปมา เพราะรัฐประหารไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปแล้ว                                            

ควรเป็นตัวอย่างในการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมายให้แก่เยาวชน ไม่ใช่เห็นว่า เยาวชนทำได้ ทำไมคนแก่กว่าจะทำไม่ได้                         

เยาวชนทั่วไป โดยวัยแล้ว ย่อมจะมีความอดทนอดกลั้นไม่เท่าผู้ใหญ่  ดังนั้น ผู้ใหญ่ เมื่อได้ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ก็ควรจะแสดงให้เห็นถึงความอดทนอดกลั้นที่มากกว่าเยาวชน                     

ที่สำคัญ ไม่ใช่เยาวชนทั้งหมดจะออกมาชุมนุมหรือประท้วง  คนที่ยังไม่ได้ออกมา อาจจะกำลังหาหลักอะไรบางอย่าง ซึ่งผู้มีวุฒิภาวะมากกว่าควรจะแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง อันอาจจะทำให้พวกเขาตระหนักได้ว่า การตัดสินใจที่จะร่วมหรือไม่ร่วมการชุมนุม  และการชุมนุมแบบไหนที่เป็นการชุมนุมที่เหมาะที่ควร ไม่ใช่ให้พวกเขาได้เห็นแต่ “แบบเดียวกันหมด”  มันจะทำให้พวกเขาเข้าใจว่า การเมืองไทยจะต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น กลายเป็น “ประเทศกูมี” ไป  เขาเลยมีทางเลือกแค่สองทาง นั่นคือ ร่วมขบวนทางการเมืองกับคนวัยเดียวกัน หรือไม่ก็รังเกียจการเมืองไปเลย                            

ใครจะหาว่าผมโลกสวย ก็เอา แต่ที่ผมโลกสวย เพราะมันเห็นๆอยู่แล้วว่า มันกำลังจะจบไม่สวย